‘ทักษิณ’ผนึกประมุขหญิงนอกพท. เร่งขับเคลื่อน4วาระการเมืองลับ ช่วย67นักโทษ-ดันงบ4.5ล้านล้าน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 29 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1782 ครั้ง

 

ก่อนเปิดสภาสมัยทั่วไป ในเดือนสิงหาคม 2556

 

ก่อนครบวาระ 2 ปีของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

ก่อนครบวาระการถูกจองจำของนักโทษการเมืองฝ่ายแดงหลัง ที่ร่วมก่อเหตุเมื่อ พฤษภาคม 2553 ครบรอบ 3 ปี

 

 

 

พรรคเพื่อไทยตั้งใจผลักกันให้รัฐบาลเดินหน้า ขับเคลื่อนควบคู่วาระของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4 เรื่อง

 

เรื่องแรก เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อคอำนาจองค์กรอิสระ เรื่องที่สอง เดินหน้านิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เรื่องที่สามผ่านพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และเรื่องที่สี่ ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท

 

แกนนำของพรรคเพื่อไทย วางสารบัญทั้งสามเรื่อง คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ผ่านกฏหมายกู้เงิน-ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เป็นความจำเป็นเร่งด่วน และต้องใช้พลังเสียงข้างมากลากให้ได้ภายในปีนี้

 

มีเพียงประเด็นเดียวที่แม้มีเสียงข้างมาก ก็ขับเคลื่อนช่วยเหลือบนดิน-ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ แต่ต้องใช้กำลังภายใน-ใต้ดิน และเสียงผู้มีบารมีนอกสภาผู้แทน เป็นบริการเสริม เพื่อช่วยเหลือ คือพี่น้องเสื้อแดงที่เป็นนักโทษการเมือง อยู่ในคุก 5 แห่ง รวม 33 คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เพราะหากช่วยพี่น้องนักโทษการเมืองเสื้อแดงได้ ก็เท่ากับได้คะแนนนิยมกลุ่มปัญญาชนเสื้อแดง ที่เริ่มแปรพักตร์ กลับคืนมาอยู่ฝ่ายเพื่อไทย..อีกครั้ง

 

จึงต้องมี “วงเจรจาลับ” ระหว่างผู้มีบารมีฝ่ายหญิง และลูกชายคนโต-คนเดียวของผู้มีบารมีนอกประเทศ ร่วมกับพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการเคลื่อนขบวนเสนอกฏหมายนิรโทษกรรม ในสภาผู้แทนราษฎร

 

แหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรม อ้างถึงการเจรจาดังกล่าว เป็นผลให้ เกิดการช่วยเหลือนักโทษทั้ง 67 คน ในคดีอาญา กรณีเหตุการณ์ พฤษภาคม 2553 อย่าง “เร่งด่วน” และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องรายงานสด-ส่งตรงถึงประมุขฝ่ายหญิงผู้มีบารมีนอกพรรคเพื่อไทย ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเจรจาลับ

ทางหนึ่งคือย้ายผู้ต้องหาไปอยู่ในที่สะดวกสบายมากขึ้น คือเรือนจำชั่วคราว หลักสี่ กรุงเทพฯ

ทางหนึ่งคือ ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยมิให้ล่าช้า

 

 

แม้ว่าจะมีชื่อที่ฝ่ายตุลาการภิวัฒน์ จะขอแขวนไว้ไม่รับเจรจามี 3 ชื่อ คือ นายสุรชัย แซ่ด่าน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ นางดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112

ทั้ง ๆ ที่คนในพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล พยายามแสดงบทบาท ไม่ลงมือช่วยเหลือนักโทษการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่เพียงผู้มีบารมีฝ่ายหญิง-ประมุขนอกพรรคเพื่อไทย ที่จับมือกับอดีตเลขาคนสนิทของพ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิบัติการลับ ช่วยเหลืออย่างเป็นขั้น เป็นตอน ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้

 

มีหนังสือราชการ เลขที่ 0101/1115 ลงนามโดยนายปรีชา ธนานันท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ออกจากสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น 9 ลงวันที่ 4 เมษายน 2556 แจ้งผลการดำเนินการตามที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.แดงทั้งแผ่นดิน) ได้ขอความอนุเคราะห์เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับผู้ต้องขังคดีอาญา ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง

 

ข้อแรก กรณีที่นปช.ขอความอนุเคราะห์ในการย้าย ผู้ต้องขังคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง 10 ราย ไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราว หลักสี่ กรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาย้ายผู้ต้องขัง 4 ราย คือ นายพิทยา แน่นอุดร, นายประสิทธิ์ พลอยทับทิม, นายวรกฤติ นันทะมงคลชัย และนายทองสุข หลาสพ ไปยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนกรณีของผู้ต้องขังอีก 5 ราย ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายธันย์วุฒิ ทวีวรโรดมกุล, นายวันชัย แซ่ตัน, นายยุทธภูมิ มาตรนอก และนางดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยังไม่มีความเห็นเกี่ยวกับกรณีการย้ายดังกล่าว ประกอบกับกรมราชทัณฑ์ดำเนินการยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาดทางการเมือง ที่กระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 3 ราย คือ นักโทษเด็ดขาด นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ,นักโทษเด็ดขาดชายธันย์ฐวุฒิ ทวีวรโรดมกุล และนักโทษเด็ดขาดชาย วันชัย แซ่ตัน หรือนาย ซิน เชียง ฮอน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงเห็นควรรอผลฎีกาพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาย้ายผู้ต้องขังที่กระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ต่อไป

 

ในส่วนของนายรุ่งนิรันดิ์ ปุราสะกา ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม

2556

 

ประเด็นที่สอง กรณีที่ประธานนปช.ขอให้ดำเนินการประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดนั้น กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ดำเนินการช่วยเหลือในการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดของกลุ่ม นปช.ดังนี้

 

 

ผู้ต้องขังขอความช่วยเหลือประกันตัว 67 ประกอบด้วย ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว จำนวน 27 ราย ,คดีเด็ดขาด 5 ราย, คดีชาวกัมพูชา 1 ราย, เสียชีวิต 2 ราย, ถูกคุมขังในคดีอื่น 1 ราย, ยื่นประกันตนเอง 1 ราย, ศาลยกฟ้อง 7 ราย, ยังไม่ถูกคุมขัง 2 ราย, รับสารภาพ 3 ราย, ผู้ต้องขังประสงค์ใช้ทนายของตนเอง 2 ราย (โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพสนับสนุนหลักประกัน) และปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นคำร้อง 16 ราย (ศาลไม่อนุญาต)

 

ทั้งนี้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้หารือร่วมกับสมาคมทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเตรียมคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังเพื่อยื่นต่อศาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ

 

ประเด็นที่สาม กรณีขอให้ดำเนินการเร่งรัดกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ต้องขังในคดีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 มิให้ล่าช้านั้น กระทรวงยุติธรรมได้แจ้งให้นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ทราบว่า ผู้ต้องขังในคดีความผิดตามประมวลฏหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายสุรชัย แซ่ด่าน, นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล และนายวันชัย แซ่ตัน กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการพิจารณา เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในโอกาสอันสมควรแล้วทุกราย “ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักราชเลขาธิการ”

 

ต้องติดตามว่า ระหว่างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ในการผ่านกฏหมายทางการเงิน 2 ฉบับ รวม 4.5 ล้านล้านบาท กับการปฏิบัติการลับ ช่วยเหลือนักโทษการเมืองเสื้อแดง ทางหนึ่งเคลื่อนในสภาผู้แทนราษฎร ทางหนึ่งเคลื่อนผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐบาล ทางไหนจะบรรลุเป้าหมายก่อนกัน

 

 

ขอบคุณภาพจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: