วุฒิสภาไทยอยู่ที่ไหนในโลก

ณัชชาภัทร อมรกุล 8 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4546 ครั้ง


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่มีวุฒิสภา เพียง 80 ประเทศในโลกเท่านั้นที่มีวุฒิสภา ในขณะที่ 114 ประเทศเลือกที่จะมีสภาผู้แทนเพียงสภาเดียว ทั้งนี้มีหลายประเทศที่ยกเลิกวุฒิสภาไปหลังจากที่เคยมี เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ ยกเลิกวุฒิสภาในปี ค.ศ. 1950, ประเทศเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1954, สวีเดนในปี ค.ศ. 1970 และไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1991 ส่วนประเทศเกิดใหม่หลายประเทศในโลกก็เลือกที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวมาตั้งแต่แรก เช่น อังกอรา บุลกาเรีย โคโมรอส โครเอเชีย จอร์เจีย มาลาวี หรือล่าสุดได้แก่ ติมอร์-เรสเต้

ประเทศที่เลือกจะไม่มีวุฒิสภามองว่า การมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการเป็นตัวแทนของประชาชนในฐานะที่เป็นองค์กรที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน การตัดสินใจใดๆ ในสภาผู้แทนจึงไม่น่าจะถูกขัดขวางจากสภาอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชน อีกทั้งการมีสภาเดียวจะยังทำให้ตรวจสอบได้ง่ายกว่า ประหยัดกว่า และรวดเร็วกว่า

ส่วนประเทศที่เลือกที่จะมีวุฒิสภาส่วนใหญ่จะจำกัดอำนาจวุฒิสภาไว้มากกว่าสภาผู้แทนราษฎร เช่นวุฒิสภาในประเทศอังกฤษได้ถูกจำกัดอำนาจลงอย่างมากมายหลังจากมีการประกาศพระราชบัญญัติ Parliamentary Acts ในปี ค.ศ. 1911 และ 1949 แม้บางประเทศจะให้วุฒิสภามีที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ประเทศญี่ปุ่นไม่ให้วุฒิสภาควบคุมการงบประมาณของประเทศ

อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา

เป็นเรื่องยากที่จะกล่าวว่าวุฒิสภาทำหน้าที่อะไร เพราะแต่ละประเทศกำหนดบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภาไว้แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาได้ให้อำนาจวุฒิสภาไว้พิเศษ เช่นมีหน้าที่การให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญา การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจที่สภาผู้แทนราษฎรไม่มี  

ในแคนาดานั้นสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจเทียบเท่าสมาชิกในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่เรื่องการริเริ่มกฎหมายทางการเงินเท่านั้น ส่วนในประเทศอินเดียราชยสภาหรือวุฒิสภามีอำนาจค่อนข้างมากตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจควบคุมโลกยสภาหรือสภาผู้แทน และไม่เคยแสดงออกถึงความต้องการในการควบคุมโลกยสภา รองประธานาธิบดีของอินเดียรับตำแหน่งเป็นประธานราชยสภาโดยตำแหน่ง 

ส่วนประเทศมาเลเซียนั้น มีวุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 68 คน มีที่มาจากการเลือกตั้งจากรัฐต่างๆ รัฐละ 2 คน จากทั้งหมด 13 รัฐ และอีกสองคนมาจากเมืองหลวงของประเทศคือกัวลาลัมเปอร์ สมาชิกที่เหลืออีก 40 คนได้รับการแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาอาชีพ หรือในฐานะตัวแทนของเชื้อชาติชนกลุ่มน้อย สำหรับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในมาเลเซียมีไม่มากนัก เช่นการถ่วงเวลาการประกาศใช้กฎหมาย 

วาระการดำรงตำแหน่ง

สมาชิกวุฒิสภามักจะมีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ในขณะที่สมาชิกวุฒิสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีและในประเทศฟิลิปปินส์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ในขณะที่สมาชิกวุฒิสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี เช่น ในสหรัฐอเมริกาวุฒิสภาสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และหนึ่งในสามของสมาชิกจะพ้นตำแหน่งทุกๆ สองปี ราชยสภาของอินเดียไม่มีการยุบสภา แต่หนึ่งในสามของสมาชิกภาพพ้นวาระทุกๆ สองปี ในมาเลเซียสมาชิกวุฒิสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และบุคคลสามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้อย่างมากที่สุดเป็นระยะเวลา 6 ปี

ที่มาของวุฒิสภา

บางประเทศที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาได้รับการเลือกตั้งทางอ้อม จากสภาท้องถิ่น ทั้งในระดับตำบลและระดับจังหวัด การกำหนดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการละเลยความสำคัญของการเลือกตั้งทางตรงหรือการเลือกตั้งระดับชาติ  แต่เป็นการคำนึงถึงความแตกต่างทางท้องถิ่น การส่งเสริมความเข้มแข็งของท้องถิ่น และที่มาของประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศที่กำหนดให้วุฒิสภาชิกมีที่มาจากท้องถิ่น เช่น ประเทศอาฟกานิสถานมีจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 102 คน กำหนดให้สมาชิก 1/3 ที่นั่งมาจากสภาตำบล และ อีก 1/3 ที่นั่งมาจากสภาจังหวัด ส่วนอีก 1/3 มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ประเทศอัลจีเรีย มีจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 144 คน กำหนดให้สมาชิก 2/3 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสมัชชาชุมชนและสมัชชาจังหวัด ส่วนอีก 1/3 มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ประเทศเบลารุส มีสมาชิกวุฒิสภา 64 ที่นั่ง โดย 8 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งโดยประมุขของรัฐ และอีก 56 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภาท้องถิ่น ส่วนประเทศออสเตรียมีสมาชิกวุฒิสภา 62 ที่นั่ง ซึ่งแบ่งเป็น 9 เขตตามจำนวนมลรัฐ โดยที่นั่งได้รับการจัดสรรระหว่างพรรคตามจำนวนที่นั่งที่พรรคมีในสมัชชาของรัฐ และประเทศเบลเยี่ยม มีสมาชิกวุฒิสภา 71 ที่นั่ง โดยกำหนดให้ 21 ที่นั่งมาจากการเลือกของสภาท้องถิ่น ส่วนประเทศใกล้บ้านเราเช่น ประเทศกัมพูชา มีสมาชิกวุฒิสภา 58 ที่นั่ง โดย 54 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของสมาชิกสภาชุมชน ที่เหลืออีก 2 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และอีก 2 ที่นั่งได้รับการเลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร หรือในประเทศคองโก ทวีปอาฟริกากำหนดให้มีที่นั่งวุฒิสภา 72 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจากสภาชุมชน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีที่นั่งวุฒิสภา 108 ที่นั่ง ทั้งหมดมาจากสภาจังหวัด ซึ่งวุฒิสภาที่มีที่มาจากท้องถิ่นเหล่านี้เข้าไปปฏิบัติงานโดยตรงในส่วนกลางของประเทศคือสภานิติบัญญัติโดยตรง เป็นการเชื่อมโยงฐานท้องถิ่นกับการปกครองส่วนกลางของแต่ละประเทศ

บางประเทศกำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งบางส่วน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางอำนาจที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศเบลารุส มีสมาชิกวุฒิสภา 64 ที่นั่ง โดย 8 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งโดยประมุขของรัฐ และอีก 56 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภาท้องถิ่น ประเทศภูฐาน มีสมาชิกวุฒิสภา 25 ที่นั่ง โดย 5 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และอีก 20 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้ง ประเทศกัมพูชา มีสมาชิกวุฒิสภา 58 ที่นั่ง โดย 2 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ 2 ที่นั่งได้รับการเลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร และอีก 54 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของสมาชิกสภาชุมชน และอิยิปต์ก่อนการรัฐประหาร มีสมาชิกวุฒิสภา 264 ที่นั่ง โดย 88 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี และอีก 174 ที่นั่งมาจากระบบเสียงข้างมากอย่างง่าย 2 รอบ ส่วนแม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสรี เช่นประเทศเบลเยี่ยม ก็มีตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งเช่นกัน โดยประเทศนี้มีสมาชิกวุฒิสภา 71 ที่นั่ง ซึ่งกำหนดให้ 3 ที่นั่งเป็นวุฒิสภาโดยตำแหน่งคือ พระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้การกำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งจากการแต่งตั้งทั้งหมดหรือการแต่งตั้งบางส่วน

บางประเทศกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามี “สมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างน้อย” ด้วยเหตุนี้ไม่จำเป็นที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้คะแนนเสียงมากที่สุดจึงจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับสองในเขตเลือกตั้งอาจจะได้เป็นวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นสมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างน้อย การกำหนดให้มีวุฒิสภาเสียงข้างน้อยถือว่าเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เนื่องจากเป็นการกำหนดให้วุฒิสภาเข้ามาแก้ไขปัญหา “เสียงข้างมาก” โดยที่ไม่ละเลย “เสียงข้างน้อย” เช่น ประเทศชิลี กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา 38 ที่นั่ง หากพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากได้คะแนนเสียงมากกว่าสองในสามของคะแนนเสียงทั้งหมด พรรคนั้นจะได้ที่นั่งทั้งหมดของเขตเลือกตั้งไป หากพรรคที่ได้เสียงข้างมากได้คะแนนน้อยกว่าสองในสาม พรรคนั้นจะได้ที่นั่ง 1 ที่นั่งในเขตเลือกตั้งนั้น และพรรครองลงมาจะได้ที่นั่งที่สองไป ส่วนประเทศเม็กซิโกมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนทั้งหมด 128 คน ได้กำหนดให้ จำนวนสามในสี่ หรือ จำนวน 96 คนมาจากระบบเลือกตั้งแบบเขตละหลายคน อีกหนึ่งในสี่ หรือ 32 คนมาจากการเลือกตั้งระบบสัดส่วนโดยเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง  และในส่วนของสามในสี่ที่มาจากเขตเลือกตั้งนั้น สองในสี่คนเป็นคนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดสองคนแรกในแต่ละรัฐ และหนึ่งในสี่คนสุดท้ายมาจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากเป็นลำดับสองของแต่ละรัฐ เพื่อให้เป็นวุฒิสภาเสียงข้างน้อย จะเห็นได้ว่าที่มาของสมาชิกวุฒิสภาของเม็กซิโกนั้น ใช้ทั้งหลักการการเป็นตัวแทนของรัฐ (สองในสี่) และหลักการการเป็นตัวแทนของประเทศ (หนึ่งในสี่) และที่เหลือ (หนึ่งในสี่) มาจากสภาวะของการเป็นวุฒิสภาเสียงข้างน้อยของแต่ละรัฐ และประเทศอาร์เจนตินานั้นพบว่า สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 72 คนที่มาจากเขตเลือกตั้ง 24 เขตนั้น เขตละสามที่นั่งนั้น จะแบ่งให้บัญชีที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในแต่ละเขตเลือกตั้งจะได้สองที่นั่ง และบัญชีของพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นเปอร์เซ็นต์ลำดับที่สองในเขตเลือกตั้งจะได้หนึ่งที่นั่ง ในระบบนี้จะไม่ได้ต้องการเสียงข้างมากเช่นเดียวกับในสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องการกระจายให้เสียงข้างน้อยได้มีโอกาสแสดงความเห็นของตนในวุฒิสภา 

ส่วนในประเทศที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ จะกำหนดให้วุฒิสภาเป็นสภาที่เป็นที่มาและเป็นการแสดงออกทางการเมืองของเชื้อชาติที่มีความแตกต่างกัน เช่น บอสเนียและเฮเซโกวีน่า กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา 15 ที่นั่ง โดยสมาชิกมาจากชนเผ่าต่างๆ 3 ชนเผ่า ชนเผ่าละ 5 ที่นั่งคือ บอสเนีย เซิร์บ และ โครเอ็ต โดยได้รับการแต่งตั้งมาวุฒิสภาที่มาจากแต่ละเขตเลือกตั้งที่มีเขตละสองที่นั่งนั้น จะต้องเป็นชนเผ่าที่ต่างกัน หรือ เลโซโธ กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 33 ที่นั่งนั้น 11 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ส่วนอีก 22 ที่นั่งมาจากหัวหน้าเผ่าทั้ง 22 เผ่า ในประเทศ ส่วนในประเทศโคลัมเบียกำหนดให้ในจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 102 ที่นั่งนั้น จะต้องมี 2 ที่นั่งมาจากชุมชนชาวอินเดียน และในประเทศที่มีคนพูดภาษาหลากหลายเช่น  เบลเยี่ยม ซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภา 71 ที่นั่ง นั้น กำหนดให้วุฒิสมาชิก 40 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทางตรง โดย 25 ที่นั่งมาจากคณะผู้เลือกตั้งชาวดัช อีก 15 ที่นั่งมาจากคณะผู้เลือกตั้งชาวฝรั่งเศส และอีก 10 ที่นั่งเป็นที่นั่งที่เลือกกันเอง (co-opted) โดย 6 ที่นั่งมาจากกลุ่มเชื้อชาติดัช อีก 4 ที่นั่งมาจากกลุ่มเชื้อชาติฝรั่งเศส โดยแบ่งจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนจากการเลือกตั้งทางตรง

บางประเทศกำหนดวุฒิสภามีที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพ เช่นประเทศเบลิซ มีสมาชิกวุฒิสภา 13 ที่นั่ง โดย 2 ที่นั่งมาจากสภาวิชาชีพเพื่อให้เป็นสภาที่สะท้อนแตกต่างของบุคลากรในวิชาชีพที่แตกต่างกัน คือมาจากคำแนะนำของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ 1 ที่นั่ง และจากสหภาพการค้าและคณะกรรมาธิการภาคประชาชน 1 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือคืออีก 11 ที่นั่งมาจากคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี 6 ที่นั่ง และได้รับการแนะนำจากหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 3 ที่นั่ง นอกจากนั้นจากสภาคริสตจักร 1 ที่นั่ง และอีก 1 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งจากภายนอกและเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และประเทศไอร์แลนด์ที่มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 ที่นั่งนั้น กำหนดให้ 43 ที่นั่งมีที่มาจากจากสภาวิชาชีพ (อาชีพบริหาร, เกษตรกรรม, การศึกษาและวัฒนธรรม, อุตสาหกรรมและการค้า และภาคแรงงาน) 6 ที่นั่งมาจากผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดับลินและมหาวิทยาลัยแห่งชาติ และอีก 11 คนที่นั่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี

บางประเทศกำหนดให้ที่มาบางส่วนของวุฒิสภามีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสริมความเข้มแข็งของสภาผู้แทนราษฎร เช่นในประเทศเบลิซ กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา 13 ที่นั่ง โดย 6 ที่นั่งได้จากคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี 3 ที่นั่งได้รับการแนะนำจากหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่เหลือมาจากสภาคริสตจักร 1 ที่นั่ง มาจากคำแนะนำของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ 1 ที่นั่ง จากสหภาพการค้าและคณะกรรมาธิการภาคประชาชน 1 ที่นั่ง และอีก 1 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งจากภายนอกและเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และกัมพูชา มีสมาชิกวุฒิสภา 58 ที่นั่ง โดย 2 ที่นั่งได้รับการเลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร 2 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และอีก 24 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของสมาชิกสภาชุมชน เป็นต้น

วุฒิสภาในประเทศไทย

ในประเทศไทยนั้นได้กำหนดให้มีวุฒิสภาเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 โดยในสมัยนั้นเรียกว่า "พฤฒสภา" และมาจากการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ในระยะแรกพฤฒสภามาจากการแต่งตั้ง จึงไม่ได้มีการเลือกตั้งพฤฒสภาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้มีวุฒิสภาเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาจากการเลือกตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 100 คน กำหนดไว้ว่าต้องมีความรู้ความสามารถ และอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

หลังจากนั้นประเทศไทยได้กลับไปใช้ระบบสภาเดี่ยว สลับกับสองสภา โดยปกติในรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากการรัฐประหาร ได้แก่ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2495, 2502, 2515, 2519, 2534 และ 2549 มักกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียงสภาเดียว และไม่มีวุฒิสภา แต่ถ้ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งมักจะมีวุฒิสภามาประกบ เช่น ในรัฐธรรมนูญ 2511, 2517, 2521 และ 2534

ในปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้มีวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งแรกที่ อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยในช่วงแรกที่มีวุฒิสภาจนกระทั่งถึงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น โดยวุฒิสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  มีหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมายและควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีการพิจารณาเสนอแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระของรัฐตามรัฐธรรมนูญ

แต่ในปี 2550 รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งผสมกับการแต่งตั้ง โดยผู้สมัคร สว. ที่จะได้รับการสรรหามี 5 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มภาควิชาการ ภาคองค์กรเอกชน ภาครัฐ และภาคอื่น ๆ ตามที่บัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (ม.114) ผ่านทางคณะกรรมการสรรหา สมาชิกวุฒิสภาจํานวน 7 คน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ปปช. ประธาน คตง. ผูพิพากษาศาลฎีกาทีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 1 คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดทีที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือกมา 1 คน (ม.113)  อนึ่งหากไปดูที่มาของคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภาทำให้พบว่า พวกเขาเหล่านี้มีที่มาจากวุฒิสภาเช่นกัน

ผศ. ศุทธิกานต์ มีจั่น ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวุฒิสภาไทยไว้ว่า วุฒิสภาไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการเมืองที่ทำหน้าที่ด้านการปกครองพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการแข่งขันกันทางการเมือง อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมและเป้าหมายของสมาชิกในสถาบันเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างวุฒิสภากับรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดเชิงโครงสร้างที่เป็นทางการหรือเงื่อนไขทางกฎหมายเช่น ที่มาหรืออำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่มีต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการปรับตัวและพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างวุฒิสภากับรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ เป็นสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ความจำเป็นในการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสมาชิกวุฒิสภากับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง จึงไม่ได้สิ้นสุดลงแค่ในช่วงของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือการสรรหาเพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภามาเท่านั้น เพราะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอาจพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างวุฒิสภากับรัฐบาล ที่เชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์บางอย่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น การลงมติถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือการให้ความเห็นชอบกฎหมายที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนอำนาจบางอย่างให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมได้ต่อไป เพราะไม่ใช่เพียงแค่สายสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งกับนักการเมืองในระดับต่างๆ และสายสัมพันธ์ของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากสรรหาที่มีต่อกลุ่มอำนาจในขั้วของกลุ่มรัฐประหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเครือข่ายและสายสัมพันธ์ของกลุ่มพลังที่ยังคงมีอำนาจและอยู่เบื้องหลังการจัดกลไกตามรัฐธรรมนูญ

ลักษณะเหล่านี้จะทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าลักษณะของความหลากหลายในวุฒิสภา ที่สมาชิกมีฐานะเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆหรือเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการสรรหาตามที่เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญเปิดช่องทางให้เกิดขึ้นได้นั้น จะเกิดขึ้นในระดับที่สามารถผลักดันให้โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างวุฒิสภากับรัฐบาลจะเป็นไปในทิศทางใด ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงสร้างอำนาจในด้านต่างๆ ของสถาบันการเมือง รวมไปถึงช่องทางการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของภาคประชาสังคม ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มีลักษณะซับซ้อนมากยิ่งขึ้นว่า จะสามารถนำไปสู่การจัดดุลอำนาจระหว่างภาคส่วนต่างๆเหล่านี้ที่เอื้อต่อการพัฒนาให้การเมืองของพลเมืองเกิดขึ้นแทนที่การเมืองของนักการเมืองและชนชั้นนำอื่นๆ ได้หรือไม่

******************************

ที่มา

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand political database: TPD)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: