หวั่นเออีซีทำขยะอิเล็คทรอนิกส์ทะลักไทย ข้อมูลชี้ ‘โทรศัพท์มือถือ’ถูกทิ้งมากที่สุด

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 27 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3740 ครั้ง

จากรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสแรกปี 2556 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังคงเป็นปัญหาหลักของประเทศปัญหาหนึ่ง โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษสำรวจพบว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงถึง 359,714 ตัน และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่าเท่าตัว จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการเคลื่อนย้ายแหล่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีเศรษฐกิจอาเซียน การเพิ่มจำนวนของเครื่องปรับอากาศ จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ นโยบายการแจกเครื่องแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถม และ ส.ส.ของรัฐบาล เป็นต้น

อธิบดีคพ.ชี้คนไทยใช้อิเล็คทรอนิกส์มากแต่ไม่มีระบบกำจัด

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ปัจจุบันปัญหาขยะอิเล็คทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละปี ยังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะจนถึงปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดการกับขยะอันตรายเหล่านี้ อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย จึงน่าเป็นห่วงว่า ในอนาคตหากคนไทยยังคงบริโภคเครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์อย่างขาดจิตสำนึก จะทำให้เกิดเป็นปัญหาทั้งเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

            “สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ การเกิดขยะอิเล็คทรอนิกส์ที่เกิดจากการใช้ภายในประเทศเอง เพราะปัจจุบันนอกจากคนไทย จะใช้เครื่องใช้เหล่านี้มากขึ้น ทั้งเครื่องไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งถ่านไฟฉาย แต่การบริหารจัดการในการกำจัดซากเหล่านี้เรายังไม่มีระบบอะไรเลย มีเพียงการขอความร่วมมือ จัดรณรงค์เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความตระหนักมากนัก ทำให้เป็นห่วงว่า มลพิษที่เกิดขึ้นจากสารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้า จะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วยนั่นเอง” นายวิเชียรกล่าว

สารพิษหลากหลายในขยะเทคโนโลยี

จากข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในขยะอิเล็คทรอนิกส์ ส่วนใหญ่มักจะมีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบดังนี้

1.โทรทัศน์รุ่นเก่า มีสารตะกั่วเป็นสารประกอบในกรวยแก้วที่อยู่ด้านหลังจอภาพ และมีตะกั่วในแผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ ส่วนโทรทัศน์ชนิดจอ LCD จะมีปรอทในหลอดไฟที่ให้ความสว่างกับภาพ

2.ตู้เย็นรุ่นเก่า มีสารทำความเย็นและแนวนที่ทำจากโฟมที่มีสารที่ทำลายชั้นโอโซน เช่นเดียวกัน

3.เครื่องปรับอากาศมีสารทำความเย็นและน้ำมันหล่อลื่นเป็นส่วนประกอบ

4.คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ มีตะกั่วเป็นส่วนประกอบในจอแสดงผลและในแผงวงจร ส่วนคอมพิวเตอร์แบบพกพาจะมีปรอทในแผ่นจอ LCD และนิเกิลแคดเมียมในแบตเตอรี่

5.โทรศัพท์มือถือ มีโครเมี่ยมเป็นส่วนประกอบในฝาครอบและแผงวงจร และนิเกิลแคดเมียมในแบตเตอรี่

6.ในถ่านไฟฉาย มีสารเคมีตัวหลักที่บรรจุอยู่ภายใน ได้แก่ อะเซนิค ตะกั่ว และสารปรอท

ซึ่งหากกำจัดไม่ถูกวิธีสารพิษต่าง ๆ จะรั่วไหลออกมาภายนอกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงได้

น่าห่วงทั้งประเทศมีโรงงานกำจัดซากเพียง 22 แห่ง

สำหรับปัญหาระบบการกำจัดขยะอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ดําเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ จํานวน 22 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคใต้มี เพียงภาคละ 1 แห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่พบโรงงานรีไซเคิล ที่รับจัดการซากผลิตภัณฑ์เลย

ทั้งนี้สามารถแบ่งผู้ประกอบการรีไซเคิลออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตที่มีกระบวนการรีไซเคิลเพื่อจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯของตนเอง (เฉพาะหลอดฟลูออเรสเซนต์) และกลุ่มบริษัทผู้ประกอบกิจการรีไซเคิลโดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการต่างชาติหรือร่วมทุน และผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการต่างชาติบางรายที่เข้ามาทําธุรกิจรีไซเคิลในประเทศ ยังมิได้มีการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลเต็มรูปแบบในเมืองไทย แต่มีกระบวนการ ขั้นตอนและส่งออกไปรีไซเคิลที่บริษัทแม่

ส่วนผู้ประกอบการของไทย อาจแบ่งกลุ่มตามลักษณะการดําเนินธุรกิจเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับซากผลิตภัณฑ์ฯจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน/ค้างสต๊อก และกลุ่มที่รับซากผลิตภัณฑ์ฯ ทั้งจากแหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชน

ลงทุนสูงไม่มีใครกล้าเสี่ยงเปิดกิจการ

สําหรับระดับเทคโนโลยีในการรีไซเคิลและการบําบัดสารอันตราย พบว่า ผู้ประกอบการรีไซเคิลในประเทศหลายราย ที่รับเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการสกัดโลหะมีค่าจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้ และมีระบบควบคุมมลพิษที่ดี กรณีการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ทั้งชิ้น (ไม่ว่าจากแหล่งชุมชนหรืออุตสาหกรรม) หากพิจารณาเฉพาะเทคโนโลยีในการรีไซเคิลนั้น พบว่าผู้ประกอบการรีไซเคิลในประเทศหลายรายมีการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ด้วยการถอดแยกเป็นชิ้นส่วน และวัสดุส่วนหนึ่งจะถูกส่งออกไปรีไซเคิลยังต่างประเทศ และมีส่วนน้อยที่มีเทคโนโลยีสกัดโลหะมีค่าจากซากผลิตภัณฑ์ฯ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ วิธีการและเทคโนโลยีในการบําบัดสารอันตราย ที่มีอยู่ในชิ้นส่วนของซากผลิตภัณฑ์ฯ ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศ ยังมิได้ลงทุนในส่วนนี้มากนัก เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง

            “การลงทุนทำโรงงานกำจัดขยะอิเล็คทรอนิกส์ เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง ทำให้ไม่มีการดำเนินการเพียงพอต่อปริมาณขยะที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ พยายามที่จะขอให้บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าเหล่านี้ เป็นผู้เรียกคืนขยะไปกำจัด ซึ่งทำได้ในระดับหนึ่ง เพราะจะต้องเป็นลักษณะของการอาสาสมัครเท่านั้น แม้จะมีบริษัทผู้จำหน่ายดำเนินการตามการร้องขอ แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะขณะนี้เรายังไม่มีมาตรการทางกฎหมายในเรื่องนี้ที่เด่นชัดนัก แต่ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กำลังจะประกาศเรื่องการกำจัดซากอิเล็คทรอนิกส์เป็นนโยบาย ที่จะต้องเร่งดำเนินการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีการเดินหน้าการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว

ขยะทะลักเข้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่ออกกฎหมายเข้มกว่า

อย่างไรก็ตามจากบทความเรื่อง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสังคมเทคโนโลยี (E-weste) ของ น.ส.กีรติ กิ่งแก้ว จากส่วนน้ำเสียเกษตรกรรม สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของจขยะอิเลคทรอนิกส์ และมีการวางแผนถึงมาตรการในการรองรับ มีการกำหนดนโยบายและประกาศบังคับใช้ข้อบังคับให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ (Command and Control) วัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันและยับยั้งความรุนแรงในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากขยะอิเล็คทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นทาง เช่น การออกกฎหมายว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ (Weste from Electrical and Electronic Equipment : WEEE) และกฎหมายว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ (Restriction of the Use of Certain Hazardous Substances : RoHS) ซึ่งภายหลังที่กฎหมายทั้งสองเริ่มบังคับใช้ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เข้ามาทิ้งหรือส่งเข้ามากำจัดในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย เป็นต้น

            “แม้ว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ถูกมองว่าเป็นแหล่งรองรับการเคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก แต่เมื่อพิจารณาอีกด้านในส่วนปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นเองภายในประเทศพบว่า มีปริมาณการเกิดของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอัตราที่สูง และมีความน่าวิตกมากกว่า

ไทยกำหนดยุทธศาสตร์กำจัดขยะอิเล็คทรอนิกส์แต่ยังไม่คืบ

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) จะมีกำหนดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ไว้อย่างละเอียด คือ กําหนดให้มีการพัฒนาระบบการจัดการของเสียอันตรายขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะติดเชื้อโดยสนับสนุนการ ก่อสร้างศูนย์จัดการของเสียอันตรายจากชุมชน เพิ่มความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการจัดการขยะอันตรายและสารอันตรายให้มากขึ้น ติดตามและเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบทิ้งสารอันตรายกากอุตสาหกรรม และขยะติดเชื้อในสิ่งแวดล้อม ป้องกันการลักลอบนําเข้าสารอันตรายมาใช้ในการกิจการที่ผิดวัตถุประสงค์ สนับสนุนการจัดทําระบบฐานข้อมูลเอกลักษณ์ของกากอุตสาหกรรมอันตรายจากโรงงาน อุตสาหกรรมประเภท ต่าง ๆ กําหนดให้โรงงานมีการใช้สารเคมีหรือมีกากอุตสาหกรรมอันตรายต้องวางหลักประกันเมื่อขออนุญาต หรือขอขยายการประกอบกิจการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการขนส่ง และการรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมอันตราย รวมทั้งจัดให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนยีการกําจัดการอุตสาหกรรมอันตราย ที่ไม่ยุ่งยากและประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดจนกําหนดมาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าที่นําเข้า ที่จะก่อให้เกิดการจัดการปัญหาขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเพื่อรองรับมาตรการส่งเสริม การค้าเสรีภายในกรอบความร่วมมือต่างๆอาทิ อาเซียน-จีน เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายการปฏิบัติจะยังไม่ได้เริ่มต้นมากนัก ทั้งนี้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เพราะเรื่องนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนขึ้น ที่อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของขยะอิเล็คทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพจากบางประเทศ อาจจะทะลักเข้ามาส่งผลในการเพิ่มปริมาณขยะอิเล็คทรอนิกส์ในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

หวั่นเปิดประชาคมอาเซียน ทำขยะทะลักเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

            “แม้ว่าเราจะมีความกังวลเรื่องของขยะที่เกิดขึ้นภายในประเทศมากกว่า แต่การเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่า อาจจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามามากขึ้น เช่น ในกลุ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกต่าง ๆ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย เพราะขณะที่ยังไม่ได้เกิดการเปิดเสรีการทะลักเข้ามาอย่างผิดกฎหมายของสินค้าเหล่านี้ ก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว มีการซื้อขายกันตามตลาดนัดท้องถิ่นต่าง ๆ ในราคาถูก โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบถึงอันตรายของถ่านไฟฉายเหล่านั้น ที่นอกจากจะเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานที่สั้นแล้ว ยังอาจจะเสี่ยงอันตรายจากสารพิษ ทั้งปรอท ตะกั่ว ทองแดง ที่รั่วไหลจากถ่านไฟฉายไร้คุณภาพเหล่านั้นอีกด้วย และหากเปิดเขตการค้าเสรีขึ้นแล้วไม่มีการกำหนดมาตรการที่เด่นชัด ก็น่าเป็นห่วงมากกว่าคนไทยอาจจะต้องรับขยะพิษมาจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพเหล่านี้” นายวิเชียรกล่าว

หลากหลายปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขยะพิษในประเทศ

ทั้งนี้ในการประชุมประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ ระยะที่ 2 (ปีพ.ศ. 2555-2559)  เมื่อวันที่18 ตุลาคม 2555 มีการกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงนี้ในการประชุมด้วย ขณะเดียวกันในที่ประชุมยังมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจจะส่งผลต่อปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเพี่มขึ้นในอนาคตด้วย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าที่อาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีโดยตรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของการผลิตและการใช้งาน เช่น การเกิดขึ้นของโทรทัศน์แอลซีดี (Liquid Crystal Display; LCD) แอลอีดี (Light Emitting Diode; LED) และพลาสมา รวมทั้งการส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบดิจิตัลที่จะทําให้โทรทัศน์รุ่นเก่าชนิดซีอาร์ที (Cathode ray tube; CRT) ไม่สามารถใช้งานได้ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีกระแสความนิยมในโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตที่ออกรุ่นใหม่ทุกๆ 3-6 เดือน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ส่งผลให้การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น เนื่องจากชิ้นส่วนและวัสดุใหม่ ๆ อาจรีไซเคิลไม่ได้และเกิดความยุ่งยากในการจัดหมวดหมู่ประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีผลต่อการกําเนิดเป้าหมายการเก็บรวบรวมและรีไซเคิล

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ในทางที่มีความรุนแรงมากขึ้น คืออากาศร้อนขึ้นและฝกตกหนัก ขึ้น ทําให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีการรีไซเคิลเครื่องปรับอากาศ ที่ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย สารทําความเย็นที่ถูกปล่อยทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม จากการถอดแยกและรีไซเคิลอย่างไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากขึ้นไปอีกและทําให้โลกร้อนยิ่งขึ้นไปอีก

หลังน้ำท่วมปี54พบขยะอิเลคทรอนิกส์ถึง 18,000 ตัน

การเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 จากรายงานสถานการณ์มลพิษ ปี 2554 (กรมควบคุมมลพิษ, 2555) พบว่าในช่วงเหตุการณ์ มหาอุทกภัย ปลายปี 2554 ทําให้เกิดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิสก์ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและพื้นที่ประสบภัย ประมาณ 18,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นซากโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหากซากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากนี้นโยบายการแจกแทบเล็ตหนึ่งล้านเครื่อง ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ โดยการสั่งซื้อและนําเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากต่างประเทศ โดยไม่มีรายละเอียดการจัดการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เมื่อกลายเป็นซาก ทําให้มีโอกาสเกิดซากผลิตภัณฑ์แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้องขึ้นในประเทศได้ เมื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตกรุ่นหรือกลายเป็นซาก

และหากประเทศไทยไม่หันมาให้ความสำคัญ กับการจำกัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ และยังคงเดินหน้านโยบายไปคนละทิศคนละทาง ไทยอาจจะเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลกก็เป็นได้

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: