ในสถานการณ์วิกฤตทางการเมือง การปะทะกันทางความคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ตรงกันของแต่ละฝ่ายไม่น่าจะถูกมองว่าเป็นปัญหา ตรงกันข้าม บรรยากาศของความตื่นตัว การหวงแหนสิทธิ และการเห็นความสำคัญของเสรีภาพทางความคิดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงว่าสำนึกทางการเมืองของคนไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้น "การเมืองเป็นเรื่องของเรา" และการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทุกคนอย่างไม่อาจสยบยอม งอมืองอเท้า หรือเพิกเฉย รับดอกผลที่โปรยลงมาจากบนฟ้าได้อีกต่อไปแล้ว
เมื่อคนทุกคนคิดเองได้และไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน คำถามสำคัญคือ แล้วการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์นั้นควรเป็นอย่างไรจึงจะไม่จบลงที่ความเกลียดชังและความรุนแรง ไม่มีอะไรการันตีว่าการกระโดดลงไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสุดตัวจะก่อให้เกิดผลดีต่อตนเองและผู้อื่นเสมอไปในคราวเดียว เพราะจะว่าไป การมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ไม่ต่างกับความสัมพันธ์อื่นๆ ทุกคนมีสิทธิผิดได้ พลาดได้ ทบทวน ลองใหม่ และเติบโตไปกับสถานการณ์และบทเรียนที่ตนเองได้รับ การเมืองคือการกดขี่และการต่อสู้ การเมืองคือชัยชนะและความพ่ายแพ้ การเมืองคือมิตรภาพ ความหวัง และความรัก ...คือหัวใจ จิตวิญญาณ และความฝันที่จะทำอะไรทิ้งไว้ให้ลูกให้หลานได้รับดอกผล
แล้วการมีส่วนร่วมทางการเมืองควรเป็นเช่นไรจึงจะแสดงออกซึ่งการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง?
เมื่อขยายมิติทางศาสนธรรมเข้ามาสู่มิติทางการเมือง คำว่า "ไม่เห็นแก่ตัว" เป็นคำที่น่าสนใจทีเดียวครับ แน่นอนว่าในพุทธศาสนา ความไม่เห็นแก่ตัวคือหลักคำสอนสำคัญทั้งในขั้นโลกียะและโลกุตตระ ไม่ว่าจะเป็น ศีล 5 หรือธรรม 5 ในฐานะข้อประพฤติปฏิบัติพื้นฐานอันมีเป้าหมายในการลดละความไม่เห็นแก่ตัวในชีวิตประจำวัน การรักษาความเป็นปกติของกาย วาจา ใจ ไม่ไปละเมิดสิทธิหรือสร้างเงื่อนไขอันจะนำไปสู่ความรุนแรง พร้อม กันนั้นคำสอน "อนัตตา" หรือการตระหนักถึงธรรมชาติอันไปพ้นจากตัวตนยังถือเป็นแก่นธรรมสูงสุดในพุทธศาสนาเพื่อการบรรลุอิสรภาพและศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์อีกด้วย
ก่อนจะบรรลุถึงเป้าหมาย เมื่อมองดู ณ จุดที่เราอยู่ คนทุกคนต่างก็มีความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น เราอยากให้ชีวิตเป็นอย่างที่ต้องการ เราอยากได้ไขว้คว้าสิ่งที่ชอบและปฏิเสธผลักไสสิ่งที่เกลียด เราเลือกและเราไม่เลือก บางครั้งเมื่อเลือกไม่ได้หรือได้ในสิ่งที่ไม่เลือก เราก็ดิ้นรน ขัดขืน และเป็นทุกข์ กระนั้นเราก็พยายามนำคำสอนทางศาสนามาประพฤติปฏิบัติเตือนสติตัวเองเท่าที่พอจะทำได้ มีเวลาว่างก็ใช้เวลาฝึกวางใจให้ไปพ้นจากนิสัยและความเคยชินเดิมๆ บ้างตามอัตภาพ
กระนั้นการปฏิบัติธรรมก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัวครับ เอาเข้าจริงเราจะไปคาดหวังให้ใครที่ไปปฏิบัติธรรมแล้วจะเปล่งรัศมีแห่งความไม่เห็นแก่ตัวออกมาในทันทีนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราต่างทำดีที่สุดที่จะไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเกินไปยามที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เมื่อขัดแย้งกัน ก็พอมีสติยับยั้งชั่งใจ และมีใจที่คลายจากอคติ ให้อภัย และเปิดใจฟังกันได้บ้าง เราต่างมีตัวตนและการปกป้องตัวตนก็เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งของการเอาตัวรอด แต่หากสังคมใดมีรากฐานทางจิตวิญญาณที่ไปพ้นจากการเห็นแก่ตนเองอยู่บ้าง แล้วคุณค่านั้นเปิดกว้างพอที่จะรองรับตัวตนของคนจำนวนมากให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรี นั่นก็คงเป็นเรื่องดีไม่น้อยจริงไหมครับ ซึ่งสำหรับผม คุณค่าประชาธิปไตยที่ไปพ้นการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือการให้ค่ากับตัวตนแบบใดแบบหนึ่งเป็นพิเศษเหนือตัวตนอื่น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ความไม่เห็นแก่ตัว" นั่นเอง
ในสังคมที่ศาสนารวมศูนย์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และมีสถานะแนบแน่นกับคุณค่าแบบจารีตมายาวนาน อย่างสังคมไทย ศีลธรรมแบบศาสนาจึงมีความเป็นการเมืองอย่างยิ่ง ความดีถูกใช้เป็นแรงขับเคลื่อนทางการเมืองแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์มาโดยตลอด เราถูกปลูกฝังให้เป็นคนดี พูดดี ทำดี และคบหาคนดีเป็นเพื่อน ความดีมีอำนาจเพียงพอที่จะช่วยให้เรามีอนาคตและความมั่นคงที่ดีได้ ...เช่นเดียวกับความไม่เห็นแก่ตัว ที่ก็ไม่ได้มีคุณค่าจากการประพฤติปฏิบัติเฉพาะตนของแต่ละบุคคลเท่านั้น แต่ยังถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองที่สำคัญประการหนึ่ง มันทำให้ผมนึกถึง กระแสต่อต้านคนโกงที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ผลักให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งการเกลียดชังคนโกงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คนโกงคือคนเลว จนความเลวถูกทำให้กลายเป็นปีศาจ เราพร้อมจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อกำจัดคนโกงและกลุ่มคนที่สนับสนุนคนโกงให้หมดสิ้นถึงขั้นทำลายล้างกฎกติกาและประชาธิปไตย จนกลายเป็นขบวนการละเมิดสิทธิแห่งชาติที่ถูกยกย่องในฐานะผู้พิทักษ์ความดีงาม ความไม่เห็นแก่ตัว และการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม
จึงไม่น่าแปลกที่ทำไมในม็อบ กปปส.จึงเต็มไปด้วยชาวพุทธจากหลายสำนัก ที่พร้อมใจกันออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ระบอบทักษิณอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พวกเขาคือนักถือศีล ปฏิบัติธรรม และให้คุณค่ากับการประพฤติตนตามหลักธรรมอันดีงาม พวกเขามีเป้าหมายในการขัดเกลาใจตัวเองให้ดีและยังแบ่งปันความดีนั้นเผื่อแผ่ผู้อื่นเพื่อให้สังคมดีขึ้นอีกด้วย แต่นักการเมืองที่ดีต้องเป็นคนดีในแบบที่เขาเชื่อเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาเชื่อว่านักการเมืองที่เขาเลือกเป็นคนดี หรือหากไม่มีก็พร้อมจะเรียกร้องนายกรัฐมนตรีคนดีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง พวกเขาเชื่อมั่นว่าคนดีคือคนไม่เห็นแก่ตัว แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ทำไมคุณค่าความไม่เห็นแก่ตัวนั้นกลับแสดงออกถึงการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างยิ่งยวด
ศาสนธรรมในแบบที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้กำลังสะท้อนถึงอะไร?
ในแง่ของปัจเจกบุคคล มันสะท้อนถึงแนวโน้มของ "วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ" อันได้แก่ การนำเอาคำสอนทางศาสนามาใช้เสริมสร้างอำนาจของ "อัตตา" หากเชื่อมั่นในความดี นั่นจะทำให้คุณกลายเป็นคนดีโดยไม่มีข้อสงสัย หากคุณเป็นคนดี นั่นจะทำให้คุณมีบารมีและอำนาจ วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณคือการนำเอาศาสนธรรมและการฝึกฝนทางจิตวิญญาณมาใช้หล่อเลี้ยงความเห็นแก่ตัวอันซับซ้อน ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูสวยงามแต่เพียงเปลือก การมีธรรมะช่วยให้ควบคุมตัวเองและคนอื่นได้อย่างที่ใจต้องการ ช่วยให้สิ่งที่ไม่คาดคิดเข้ามากล้ำกรายได้น้อยลง ยกตนให้มีความสูงส่งยิ่งขึ้น พ้นทุกข์แบบตัดขาดจากหัวใจได้อย่างเด็ดขาด ธรรมะที่นำมาเทศนาทำให้คนต้องเชื่อและฟัง และทำให้ตนเองมีเสียงดังกว่าคนอื่น การศึกษาและปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำหน้าที่ขัดเกลาตัวตนที่หยาบกระด้างให้อ่อนโยนลง และไม่ได้ช่วยให้ใจเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายได้มากขึ้นเลยแม้แต่น้อย
ในแง่มุมทางสังคม ศาสนธรรมแบบรวมศูนย์สะท้อนถึงการปลูกฝัง "อัตลักษณ์" ที่มีศาสนาเป็นส่วนสำคัญอยู่ในนั้น อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้หล่อหลอมโลกทรรศน์ของการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง--ความเป็นชาติ ความเป็นพุทธ ความจงรักภักดี--ล้วนแสดงออกถึงความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางความเชื่อที่ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ เปลี่ยนแปลง หรือสั่นคลอนศรัทธาได้ด้วยเหตุผล ความรักชาติเป็นที่พึ่ง การนับถือศาสนาเป็นที่พึ่ง และกฏหมายอาญามาตรา 112 เป็นที่พึ่ง การเปลี่ยนแปลงที่พ้นไปจากศูนย์รวมใจแห่งไตรสรณะนี้คือความไม่ปรารถนาดีต่อส่วนรวมอย่างร้ายกาจ เพราะมันคือความไม่จงรักภักดี เพราะมันคือคนไม่ดีและนอกรีต เพราะมันคือพวกหัวรุนแรง ล้มเจ้า ก่อการร้าย และเป็นภัยต่อพระศาสนา เป็นต้น
ทั้งอัตตาและอัตลักษณ์ต่างแสดงถึงอำนาจของตัวตนที่ถูกปลูกฝังขึ้นมาจากการยึดมั่นทางความคิด มันคือการยึดมั่นแบบเดียวที่เป็นข้อยกเว้นในประเทศที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กำแพงของอัตตาคือเสรีภาพอย่างมีขอบเขต ส่วนกำแพงแห่งอัตลักษณ์คือความรักที่เต็มไปด้วยข้อแม้ มันคือกำแพงเมืองไทยที่พร้อมจะผลักไสผู้คนที่เห็นต่างออกไปโดยไม่ต้องใช้เหตุผล การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถูกขับเน้นด้วยอัตตาและอัตลักษณ์เช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มันคือเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สงครามและความรุนแรงทั้งทางจิตใจและทางการเมือง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แม้จะมุ่งมั่นฝันอยากเห็นนายกฯ คนดี หรือนักการเมืองที่ไม่มีความไม่เห็นแก่ตัวสักเพียงไร ตราบใดที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังถูกขับเคลื่อนด้วยการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ย่อมไม่มีทางช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่คลี่คลายลงได้โดยสันติ
ที่มา: คอลัมน์ ธรรมนัว หน้า 6 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2557
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ