Aommoney: รวย (ไม่มี) ทางลัด

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 2 ก.ย. 2557


หากจะใช้ดัชนีจากจำนวนหนังสือบนแผงเป็นตัววัด การออมและการลงทุนกำลังอินเทรนด์ หลายคนคาดหวังความร่ำรวยจากหุ้น ต้องการมีอิสระภาพทางการเงินตั้งแต่ก่อนเกษียณ ใช้ชีวิตในแบบที่ตนต้องการ ถามว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิด ใครบ้างไม่อยากรวย หนังสือบางเล่มถึงกับการันตีว่าจะรวยได้ใน 24 วัน แต่...

คำเตือน-การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

ไม่มากก็น้อย กระแสฮิตการออม-การลงทุนได้สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและทัศนคติที่สุ่มเสี่ยงบางอย่าง มีตัวอย่างแมงเม่าให้เห็นไม่น้อยที่ปีกหักและเข็ดหลาบ แล้วก็มีเว็บไซต์ใหม่ที่พูดถึงการออมและการลงทุนปรากฏตัว ที่รูปลักษณ์ค่อนข้างแตกต่าง แล้วเนื้อหาล่ะ

www.aommoney.com กำลังบอกว่า ทุกคนรวยได้ แต่อาจจะไม่เร็ว ทุกคนรวยได้ แต่ต้องศึกษาหาข้อมูลในการลงทุน พร้อมกับนำเสนอวิธีการ คำแนะนำ กับรูปประกอบกราฟฟิกอันมีเอกลักษณ์

นั่งสนทนาเรื่องเงินๆ ทองๆ กับผู้ก่อตั้งเว็บออมมันนี่และบรรดาบล็อกเกอร์-ธนโชติ วิสุทธิสมาน ซีอีโอและบรรณาธิการบริหาร, ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือหมอนัท เจ้าของบล็อกคลินิกกองทุน, กวิน สุวรรณตระกูล กับวิธีการออมในหุ้น, ถนอม เกตุเอม เจ้าของบล็อก Taxbugnoms ว่าด้วยเรื่องภาษี และ ปาจรีย์ ปานขาว กับอภินิหารเงินออม

การออมและการลงทุนไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนมีเงินถึง 100 ล้านบาทได้ แต่ต้องมีความรู้ เข้าใจความเสี่ยง รู้จักตัวเอง ที่สำคัญที่สุดต้องมีวินัย พวกเขาบอกอย่างนั้น

ธนโชติ วิสุทธิสมาน

TCIJ: มารวมกลุ่มกันทำเว็บออมมันนี่ได้อย่างไร?

ธนโชติ: ผมทำอินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์อยู่ก่อน พอทำมาเรื่อยๆ เราก็โตไปพร้อมๆ กับบริษัท ถึงจุดหนึ่งเราก็สนใจเรื่องการเงิน บวกกับเราทำเรื่องการเงินเยอะ มีคนสนใจเยอะ เราจึงตัดสินใจทำโปรเจกต์ใหม่ เอาอินโฟกราฟฟิกที่เราเชี่ยวชาญมาเล่าเรื่องการเงินให้เข้าใจง่ายมากขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของเว็บออมมันนี่ ผมไม่ได้เขียนครับ แต่จะดูภาพรวม

TCIJ: แต่ละคนทำอะไรกันอยู่ ถึงมาร่วมกันเขียนบล็อกที่ออมมันนี่

กวิน: ก่อนหน้านี้ทำงานประจำ ช่วงที่ทำงานประจำ ผมก็เขียนบล็อกให้ความรู้เกี่ยวกับลงทุนอยู่แล้ว เป็นวิทยากรให้แก่ บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) ตอนนี้ผมทำธุรกิจส่วนตัว ก็เลยมาเขียนออมมันนี่ ตอนนี้สอนหนังสือและสอนตามบริษัทด้วยเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน

ปาจรีย์: แต่ก่อนเป็นมาร์เก็ตติ้งของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งประมาณ 3 ปี แต่ระหว่างที่ทำงาน เราก็รู้ว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่ใช่ เราก็ตามหา เริ่มจากการเขียนบล็อกก่อน เราไปอบรมซีเอฟพี (หลักสูตรการวางแผนการเงิน Certified Financial Planning Program: CFP) มา สิ่งที่เรารู้มาค่อนข้างยาก แต่เราอยากให้คนรู้โดยทำให้มันง่ายที่สุด เราก็เลยนำมาเขียนบล็อก แล้ว บก. ไปเห็นจึงนำมาทำหนังสือเล่มหนึ่ง เผอิญน้องเดียร์ (ธนโชติ) กำลังมองหาคนที่จะมาร่วมโปรเจกต์ เราก็เลยมารวมตัวกันและเขียนที่นี่ ตอนนี้ลาออกจากงานแล้ว เขียนเต็มตัว

ถนอม: เป็นข้าราชการครับ ทำงานเกี่ยวกับภาษี ตอนแรกเขียนบล็อกเรื่องภาษีมาประมาณ 3 ปีได้ หลังจากนั้นก็มาทำเว็บไซต์ เป็นวิทยากร เขียนหนังสือ บรรยายบ้าง ตอนนี้ก็เป็นอาจารย์พิเศษอยู่ แล้วก็มาเขียนกับเว็บออมมันนี่

ธนัฐ: ผมอาจจะแตกต่างจากคนอื่น ส่วนตัวเป็นสัตวแพทย์อยู่สี่ห้าปี แล้วก็เรียนต่อ แต่ว่าเราเริ่มเบื่อสิ่งที่เราทำแล้ว ก็เลยลองเรียนอย่างอื่น ไปเรียนไฟแนนซ์ ปรากฏว่าชอบ เรียนแล้วสนุก พอจบ ป.โท ก็เปลี่ยนตัวเองเลย ทำงานวิเคราะห์กองทุนอยู่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง พอมีประสบการณ์เราก็เริ่มจับนั่น จับนี่มากขึ้น เรียนซีเอฟเอ (นักวิเคราะห์การเงิน Chartered Financial Analyst: CFA) ซีเอฟพี แล้วถนอมก็ชวนผมมาเขียน

TCIJ: หน้าเว็บออมมันนี่ค่อนข้างแตกต่างจากเว็บทำนองนี้ชัดเจน การสร้างความแตกต่างตรงนี้คิดจากอะไร

ธนโชติ: ออมมันนี่เป็นแบรนด์ต่อยอดของไลค์มีไทยแลนด์ ซึ่งเป็นเฟซฯ อินโฟกราฟฟิกที่มีคาแรกเตอร์ที่เป็นเหลี่ยมๆ ตอนนั้นเราต้องการต่อยอด จึงนำเอาดีไซน์นี้แหละมาใช้ แล้วทุกคนในบริษัทเป็นเด็กจบใหม่ ไม่มีความรู้ด้านการเงิน การเงินเป็นเรื่องที่ยากและเข้าไม่ถึง โจทย์ของเราคือทำให้การเงินเข้าใจง่ายและเป็นเรื่องสนุก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ โดยเอาดีไซน์ของไลค์มีฯ เข้ามาประกบจนออกมาเป็นเว็บที่เห็น

TCIJ: ยอดคนที่เข้าถึงเนื้อหาของออมมันนี่มีมากแค่ไหน

ธนโชติ: ออมมันนี่เป็นเหมือนเว็บไซต์ที่เป็นแกนกลาง แต่ว่าบล็อกเกอร์ทุกคนจะมีบล็อกและแฟนเพจของตัวเอง ถ้ารวมแฟนเพจทั้งหมดที่เรามีอยู่ก็มากกว่า 3 แสนคน เปิดมา 2 เดือนแรก เริ่มจากศูนย์จำนวนคนเข้าดูเราขึ้นไป 6 แสนคนต่อเดือน ตอนนี้ขึ้นไปเป็นเว็บไซต์อันดับ 1 ด้านการเงินส่วนบุคคลแล้ว

TCIJ: การเขียนเรื่องการเงินซึ่งเป็นเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มันยากหรือเปล่า

ถนอม: ก็ยากครับ อย่างผมเขียนเรื่องภาษีมันมีรายละเอียดมาก แต่ที่หยิบมานำเสนอเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ควรจะรู้ในเบื้องต้น เช่น ค่าลดหย่อนภรรยาตามกฎหมายลดหย่อนได้ 3 หมื่นบาท แล้วถ้าเป็นค่าลดหย่อนภรรยาของชาวมุสลิมที่มีภรรยาได้ 4 คนจะลดหย่อนเท่าไหร่ ...ก็ลดได้แค่ 3 หมื่นบาท เพราะกฎหมายไม่ได้นับจำนวน คือมันต้องลงรายละเอียดในเชิงกฎหมาย แต่เวลาเราเขียนต้องตัดออก โชคดีที่ผมทำงานเขียนมาก่อน แล้วน้อง บก. จะบอกเสมอว่าให้ตัดเหลือเฉพาะส่วนที่เราต้องการนำเสนอ เพราะมันไม่สามารถเสนอทั้งหมดได้

กวิน: เวลาเราจะอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บางทีเราคิดว่ามันง่ายแล้ว แต่คนอ่านจะรู้สึกว่ามันยังยากอยู่ เพราะระดับของคนที่มาใหม่บางทีเขาไม่เข้าใจ อย่างผมเขียนเรื่องหุ้น มันยังมีประสบการณ์ที่ผ่านมาของคนอ่านอีก เช่น ผมบอกว่าให้ทำวิธีนี้ๆๆ แต่ผู้อ่านมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อนก็จะค่อนข้างยากที่จะเชื่อ แล้วก็จะมีการท้าทายกัน เราก็ต้องทำข้อมูลก่อนเพื่อพิสูจน์ แต่ก็มีคนที่พยายามท้าทายจากประสบการณ์ที่เขาเจอมา มันจะมีทั้งเรื่องความเข้าใจและเรื่องทัศนคติด้วย

ธนัฐ: ถามว่ายากมั้ย คือโชคดีอย่างหนึ่งที่ผมทำงานนอกสายการเงินมาก่อน เป็นคนที่ไม่รู้เรื่องการเงินมาก่อน แต่พอเรามาเรียนรู้ตรงนี้ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง เวลาผมเขียน ผมก็จะอิงกับสมัยที่ผมไม่รู้เรื่องการเงินมาก่อนเลย ถ้าผมจะเขียนเรื่องกองทุน ผมก็จะเขียนตั้งแต่พื้นฐานถึงระดับสูงได้ค่อนข้างจะง่ายกว่า เพียงแต่เวลาอารัมภบทในการเขียนบทความแต่ละชิ้นจะเยอะหน่อย เพราะแต่ละคนพื้นฐานไม่เท่ากัน ถ้าเราเขียนตั้งแต่แรกเริ่มได้ก็จะดี คนอ่านก็จะค่อยๆ เก่งขึ้นตามเรา

ถนอม เกตุเอม

ปาจรีย์: ถ้าเป็นเรื่องการออมเงิน ทุกคนจะมีข้ออ้างสารพัดว่า ฉันใช้เดือนชนเดือน ฉันมีค่าใช้จ่ายเยอะ ฉันมีหนี้ ฉันก็เลยออมเงินไม่ได้ไง จบ แต่เราต้องการจะสื่อว่ามีวิธีการออมเงินที่ง่ายนะ แต่เราก็ใช้ประสบการณ์ของคนอื่นมาเป็นตัวแทน เช่น ถ้าเข้าไปในเพจจะเห็นคนที่มีเงินเดือน 7,000 บาท แต่มีเงินออม เราก็นำประสบการณ์ตรงนี้มาแชร์ คนอ่านก็จะรู้ว่าเงินเดือนแค่นี้ออมได้ แล้วคนที่เงินเดือน 20,000 บาท ก็น่าจะทำได้ จะต้องแบ่งสัดส่วนการใช้เงินยังไงบ้าง เหมือนเป็นโมเดลให้คนอื่นเข้าดู

แล้ววิธีการนำเสนอ เราจะไม่แค่เขียนอย่างเดียว แต่จะนำเสนอให้เห็นภาพชัดๆ เวลาเข้าไปในพันธุ์ทิพย์ เห็นรูปภาพ ทุกคนจะชอบมาก บางคนถ่ายรูปเงินใส่กระปุกออมสิน เอาออกมาเป็นแบงค์เยอะๆ เขาออมจากค่ากับข้าว ค่ากาแฟ แค่เก้าเดือน มีเงินเยอะขนาดนี้แล้ว เราแค่รวบรวมและโชว์ให้คนอื่นดูว่า วิธีการออมเงินของคนเหล่านี้เป็นยังไง ซึ่งมันสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนได้ คือเราต้องขจัดข้อโต้แย้งว่าออมไม่ได้ออกไปก่อน พอคนเรามีความรู้สึกว่าออมได้เหมือนกัน คนจะสนใจออมมากขึ้นและต่อยอดด้วยการลงทุนเอง

แต่ประเด็นคือคุณไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน แล้วจะไปลงทุนด้วยเงินของคุณ มันก็ไม่ใช่เรื่อง ก็ต้องอ่านก่อนว่าการลงทุนแต่ละรูปแบบเป็นยังไง จะนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้เข้ากับนิสัยเราอย่างไร เช่น จะลงทุนซื้อหุ้นแบบดีซีเอเหมือนคุณต้า (กวิน) ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะเห็นผล ต้องค่อยๆ สะสม แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้าไป เฮ้ย ตัวที่เราถือทำไมไม่ไป แต่ทำไมตัวที่มันไม่ดี มันวิ่งจัง ฉันอยากจะขายตัวที่ฉันถือแล้วไปถือตัวที่วิ่งแทน เหมือนได้ยินเพื่อนบอกว่า ฉันสามวันฉันก็ได้ 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว เลยรู้สึกว่าฉันไม่ต้องทำงานแต่ก็ได้เงินแล้ว คือนักลงทุนจะขาดวินัยตรงนี้ เมื่อถูกเพื่อนพูดให้ฟังหรืออ่านกระทู้แล้วเจอว่าลงทุนแล้วรวยเร็ว มันจะทำให้วินัยเสียไป เราแค่สอนวิธีที่ถูกต้องในการออม อดทนยังไง คนอื่นเขาทำกันแบบไหน

TCIJ: อย่างที่รู้กันว่าการออมของคนไทยค่อนข้างต่ำ หนี้ครัวเรือนตอนนี้ก็สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของจีดีพี อะไรคืออุปสรรคใหญ่สำหรับการออม

ถนอม: ความคิดครับ จะออมไปทำไม เริ่มตั้งแต่ตอนที่เรายังมีเงินน้อยๆ นี่ส่วนตัวผมนะ เมื่อก่อนผมไม่ออมเงินเลย เราเงินน้อย แค่ใช้ก็ไม่พอแล้ว เลยอยากจะใช้ รู้สึกว่าเราขาด คนอื่นมี เราก็อยากจะมี แต่เราลืมไปว่าตัวเราคือตัวเรา คนอื่นคือคนอื่น เราไม่สามารถจะมีเท่าคนอื่นได้ ตราบใดที่เรายังมีเงินน้อยอยู่ พอเรามีเงินมากขึ้น แทนที่เราจะคิด กลับรู้สึกว่าเราต้องใช้เงินมากขึ้น เพราะสังคมที่เรามีก็โตขึ้น คือยิ่งแก่ยิ่งมีเรื่องในชีวิต มีครอบครัว ซื้อรถ ซื้อบ้าน มีเรื่องต้องใช้เงิน ก็เลยลืมไปว่าต้องเก็บ มารู้สึกตัวอีกทีใกล้ๆ เกษียณก็ทำอะไรไม่ได้ ตามสถิติบอกว่า อายุ 42 เพิ่งเริ่มออม ถือว่าเยอะมาก

กับอีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้าพูดในแง่ของรัฐ รัฐยังไม่มีมาตรการจูงใจที่เด่นชัด ถ้าในอเมริกาจะมีมาตรการบังคับหรือว่าคนอเมริกันเองก็จะมีวินัย เขารู้ว่าต้องลงทุนในหุ้น ต้องออม แต่ของเรา พอพูดเรื่องหุ้นก็รู้สึกว่าเสี่ยงแล้ว สุดท้ายฝากแต่ธนาคาร พอจะเอาเงินไปทำอย่างอื่นก็ติดว่าจะเอาเงินไปทำอะไรดี เพราะมีเงินน้อยในการเอาไปทำธุรกิจ ถ้าอย่างนั้นก็ฝากแบงค์ไปเรื่อยๆ แล้วกัน มันก็วนมาถึงอายุ 42 ไงครับ รู้สึกตัวอีกทีก็ช้าไปแล้ว

ปาจรีย์ ปานขาว

ธนัฐ: ผมคิดว่าพื้นฐานด้านการเงินของคนไทยยังน้อย เนื่องจากเราไม่ได้เรียนมาตั้งแต่เด็กๆ ถ้าสังเกตในเมืองนอก ส่วนใหญ่จะสอนเรื่องความรู้ด้านการเงินง่ายๆ เช่น ดอกเบี้ยทบต้น มันทำให้รู้ศักยภาพเงินตั้งแต่สมัยเด็กๆ จึงมีนิสัยเก็บออมตั้งแต่เด็ก ดังนั้น ผมว่าปัญหาจริงที่เราเก็บออมไม่ได้ เพราะเราไม่ได้คุยเรื่องนี้ให้เด็กฟังตั้งแต่เขาอยู่ประถม พอเรียนมหาวิทยาลัยถ้าเขามีความรู้เรื่องการเงิน เขาจะรู้จักแบ่งสัดส่วนเงินได้ดีและรู้ว่าควรจะสร้างหนี้แบบไหน หนี้ดี หนี้ไม่ดี รู้วิธีการลงทุนสินทรัพย์ในระยะยาว ซึ่งความเสี่ยงมันน้อยมาก พวกเราทุกคนจึงพยายามเขียนเนื้อหาออกมาให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เพิ่ม

TCIJ: ต้องก่อหนี้อย่างไรถึงจะเรียกว่าหนี้ที่ดี

ธนัฐ: ถ้าเป็นศัพท์แสงทางวิชาการ เขาเรียกว่าสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ทั้งหมด พูดง่ายๆ คือหนี้ที่เราก่อไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่เรามีทั้งหมด แต่ถ้าพูดถึงหลักการเก็บเงินจริงๆ ผมมองว่า หนี้สินควรมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ถึงครึ่งหนึ่ง เช่น มีเงินเดือนหมื่นบาท หนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ก็ไม่ควรจะเกิน 5,000 บาท ถือเป็นการสร้างหนี้ที่ดีหน่อย แต่จริงๆ ซื้อรถก็ไม่เชิงเป็นหนี้ที่ดีนัก แต่ถ้าเป็นรถที่เราใช้ทำมาหากินจริงๆ ก็ถือเป็นสินทรัพย์ได้เหมือนกัน ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป นี่ก็เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของคนไทยที่ไม่รู้ว่า การสร้างหนี้ที่ดีเป็นอย่างไร อย่างเรากู้เงินมาเรียนภาษาอังกฤษ แบบนี้ถือเป็นหนี้เพื่อการศึกษา พัฒนาตัวเองได้

TCIJ: กลับมาที่เรื่องอุปสรรคในการออม

กวิน: ส่วนใหญ่ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนเป็นหลัก คำถามที่ผมจะเจอ เช่น จะลงทุนอย่างไรให้รวยเร็ว พอเป็นอย่างนี้ หลายคนจะมีความคิดว่าถ้าเขานำรายได้มาลงทุนแล้วได้กำไร ก็จะสามารถนำกำไรตรงนั้นมาจ่ายค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งถ้าเขามองเป็นระยะสั้น มันมีความเสี่ยงที่สูงมาก แต่มีคนที่คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นเรื่องเลวร้ายในชีวิตของเขาและคนอื่นๆ อีกหลายคนที่เขาไปเล่าให้ฟังว่าการลงทุนเลวร้ายยังไง

ผมจึงมานั่งคิดใหม่ว่า โมเดลที่สำคัญจริงๆ คือการที่คุณจะต้องแบ่งสัดส่วนของเงินออมก่อน ค่าใช้จ่ายแยกออกไป แล้วจึงค่อยนำเงินออมมาลงทุน ส่วนวิธีการออม ผมก็วางโมเดลการลงทุนรายเดือนว่าจะออมในสินทรัพย์ยังไง ซึ่งเขาจะต้องรู้ว่าความเสี่ยงของเขาคืออะไร ตรงนี้คือสิ่งที่ผมพยายามจะปรับให้

ปาจรีย์: จะเสริมของคุณนัฐ ตัวเองเคยไปเสวนาแห่งหนึ่ง เขาเอาเด็กมัธยม อาชีวะ มหาวิทยาลัย มาถามว่าสถาบันการศึกษาได้สอนเรื่องการเงินหรือเปล่า สอน แต่สอนเรื่องไกลตัวมาก เช่น รู้ว่าจะลงทุนสร้างบริษัทยังไง จีดีพีคืออะไร คือสอนสิ่งที่เด็กไม่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าสอนสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นยังไง ประเด็นคือไม่มีใครสอนวิธีการใช้เงินที่ถูกต้องคืออะไร การศึกษาสอนเรื่องที่ไกลตัวมาก เป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่เรื่องการจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย ไม่เห็นมีใครสอนเลย หรือจะตั้งงบประมาณรายจ่ายยังไง จะใช้ยังไงให้ครบสัปดาห์ เด็กประถมจะรู้จีดีพีไปเพื่ออะไร

ประเด็นที่สองคือสื่อต่างๆ พยายามสอนว่า วิธีการใช้เงินที่ผิดคืออะไร สมมติคุณเห็นโฆษณาบัตรเครดิตรูดบัตรเพื่อไปซื้อชุดราคา 3,000 บาท เพื่อให้ลูกไปสมัครงาน หรืออนุมัติปุ๊บ โทรสั่งได้ หรือเห็นบัตรแล้วคิดถึงแม่ อยากซื้อรถเข็นไปให้แม่ คือเขาใส่กลยุทธ์ให้ความรู้สึกว่าจะมีความสุขระยะสั้น จ่ายเพื่อให้แม่ได้เห็นโลกกว้าง แต่ประเด็นคือคุณใช้เงินคุ้มหรือเปล่า คุณซื้อรถเข็นให้แม่ แต่ไม่มีเวลาไปเข็นให้แม่ มันใช่หรือเปล่า เราสามารถหาความสุขโดยไม่ต้องใช้เงินก็ได้ สื่อต่างๆ พยายามบอกว่า สิ่งนี้ๆ คือสิ่งจำเป็น คุณต้องมี ไม่มีไม่ได้ แต่ไม่ได้สอนว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นของคนในแต่ละช่วงวัย

TCIJ: กระแสการตื่นตัวเรื่องการออม การลงทุน จากเว็บไซต์ การบอกต่อ จากหนังสือที่พิมพ์ออกมาจำนวนมาก สรุปว่าคนไทยเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุนมากขึ้นหรือว่าคนไทยอยากรวยมากขึ้น เพราะการออมกับการรวยไม่น่าจะใช้สิ่งเดียวกัน

กวิน: ไม่เหมือนครับ ผมคิดว่าแรงขับมันคนละอย่าง

ธนัฐ: คืออย่างนี้ครับ ผมคิดว่าคนไทยมีความรู้พื้นฐานทางการเงินต่ำ แต่ข้ามขั้นไปลงทุนเลย แบบนี้จะไม่ยั่งยืน ตอนนี้ที่ลงทุนกัน เพราะหนึ่งเลยคือตลาดหุ้นเราค่อนข้างจะไปได้ดี อันนี้ผมเรียกของผมเองนะว่า วินมอร์เตอร์ไซค์ อินดิเคเตอร์ คือถ้าวินมอร์เตอร์ไซค์เริ่มพูดถึงเรื่องหุ้น อันนี้น่ากลัวแล้ว คือทุกคนอยากรวย แต่ไม่มีความรู้ ต่อไปถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความสนใจเรื่องการลงทุนก็จะหายไป

ธนโชติ: ตอนนี้หนังสือส่วนใหญ่ในท้องตลาดไม่ได้พูดเรื่องการออมเงินนะครับ ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องเล่นหุ้นยังไง ทำธุรกิจยังไง แม้กระทั่งเว็บไซต์ ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับหุ้น

ถนอม: ต้องมีคำว่ารวยถึงจะขายดี

ธนัฐ ศิริวรางกูร

TCIJ: บางเล่มบอกว่าจะรวยภายใน 24 วัน

ถนอม: ผมคิดว่าน่าจะทำวิจัยว่า หลังจากที่หนังสือออกเยอะขนาดนี้ พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปหรือเปล่า ผมอยากรู้ตรงนี้ มันถึงจะตอบได้ ถ้าหนังสือออกมาเยอะ แต่พฤติกรรมไม่เปลี่ยนก็คืออยากรวย แต่ถ้าเกิดเป็นพฤติกรรมการออม อย่างนี้ก็เป็นเรื่องดี แต่การออมกับรวยก็คนละเรื่องกัน การออมคือการเก็บเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น คำว่ารวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมมี 10 ล้าน ผมอาจจะบอกว่าผมรวย คำว่ารวยจึงหลากหลายมาก

ธนโชติ: ผมว่าหนังสือที่ออกมาเยอะๆ ตอนนี้ทำร้ายชีวิตคนไปหลายคนแล้วนะ อย่างน้องชายผมก็หลงกระแสนี้เหมือนกัน ทำงานมีเดือนไม่เท่าไหร่ แทนที่จะเก็บเงิน แต่กลับจะเอาเงินไปซื้อคอนโดฯ จะลงทุนแล้ว ทั้งที่การบริหารเงินขั้นพื้นฐานยังไม่รู้ ยังไม่มีการวางแผนเลย ซึ่งถ้าเกิดวิกฤตนิดเดียวก็เจ๊ง คือเขาพยายามจะสร้างภาระไปอีกยี่สิบสามสิบปีเพราะอ่านหนังสือพวกนี้

กวิน: หนังสือหุ้นส่วนใหญ่จะพูดถึงหลักการเก็งกำไรหรือการลงทุน จะเริ่มว่าต้องวิเคราะห์ยังไง ลงทุนยังไง แต่โดยส่วนตัวคิดว่าควรเริ่มจากการวางแผนการเงินก่อน ผมจึงพยายามจะบอกว่า ถ้าคุณยังลงทุนไม่ได้ก็อย่าเพิ่งลงทุน มาลองจัดสรรเงินกันก่อนดีมั้ย ส่วนเรื่องการลงทุนเป็นอีกสเต็ปหนึ่งว่าจะลงทุนด้วยวิธีใดให้ตนเองปลอดภัยจากความเสี่ยง ผมจะเน้นแบบนี้มากกว่า ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเอารายได้มาลงทุนเพราะกะรวย บางคนก่อหนี้เพื่อให้มีเงินก้อนเอาไปลงทุน กะว่าพอได้กำไรมาจะเอาเงินไปใช้หนี้ เอาไปเป็นค่าใช้จ่าย มันเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก แต่ที่ช่วงนี้ที่คนยังทำได้อยู่เพราะหุ้นเป็นช่วงขาขึ้น แต่ถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปกติ แล้วหุ้นลง คนพวกนี้จะตายเป็นพวกแรก แล้วพวกนี้ก็จะบอกว่าหนังสือหุ้นมันเชื่อไม่ได้

แต่ถ้าเรารู้วิธีบริหารจัดการเรื่องเงินของเรา แรกสุดถ้าจัดการได้ มันลดความเสี่ยงในตัวอยู่แล้ว ถ้ามีคนบอกว่าอยากลงทุนในหุ้น ผมก็จะบอกว่าลองดูสักห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ดูก่อนมั้ย เพราะเดี๋ยวนี้ 1,000 บาทก็ลงทุนในหุ้น ในกองทุนได้ ถ้าเกิดคุณเสียไปก็แค่ 1,000 บาท พอเริ่มรู้หลักการ รู้วิธีการ ค่อยไปเพิ่มทีหลัง คือจะต้องเรียนรู้ไปด้วย ทำไปด้วย นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะนำเสนอ ไม่ใช่มาถึงกะรวยเลย กราฟขึ้น เทตังค์ กำไร ดีใจ พอเล่นรอบสองเจ๊ง

ปาจรีย์: ถ้าเป็นประสบการณ์ตัวเองในเรื่องการลงทุนที่เพิ่งลงทุนมาประมาณสี่ห้าปี ปกติก็กลัวหุ้น เราน่าจะสอนคนว่าความเสี่ยงของการลงทุนแต่ละประเภทคืออะไร เพราะหนังสือแต่ละเล่มบอกแต่ข้อดี ไม่บอกข้อเสีย แต่ส่วนตัวเวลาศึกษาหุ้นครั้งแรก เราจะดูก่อนว่าทำไมเขาถึงรณรงค์ให้คนเล่น มันมีดีอะไร ถ้ามันดีขนาดนั้น ทำไมปี 2540 ถึงเจ๊ง เราก็ไปหาข้อมูลปี 2540 เจ๊งเพราะอะไร ลักษณะการเก็งกำไรเป็นยังไง เสียหายจากอะไรบ้าง เพื่อที่ว่าประวัติศาสตร์จะได้ไม่ซ้ำรอย เราจะได้ระวังว่ามีแค่ไหนเล่นแค่นั้น สองสามหมื่นก็เล่นไปเถอะยังไงเงินมันก็โตได้

แล้วยังมีพวกกระทู้ที่เร็วกว่าหนังสืออีกนะ คนโพสต์จะบอกว่าไม่ต้องใช้เงินตัวเอง กู้เงินมาเล่นสิ ใครไม่มีเงินเย็นเล่นหุ้น ดูผม ผมทำเป็นตัวอย่าง เขาก็จะถ่ายพอร์ตตัวเองมาให้ดูว่าได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ ไปกู้มาจากไหน กู้มาสี่ห้าแสนผ่านไปสามปีได้เงินขนาดนี้ เราดูแล้วว่ามันไม่ใช่ ถ้าสามสี่ปีหุ้นมันไม่ขึ้นล่ะ 7 เปอร์เซ็นต์ที่เราเสียดอกเบี้ยล่ะ จบนะ เขาเป็นหนี้สองต่อ บางคนก็ไปทำตาม แล้วก็จะเจ๊งตามๆ กัน

กวิน: คนมักจะเห็นว่าจะได้เท่าไหร่ แต่ไม่ยอมรับรู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูด ทุกคนพูดแต่เรื่องได้ตังค์ๆ แต่ผมพยายามจะพูดเรื่องความเสี่ยงๆ นี่ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง พอพูดเรื่องความเสี่ยงเยอะๆ คนจะรู้สึกว่าไม่น่าสนใจลงทุนเลย ผมว่าจริงๆ ต้องปรับบาลานซ์เรื่องนี้ให้คนเข้าใจ

TCIJ: ถ้าอย่างนั้นอะไรบ้างที่ความเข้าใจที่ผิดและความเข้าใจที่ถูกเกี่ยวกับการออมและการลงทุนในสังคมไทยตอนนี้

ธนัฐ: ผมว่าต้องแยกประเด็นก่อนครับ มันมี 2 ประเด็น เรื่องแรกคือการออม การออมไม่ใช่การลงทุน มันคือการเก็บเงิน หลังจากเราออม เรามีเงินเหลือถึงค่อยลงทุน แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าการออมกับการลงทุนคือเรื่องเดียวกัน แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยศึกษาเรื่องความเสี่ยง ความเสี่ยงที่สุดคือการที่เราไม่รู้อะไรเลย จะสังเกตว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งเกิดขึ้นจากการที่ทุกคนคิดว่าลงทุนแบบนี้ไม่เสี่ยง ประเด็นที่ต้องระวังคือการแยกแยะให้ออกระหว่างการออมกับการลงทุน ต้องเรียนรู้ความเสี่ยงจากการลงทุน และศึกษาให้เยอะขึ้น

ถนอม: การลงทุนมันไม่มีผิด ไม่มีถูก วิธีลงทุนหุ้นก็มีหลายวิธี การบริหารจัดการเงินก็มีหลายวิธี จะผิดก็ต่อเมื่อเราพลาดและเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย แล้ววิธีที่ถูกคืออย่ามองให้มันเป็นเรื่องยาก ถ้าเราหาให้ได้มากกว่าใช้ เราก็มีเงินเยอะ ถูกมั้ยครับ

ปาจรีย์: อะไรที่มีข่าวดีมากๆ เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด จากประสบการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ หุ้นตัวหนึ่งที่ขึ้นเยอะมาก ลูกค้าโทรมาถามว่า ผมจะทำยังไงดี ผมกลัวมาก ปกติคนที่เจ๊งมาตลอด แล้วกลับมาได้กำไร ตีคืนได้หมด เขาจะตื่นเต้น เขาควรขายหรือเปล่า เราก็บอกว่าคุณคะ ข่าวดีเยอะเกินไปแล้ว ขาย เท่าไหร่ดี ขาย 30 เปอร์เซ็นต์ก็พอ ที่เหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์ลุ้นต่อว่าข่าวที่ออกมาเป็นจริงหรือเปล่า หุ้นแบบนี้ตลาดหลักทรัพย์เขาจะตรวจ หยุดการซื้อขายชั่วคราว แปลว่าอะไร เพื่อให้นักลงทุนได้มีเวลาดูข้อมูลก่อนจะซื้อ-ขายว่ามีการปั่นหุ้นหรือเปล่า เราบอกเขาไปว่ากรณีเลวร้ายที่สุดคือเงินคุณ 7 หลักตรงนี้ถูกฟรีซไว้ ขายไม่ออก คุณจะเป็นยังไง ถ้าคุณไม่ขายของเก็บไว้ก่อน โชคดีที่เขาขายไปก่อนจะถูกฟรีซ สรุปว่าอะไรที่เป็นข่าวดีมากๆ ให้ระวัง และให้เราพอกับกำไรที่เกิดขึ้น

TCIJ: ฟังจากที่พวกคุณพยายามนำเสนอ การออมและการลงทุนเป็นเรื่องระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

ธนัฐ: การออมคือการมีเงินเก็บ การลงทุนคือการทำให้เงินที่เรามีในกระเป๋าชนะเงินเฟ้อ ถามว่ายาวมั้ย มันต้องควบคู่กัน ถ้าพูดถึงการลงทุน มันมีงานวิจัยของเจพีมอร์แกนที่ทำไว้ว่า ถ้าลงทุนสิบปียี่สิบปีขึ้นเปอร์เซ็นต์ขาดทุนน้อยมาก แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าหลักทรัพย์ที่เราไปลงทุนมีพื้นฐานดีสามารถทำรายได้ให้เราได้ในระยะยาว หรือถ้าจะให้ดีคือลงทุนผสม งานวิจัยบอกว่าแค่ 5 ปีก็ไม่ขาดทุนแล้ว ทำคู่กับการออม มีเงินเหลือเก็บแล้วก็เอาไปลงทุน จริงๆ ถ้าเราไม่คิดอะไรมาก การเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาทตั้งแต่ตอนอายุ 20 ตอนเกษียณจะมีเงินประมาณ 100 ล้าน เราทำได้นะครับ ไม่ได้ยากเลย เพียงแต่ว่าหลายคนล้มเลิกไปก่อน พอตลาดหุ้นผันผวนก็ถอยออกมา อันนี้ไม่ดีนะ ผมมองว่าคนไทยชอบความสุขระยะสั้น

กวิน: ความสุขระยะสั้นเป็นอะไรที่เสี่ยงที่สุดแล้ว ยิ่งสั้นยิ่งเสี่ยงครับ

TCIJ: เหมือนตอนนี้สังคมไทยระอุไปด้วยบรรยากาศอยากรวยเร็วมากกว่า

ธนัฐ: ถ้าอยากรวยเร็วจริงๆ ผมว่าทำธุรกิจ เร็วกว่าลงทุน เพราะการลงทุนต้องใช้เวลา ยกเว้นคนที่ศึกษาจริงๆ เข้าใจมันจริงๆ ก็ทำได้ แต่ต้องให้เวลา เพราะบางคนออกมานั่งเทรดทั้งวัน ระยะสั้นก็ต้องยอมรับว่าเขาทำได้ แต่คนทั่วไปต้องใช้เวลา

ปาจรีย์: แต่เราจะบอกว่าเล่นหุ้นแล้วไม่ดูกระดาน เล่นดีกว่า เป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วเล่นหุ้นดีกว่า เราเป็นโบรกเกอร์ เห็นหุ้นขึ้น-ลงทั้งวัน เราหวั่นไหว เจ๊ง แต่มนุษย์เงินเดือน ทำงาน ไม่มีเวลามีสนใจกระดานหุ้น ซื้อหุ้นดีๆ ทิ้งไว้ มันก็ขึ้นเอง แต่ถ้าคุณเห็นทั้งวัน คุณจะรู้สึกวิตกจริต ขาดทุน 2 เปอร์เซ็นต์ทำไงดี เครียดจังเลย

ถนอม: เทคโนโลยีมันทำให้ชีวิตเราเร็วขึ้น มันก็ทำให้เราอยากได้ผลตอบแทนเร็วขึ้น

ธนัฐ: มันเป็นเรื่องของเจเนอเรชั่นด้วย ถ้าเป็นคนยุคเบบี้บูมจะเชื่อว่า ทุกอย่างเกิดจากการทำงานถึงจะร่ำรวยได้ คนรุ่นใหม่ก็จะมีทัศนคติอีกแบบหนึ่ง คือเราเก่ง เราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ อยากได้เงินเดือนสูงๆ เร็วๆ มันก็เป็นทัศนคติของคนยุคนี้ ทำให้รู้สึกว่าการลงทุนระยะสั้นมันต้องเร็วสิ ต้องได้สิ เพราะเราเก่งนะ

ถนอม: เมื่อก่อนรุ่นพ่อแม่จะบอกว่าให้ทำงานเยอะ สั่งสมประสบการณ์ คนทำงานหนักคือคนรวย แต่สมัยนี้คือจะทำยังไงให้ทำงานน้อยสุด ได้เงินเยอะที่สุด ซึ่งมันมีโมเดลที่ประสบความสำเร็จ แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จไม่ถูกพูดถึง

ธนัฐ: อีกส่วนหนึ่งคือเดี๋ยวนี้ข่าวสารมันถึงเร็ว คนนั้นคนนี้ส่งพอร์ตมาให้ดู เราก็อยากจะมีเหมือนเขา ซึ่งต้องบอกว่าเราควรดูตัวเราเองว่าเราเหมาะกับการลงทุนแบบไหน จริงๆ การทำงานเป็นสิ่งสำคัญ เราเก่งในสิ่งที่เราทำมันจะช่วยให้เราลงทุนได้ดีขึ้น เช่น ผมจบสัตวแพทย์ ผมเก่งเรื่องโปรดักส์ยา เวลาจะลงทุนในบริษัทยาผมก็จะเลือกถูก

กวิน สุวรรณตระกูล

TCIJ: แล้วกระแสความสนใจในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือวีไอ (Value Investment: VI) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว แบบนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีหรือเปล่า

ปาจรีย์: วีไอปลอมค่ะ คนไปอ่านหนังสือ ไปสัมนาเรื่องนี้ แล้วบอกผมจะลงทุนแบบนี้ เราก็เลือกหุ้นที่พื้นฐานดีๆ ให้ อาทิตย์เดียว ผมไม่ไหวแล้วคุณ ราคามันไม่ไปไหนเลย ขยับนิดเดียว ดูตัวอื่นสิ ผมขายแล้วกัน เอ๊า ไหงว่าวีไอไงคะ คือทุกคนจะวีไอแค่แบรนด์ แต่พฤติกรรมคือเก็งกำไร แล้วมันจะส่งผลต่อวิธีการใช้เครื่องมือ เช่น ซื้อหุ้นแบบวีไอแต่ขายแบบเก็งกำไร ราคาขึ้นปุ๊บขายเลย บางคนก็ซื้อหุ้นแบบเก็งกำไร แต่ถือแบบวีไอ ก็คือติดหุ้น คนที่เล่นหุ้นแบบเก็งกำไรต้องรู้ตัวเองนะว่าเก็งกำไร ขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์ต้องตัดขาดทุน แต่ถ้าเอาสองแบบนี้มาผสมกัน ถือหุ้นเน่าก็จบ เพราะมันเป็นการลงทุนคนละแบบ

กวิน: ผมไม่ใช่วีไอ แต่เป็นการออมในหุ้นมากกว่า วิธีการไม่เหมือนวีไอ แต่ว่าเป้าหมายคล้ายกัน อย่างที่คุณปาเล่า หลายคนไปฟังสัมมนาแล้วอยากเป็นวีไอ สุดท้ายแล้วทุกคนอยากรวยเร็ว เป็นวีไอตอนที่ราคามันลงมาแล้ว เพราะตัวเองซื้อแพง ถือยาวทันที คนจำนวนมากยังชอบเก็งกำไร

ธนัฐ: ผมมองกลับกับคนอื่นนะ การที่คนศึกษาเรื่องหุ้นเยอะขึ้น ผมว่าเป็นแนวโน้มที่ดี อย่างผมสมัยก่อนที่ไม่รู้เรื่อหุ้น พอได้เรียนรู้ ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ สำหรับคนที่อ่านหนังสือมันมีหนังสือต้นตำรับที่สอนวิธีคิดอยู่ หนังสือที่ผู้เขียนเขียนด้วยประสบการณ์ตัวเองจริงๆ หนังสือแบบนี้ผมว่าโอเค เป็นวีไอจริงๆ แต่หลายๆ คนเอาหนังสือที่อ่านง่ายๆ ติดเรื่องความรวดเร็ว จนรู้สึกว่ามันง่ายอย่างนั้นเลยเหรอ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจหาแหล่งข้อมูลได้ไม่ครบเพียงพอ

ผมมองว่าคนที่เล่นหุ้นแบบเทคนิคก็ไม่ได้ผิด เป็นแนวทางที่ทำได้เหมือนกัน วันก่อนไปสัมมนาเจอคนที่เล่นเทคนิคกับคนที่เล่นวีไอ พอร์ตพันล้านเท่ากัน อย่างหนึ่งที่ทุกคนบอกเหมือนกันคือต้องมีวินัยในการลงทุน

TCIJ: ความรู้ทางการเงินกับวินัย ดูเหมือนวินัยจะสำคัญกว่า?

ธนัฐ: ผมคิดว่าวินัยสำคัญที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: