วิเคราะห์: เปิดคดีนิรโทษทักษิณและพวก 'อภิสิทธิ์'เปิดใจ-สู้คดีแม้ถึงประหารชีวิต

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 29 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2301 ครั้ง

ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป่านกหวีดจากต่างประเทศ ส่งเสียงตรงถึงห้องประชุมพรรคเพื่อไทย ทะลุไปถึงอาคารใหญ่ในรัฐสภา ทำให้เสียงส่วนใหญ่ในห้องประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ต้องแก้ไขสาระสำคัญของกฏหมายเกือบทั้งฉบับ

ด้วยเหตุผล ที่ต้องการ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เริ่มจากศูนย์ ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผู้นำทางการเมือง  ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปลายปี 2556

ทักษิณ-เป่านกหวีดขอร่วมขบวนนิรโทษสุดซอย

หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านวาระ 3 อานิสงส์โดยตรงจะเกิดขึ้นทันทีกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเงินของครอบครัว “ชินวัตร” ทั้ง 4.6 หมื่นล้าน รวมดอกเบี้ย ตรงกันข้ามกับนักโทษคดีการเมืองอีกประมาณ 1,933 คน ที่อาจต้องรอเก้อคาคุก เพราะหากกฎหมายไม่ผ่านวาระ 3 ต้องถูกทำให้แท้ง เพราะแรงต้านทั่วสารทิศ

ขณะที่อานิสงส์ทางอ้อมจะพลอยได้ ไปให้กับคดี เหตุการณ์ทางการเมือง ช่วงปี 2553 ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

สำหรับคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพวก ที่เข้าข่ายอาจได้รับอานิสงส์ จากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แปรญัตติโดย นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ คนที่ 1ภายใต้การให้การสนับสนุนของแกนนำตระกูล “ชินวัตร” ทั้งนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์-นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย  มีประมาณ 10 กว่าคดี   ประกอบด้วย

คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน โดย ป.ป.ช.หรืออัยการสูงสุด จำนวน 4 คดี คือ

1.คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่มีจำเลย คือนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา

2.คดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคมกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา

3.คดีทุจริตท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา

4.คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ บริษัท กฤษดามหานคร ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ และนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา

นอกจากนี้ยังมีคดี ที่ศาลตัดสินแล้ว 9 คดี ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน และการส่อทุจริต อาทิ 1.คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินถ.รัชดาภิเษก มีจำเลยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี ฐานกระทำผิดกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 100 โดยออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณไว้ และได้ให้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน

2.คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป มูลค่า 738 ล้านบาท มีจำเลยคือ คุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ คนละ 3 ปี ส่วนนางกาญจนาภา จำคุก 2 ปี แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินของศาลอาญา สั่งยกฟ้อง คุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา ส่วนนายบรรณพจน์ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี

3.คดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มีจำเลยคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับพวก รวม 44 คน ต่อมาศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 44 คน เนื่องจากพบว่าไม่ได้กระทำความผิด

4.คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคณะ และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมกันเป็นจำเลย ซึ่งศาลฎีกาตัดสินให้จำคุกนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง 2 ปี นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ปี นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ  2 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 ไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา จึงถูกออกหมายจับ

5.คดีที่เป็นหัวใจของตระกูลชินวัตร คือ คดีร่ำรวยผิดปกติ ให้ทรัพย์สิน 76,621 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วน ที่เพิ่มขึ้นหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกฯ และเงินปันผล จำนวน 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

6.คดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ อันสืบเนื่องจากคดีร่ำรวยผิดปกติ ทำให้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่องศาลฎีกาว่า พ.ต.ท.ทักษิณแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้ ถึง 6 ครั้ง ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้

7.คดีทุจริตปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า มูลค่า 4,000 ล้านบาท ที่มีจำเลยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้

8.คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป ที่มีจำเลยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้

9.มูลค่า 6,800 ล้านบาท ที่มีนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาแล้ว

อภิสิทธิ์-เปิดใจแม้ถูกประหารชีวิต ไม่รับนิรโทษ

ส่วนคดีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากพ้นจำแหน่งมาแล้ว 2 ปี ต้องขึ้นโรง ขึ้นศาลไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ แบ่งเป็นฟ้องฝ่ายเพื่อไทย-เสื้อแดง 4 คดี และคดีเหตุการณ์ 2553 อีก 1 คดี

นายอภิสิทธิ์ เปิดใจว่า “ในแง่ของคดีที่ผมขึ้นศาลบ่อย ๆ ผมเป็นโจทก์ในคดีหมิ่นประมาท เพราะฟ้องไว้เนื่องจากตอนช่วงชุมนุมมีการพูดจาใส่ร้ายป้ายสีกันเยอะ อย่างกรณีคุณจตุพร พรหมพันธุ์ก็ฟ้องไป 4 คดี”

            “ส่วนคดีที่ผมเป็นผู้ต้องหาก็มีคดีเดียวในเหตุการณ์ 2553 ที่กล่าวหาว่า ผมร่วมกับผู้อื่นทำให้ผู้อื่นตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งความจริงตั้งแต่เลือกตั้งมาก็คาดอยู่แล้วว่า ฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคการเมืองตรงกันข้ามก็หยิบเรื่องมาโดยตลอด ยัดเยียดว่าเราเป็นฆาตกร สั่งฆ่าประชาชน รู้อยู่แล้วว่า เมื่อเขามีอำนาจก็จะเดินตรงนี้ต่อ ก็เพื่อเป็นตอบสนองผู้สนับสนุนเสื้อแดงของเขา”

นายอภิสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตด้ยว่า “แต่ที่แปลกคือ วันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายเดียวที่เสนอให้นิรโทษกรรมคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการด้วย แต่ผมไม่เคยเรียกร้องไม่เคยขอ ให้มีการนิรโทษกรรม ก็แปลกใจว่าทำไมเสื้อแดงคิดไม่ออกว่า ถ้าผมเป็นคนที่ถูกกล่าวหาจริง ทำไมผมถึงไม่เรียกร้องขอให้นิรโทษกรรมเรื่องนี้ แต่ฝ่ายที่กล่าวหาผมจะมานิรโทษกรรมพวกผมทำไม”

เขาบอกว่า “ผมกับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็รู้มานานแล้วว่าต้องเผชิญกับสิ่งนี้ เพียงแต่ไม่คาดว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล้ากล่าวหาผมกับคุณสุเทพในฐานะส่วนตัว ทั้งที่บทบาทที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหมดมันชัดเจนว่า ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อเขาคิดอย่างนั้นก็ไม่สิทธิ์ที่จะสอบสวน เขาจึงไม่ทำ ก็เห็นแล้วว่าเรื่องโรงพักยังไม่กล้าสืบสวนสอบสวนผมกับคุณสุเทพ ถึงต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แต่เรื่องนี้กลับกล่าวหาส่วนตัว ผมถึงต้องฟ้องคุณธาริต เพ็งดิษฐ์ กับคณะพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นมาแจ้งข้อหาผม เพราะผมเห็นชัดเจนว่าบิดเบือนหลังกฎหมาย”

สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีก 1 คดีคือ กรณีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เห็นว่าเรื่องนี้ นับว่าเหนือความคาดหมาย

            “เรื่องเงินบริจาคและเงินบำรุงพรรค ก็ยอมรับว่าไม่ได้คาดคิด แต่ก็เห็นแล้วว่าเมื่อมีเรื่องร้องเรียนก็เอาจริงเอาจังเป็นพิเศษ เรื่องที่หักเงินเดือนพวกผม (บริจาคให้พรรค) ทำกันมาช้านาน ก็ตีความเอาว่าการที่หักเงินเดือนจ่ายเช็คทำไม่ได้ กกต.ผู้รักษากฎหมายนี้ก็บอกว่าไม่ผิด แต่ดีเอสไอก็เดินเรื่องนี้”

อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่า เขาพัวพันหลายคดี แต่คดีที่กระทบใจมากที่สุดคือ “คดีพฤษภาฯ 53”

            “ผมถืออย่างนี้นะครับ ตอนเหตุการณ์จบผมก็บอกเองว่า ต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระมาสอบสวน เมื่อมีความสูญเสียก็ต้องมีกระบวนการค้นหาความจริง ว่ากันไปตามกฎหมาย ผมจำได้ ผมบอกกับทุกคนว่ามันไม่มีการนิรโทษกรรมใครนะ จะได้เป็นบรรทัดฐาน ถ้าผมไม่บริสุทธิ์ใจ ผมจะมีจุดยืนอย่างนี้ทำไม ก็ทำไป และผมก็ไม่ว่าอะไรที่ตำรวจหรือแม้กระทั่งดีเอสไอหยิบเรื่องนี้มาสอบ เพียงแต่ขอให้ทำตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง

            “แต่กรณีนี้ที่ผมบอกว่าไม่ตรงไปตรงมา เพราะการกระทำทั้งหมดเขาบอกว่าเป็นเรื่องของนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ ไม่ใช่เรื่องของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ทุกคนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ ศาลก็ต้องไต่สวน ใครทำผิดก็ว่าไป ผมไม่เคยขัดข้องตรงนั้น และผมคิดว่าถูกต้องที่ทำ และอยากให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทย ในอดีตเราถูกวิจารณ์มาตลอดว่าไม่มีกระบวนการแบบนี้ เพียงแต่ขอให้ทำตรงไปตรงมา อย่าใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้นเอง”

เมื่อมีการเสนอให้มีการ “นิรโทษกรรม” นายอภิสิทธิ์ จึงต่อต้านอย่างแข็งขัน ภายใต้การสนับสนุนของครอบครัว “เวชชาชีวะ” และภรรยา “พิมพ์เพ็ญ” จากตระกูล “ศกุนตาภัย”  ถึงขนาดไม่ยอมให้ถอยแม้แต่ก้าวเดียว

            “คุณพ่อ คุณแม่ก็คงเป็นห่วงธรรมดา ส่วนภรรยาก็มั่นใจในความบริสุทธิ์ และผมก็บอกเขาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วว่าสัญญาณว่า มีความพยายามหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อบีบให้เราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน แต่ภรรยาก็มั่นใจในความบริสุทธิ์นะครับ เขาไม่ได้กังวล แต่บอกว่า ถ้าไปต่อรองก็เลิกคบกัน เขาก็บอกว่า ถ้าจะต้องติดคุกหรือประหารชีวิต เป็นอย่างนั้นจริงก็ต้องยอม แต่ต้องไม่ไปต่อรอง ก็ดีครับ เป็นอย่างนี้ก็สบายใจว่า จะได้ไม่ต้องกังวล”

สุเทพ-ตั้งสำนักงานทนายความสู้ 2,000 คดี

เช่นเดียวกับ คดีของนายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่นายอภิสิทธิ์ปกป้องและร่วมต่อสู้อย่างเต็มที่

            “ก็คงเหมือนกันครับ และคุณสุเทพก็เตรียมตัว รวบรวมเอกสารไว้โดยตลอดอยู่แล้ว อย่างที่ผมบอกว่า ช่วงเหตุการณ์เราเตรียมทุกอย่างตามกฎหมาย เพราะเราจะไม่นิรโทษกรรมให้ตัวเองเด็ดขาด ท่านถึงได้มีข้อมูลต่าง ๆ ค่อนข้างละเอียด เพราะรู้ว่าจะถูกกล่าวหาและต้องมาป้องกัน เพราะท่านคลุกอยู่กับระดับปฏิบัติการลงไป ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน”

นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่า “สภาพแบบรัฐตำรวจก็กำลังย้อนกลับมา”

นายสุเทพ ที่บัดนี้ มีสถานภาพเดียวคือ ส.ส.จังหวัดสุราษฎ์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และเขากำลังจะเปลี่ยนสถานภาพ จากคนในสภาผู้แทนราษฎร ไปเป่านกหวีด เรียกมวลชนร่วมเป็นแกนนำม็อบต้านนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณและพวกอย่างเป็นทางการ หากกฏหมายนิรโทษผ่านวาระ 3

นายสุเทพเตรียมลงทุนเปิดเวทีปราศรัยส่วนตัว ร่วมกับมวลชน ที่เขาไม่อาจอ้างปริมาณได้ ด้วยตัวเลข แต่เขาอนุมาณว่า “ไม่สามารถนับได้...เหมือนปลาในทะเล”  หลังจัดตั้งเวที “ผ่าความจริง” ผ่านไปแล้ว 70 กว่าครั้ง

เขาบอกว่าทุกวันนี้ ต้องเดินทางไปขึ้นศาลถี่ขึ้น เดือนละหลายครั้ง ตามที่ศาลนัดหมาย ทั้งไปเป็นพยาน เป็นโจทก์ และเป็นจำเลย

ลึกแต่ไม่ลับ ในวงคนการเมืองที่ใกล้ชิดนายสุเทพ รับทราบกันว่า นายสุเทพ ลงทุนตั้งสำนักงานทนายความเป็นของตัวเอง ชื่อ “พัชรวิชญ์” เพื่อต่อสู้คดีการเมือง และช่วยว่าความให้กับนายทหารที่ถูกกล่าวหาในคดีการเมืองและคดีการสลายการชุมนุมในช่วงปี 2553 ด้วย

ในแต่ละวัน สุเทพ จึงมีภารกิจ พบปะซักซ้อมกับทนายความ 7-8 คน วันละหลายรอบ เฉพาะหน้ามีคดีที่เขาฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ. อดีตลูกน้องเขาเอง 4 คดี เช่น คดีหมิ่นประมาท, คดีที่นายธาริต ไม่มีอำนาจในการฟ้องร้องกรณี 91 ศพ  ,คดีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ และคดีการก่อสร้างโรงพักทั่วประเทศ

เทียบไม่ได้กับจำนวนคดีที่นายธาริตและสำนักงานดีเอสไอ. แยกฟ้องนายสุเทพ ประมาณ 2,000 คดี

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จึงไม่เพียงพัวพันกับนักโทษการเมืองเกือบ 2 พันคน แต่ผูกติดกับชีวิต 2 อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังผูกปมลึกซึ้งกับคดีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้เป็นคีย์แมนของฝ่ายประชาธิปัตย์ด้วย

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก Google

ติดตามข่าวออนไลน์กับ TCIJ ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: