แฉ‘เค-วอเตอร์’หนี้ท่วม3แสนล้าน ไม่ผ่านงานใหญ่-สตง.เกาหลีสอบ แนะจับตาทำไมไทยจ้างจัดการน้ำ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 27 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 4941 ครั้ง

 

ในที่สุดการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ  3.5 แสนล้านบาท ของกบอ. ซึ่งบริษัทที่ประมูลดำเนินโครงการได้ จะต้องเริ่มดำเนินโครงการในไม่ช้านี้แล้ว และดูเหมือนว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการจับตาโครงการนี้กันอย่างละเอียด และต่อเนื่องยาวนานก็ว่าได้ เมื่อมีการนำเสนอข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของโครงการ รวมถึงการประเมินความเป็นไปได้ว่า โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือการทำฟลัดเวย์ จะเป็นเกิดขึ้นจริงได้แค่ไหน กระทั่งมีการเปิดให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ เวทีวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นของผู้รูปวงการต่าง ๆ มากมาย

 

ตามมาด้วยกรณีล่าสุดเมื่อเอ็นจีโอจากประเทศเกาหลีใต้ เดินทางมาเพื่อติดตามรายละเอียดของบริษัทเควอเตอร์ จำกัด ที่ได้รับงานจากการประมูลงานทั้งระบบการสร้างทางผันน้ำ และ การทำแก้มลิง ไปภายใต้งบประมาณสูงถึง 1.63 แสนล้านบาท เพื่อร่วมตรวจสอบการดำเนินการร่วมกับเอ็นจีโอไทย โดยโครงการสื่อสุขภาวะชุมชนชายขอบ และ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม นำคณะเดินทางลงไปพื้นที่ที่จ.พิษณุโลก และนครสวรรค์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ความน่าสนใจของการเดินทางมาเพื่อร่วมกับคณะเอ็นจีโอไทย ในการสำรวจพื้นที่แนวการก่อสร้างในโครงการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้ อยู่ที่การเปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น หรือ เค วอเตอร์ ที่ได้งานจากรัฐบาลไทยไปถึง 9 โมดูล โดยทีมเอ็นจีโอจากประเทศเกาหลีภายใต้ชื่อ สมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี (Korean federation environmental movement : KFEM) เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดบริษัท ที่ถึงแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งชาติของเกาหลีใต้ มีรัฐบาลถือหุ้น 99.9 เปอร์เซนต์ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานในโครงการขนาดใหญ่เลย และยังมีผลงานที่ย่ำแย่มาแล้วภายในประเทศตัวเอง จึงสามารถชนะการประมูลการก่อสร้างงานยักษ์ในประเทศไทยได้เช่นนี้

 

 

 

‘เค-วอเตอร์’อยู่ได้เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ถือหุ้นใหญ่

 

 

นายยัม ซองฮอล ผู้อำนวยการ KFEM  กล่าวถึงสถานะที่แท้จริงของ บริษัทเค-วอร์เตอร์ จำกัด ว่า หากพิจารณาจากจุดประสงค์การก่อตั้งบริษัท พบว่าเค-วอร์เตอร์ ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์การในการพัฒนาและบริการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกาหลีใต้ มีภารกิจหลักอยู่ 3 ประการ คือ 1.การวางระบบในอ่างเก็บขนาดเล็ก 2.ระบบประปา  และ 3.การวางระบบน้ำในเขตอุตสาหกรรม โดยมีการบริหารภายในองค์กรด้วยการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน ผู้บริหารสูงสุด หรือ ซีอีโอ ของเค-วอเตอร์ จะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโดยตรง

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่พบว่างานส่วนใหญ่ของเค-วอเตอร์ จึงเป็นงานที่มักจะได้รับจากกลุ่มที่มีการบริการควบคุมโดยรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น เทศบาลท้องถิ่น และหน่วยงานภายใต้การบริหารของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยมีเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาล รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในการจัดหาวัสดุก่อสร้างในราคาถูก เพื่อลดต้นทุนแต่ละโครงการ แต่ที่ผ่านมาการทำงานของ เค-วอเตอร์ กลับไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เพราะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายโครงการที่ดำเนินการโดยบริษัทนี้ ไม่เพียงจะไม่สามารถแก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำของประเทศได้แล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยที่บริษัทหรือรัฐบาลเกาหลีไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

มีหนี้สินสูงกว่า 758 % แถมเคยติดสินบนสร้างเขื่อน

 

 

 

ผู้อำนวยการ KEFM  กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาย้อนหลังเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทเค-วอเตอร์แล้วจะพบว่า ที่ผ่านมาเค-วอเตอร์ประสบกับภาวะย่ำแย่มาโดยตลอด โดยล่าสุดจากตัวเลขสถานะการเงินล่าสุด ในปี 2012 เค-วอเตอร์มีทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 676,000 ล้านบาท งบประมาณสำหรับการลงทุน 304,000 ล้านบาท และหนี้สินประมาณ  372,000  ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้ของบริษัท อยู่ที่  99,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงว่า บริษัทมีเงินพร้อมสำหรับการลงทุนเพียง 304,000 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินสูงกว่า 758 เปอร์เซนต์ จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลไทยจึงมอบความไว้วางใจให้กับบริษัทแห่งนี้ ดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ภายใต้งบประมาณมหาศาลขนาดนี้

 

และยังเป็นเรื่องแปลกอีกด้วยว่า การเข้ามาประมูลงานขนาดยักษ์ในต่างประเทศ ของบริษัทรัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการของรัฐบาลด้วยนั้น ข่าวสารในประเทศเกาหลีใต้กลับเงียบเชียบมาก ทั้งที่ควรจะเป็นที่รับทราบโดยทั่วไป ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่า มีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ จึงไม่สามารถเปิดเผยให้กับสาธารณชนได้รับทราบ เนื่องจากที่ผ่านมาในประเทศเกาหลีใต้เอง เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่า การดำเนินการของบริษัทแห่งนี้ เคยถูกเปิดเผยว่า มีการคอร์รัปชั่นหลายโครงการในประเทศเกาหลีใต้

 

 

            “ก่อนหน้านี้ประชาชนชาวเกาหลีใต้ ที่เคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของเค-วอเตอร์ ได้ออกมาเรียกร้อง เพื่อให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะเค-วอเตอร์ เคยติดสินบนกับผู้มีอำนาจ เพื่อจะผ่านขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบต่าง ๆ จนต้องกลับมาทำตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามในโครงการอื่น ๆ  เช่น การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำ 4 สาย ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย กลับไม่มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เป็นการลัดขั้นตอน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้บริหารระดับสูงของเค-วอเตอร์ ล้วนแต่เป็นกลุ่มนักการเมืองที่มีอำนาจในการสั่งการทั้งหมด เมื่อสถานภาพของเค-วอเตอร์เป็นเช่นนี้ จึงเป็นคำถามว่า เหตุได้บริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ จึงได้รับงานที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนได้เช่นนี้”

 

 

 

 

 

 

 

ไม่เคยทำงานใหญ่ เพราะแม้แต่คลองเล็กๆ ก็ยังไม่สำเร็จ

 

 

สำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมาของบริษัทเค-วอเตอร์ นายยัมกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างมากกว่าการดำเนินการ เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ตามจุดประสงค์หรือภารกิจของบริษัทที่วางเป้าหมายไว้ และที่ผ่านมาโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำจำนวนมากของเค-วอเตอร์ ที่ดำเนินการในเกาหลีใต้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำภายในประเทศได้ เช่น โครงการสร้างฟลัดเวย์คลองกังงิน เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสร้างคลองเพียง 18 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร ลึก 6 เมตร ที่พบว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่กลับใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการสร้างคลองนี้ และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ทำให้ฟลัดเวย์ดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นแค่คลองระบายน้ำธรรมดาที่มีราคาแพง

 

ขณะเดียวกัน ยังมีการก่อสร้างเขื่อนนัมกัง ที่มีการเสนองบประมาณก่อสร้างเพียง 254 พันล้านวอน แต่เมื่อก่อสร้างจริงกลับต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นถึง 867 พันล้านวอน และยังมีการสร้างเขื่อน16 แห่ง ใน 4 แม่น้ำ ที่งบประมาณการก่อสร้างบางเขื่อนพุ่งสูงกว่าราคาที่เสนอ ซึ่งการก่อสร้างที่ล้มเหลวดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้บริษัทมีหนี้สินพุ่งสูงขึ้นถึง 758 เปอร์เซนต์  และ 50 เปอร์เซนต์ ของงบประมาณในการก่อสร้าง ล้วนใช้ไปในการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเกาหลีใต้เองออกมาคัดค้าน ต่อต้านการดำเนินการของเค-วอเตอร์ จนเป็นเหตุให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของเกาหลีใต้ และสำนักงานตรวจสอบการทุจจริต ต้องดำเนินการตรวจสอบความไม่โปร่งใสของการใช้เงินในโครงการทั้งหมด เพราะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายการเงินของเกาหลีใต้  แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงได้เลือก เค-วอเตอร์ในการจัดการโครงการขนาดใหญ่ ในงบประมาณเงินก้อนมหาศาลนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “จากสภาพพื้นที่ของประเทศไทย ที่เค-วอเตอร์ จะต้องลงมาก่อสร้างโครงการ ผมค่อนข้างเชื่อว่าพวกเขาไม่น่าจะมีระสบการณ์การก่อสร้าง หรือบริหารจัดการพื้นที่ขนาดใหญ่ ๆ แบบนี้ได้ เพราะเค-วอเตอร์ไม่เคยทำอะไรกับโครงการขนาดใหญ่ ที่ทำอยู่ก็คือการสร้างเขื่อน และยิ่งเรื่องของฟลัดเวย์ เค-วอเตอร์ก็เคยทำแค่การขุดคลองเพียง 18 กิโลเมตรเท่านั้น หากต้องบริหารจัดการพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ เชื่อว่าจะต้องใช้ซับคอนแทรกในประเทศไทย เป็นกลุ่มงานก่อสร้างคนไทยที่จะรับประโยชน์ต่อ ๆ กันไป สิ่งนี้คงจะต้องไปติดตามข้อมูลรายละเอียดต่อ” นายยัม กล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังตรวจสอบพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมช่วงการเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ที่ถูกระบุว่าจะมีการสร้างเป็นแก้มลิง หนึ่งในโครงการรับผิดชอบของบริษัทแห่งนี้

 

 

เพราะสร้างเขื่อนในเกาหลีใต้ไม่ได้ จึงต้องหางานนอกประเทศ

 

 

หากพิจารณาจากผลกระทบและความเดือดร้อน จากโครงการสร้างเขื่อนในประเทศเกาหลีใต้แล้ว นายยัม เปิดเผยว่า สำหรับในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ มีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทย แต่มีการสร้างเขื่อนมากมาย โดยเฉพาะเขื่อนขนาดเล็ก รัฐบาลเป็นผู้กำหนดว่าจะสร้างเขื่อนที่ไหน อย่างไร โดยก่อนหน้านั้นไม่มีการสอบถามความคิดเห็น หรือความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ผลกระทบที่ตามมาเห็นได้อย่างชัดเจน สภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ล่มสลาย ในแม่น้ำบางแห่งไม่มีเหลือสัตว์น้ำให้ชาวบ้านเลย ความเดือดร้อนเหล่านี้ ทำให้กลายเป็นประสบการณ์อันเลวร้าย ที่ชาวบ้านเองจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างเขื่อน หรือจัดการน้ำ โดยขาดการปรึกษาหารือกับคนในพื้นที่ ประกอบกับระยะหลังการให้ข้อมูลที่มากขึ้น การติดตามข่าวสารของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้ทุกครั้งที่รับรู้ว่ารัฐบาลจะสร้างเขื่อน โดยการมีส่วนร่วม ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้าน คัดค้านอย่างเข้มแข็งทันที เพราะเคยเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การสร้างปัญหา สาหร่ายเขียว (Green late) ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำของเกาหลีใต้ ทำให้สัตว์และพืชสำคัญเสียหายอย่างรุนแรง จากการสร้างเขื่อนใน 4 แม่น้ำ และประเด็นนี้ เค-วอเตอร์ ยังเข้าข่ายทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทางภาคประชาชนกำลังตรวจสอบกรณีปัญหาดังกล่าวด้วย

 

ดังนั้นประชาชนจึงเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลนำงบประมาณมาใช้อย่างมหาศาลนี้ มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง มีการคอร์รัปชั่นหลายโครงการ การสร้างเขื่อน หรือ ขุดคลองอะไรต่าง ในเกาหลี จึงไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ เหมือนในอดีตอีกต่อไป

 

 

 

 

 

 

            “และนั่นอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ เค-วอเตอร์ ซึ่งบริหารโดยรัฐบาล ต้องออกมาหางานทำนอกประเทศ เพราะที่เกาหลีใต้ไม่สามารถสร้างเขื่อน ขุดคลองได้อีกแล้ว ที่สำคัญพวกเขาปิดทุกอย่างเป็นความลับ คนเกาหลีใต้เองแทบไม่รู้ข่าวสารว่า บริษัทเกาหลีใต้ออกมารับงานใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามมากว่าเพราะอะไร จึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ เพราะหากเค-วอเตอร์ มาทำความเสียหายให้กับประเทศไทย ก็เท่ากับว่าเป็นเรื่องของชื่อเสียงของคนเกาหลีใต้ทั้งประเทศด้วย ดังนั้นภาคประชาชนไทย และเกาหลีควรจะทำงานประสานร่วมกันเพื่อตรวจสอบสิ่งที่ผิดปกตินี้” นายยัมกล่าว

 

 

แฉกลยุทธเค-วอเตอร์ มีแต่สร้างปัญหา

 

 

ทั้งนี้สมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี ได้สรุปเบื้องหลังการทำงานของบริษัท เค-วอร์เตอร์ ได้ดังนี้

กลยุทธ์ในการขยายบริษัท

 

- เพื่อความรวดเร็วในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ รัฐบาลได้ให้บริษัท เค-วอเตอร์ ดำเนินการเรื่องการซ่อมบำรุง และจัดการ โดยค่าบำรุงรักษาได้มาจากค่าใช้น้ำ

 

- ขยายขนาดธุรกิจตัวเองรวมถึงกำไรของบริษัท ด้วยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยสร้างจากเงินรายรับของตัวเอง

 

- สร้างเขื่อนและระบบน้ำทั่วเกาหลีใต้มากเกินไป ทั้ง ๆ ที่ เกาหลีได้พัฒนาระบบการจัดการน้ำและแหล่งน้ำแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วง ทศวรรษที่ 80-90 แล้ว

 

- พยายามที่จะขยายงานของตัวเองออกไป เช่น โครงการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจพลังงาน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการประปา

 

- บิดเบือนข้อมูลและเลือกหยิบข้อมูลบางส่วน เฉพาะที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเท่านั้นมาใช้ ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง รวมถึงก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย

 

หลังจากโครงการต่าง ๆ แล้วเสร็จ จากการตรวจสอบพบว่า มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น เห็นได้จากการใช้งบประมาณสูงเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้เป็นอย่างมาก เช่น โครงสร้างเขื่อนนัมกัง ที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 254.5 พันล้านวอน แต่เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ งบประมาณที่ใช้ไปคือ 867.2 พันล้านวอน เพิ่มขึ้นจากงบที่ตั้งไว้ 34 เปอร์เซนต์ เป็นต้น

 

 

ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลไทย-เกาหลีใต้ มีลับลมคมใน

 

 

นอกจากนี้จากการมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในระยะหลัง จะมีผลเกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายยัม แสดงความคิดเห็นว่า ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด แต่สำหรับข่าวสารในเกาหลีใต้ ไม่มีการพูดถึงเรื่องการลงทุนของบริษัทเกาหลีใต้ในประเทศไทยเลย ซึ่งตามปกติแล้วหากบริษัทเกาหลีใต้จะไปลงทุนสูง ๆ ในต่างประเทศ ก็จะมีการนำเสนอข่าวอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่แน่ใจว่า จะมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ต่อกรณีนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป

 

เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานของบริษัทเค-วอเตอร์แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ตั้งข้อสงสัยได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งหากภาคประชาชนในประเทศไทย สงสัยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ในเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเค-วอเตอร์เองก็เคยมีปัญหานี้ในเกาหลีใต้เช่นกัน

 

 

เอ็นจีโอเตือนรัฐบาลดูให้ดีก่อนพังทั้งประเทศ

 

 

ขณะที่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า จากโครงการ 3.5 แสนล้านนั้น มีการดำเนินการที่ไม่เห็นความสำคัญ ของการมีส่วนร่วมของประชาชน สะท้อนชัดว่า รัฐบาลให้ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่แสดงข้อมูลเท็จจริง ที่โปร่งใส ทำให้ชาวบ้านเกิดความสับสน  อย่างกรณีของ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น  หรือ เค วอเตอร์ ที่ชนะการประมูลแผนก่อสร้าง ใน 2 โมดูล คือ โมดูลเอ 3 และ โมดูลเอ 5 ซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงและฟลัดเวย์ ที่เครือข่ายภาคประชาชนเกาหลี ลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน ในจ.พิษณุโลก และนครสวรรค์ ก็เป็นอีกแผน ที่ไร้ซึ่งการทำกรอบแนวคิดในการศึกษาว่า เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องก่อสร้าง ขณะที่หลาย ๆ โครงการมีการลงพื้นที่สำรวจ เพื่อก่อสร้างเส้นทางฟลัดเวย์ และพัฒนาคูคลองโดยการขุดลอก และไม่แสดงข้อมูลเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้

 

 

 

 

            “ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ รูปแบบการพัฒนาเส้นทางต่าง ๆ ในงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท คนยังสงสัยว่า เป็นโครงการขุดลอกคลองชลประทาน หรือเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข หรือแม้กระทั่งการขุดลอกบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความไร้แผนงานในการพัฒนา”

 

 

ด้านนายกมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า จากสถานะการเงินที่แย่ลงของเค-วอเตอร์ สะท้อนให้เห็นชัดว่า ไม่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการเส้นทางผันน้ำ สร้างฟลัดเวย์ และโครงการขุดลอกคลองบางส่วนในแผนโมดูล เอ 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา และท่าจีน ในภาคตะวันตก และปริมณฑล เพราะแม้แต่โครงการในประเทศ ยังมีความเสียหายมหาศาลแล้ว หากปล่อยให้ดำเนินย่อมไม่เกิดผลดี อย่างไรก็ตามอยากขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาในส่วนของภาคประชาชนมากกว่า ว่าต้องการอะไร รวมทั้งรัฐบาลเองต้องเร่งชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีแผนพัฒนาลุ่มน้ำด้วย ว่าดำเนินการเพื่ออะไร เป็นโครงการขุดคลองของชลประทาน หรือเป็นการแก้ปัญหาระบบน้ำอย่างไร เพราะขณะนี้ประชาชนยังกังวลอยู่มาก

 

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาล ใจเย็น ในเรื่องของการเดินหน้าโครงการ แล้วหันมาใส่ใจการแก้ปัญหาระบบน้ำที่ชุมชนทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำมากกว่าการเร่งอนุมัติงบประมาณ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสี่ยงกับความล้มเหลว ทั้งนี้ตนหวังว่า กรณีของเค-วอเตอร์ น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไตร่ตรองแล้วยอมฟังเสียงประชาชน โดยการประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง นอกจากนี้กรณีที่ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำภาคเหนือ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้มีการขุดลอก คลอง หนองน้ำและบึงต่าง ๆ นั้น เห็นว่าเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะภาคเหนือเป็นต้นน้ำ ควรเน้นที่การรักษาป่าไม้ มากกว่าการขุดลอก

 

 

เค-วอเตอร์โต้ข้อกล่าวหา อ้างถูกบิดเบือนข้อมูล

 

 

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกัน นายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-วอเตอร์ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ชี้แจงกรณีที่นายยัม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเค-วอเตอร์ในเชิงลบว่า บริษัทขอยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะทำงานโครงการบริหารจัดการน้ำที่ชนะการประมูลจำนวน  2 โมดูล รวมมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท และขอชี้แจงว่าข้อมูลที่นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ให้มานั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือน

 

ทั้งนี้กรณีที่นายยัม ยุง โซ ระบุว่า เค-วอเตอร์เคยรับเฉพาะงานเล็กและไม่มีศักยภาพนั้น ขอยืนยันว่า กลุ่มเค-วอเตอร์ มีหน้าที่ดูแลเขื่อนทุกเขื่อนในเกาหลีใต้ และโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับน้ำในเกาหลีใต้ รวมถึงโครงการลุ่มแม่น้ำ 4 สาย ที่มีการโจมตีอย่างหนัก เป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จแล้ว และประชาชนเกาหลีใต้ ก็ให้การยอมรับแล้ว จากก่อนหน้าที่จะเริ่มโครงการที่มีการต่อต้านจากภาคประชาชน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในรอบ 100 ปี เมื่อกลางปี 2554 เกิดน้ำท่วมในกรุงโซล และสามารถระบายน้ำออกได้ภายใน 48  ชั่วโมง ทำให้ประชาชนยอมรับในโครงการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลได้ดำเนินการ แต่ต้องยอมรับว่า โครงการลุ่มแม่น้ำ 4 สายเป็นแนวคิดของรัฐบาลชุดเดิม พอมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จึงอาจมีการนำมาเป็นข้อมูลโจมตีทางการเมือง

 

ทางด้านสถานะทางการเงิน ยืนยันว่า กลุ่มเค-วอเตอร์ ซึ่งถือหุ้นโดยรัฐบาล ย่อมมีความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่วนเรื่องภาระหนี้สิน เป็นเรื่องปกติของการลงทุน และโครงการต่าง ๆ ที่เค-วอเตอร์ดำเนินการ ล้วนเป็นโครงการบริการประชาชนที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเกาหลีใต้ ให้ส่งรายงานทางการเงินมาให้ทางเค-วอเตอร์ไทยนำเสนอกับสังคมไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนคนไทย ให้เชื่อมั่นว่าเค-วอเตอร์จะไม่ทิ้งงาน

 

 

            “เราเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรับงานในไทยแล้วจะทิ้งงาน อีกทั้งตั้งแต่เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ เค-วอเตอร์ได้ผ่านการตรวจสอบสถานะทางการเงินแล้ว ว่ามีความพร้อม และยังได้วางเงินประกันซื้อซองเป็นมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท มีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์สาขาในไทย เป็นผู้ค้ำประกันวงเงิน”

 

 

 

 

 

 

ขณะที่การดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำในไทย จะใช้แหล่งเงินกู้ของไทยบางส่วน ส่วนเงินหมุนเวียน รัฐบาลเกาหลีใต้ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของเค-วอเตอร์ จะต้องเป็นผู้เตรียมเงินหมุนเวียนอย่างต้องครอบคลุมมูลค่าของโครงการที่ชนะการประมูล คือ ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จึงอยากให้คนไทย มีความมั่นใจในเรื่องนี้

 

ส่วนประเด็นเรื่องปิดบังข้อมูลเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตามที่นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้กล่าวถึงนั้น เค-วอเตอร์ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะทุกโครงการที่จะดำเนินการได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการจัดรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ซึ่งเท่ากับเป็นการฟังเสียงของประชาชน ก่อนดำเนินโครงการอยู่แล้ว หากอีไอเอ และเอชไอเอไม่ผ่าน ก็ต้องยุติโครงการ

 

สำหรับกรณีที่ศาลปกครองนัดไต่สวนคดีบริหารโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในวันที่ 27 มิถุนายน หลังจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และกลุ่มชาวบ้าน 45 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการได้รับผลกระทบจากแผนบริหารจัดการน้ำ เค-วอเตอร์ก็พร้อมที่จะรับทุกคำตัดสินใจของศาลปกครอง เพียงแต่ขอให้มีความชัดเจนว่าจะมีแนวทางให้เค-วอเตอร์ทำอย่างไรต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: