ชี้หลายปัจจัยดึงเศรษฐกิจปี57เสี่ยงขาลง จับตาการเมือง-ชะลอโครงสร้างพื้นฐาน

2 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2086 ครั้ง

เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2556 ท่ามกลางการหยุดชะงักของหลายกลไกขับเคลื่อน โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนซบเซาลง ขณะที่ สถานการณ์การส่งออกก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันในปี 2556 แม้ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะทยอยมีภาพที่ดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ก็ตาม

แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 ของไทย ยังมีความเสี่ยงอยู่ในช่วงขาลง ท่ามกลางหลายประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาใกล้ชิด ประกอบด้วย สถานการณ์ทางการเมืองของไทย แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ชะลอออกไป ทิศทางราคาสินค้า/พลังงาน/ค่าไฟฟ้า/ภาระค่าครองชีพ และสถานการณ์การส่งออกไทยที่ยังฟื้นตัวตามหลังสัญญาณบวกของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ยังคงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น และยังไม่มีทางออกที่แน่ชัด ณ ขณะนี้ อาจทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะโน้มเอียงลงสู่กรอบล่างของประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 3.7 อย่างไรก็ตาม หากสัญญาณความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อเกินครึ่งปี ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจ-การเงินไทยปี 2556

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2556 ท่ามกลางการหยุดชะงักของหลายกลไกขับเคลื่อน โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนซบเซาลง ท่ามกลางหลายปัจจัยที่กดดันบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่สถานการณ์การส่งออกที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันในปี 2556 ก็เป็นทิศทางที่คลาดเคลื่อนไปจากที่หลายหน่วยงานตั้งเป้าหมายไว้ค่อนข้างมาก ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มต้นปี 2556 ด้วยทิศทางการทยอยปรับตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (หลังผ่านพ้นช่วงที่มีแรงกระตุ้นพิเศษจากมาตรการคืนเงินภาษีสำหรับรถคันแรกของรัฐบาล ตลอดจนแรงส่งการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยไปแล้ว) ก่อนจะพลิกกลับมาอยู่ในภาวะชะลอตัวที่ผิดไปจากที่คาดค่อนข้างมากตั้งแต่ในช่วงกลาง-ปลายปี 2556

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายภาคส่วนตลอดทั้งปี 2556 และต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในช่วงปลายปี ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 น่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปี 2555 โดยการส่งออกน่าจะพลิกกลับมาหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 0.3 แม้ทิศทางค่าเงินบาทจะลดแรงกดดันลง พร้อม ๆ กับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยปรากฏขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ก็ตาม

ประเด็นเศรษฐกิจไทยปี 2557: หลายปัจจัยรอฉุดรั้งเส้นทางการฟื้นตัว

แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 ของไทย ยังมีความเสี่ยงอยู่ในช่วงขาลง ท่ามกลางตัวแปรท้าทายที่มาจากหลายด้านพร้อมกัน ตั้งแต่ในช่วงต้นปี ทั้งในส่วนที่เป็นปัจจัยเดิม ๆ ของปี 2556 ที่ส่งผลต่อเนื่อง อาทิ ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือน การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG/ค่าไฟฟ้า รวมถึงตัวแปรทางการเมืองในประเทศ ซึ่งคงจะต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในปี 2557 เพราะพัฒนาการของเหตุการณ์ จะมีนัยสำคัญค่อนข้างมากต่อแนวทางการลงทุน-การใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

1.ความขัดแย้งทางการเมืองไทย และโจทย์ในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้คงต้องยอมรับว่า ตัวแปรทางการเมืองเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติม ที่มีผลกระทบต่อการประเมินแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ค่อนข้างมาก โดยบรรยากาศทางการเมืองที่ยังคงมีความขัดแย้งข้ามปี ย่อมจะส่งผลทำให้กลไกการทำงานจากฝั่งรัฐบาลไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ ที่จะผลักดันมาตรการที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้อย่างทันท่วงที โดยภาครัฐอาจสามารถทำได้เพียงเร่งการเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนการใช้จ่ายของงบประมาณปัจจุบันเท่านั้น

อนึ่งสถานการณ์จะทวีความซับซ้อนมากขึ้น หากปัญหาการเมืองกินเวลายาวนานเข้าสู่ช่วงปลายไตรมาส 2-ต้นไตรมาส 3 ที่จะต้องมีการเริ่มกระบวนการจัดทำงบประมาณปีถัดไป (และอาจจะต้องมีการขยับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากระดับร้อยละ 7 ในช่วงเดือนต.ค. 2557 ตามแผนเดิม)

ดังนั้น สถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน จึงยังไม่น่าจะมีแรงกระตุ้นใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเร่งการฟื้นตัว นอกจากนี้ภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน ก็ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุนไทย ทิศทางค่าเงินบาท รวมถึงยังเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสถานะอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ระดับ BBB+ โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวส์ (S&P’s) และฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch) และระดับ Baa1 โดยมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s)

2.การใช้จ่ายเม็ดเงินนอกงบประมาณอาจมีความล่าช้า อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันในปี 2557 รวมถึงการลงทุนในระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนที่น่าจะต้องเผชิญกับกระบวนการที่มีความล่าช้า เพราะจะต้องรอภาพที่นิ่งมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก่อน

ดังนั้นกรอบการใช้จ่ายส่วนเพิ่มเติมนอกงบประมาณของภาครัฐ คงมีผลที่ค่อนข้างจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย หากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไม่สามารถสิ้นสุดได้โดยเร็วภายในช่วงครึ่งแรกของปี

3.ทิศทางราคาสินค้า พลังงาน/ค่าไฟฟ้า และภาระค่าครองชีพ นอกจากความกังวลต่อภาระหนี้ครัวเรือนที่น่าจะลากยาว ข้ามไปเป็นประเด็นต่อเนื่องตลอดช่วงปีข้างหน้าแล้ว แนวโน้มภาระค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนภาคธุรกิจที่จ่อขยับขึ้นตั้งแต่ต้นปี น่าจะส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศต้องเผชิญกับสภาวะที่ท้าทายด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในส่วนของก๊าซ LPG ในปี 2557 มีตารางเวลาที่ค่อนข้างชัดเจน ขณะที่ ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) จะขยับขึ้น 5 สตางค์/หน่วยในงวดแรกเดือนม.ค.-เม.ย. 2557 ซึ่งในส่วนของค่า Ft ในรอบถัดๆ ไปนั้น ยังคงมีความอ่อนไหวตามทิศทางค่าเงินบาทและราคาพลังงานในตลาดโลก 

4.สถานการณ์การส่งออกไทยที่ฟื้นตัวตามหลังสัญญาณบวกของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากข้อจำกัดด้านอุปทานของบางผลิตภัณฑ์ (อาทิ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ที่แม้ปัญหาโรคระบาดจะเริ่มคลี่คลาย แต่สถานการณ์ในภาคการผลิตก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์) ขณะที่สินค้าเกษตรบางรายการก็อาจจะยังต้องรับมือกับสภาพการแข่งขันทางด้านราคา ที่เข้มข้นกับประเทศคู่แข่ง รวมถึงสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ภาคการผลิตไทยยังอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับเทรนด์/พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าไอทีในตลาดโลก นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ก็อาจมีผลต่อการตัดสินใจในการสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าให้มีช่วงเวลาที่สั้นลง เพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมืองประกอบไปด้วยพร้อม ๆ กัน

คงต้องยอมรับว่า การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ยังคงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นและยังไม่มีทางออกที่แน่ชัด ณ ขณะนี้ อาจทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 จะโน้มเอียงลงสู่กรอบล่างของประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 3.7 ขณะที่ หากปัญหาทางการเมืองของไทยลากยาวเกินครึ่งปี จนกระทบการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนการบริโภคภาคครัวเรือน การตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ และทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการใช้จ่ายของภาครัฐ ก็อาจส่งผลทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ในกรณีดังกล่าว แม้การส่งออกอาจขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย เศรษฐกิจไทยก็อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: