สิทธิ 30 บาทของผู้ป่วยเอดส์

1 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 6939 ครั้ง


ชุดสิทธิประโยชน์สำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1 บริการยาต้านเอชไอวีและยาอื่นๆ

1) การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี (Antiretroviral Treatment : ART)

2) การให้ยาต้านเอชไอวีเพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด (Prevention of Mother to Child Transmission: PMTCT)

3) การให้ยาต้านเอชไอวีเพื่อการป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัส (PostExposure Prophylaxis: PEP)

4) การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงที่เป็นผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัส

2 การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการรักษา (Laboratory Testing)

3 บริการให้คำปรึกษาและการตรวจเลือดแบบสมัครใจ (Voluntary Counseling & Testing: VCT)

4 การป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ (Positive prevention)

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี มีวัตถุประสงค์ เพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนไวรัสเอชไอวีในผู้ป่วย ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น ไม่มีอาการจากการติดเชื้อฉวยโอกาส หรือมะเร็ง ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ มีชีวิตยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตามผู้ที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวี อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา และมีโอกาสที่เกิดการดื้อยาได้ การรักษาจึงไม่ใช่เป็นเพียงการนัดผู้ป่วยมารับยาตามกำหนดนัดเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยและครอบครัวที่ต้องทำความเข้าใจถึงผลข้างเคียงจากยา และความสำคัญของการรับประทานยาสม่ำเสมอเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดไวรัสดื้อยา และเพื่อให้ยามีประสิทธิผลสูงสุดเป็นเวลานานที่สุด

ผู้มีสิทธิขอรับบริการ

1. สัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิว่าง

2. บุคคลไร้สถานะซึ่งได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

3. กรณีไม่มีสิทธิใดๆ หรือไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีเลข 13 หลัก (เช่น แรงงานต่างด้าว) ยกเว้นให้เฉพาะผู้ป่วยเก่าที่ลงทะเบียนในโครงการ NAPHA ก่อนวันที่ 1ตุลาคม 2548

4. มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้แก่ ข้อบ่งชี้ทางคลินิก (Clinical criteria) และ/หรือข้อบ่งชี้ทางห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกัน (Immunological criteria) ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในผู้ใหญ่และเด็ก

เงื่อนไขที่ไม่ครอบคลุม

1. ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ให้ใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละกองทุนบัญญัติ

2. ผู้ที่ไม่ยินยอม หรือไม่สามารถรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่องได้ (พิจารณาโดยดุลพินิจของทีมผู้รักษา)

การรับประทานยาต้านไวรัสในช่วงถือศีลอด

เมื่อเข้าสู่ช่วงถือศีลอดประจำปี กลุ่มผู้ติดเชื้อมุสลิมจะไม่สามารถรับประทานยาตามปกติวันละ 2 เวลาได้ จึงแนะนำให้เปลี่ยนเป็นยาที่สามารถรับประทานวันละครั้ง เช่น TDF, 3TC, EFV เป็นต้น การปรับมาใช้ TDF ควรจะแน่ใจว่าผู้ป่วยมี viral load น้อยกว่า 50 copies/ml. และมีการทำงานของไตเป็นปกติ อนึ่ง TDF เป็นยาที่ต้องได้รับอนุมัติจากผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์ (HIV/AIDS Expert)

การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด

ผู้มีสิทธิขอรับบริการ

1. หญิงตั้งครรภ์สัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

2. บุตรสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

3. ครอบคลุมทุกสิทธิ (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ประกันสังคม, ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ)

4. บุคคลไร้สถานะซึ่งได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

หมายเหตุ :

1. สิทธิประโยชน์ต่อไปนี้ เป็นสิทธิประโยชน์ซึ่งรวมอยู่ในเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถเบิกชดเชยเพิ่มเติมจาก สปสช. ได้แก่

- การตรวจ Anti-HIV antibody ในหญิงตั้งครรภ์ที่คลินิกฝากครรภ์

- การตรวจ Anti-HIV antibody ในทารกที่อายุ 12 – 18 เดือน

- บริการฝากครรภ์ และการดูแลรักษาโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์

2. หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี จัดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีคนหนึ่งด้วย ดังนั้น สิทธิประโยชน์การตรวจชันสูตรที่เกี่ยวกับเอชไอวี เช่น CD4, Viral load, Drug resistance รวมทั้งการเบิกชดเชยค่าตรวจชันสูตร ให้อิงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการส่งตรวจที่แต่ละกองทุนประกาศ

3. นมผสมสำหรับทารกเกิดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวี บริหารจัดการโดยกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังสัมผัส

ผู้มีสิทธิขอรับบริการ

ในกรณีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังสัมผัสจากการทำงาน (HIV OCC-PEP) มีเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1. สัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิว่าง30

2. บุคคลไร้สถานะซึ่งได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

ในกรณีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังสัมผัสจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ (HIV SEX-PEP) มีเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1. สัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

2. ครอบคลุมทุกสิทธิ (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ประกันสังคม, ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ)

3. บุคคลไร้สถานะซึ่งได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

บุคคลมีสิทธิได้รับการป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัส ดังนี้

1. ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัส

2. ได้รับการตรวจ Anti-HIV Antibody และเบิกค่าชดเชยได้จากระบบ VCT ตามเกณฑ์ที่ระบุในเงื่อนไขการรับบริการ VCT

บริการปรึกษาและตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี

บริการปรึกษาและตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่มีอาการ และนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ประกอบด้วย

1. การปรึกษาและตรวจการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (Voluntary Counseling and Testing:VCT)

2. ตรวจการติดเชื้อเอชไอวีในทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยวิธี PCR

ผู้มีสิทธิขอรับบริการ

เงื่อนไขการขอรับสิทธิประโยชน์กรณี VCT

1. สัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

2. ครอบคลุมทุกสิทธิ (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ประกันสังคม, ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ)

3. บุคคลไร้สถานะซึ่งได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

ทั้งนี้ผู้ขอรับบริการต้องมีข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

1. มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน

2. มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเอชไอวี เช่น ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น มีอาชีพบริการทางเพศ ถูกข่มขืน เป็นต้น

3. คู่สมรสที่มีผลตรวจเลือดเอชไอวีของอีกฝ่ายเป็นบวก

4. คู่สมรสที่ต้องการตรวจเลือดก่อนแต่งงาน

5. คู่สมรส/คู่นอน ของหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์

6. ผู้ที่มีข้อบ่งชี้ทางแพทย์ เช่น วัณโรค, Cryptococcosis, Pneumocystis carinii pneumonia (PCP)

เงื่อนไขที่ไม่ครอบคลุมในบริการ VCT

1. เคยตรวจเลือด Anti HIV มีผลบวก หรือเป็นผู้ป่วยเอดส์ *

2. การตรวจคัดกรองก่อนการผ่าตัด

3. เพื่อนำไปประกอบการทำธุรกรรม

4. การสมัครเข้าทำงาน

5. การสมัครเข้ารับการศึกษา

6. การบวชพระ

7. หญิงที่มารับบริการดูแลก่อนคลอดในคลินิกฝากครรภ์ (รวมอยู่ในเหมาจ่ายรายหัวแล้ว) **

8. การตรวจเลือดเพื่อทำประกันชีวิต

หมายเหตุ:

* หากเคยเจาะเลือดมีผลบวกบันทึกไว้ในฐานข้อมูล โปรแกรมจะทำการล็อคไม่ให้ใช้สิทธิ

** หญิงตั้งครรภ์สามารถรับบริการตามสิทธิประโยชน์ ซึ่งรวมอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1. บริการปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวี

2. บริการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV AntibodyTesting) ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี

3. บริการตรวจเลือดโดยวิธี PCR ในทารกอายุระหว่าง 2 สัปดาห์ – 6 เดือน ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเอชไอวีเพื่อติดตามการรักษา

สปสช. กำหนดชุดสิทธิประโยชน์ในเรื่องการตรวจทางห้องปฏิบัติการเอชไอวี (Blood chemistry, CD4, Viral load, Drug resistance) เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการรักษาการตรวจบางรายการโรงพยาบาลสามารถทำได้เอง บางรายการต้องส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพสูงกว่า จึงต้องมีการจัดระบบเครือข่ายการส่งตรวจและการรายงานผลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเอดส์ และพัฒนาระบบเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

ผู้มีสิทธิขอรับบริการ

ผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนในระบบ NAP ที่มีเงื่อนไขการส่งตรวจตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนดและมีสิทธิหลักประกันสุขภาพข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

1. สัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิว่าง

2. บุคคลไร้สถานะซึ่งได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

3. กรณีไม่มีสิทธิใดๆ หรือไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีเลข 13 หลัก (เช่น แรงงานต่างด้าว) ยกเว้นให้เฉพาะผู้ป่วยเก่าที่ลงทะเบียนในโครงการ NAPHA ก่อนวันที่ 1ตุลาคม 2548

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1. ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี จะได้รับสิทธิการตรวจ CD4 ไม่เกิน 2 ครั้ง/ปี

2. ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรับยาต้านไวรัสเอชไอวี ได้รับสิทธิการตรวจดังนี้

- CBC, Blood chemistry (FBS, Cr, ALT, Cholesteral Triglyceride ไม่เกิน 2 ครั้ง/ปี

- CD4 ไม่เกิน 2 ครั้ง/ปี

- Viral Load ไม่เกิน 1 ครั้ง/ปี

- Drug Resistance ไม่เกิน 1 ครั้ง/ปี (โดยที่ต้องมี Viral Load มากกว่า 2,000 copies/ml)

3. กรณีมีความจำเป็นต้องตรวจเกินกว่าเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด ให้ติดต่อ สปสช. เขต

ที่มา

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://thai.cri.cn

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: