บทวิเคราะห์ : รัตติกาลประชาธิปไตย สัปปายะสภาสถาปนา

กานต์ ยืนยง 2 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2740 ครั้ง

การควบคุมแกนนำต่าง ๆ ภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน ต่อมาการควบคุมนั้นก็รวมไปถึง นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ข้าราชการ ปัญญาชน นักวิชาการ นักข่าว รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ฯลฯ (โปรดดูรายชื่อ และสถานะของบุคคลที่ถูก คสช. ควบคุมตัว หรือให้รายงานตัวนับแต่วันแรกที่มีการทำรัฐประหาร

https://docs.google.com/spreadsheets/d/1qzxpU7HDCQYBFZyOdiZj-lwr8s_LNzHwKBSn9GqnRvg/pubhtml

บุคคลที่ถูกเรียกให้รายงานตัวเหล่านี้บางส่วนก็ถูกปล่อยตัวออกมาตามกำหนดเวลา บางส่วนก็ตัดสินใจไม่เข้ารายงานตัว ในกรณีที่ตัดสินไม่ใจรายงานตัวหรือแสดงความจำนงค์ว่าทำการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรัฐประหาร ก็เป็นอันว่าจะต้องถูกพิจารณาคดีและตัดสินโทษโดยศาลทหาร กรณีนี้ก็ได้แก่คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งตัดสินใจแต่แรกที่จะไม่รายงานตัวตามคำสั่ง และเข้าแถลงข่าวที่ FCCT จนถูกจับกุมตัวไป

ดูจากรายชื่อบุคคลที่ต้องรายงานตัวและถูกควบคุมตัวเหล่านี้ มีเป็นจำนวนมากถึงกว่า 300 รายชื่อ บ้างก็ว่าคณะรัฐประหารมีรายชื่ออยู่ในมืออีกราว 1,000 รายชื่อ เพียงแต่เก็บรักษาไว้เผื่อการทะยอยประกาศเรียกให้รายงานตัวตามความจำเป็นของสถานการณ์

ในขณะที่การจัดโครงสร้างของคณะรัฐประหารที่เข้าบริหารกลไกราชการ จัดแบ่งกระทรวงต่าง ๆ ออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่

(1) ฝ่ายความมั่นคง มี กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงไอซีที และกระทรวงการต่างประเทศ

(2) ฝ่ายสังคมจิตวิทยา มี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

(3) ฝ่ายเศรษฐกิจ มีกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน และกระทรวงคมนาคม

(4) ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ

(5) ฝ่ายกิจการพิเศษ มี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักรับรองมาตรฐานและประเมิน

และ (6) ส่วนงานที่ขึ้นตรงกับหัวหน้าคณะรัฐประหารได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ

หลังจากนี้ก็มีการตั้งคณะที่ปรึกษาขึ้นมาอีก 10 ตำแหน่ง คนสำคัญ ๆ ก็ล้วนมาจากผู้บังคับบัญชาเก่าแก่สมัยทำงานอยู่ในบูรพาพยัคฆ์ หรือเคยร่วมทำงานกันมาในกองทัพ อันได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ในขณะที่มีอดีตผู้ที่เคยเข้ามาช่วยงานบริหารในคณะรัฐบาลพลเรือนของคณะรัฐประหารชุดก่อน หรือผู้ที่เคยถูกรับเลือกให้นั่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี

ดูการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม ที่มีการลิสต์รายชื่อเตรียมไว้พร้อมประกาศเรียกตัว กระบวนการควบคุมตัว และการปล่อยตัว คล้ายกับวิธีการจัดการกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในสมัยสงครามเย็น มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า มีการแก้ไขกฎหมายให้ กอ.รมน. ในสมัยสนช. ปี 50 ให้มีอำนาจมากขึ้นเหมือนสมัยยุคสงครามเย็น ในขณะที่แนวคิดการตั้งศูนย์ปรองดองฯ ของกอ.รมน. ก็แทบไม่ต่างอะไรจากโครงการสันติสุขและโครงการการุณยเทพ ในยุคเดียวกันนั้น

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาประกาศแผนที่นำทางสามขั้นตอนคือ (1) ตั้งศูนย์ปรองดอง (2)  มี รธน.ชั่วคราว ตั้งรัฐบาลชั่วคราว ตั้งสภานิติบัญญัติเพื่อทำการปฏิรูปและร่าง รธน. ใหม่ (3) จัดเลือกตั้ง เพื่อให้ได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง โดยทั้งหมดนี้ใช้เวลาขั้นต่ำ 1 ปี

เท่าที่ผมติดตามประเมินการตัดสินใจของกองทัพในช่วงระหว่างการชุมนุมยาวของ กปปส. ก็ต้องบอกว่าถึงแม้จะมีแนวคิดการทำรัฐประหาร แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทำถ้าไม่ถึงยามจำเป็นจริง ๆ แผนงานของฝ่ายเสนาธิการทหาร ที่ให้คำแนะนำกับผู้บังคับบัญชาก็ดูเหมือนออกมาในแนวทาง ให้มีการเลือกตั้งและจัดการปฏิรูปไปพร้อมกันมากกว่า แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่ง กกต. ปฏิเสธการจัดการเลือกตั้งต่อ ดูเสมือนหนึ่งว่าบ้านเมืองเกิดทางตัน กปปส. เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาลชั่วคราวให้ลงจากอำนาจ มีข่าวลือว่ามวลชนสองกลุ่มจะปะทะกัน เท่ากับว่ากองทัพถูกผลักให้ออกมายืนอยู่เบื้องหน้าเพื่อรับผิดชอบและจัดการต่อสถานการณ์ที่ส่อจะทำให้บ้านเมืองเกิดความล้มเหลว

ดูเสมือนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนวางแผนทั้งหมด แต่เมื่อดูให้ดีแล้วมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่พล.อ. ประยุทธ์ มีอำนาจเกี่ยวข้องอยู่ด้วยหรือเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะขึ้นมามีอำนาจ แม้จะน่าสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้แนวทางที่แข็งกร้าวกว่า พล.อ.สนธิจะดำรงรักษาอำนาจได้นานเพียงใดเมื่อเขาเผชิญแรงกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งภายในและจากสากล และน่าจะยิ่งหนักหน่วงขึ้นทุกที นี่ไม่นับว่าภายในกองทัพเองก็มีกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ที่ไม่พอใจกลุ่ม “บูรพาพยัคฆ์” อยู่ลึก ๆ ด้วยเช่นกัน แต่เมื่อมองข้ามเรื่องนี้ไปแล้วน่าสงสัยว่า บรรดาชนชั้นนำที่พยายามผลักดันกองทัพให้ออกมาทำการรัฐประหารนั้น มีแนวคิดอะไรอยู่เบื้องหลัง?

หากพิจารณาหลักแห่งบาทก้าวที่สำคัญแล้ว คงต้องดูกันที่ความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ตามข้อมูลของดันแคน แม็คคาร์โก ระบุว่าเกิดจากการเคลื่อนไหวของปีก “เสรีนิยม”ในเครือข่ายที่เขาเรียกว่า Network Monarchy เพื่อแก้ปัญหา นักการเมืองทุจริตและเอาผลประโยชน์ จึงสร้างระบบที่เรียกว่า strong prime minister คือนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการปลดรัฐมนตรี และ สส. จะต้องสังกัดพรรคการเมือง กติกาใหม่นี้ทำให้อำนาจต่อรองของผู้นำฝ่ายบริหารมีสูงขึ้น ในขณะที่การกำหนดรายชื่อ สส. ในบัญชีรายชื่อนั้น ปีก “เสรีนิยม” มองว่าจะสามารถทำให้ได้ “คนดี” ที่ไม่จำเป็นต้องไปคลุกคลีงานการเมือง หรือการหาเสียง ซึ่งมักเกี่ยวพันกับเรื่องสกปรก เข้ามาทำงานรับใช้บ้านเมืองได้ ในขณะที่เปลี่ยน ส.ว. เป็นแบบเลือกตั้งทั้งหมด แต่กำหนดให้มีการหาเสียงที่ต่างกันไปจาก ที่ ส.ส.ทำ โดยจำกัดงบหาเสียง และลักษณะการใช้ป้ายหาเสียงเป็นต้น

ในความเป็นจริง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยได้อำนาจ พวกเขากลับ “เล่น” กติกานี้ให้เป็นประโยชน์เสียใหม่ จนทำให้อำนาจมาตกอยู่กับตัวผู้นำรัฐบาลอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ มากขึ้น ประชาชนในเขตเลือกตั้งในภาคเหนือและภาคอีสานก็สนับสนุนพรรคไทยรักไทยอย่างท่วมท้น อำนาจรัฐสภาจึงกลับกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นนำที่ตั้งใจออกแบบ รัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อให้ได้ “คนดี” เข้าสภาไปเสียแทน

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ชนชั้นนำมองว่าต้นเหตุแห่งปัญหาอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พวกเขาจึงแก้ไขที่มา ของ ส.ว. ให้เป็นการแต่งตั้งไปเสียกึ่งหนึ่ง ในขณะที่ สส. บัญชีรายชื่อก็กระจายแยกไปตามเขตต่าง ๆ 8 กลุ่มจังหวัด แทนที่จะเป็นการเลือกจากทั้งประเทศเหมือนใน รัฐธรรมนูญฉบับก่อน รวมทั้งแก้ไขเขตเลือกตั้งเป็นเขตเดียวเรียงเบอร์ เขตละไม่เกิน 3 คน นัยยะเพื่อขยายเขตเลือกตั้งเพื่อให้การใช้เงินซื้อเสียงทำได้ยากขึ้น เพราะต้องใช้เงินมากขึ้น

แต่สมมติฐานนี้ก็ไม่เป็นจริงอีก มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยใช้เงินไปกับการเลือกตั้งน้อยกว่าพรรคคู่แข่งมาก เพราะกระแสมวลชนโดบเฉพาะจากคนเสื้อแดงให้การสนับสนุนพรรค การได้เสียงท่วมท้นขนาดนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยถึงกับสามารถใช้คะแนนเสียงในการแก้รัฐธรรมนูญก็ได้

ผมมองว่า เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ 2558 (หากมี) เพื่อขจัดปัญหา การเป็นภัยคุกคามของสภาผู้แทนราษฎรต่อชนชั้นนำในลักษณะนี้ พวกเขาจะต้องร่างรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส. แต่งตั้งอย่างน้อยจำนวนกึ่งหนึ่ง โดยบรรดา ส.ส. แต่งตั้งเหล่านั้น เพื่อให้ดูมีความชอบธรรม ก็คงจะกำหนดให้มีที่มาจากวิชาชีพต่าง ๆ จำนวนมากกว่าที่ระบุไว้ แล้วก็ให้เลือกกันเองจนเหลือจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ วิธีนี้เคยใช้ได้ผลในการคานเสียงจาก สภาผู้แทนราษฎร สำหรับอำนาจของวุฒิสมาชิกในการเลือกองค์กรอิสระต่าง ๆ หรืออำนาจการคัดค้านกฎหมายบางด้าน

เพื่อให้ได้ผลยิ่งขึ้นไปอีก ผมยังสงสัยด้วยว่า พวกเขาจะมีการขยายบทบาทองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับแนวทางอุดมการณ์ของประเทศชาติ ในทำนองเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่เคยทำหน้าที่มาแล้ว อยู่เหนือรัฐสภาอีกขั้นตอนหนึ่ง นอกเหนือจากการทำหน้าที่ในทำนองนี้แล้ว ผมคิดว่าองค์กรที่ว่านี้คงทำหน้าที่ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านคุณธรรมต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้แทนราษฎรที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นคนดีมีคุณธรรมตามที่ควรจะเป็นต่อไป

ผลพลอยได้จากสถาปัตยกรรมนี้ประการหนึ่ง คือนี่สามารถแก้ปัญหา การสืบทอดกษัตริย์ที่มีลักษณะขึ้นกับบุคคลาธิษฐานสูง ให้กลายเป็นกษัตริย์เชิงสถาบัน กษัตริย์ในลักษณะนี้เมื่อมิได้มีเงื่อนไขใด ๆ ขึ้นอยู่กับบารมีส่วนบุคคลอีก ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกังวลว่ารัชทายาทองค์ใดจะขึ้นมาเป็นกษัตริย์อีกต่อไป เพราะกษัตริย์เชิงสถาบัน จะทำการกำกับทิศทางของประเทศให้เป็นไปตามอุดมการณ์ในอัตลักษณ์แบบไทย เป็นตัวแทนโดยชอบธรรมที่แสดงคุณธรรมต่อสาธารณะ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการเคารพนับถือ

เมื่อเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม สภาผู้แทนราษฎรก็กลายมาเป็น "สัปปายะสภาสถาน" ด้วยประการฉะนี้

 

(1) รูปประกอบ จาก หนังสือ "ธรรมราชา" เอกสาร ประกอบการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 15 ประจำปี 2556 ของสถาบันพระปกเกล้า หน้า 301 โครงสร้างการเมืองการปกครองที่อาจมีการกำหนดให้มีสถาบันเชิงคุณธรรมพิเศษ อยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคอยกำกับด้านคุณธรรมอีกชั้นหนึ่ง

(2) คลิป สัปปายะสภาสถาน http://www.youtube.com/watch?v=kwy1VeoqYhM

ขอบคุณภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดย อนุรัตน์ วัฒนาวงศ์สว่าง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: