ชี้นายกฯไม่เข้าประชุมสภา หวั่นถูกหาแก้กม.ช่วยพี่

31 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1227 ครั้ง

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่จ.ลพบุรี ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกระบวนการของรัฐสภามีหน้าที่ออกกฎหมาย เมื่อส.ส.เสนอร่างกฎหมายเข้ามาก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ทำตาม ต้องแยกแยะให้ชัด มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเข้าประชุมสภา ก็ต้องขอชี้แจงว่าการประชุม ครม.สัญจรที่ลพบุรีมีกำหนดการมาก่อน แม้จะมีการเลื่อนเวลาออกมา แต่ช่วงที่เลื่อนก็ยังไม่มีกำหนดการประชุมสภา และเพิ่งมากำหนดในช่วงกระชั้นชิด นายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ขณะเดียวกันนายกฯก็อยากทำหน้าที่ส.ส. แต่ยังไม่ทันที่จะได้เข้าประชุม ก็ถูกลากไปปู้ยี้ปู้ยำในสภา เรื่องนี้ต้องขอความเห็นใจให้นายกฯด้วย เพราะท่านเองก็อยากทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ขณะเดียวกันถ้าเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ในขณะนี้ก็จะมีคนกล่าวหาอีกว่า ต้องการเข้าไปแก้ไขกฎหมายเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชาย โดยตนก็เห็นด้วยว่า ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมก็ให้เป็นเรื่องของรัฐสภา โดยไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดชอบแต่อย่างใด

            “นายกฯ เป็นเพียงเสียงหนึ่งในฐานะส.ส.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยในที่สุดกฎหมายจะพิจารณาออกมาอย่างไร นายกฯ ก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่ถ้านายกฯเข้าไปประชุมก็ถูกลากเข้าไปเป็นเหยื่อทางการเมืองของฝ่ายค้านและถูกกล่าวหาว่า ทำกฎหมายเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ โดยเราเชื่อในวิจารณญาณของ ส.ส.ว่าจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน และแม้จะถึงซอยตัน ก็ต้องหาซอยใหม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลจะไม่มีการยุบสภาอย่างแน่นอน และจะไม่มีการออกเป็นร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เพราะจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาล” นายสุรนันทน์กล่าว

เลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า แน่นอนว่าการตัดสินกฎหมายสำคัญนี้ไม่ใช่ทุกคนจะพอใจ แต่ตนเชื่อว่าเมื่อทุกคนสะท้อนไปที่ผู้แทนของตนเอง ในที่สุดกฎหมายนั้นจะดูแลผลประโยชน์ของชาติโดยรวม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีการยืดเยื้อ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่า ต้องดูก่อน แต่สิ่งที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. โดยนายกฯก็อาจมีภารกิจที่ต้องดำเนินการ

เมื่อถามว่า นายกฯหนักใจหรือไม่กับสิ่งที่ถูกกล่าวหาและสถานการณ์การเมืองที่รุมเร้า นายสุรนันทน์กล่าวว่า นายกฯก็เป็นคนคนหนึ่ง ท่านต้องมีความเป็นห่วงเป็นใยเป็นธรรมดา ว่าจะมีความเข้าใจผิด และกลัวว่าความขัดแย้งจะบานปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งไม่ได้อยู่ในสภา ส่วนความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เป็นนักประชาธิปไตย พร้อมรับฟังความติดเห็นที่แตกต่าง อย่างไรก็ตามขอใช้เวทีแสดงความคิดเห็นในสภาเป็นหลัก ส่วนการชุมนุมก็ขอให้อยู่ภายใต้กฎกติกาของประชาธิปไตย

เมื่อถามถึงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขณะนี้ถือว่าจุดติดหรือไม่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณเป่านกหวีดแล้ว นายสุรนันทน์กล่าวว่า หากผู้ที่คิดเห็นตรงกับพรรคประชาธิปัตย์ และชุมนุมโดยสงบ สะท้อนสิ่งที่ตัวเองคิดไปสู่ ส.ส.ของตัวเองและนำออกมาสะท้อนในสภาอย่างสร้างสรรค์ และโน้มน้าวให้คนคิดเห็นตามได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์อย่าใช้ประชาชนเป็นเกราะ เพื่อปกปิดความผิดตนเอง เพื่อเป็นเหตุผลในการทิ้งสภาไปอยู่บนท้องถนน อย่างไรก็ตาม ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมทำไมไม่ลาออกจากส.ส.ซึ่งหากดูคำแปรญัตติของแต่ละคน ถ้าอ่านดี ๆ จะสามารถตีความได้ว่า เป็นการแปรญัตติให้ตัวเองเหมือนกัน

เมื่อถามว่า มีการมองว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายกรัฐมนตรี การที่นายกฯไม่เข้าร่วมพิจารณา ถือว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่า ส่วนตัวต้องขอความเห็นใจนายกฯ เพราะอยู่สถานะที่เข้าไปคนก็ว่า ไม่เข้าก็ถูกว่า

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: