แฉ'บัญชีผี'หากินหน่วยกู้ระเบิดใต้ รับเบี้ยเลี้ยง-เงินเพิ่มแต่ไม่ทำงาน อุปกรณ์ห่วยจนท.เสี่ยงตายทุกวัน 

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 27 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 4055 ครั้ง

ขนาดประเทศสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจของโลกยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) ที่ปฏิบัติงานอยู่ในตะวันออกกลาง จนเป็นที่มาของการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Hurt Locker ซึ่งนำเสนอภาพวีรบุรุษอีโอดีซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ไปครอง มีเป้าหมายเพื่อปลุกให้อเมริกันขนอยากมาสมัครเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยนี้

 

แล้วประเทศไทยซึ่งยังมีการก่อเหตุ และลอบวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง จะมีบุคลากรเพียงพอเพื่อรองรับภารกิจนี้หรือ?

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้วยความเสี่ยงเกินกว่าใจคนธรรมดาจะกล้าแอ่นอกรับทำงานเสี่ยงชีวิตเพื่อประชาชนและประเทศชาติ เพราะขาข้างหนึ่งก้าวเข้าไปสู่ความตาย ตั้งแต่เริ่มเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ แม้จะมีเครื่องมือ หรือเครื่องช่วยเตือนภัยก่อนเข้าพื้นที่ แต่ในบางสถานการณ์เป็นเรื่องของการอ่านทาง และวัดใจ เลยไปถึงการใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจเข้าไปทำลายและเก็บกู้วัตถุระเบิดที่อยู่เบื้องหน้าโดยมีเวลาเป็นตัวกำหนด ทำให้โอกาสพลาดสูง

 

จากสถิติพบว่าเป็นหน่วยอีโอดี มีเปอร์เซ็นต์ในการสูญเสียสูงสุด เมื่อเทียบกับหน่วยอื่นที่มีกำลังพลประจำการเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานต้นสังกัดพยายามที่จะดูแลเรื่องสวัสดิการ เงินเพิ่มพิเศษ  และ การจัดหาเครื่องมือเพื่อป้องกันชีวิตของทหารเหล่านี้

 

หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4  ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส กองทัพบกตั้งหน่วยเฉพาะอโณทัย  (ฉก.อโณทัย) ขึ้นที่กองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ต่อมาปรับเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่วนหน้า มีอีโอดี จากกรมสรรพาวุธทหารบก ลงไปประจำเพียง 7 นาย

 

 

 

จนกระทั่งช่วงที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แก้ไขปัญหาขาดแคลนคน โดยให้คนที่ไม่บรรจุในกรมสรรพาวุธทหารบก ไปทำงานเป็นอัตราชั่วคราว  โดยให้เงินฝ่าอันตรายเท่ากับพวกที่บรรจุอัตราประจำ โดยเฉพาะนายทหารชั้นประทวน จากเดิมที่ได้ 6,000 บาทให้เพิ่มเท่ากันเป็น 7,500 บาท เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรของกรมสรรพาวุธทหารบก ที่ไม่เพียงพอกับงานที่เพิ่มขึ้น

 

แต่เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกิดปัญหาเรื่องการจ่ายเงินหมวดนี้ ให้กำลังพลที่สังกัดในหน่วยทำลายวัตถุระเบิดอโณทัย (ทลร.อโณทัย ) ซึ่งมีทั้งหมด 136  อัตรา โดยในนี้เป็นนายทหารสัญญาบัตรเพียง 20 อัตรา ได้รับเงินเพียง 6,000 บาท ซึ่งเป็นเงินในอัตราไม่ประจำ กระทั่ง ผบ.ฉก.อโณทัย ได้นำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งต่อผู้บังคับบัญชา เนื่องจากกอ.รมน.จ่ายเงินในอัตราไม่ประจำ จนถึงขนาดที่ขอเอาตำแหน่งเป็นประกัน ถ้าไม่ได้เงินในส่วนต่างดังกล่าวคืนมาให้ลูกน้อง

 

กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ชี้แจงว่า เป็นเรื่องของการเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และสื่อนำเสนอข่าวนี้จะเกิดความเสียหายและขอให้หยุดการนำเสนอข่าวนี้

 

จากนั้นได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อหาข้อสรุป และชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้เกิดความกระจ่าง ไม่ให้กระทบขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงว่า การจ่ายเงินที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์คำสั่งกระทรวงกลาโหม  ระเบียบกองทัพบก และ ระเบียบกระทรวงการคลัง  โดยการจ่ายเงินในอัตราไม่ประจำต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ทางกองทัพบกจะดำเนินการหาแนวทางในการแก้ไขให้กำลังพล ได้รับค่าฝ่าอันตรายในอัตราเดิมในโอกาสต่อไป โดยให้ ทลร.อโณทัย และ ชุดตรวจค้น 51 ไปชี้แจงกำลังพลในหน่วยให้เข้าใจ

 

ทว่าในช่วงที่กองทัพบกกำลังแก้ไขสถานการณ์  กลับมีข่าวการย้าย “ผู้การฯต่าย” พ.อ.ทวีศักดิ์  จันทราสินธิ์ ผบ.ฉก.อโณทัย ซึ่งเข้าพบ ผบ.ทบ.เพื่อร้องเรียนดังกล่าว ท่ามกลางข่าวลือว่า เป็นการย้ายเพราะการให้ข่าวสื่อมวลชน ทั้งที่คำสั่งย้ายเป็นไปตามวงรอบปกติ เนื่องจากะพ.อ.ทวีศักดิ์อยู่ในตำแหน่งมา 9 ปี และถือว่าที่ผ่านมาทำงานเข้าตากองทัพบกมาตลอด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “กองทัพบกขอยืนยันว่า การปรับย้ายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการบริหารจัดการกำลังพล ตามวงรอบปกติของ ทบ. ถือเป็นไปตามฤดูกาลพร้อมกำลังพลส่วนใหญ่ที่ถึงวาระการปรับย้าย โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง  ในห้วงเดือนเมษายน และ ตุลาคม” พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกชี้แจง

 

 

 

พร้อมกับมีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรองผอ.รมน. ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อมูลที่เกิดขึ้นจากเรื่องร้องเรียน ความไม่ชอบมาพากล ในหลายเรื่องที่ “ไม่โปร่งใส” และมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

รวมถึงในหน่วย “อีโอดี”  ที่ส่งกลิ่นไม่ค่อยดี  มีบัตรสนเท่ห์ และเรื่องร้องเรียนขึ้นมาที่ส่วนกลาง ไร้ตั้งแต่ประสิทธิภาพของเครื่องมือ รถตัดสัญญาณคันละกว่า 40 ล้านบาท ปัจจุบันมีอยู่ 3 คัน แต่ใช้ได้ไม่ครบ เนื่องจากบริษัทเอกชนที่เสนอขายไม่รับผิดชอบ หรือติดตามงาน หรือแม้กระทั่ง หุ่นยนต์บังคับ ที่เพิ่งรับเข้ามาประจำการ ราคาตัวละกว่า 5 ล้านบาท  เริ่มแขนและขารวน ทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานยากลำบาก

 

 

ประเด็นสำคัญ “บัญชีผี” คือ การเอาชื่อคนมาลงอัตรา เพื่อรับเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ แต่ไม่ได้มาปฏิบัติงานจริง หรือไม่ได้ออกทำงานภาคสนาม หากแต่เป็นพรรคพวกของตัวเองที่มาลงเป็น “กาฝาก” เอาประโยชน์จากสถานการณ์ไฟใต้เท่านั้น

 

ไม่นับรวมอุปกรณ์ที่ได้จัดหามาในอดีต ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อในยุคนี้ ทั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 หรือ แม้กระทั่งเรือเหาะตรวจการณ์ มูลค่า 350  ล้านบาท ที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำขึ้นทำงานให้ได้

 

จนล่าสุดที่กองทัพบกก็นำเรือเหาะขึ้นตรวจการณ์ แต่ก็ตกกระแทกรันเวย์สนามบินบ่อทอง จ.ปัตตานี ขณะปฏิบัติภารกิจบินรักษาความปลอดภัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางลงพื้นที่ปลอบขวัญครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว

 

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่การ “ดิสเครดิต” หรือทำลายขวัญกำลังใจทหาร ในยามที่ต้องเผชิญกับผู้ก่อความรุนแรงที่ “ได้ใจ” วางระเบิดไล่ล่า เรียกแขกโออี แต่อย่างใด แต่นั่นหมายถึงการเปิดให้เห็นถึงขบวนการเอาเปรียบคนทำงานที่ทุ่มเท และต้องเสี่ยงชีวิตทุกนาที กับความไม่เท่าเทียม และอุปกรณ์ที่ด้อยคุณภาพ

 

หากเครื่องมือและอุปกรณ์ ไม่สามารถสร้างหลักประกันได้ เพราะ “ผลประโยชน์”จากการจัดซื้อ และความไม่รับผิดชอบของบริษัทจัดซื้อ ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพบกในการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งควรดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส

 

เพราะต่อจากนี้ห้วงที่รัฐบาลยังเดินหน้าเพื่อเจรจาสันติภาพ โดยให้คณะของสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ ตั้งโต๊ะเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย อีกครั้ง ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ซึ่งยังไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า สถานการณ์จะเบาบางลง เพราะต่างฝ่ายต่างเกี่ยงให้ดำเนินการตามคำเรียกร้องของฝ่ายตนก่อน

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ขยิบตา” ของฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นบนโต๊ะเจรจา ลงมายังกลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่ ให้ก่อเหตุหนักหน่วงขึ้น เพื่อใช้เป็นแต้มต่อในการต่อรองเพื่อบรรลุเป้าหมาย ที่แน่นอนว่า มีความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติในพื้นที่มากขึ้น

 

เพียงแต่ปัญหาภายใน และข้อครหาที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่กองทัพบกได้ให้ความสนใจ และริเริ่มที่จะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้องค์ประกอบของการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ลดเงื่อนไขในการใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการดิสเครดิตกองทัพ

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก เดอะเนชั่น, มติชน, สยามรัฐ, ไอเอ็นเอ็น, ไทยรัฐ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: