ความไร้ตัวตนของประชาชนใน MOU เหมืองทองเลยภายใต้กฎอัยการศึก

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 1 ต.ค. 2557


บทเริ่มต้นของ MOU คือท่าทีแข็งกร้าวของพันเอกสวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 และในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง ได้กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ในการเจรจาครั้งแรกกับประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านในท้องที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำว่า “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมืองเพื่อขนแร่ทองคำ”[1] และแร่พลอยได้อื่นออกมา ในครั้งนั้นถึงกับทำให้ชาวบ้านกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะสะเทือนใจกับพฤติกรรมไม่เป็นมิตรของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวงตั้งแต่การเจอกันครั้งแรก ว่ามาเจรจาช่วยเหลือชาวบ้านจากเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายในคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 โดยชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้า 300 นาย ใช้กำลังประทุษร้ายชาวบ้านเพื่อขนแร่ทองแดงที่มีทองคำและเงินเจือปนออกไปจากเหมืองแร่ หรือมาเจรจาเพื่อขนแร่รอบใหม่ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ไม่กี่วันต่อมา ทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ + 3 คณะอนุกรรมการ ขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 อันประกอบด้วย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ คณะอนุกรรมการรวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชน คณะอนุกรรมการประสานความต้องการของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จนนำมาซึ่งชาวบ้านในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำของบริษัทฯ ทำหนังสือเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้บัญชาการทหารบกจังหวัดเลย พล.ต.วรทัต สุพัฒนนานนท์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดดังกล่าว เพราะไม่พอใจที่คณะกรรมการและอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดดังกล่าว ไม่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการแม้สักคนเดียว

และเริ่มเห็นเค้าลางว่าทหาร คสช. และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเลยไม่จริงใจที่จะให้คณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ทำหน้าที่อย่างจริงจัง แต่มีวาระซ่อนเร้นด้วยการเอาคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด มาสร้างความชอบธรรมให้กับการขนแร่รอบใหม่มากกว่า อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยไล่ชาวบ้านที่ต้องการแสดงความเห็นให้มีการเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯ ออกจากที่ประชุมรับฟังความเห็นของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทหาร คสช. และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเลยไม่ต้องการฟังความเห็นที่ต่างจากแนวทางที่ปักธงเอาไว้แล้ว

ส่วนตัวตนของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำนั้น มีเพียงแค่การเชิญด้วยปากเปล่าผ่านทางโทรศัพท์ประสานงานเชิงบังคับให้เข้าร่วมประชุมในเวทีต่างๆ ของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ก็เพียงเพื่อเอาประชาชนมาร่วมพิธีกรรมเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับโครงสร้างของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด หรือสร้างภาพให้เห็นว่าประชาชนร่วมมือและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด  

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจอันล้นเกินของทหารและข้าราชการภายใต้กฎอัยการศึกไม่พยายามทำความเข้าใจต่อสถานการณ์และความต้องการของประชาชน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ ที่พยายามนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ตลอดมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับใช้วิธีบีบบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับแนวทางของทหารที่ร่วมมือกับข้าราชการและบริษัทแต่ฝ่ายเดียว ถือว่าไม่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง

ความไม่พอใจของชาวบ้านไม่เพียงเฉพาะหนังสือคัดค้านที่ส่งออกไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แต่ยังแสดงออกด้วยการจัดทำประชาคมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ด้วย โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 491 คน จากทั้ง 6 หมู่บ้าน ร่วมลงชื่อในการทำประชาคมโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “ไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุด ที่แต่งตั้งโดยผู้แทนทหาร คสช. และไม่เอาเหมือง”

แต่ทหาร คสช. และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเลยยังไม่หยุดยั้งความพยายาม นอกจากทำหนังสือเรียกมารายงานตัวและประสานงานทางวาจากับประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดในเชิงข่มขู่ว่าการไม่ยอมรับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ที่ทหารแต่งตั้งเท่ากับไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารแล้ว ยังสร้างกระบวนการ MOU หรือบันทึกข้อตกลงขึ้นมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์การปฏิเสธความร่วมมือของประชาชนกับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด

เปรียบเทียบร่าง MOU ฉบับแรกและฉบับที่สอง

หมายเหตุ: โปรดดูตารางเปรียบเทียบร่าง MOU ฉบับแรกและฉบับที่สองในตารางท้ายบทความนี้ เพื่อประกอบการอ่าน

ร่าง MOU ฉบับแรกเขียนขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ประชาชนปฏิเสธความร่วมมือกับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ตามที่ได้กล่าวมา โดยระบุหลักการว่า “บันทึกนี้จัดทำขึ้นระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยตัวแทนจากราษฎรหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับผู้แทนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้แทนจากส่วนราชการของจังหวัดเลย ตามรายชื่อที่ลงนามในท้ายสัญญานี้…” แต่ก็ไม่อาจซื้อใจประชาชนได้อีกต่อไป เพราะสิ่งสำคัญของ MOU มันมากกว่าการลงนามของราษฎร กล่าวคือ เนื้อหาทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ใน MOU ฉบับแรกมีเป้าหมายซ่อนเร้นอยู่ที่การขนแร่ที่เหลืออยู่ในเขตเหมืองแร่เป็นหลัก ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่มีหลักประกันใดเลยว่า ทหาร คสช. และส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเลย และบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงนามจะดำเนินการได้เมื่อไหร่ อย่างไร หากไม่ดำเนินการแล้วจะบังคับเอาผิดกับใครได้ สถานภาพของ MOU มีผลบังคับใช้หรือผลในทางกฎหมายแค่ไหน อย่างไร 

จึงส่งผลให้ร่าง MOU ฉบับแรกที่นัดประชุมใหญ่ของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ถูกประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดปฏิเสธเข้าร่วม

ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเลยแก้ไขสถานการณ์การปฏิเสธความร่วมมือของประชาชนกับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการและแนวทางในการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของราษฎร กรณีได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ตามคำสั่งจังหวัดเลยที่ 3774/2557 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 โดยมีประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดร่วมเป็นกรรมการจำนวน 3 คน โดยให้มีหน้าที่ หนึ่ง พิจารณานำข้อเรียกร้องจากราษฎร ต่อกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า มาหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎร ตลอดจนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ สอง สำรวจ รวบรวม ข้อมูล ตามข้อเรียกร้องของราษฎรเพื่อนำมาวิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการเพื่อให้เกิดแนวทางการดำเนินการเพื่อขจัด ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยอาจเสนอให้มีการพิจารณาตั้งคณะทำงานเพื่อมาทำงานเรื่องนี้ได้เป็นการเฉพาะ ซึ่งมีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 เพื่อกำหนดกรอบการทำงานด้านต่าง ๆ 

แต่ขณะที่คณะกรรมการชุดนี้กำลังเริ่มต้นทำงาน กลับมีการจัดทำประชาคมขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ร่าง MOU ฉบับที่สองได้ลบราษฎรหรือประชาชนออกไปจากเนื้อหาที่ระบุไว้ในหลักการว่า “บันทึกนี้จัดทำขึ้นระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงในฐานะตัวแทนจากราษฎรหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับผู้แทนซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 2 และผู้แทนจากส่วนราชการของจังหวัดเลย ตามรายชื่อที่ลงนามในท้ายบันทึกข้อตกลงนี้ …” โดยเพิ่มนายก อบต.เขาหลวงเข้ามาเป็นตัวแทนปลอมของราษฎร และเพิ่มผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 2 เข้ามาเป็นผู้เล่นฝ่ายทหารให้ชัดขึ้น

ดังนั้น การที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเชิญประชาชนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมประชุมการจัดทำประชาคมเพื่อรับรอง MOU ฉบับที่สองเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จึงเป็นการสร้างละครตบตาขึ้นมา ก็เพราะว่าร่าง MOU ฉบับที่สองไม่มีตัวตนของประชาชนอยู่ในนั้นตั้งแต่ต้น ผู้ลงนามใน MOU ฉบับที่สองมีเพียงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.เขาหลวง ผู้แทนบริษัทฯ ผู้แทนทหาร และผู้แทนส่วนราชการจังหวัดเลยเท่านั้น ไม่ปรากฎว่ามีประชาชนคนใดต้องร่วมลงนามใน MOU ฉบับที่สองนี้

และประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือในข้อ 3.1 และ 3.2 ของ MOU ฉบับที่สอง ทหารได้แสดงตัวชัดเจนว่าขอมีส่วนร่วมในการขนแร่รอบใหม่ด้วย ดังรายละเอียดตามเนื้อหาข้อ 3.1 ว่า “ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากส่วนราชการ ผู้แทนกองทัพภาคที่ 2 องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนออกนอกพื้นที่” ซึ่งแตกต่างจาก MOU ฉบับแรกที่มีประชาชนร่วมอยู่ในเนื้อหาของข้อ 3.1 ด้วยว่า “ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง ตัวแทนประชาชนจากทุกหมู่บ้านของตำบลเขาหลวง และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนออกนอกพื้นที่”

สิ่งที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยต้องการจึงไม่ได้สนใจว่าร่าง MOU ฉบับที่สองจะมีการลงมติโดยประชาชนในวันจัดทำประชาคมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 หรือไม่ แต่จัดประชุมขึ้นเพียงเพื่อสร้างพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ให้กับโครงสร้างอำนาจของระบบราชการ หรือสร้างภาพให้เห็นว่าประชาชนร่วมมือและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของระบบราชการโดยผ่านคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด + คณะกรรมการอีกหนึ่งชุดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยแต่งตั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การจัดทำประชาคมเพื่อรับรองร่าง MOU ฉบับที่สองก็ล้มเหลว เพราะมีประชาชนเข้าร่วมประมาณสิบคนเท่านั้น

ตัวตนของประชาชน ?

นอกจากโครงสร้างอำนาจของระบบราชการที่กดหัวประชาชนเสมอมา ไม่ต้องการนั่งร่วมกับประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่มีความรู้ด้านเทคนิควิชาการน้อย โดยเหยียดหยามข้อเสนอต่างๆ ของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นสิ่งเลื่อนลอย หรือใช้ความรู้สึกและอารมณ์เป็นหลัก ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่มาจากภูมิปัญญาของนักเทคนิควิชาการใดๆ  อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระบวนการร่าง MOU เห็นประชาชนเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหรือเบี้ยของโครงสร้างอำนาจของระบบราชการที่มีอำนาจเหนือหัวแล้ว อีกสองเหตุผลยิ่งทำให้ตัวตนของประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำยิ่งไร้ค่ามากยิ่งขึ้น คือ

หนึ่ง การที่รัฐไทยถูกผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของทุ่งคำฟ้องตามกลไก ISDS[2] ซึ่งเป็นกลไกระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ว่าถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กลั่นแกล้งจากการแขวนหุ้นของทุ่งคาฯ ไม่ให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นปีที่สามติดต่อกันนั้น โดยสภาพหรือโดยพฤตินัย หรืออาจจะโดยนิตินัยด้วยก็ได้ ทำให้รัฐไทยตีตัวออกห่างจากประชาชนตนเองมากยิ่งขึ้น เพื่อเอาใจนักลงทุนเอกชน

การฟ้องตามกลไก ISDS นี้ รัฐไทยถูกบีบให้สู้คดีหรือให้พิสูจน์เจตนาตัวเองเพียงแค่ว่ารัฐได้ออกมาตรการ นโยบาย หรือกฎ ระเบียบ กฎหมายใดที่ขัดขวางสร้างอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชนหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น รัฐจึงไม่สามารถแสดงความใกล้ชิดประชาชนของตนด้วยการสนับสนุนให้พิสูจน์หาสาเหตุการปนเปื้อนของสารพิษ หรือเรียกร้องความรับผิดชอบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำได้อย่างเต็มกำลัง เพราะเป็นพฤติการณ์ที่ขัดใจนักลงทุนเอกชน ที่ทำได้ก็เพียงแค่ตรวจวัดว่าสารพิษและโลหะหนักต่างๆ ที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายและสภาพแวดล้อมไม่เกินค่ามาตรฐานเท่านั้น

สอง สัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ที่รัฐไทยทำไว้กับบริษัททุ่งคาฯ และทุ่งคำ นั้น มีเจตนารมณ์ในตัวอักษรให้เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนเอกชนอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ได้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้ได้ ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคปัญหาใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากประชาชนในรัฐของตนเอง

หลัง MOU ?

หลังจากการประชุมเพื่อจัดทำประชาคมรองรับร่าง MOU ฉบับที่สองเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 ล้มเหลว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยประกาศยกเลิกกระบวนการ MOU ทั้งหมด โดยจะนำเนื้อหาซึ่งเป็นมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำในร่าง MOU ฉบับที่สองมาเป็นแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการจังหวัดเลย นั่นก็หมายความว่ากำลังจะมีการขนแร่รอบใหม่ในเร็ววันนี้โดยมีทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดเลยคุ้มกันการขนแร่รอบใหม่นี้

การขนแร่ครั้งก่อนเมื่อคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 โดยใช้กองกำลังอำพรางใบหน้าประมาณ 300 คน เข้าทุบตีทำร้ายร่างกายชาวบ้านด้วยมีด ไม้ และอาวุธปืน เป็นผลงานของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ส่วนการขนแร่รอบใหม่ที่จะมีขึ้นหลัง MOU จะทำให้ทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดเลยกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาแย่งงานกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มแรกหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน



[1]
                        [1] เผยแพร่ทางออนไลน์ที่ ...เลยไทม์ออนไลน์ สืบค้นข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/loeitimetoday/photos/a.140889282724565.47443.134862343327259/485791161567707/?type=1 คัดลอกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ตัวหนังสือที่ปรากฎอยู่ในวงเล็บว่า “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมืองเพื่อขนแร่ทองคำ” ผู้เขียนได้หยิบยกถ้อยคำดังกล่าวที่ปรากฏอยู่ใน น.ส.พ.เลยไทม์ออนไลน์ มาใส่ในวงเล็บด้วยตนเอง

[2]
                        [2] การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor - State Dispute Settlement – ISDS) เป็นกลไกภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaties – BITs) หรือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs) กับรัฐบาลของประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน เช่น หากรัฐภาคีละเมิดพันธกรณีตามที่กำหนดในความตกลงฯ และส่งผลให้การลงทุนของนักลงทุนได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง นักลงทุนก็จะมีสิทธิใช้กลไก ISDS ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งได้แก่ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions - ADR) และกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration) ภายใต้องค์กรและกฎระเบียบและวิธีดำเนินการที่กำหนดในความตกลงฯ เช่น UNCITRAL Arbitration Rules ของสหประชาชาติ หรือ ICSID Additional Facility ของธนาคารโลกในส่วนของกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions – ADR) คือการระงับข้อพิพาทนอกศาลโดยอาจใช้วิธีการเจรจาและการหารือ (Consultation and Negotiation) การไกล่เกลี่ย (Mediation) และการประนีประนอมยอมความ (Conciliation) เช่น การระบุให้มีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทโดยใช้วิธีการเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมากกว่าการใช้ข้อบทกฎหมาย การใช้วิธีการระงับข้อพิพาทนอกศาลเป็นแนวทางใหม่ในการบังคับใช้พันธกรณีการคุ้มครองการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาท และทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลไกที่นักลงทุนและรัฐผู้รับการลงทุนชะลอการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้

                ข้อความในเชิงอรรถนี้คัดลอกจากแผ่นพับเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ‘การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน’ จัดทำโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. 5/28/14 สืบค้นข้อมูลออนไลน์ได้ที่ http://www.mfa.go.th/business/contents/files/customize-20140602-100942-243117.pdf   คัดลอกเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: