สุคิรินหวั่นสูญที่ดินทำกิน ยังไม่ได้สิทธิ์-นิคมฯถอนตัว

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1815 ครั้ง

งานวิจัยแผ่นดินร่ำไห้ ลุ่มน้ำสายบุรี เผยปัญหาที่ทำกินนิคมสร้างตนเองสุคิริน จ.นราธิวาส กว่า 50 ปียังไร้เอกสารสิทธิ์ พ้นกำหนด ปี 2559 ชาวบ้านหวั่นกลายเป็นที่ป่าสงวน ข้อมูลเผยรัฐบังคับทำสัญญาหนี้สินผูกพันที่ทำกิน

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2506 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรไร้ที่ทำกิน ตามพ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ในรูปแบบนิคมสร้างตนเอง 43 แห่ง ใน 32 จังหวัด รวมถึงนิคมสร้างตนเองสุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรยากจน โดยอพยพราษฎรไร้ที่ทำกินจากท้องที่ต่าง ๆ เข้ามาประกอบอาชีพ

นายเฉลิม ศรีภักดี ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่สุคิริน แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในพื้นที่นิคมฯว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ทางนิคมฯ ได้จัดสรรให้ชาวบ้านครอบครองใช้ประโยชน์ โดยชาวบ้านมีที่ดินอยู่อาศัยร้อยละ 85 เป็นที่ดินของตอนเอง แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะเป็นที่ดินของนิคม แต่ปัจจุบันชาวบ้านยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์และในปี พ.ศ.2559 นิคมสร้างตนเองจะถอนตัวออกไป ชาวบ้านมีความกังวลว่า นิคมจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับหน่วยงานอื่นดูแลต่อ ซึ่งหากไม่รีบจัดการเองเอกสารสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2559 เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน ซึ่งอาจเกิดการทับซ้อนเขตกันได้

ข้อมูลจากงานศึกษาพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 77.6 มีที่ดินทำกินแต่ไม่มั่นคง โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ นอกจากนั้นจะเป็นปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ซื้อที่ดินและไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ได้ เพราะยังติดหนี้นิคม ปัญหาแนวเขตที่ดินไม่ชัดเจน ปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกิน

ชาวบ้านในพื้นที่นิคมฯ เล่าว่า เจ้าหน้าที่โครงการจัดสรรที่ดินของนิคมฯ ออกกฎเกณฑ์บังคับให้ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินกู้เงิน โดยระยะแรกกู้เงินของโครงการนิคมฯก่อน รายละ 120,000  บาท โดยเกษตรกรจะลงมือด้วยตนเอง และใช้จ่ายเงินเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์เท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ตามเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อจำนวนชาวบ้านที่อพยพจากนครศรีธรรมราชและอีกหลายจังหวัดเข้ามาเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2525 ตามนโยบายผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่ 66/2523

ต่อมารัฐบาลจึงมีโครงการเงินกู้ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เข้ามาให้กู้รายละ 84,044 บาท เป็นเงินค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าพันธุ์ไม้ และค่าปุ๋ย รวมค่าวัสดุก่อสร้างบ้านอีก 23,000 บาท โดยมีระยะปลดหนี้ 5 ปี แต่ยังคิดดอกเบี้ยสะสมทุกปี หากเกษตรกรที่ดินแปลงหนึ่งยังไม่ได้ชำระหนี้จะเป็นหนี้ประมาณ 170,000 บาท และหน่วยงานของนิคมหยุดการคิดดอกเบี้ยไว้ในปี พ.ศ.2547

นอกจากนี้ชาวบ้านยังสะท้อนถึงปัญหาหนี้สินไม่เป็นธรรม เพราะผูกติดกับแปลงที่ดินแต่ไม่ผู้ติดกับบุคคลผู้กู้เงิน ชาวบ้านที่มาซื้อที่ต่อจากผู้ได้รับที่ดินจัดสรรจึงต้องตกเป็นหนี้และไม่ได้รับเอกสารการรับรองการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินจากนิคม (นค.1 และ นค.3) ได้

ปัจจุบันเกษตรกรที่รับการจัดสรรที่ดินยุคแรกเสียชีวิตและอพยพออกนอกพื้นที่ไปราวร้อยละ 80 โดยส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคอื่นครั้งก่อต้องนิคมฯ อาทิ ชาวบ้านจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งได้อพยพออกเกือบหมด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: