‘บาหลี’วิถีธรรมชาติและศรัทธา   บนรอยทางแห่งความเปลี่ยนแปลง

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 27 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1613 ครั้ง

 

มนุษย์แต่โบราณเชื่อว่าท้องฟ้าคือสถานพักผ่อนของเหล่าทวยเทพ ผู้สร้าง-ผู้ปกครองจักรวาล คอยดลบันดาลให้ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามวิถีทางที่ถูกลิขิตไว้ หากมนุษย์ผู้หยิ่งผยองคิดฝ่าฝืนชะตากรรม ต้นทุนก็ต้องสูงเอามาก ๆ ถ้าสำเร็จ ความดีความชอบครึ่งหนึ่งยังต้องยกให้เทพเจ้าอยู่นั่นเอง เพราะมนุษย์ไม่มีอำนาจพอจะเปลี่ยนแปลงชะตากรรม เว้นเสียแต่เทพเจ้าจะสมรู้ร่วมคิด

 

หากสมมติฐานที่ว่าสรวงสวรรค์สถิตบนฟากฟ้าเป็นความจริง บนความสูงระดับ 35,000 ฟุต ผมก็คงเข้าใกล้ตีนสวรรค์กว่าหนใด ๆ ทว่า มันเป็นความย้อนแย้งที่น่าตื่นใจ เมื่ออากาศยานที่ผมนั่งเริ่มลดระดับลงสู่ผืนแผ่นดินที่ได้ชื่อว่ามีเทพเจ้า เทวา เทวี อสูร และสิ่งมีชีวิตเหนือจินตนาการมากมายสิงสถิตอยู่ทุกหัวมุมถนน ทุกตรอกซอกซอย

 

เกาะที่ได้รับการขนานนามอย่างรักใคร่-ยำเกรงว่า เกาะแห่งเทพเจ้า-บาหลี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

.................

 

ในอูบุด-เมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในตัวเกาะ ผมพบเห็นกระทงใส่ดอกไม้และเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าวางอยู่ดาษดื่น บนถนน บนเคาน์เตอร์จ่ายเงิน หรือแม้แต่บนคอนโซลหน้ารถ พร้อมธูปที่ส่งเปลวควันล่องลอยละมุนละไมต้องแสงแดดอ่อน ๆ ประหนึ่งม่านหมอกมายาการกางกั้นระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ ของเหล่าทวยเทพ

 

ผมและคนไทยสองสามคนที่เจอะเจอกันที่บาหลี รู้สึกตรงกันว่า คนบาหลีในอูบุดมีความอ่อนน้อมถ่อมตนสูง (บางครั้งก็มากเกินไปในความรู้สึกผม) เกิดข้อสงสัยในใจว่า ทำไม ผมนั่งเทียนหาคำตอบเอาเองว่า คงเป็นเพราะเทพเจ้า

 

ศาสนาฮินดูมีเทพเจ้านับไม่ถ้วนคอยกำกับดูแลการเคลื่อนเปลี่ยนทุกองคาพยพในจักรวาล-มนุษย์ สัตว์ แม่น้ำ ทะเล การเก็บเกี่ยว ความตาย ฯลฯ-เทพเจ้ารู้เห็นทุก ๆ การกระทำของมนุษย์ สอดส่องให้อยู่ในครรลอง เกื้อหนุน ยับยั้ง หรือลงโทษตามแต่บุญ-บาปของแต่ละบุคคล เป็นเช่นนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย ยังไม่นับธรรมชาติอันงดงามและยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ทั่วเกาะ

 

ขณะที่ผมยืนอยู่ ณ วัดอุลันดานูร์ริมฝั่งทะเลสาบบราตัน ฉากหลังคือเทือกเขาตระหง่านง้ำเคลียเมฆ ทวยเทพ ขุนเขายะเยือก ทะเลสาบโบราณ และผมเป็นมนุษย์ตัวน้อยที่ถูกกำหนดให้มาอยู่ที่นั่น, ทานาล็อต วิหารที่สร้างขึ้นบนโขดหิน ผมอธิบายไม่ถูก ว่ามันอยู่บนแผ่นดินใหญ่หรือกลางทะเล มันดูก้ำกึ่ง น่าทึ่งกับพลังศรัทธาที่ผลักดันผู้สร้างให้เสาะหาภูมิทัศน์ตระการตา ความอุตสาหะขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ และเรี่ยวแรงในการปลูกสร้าง กลางคลื่นลมขี้โมโหของเกาะแห่งเทพเจ้า

 

คิดจากตัวเอง หากผมถือกำเนิดในวัฒนธรรมบาหลี ผมจะกล้ายืนเชิดหน้าโดยไม่คุกเข่าต่อหน้าทวยเทพหรือไม่ มนุษย์จะยังยโสโอหังได้อีกหรือเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าพลังที่ยิ่งใหญ่กว่า ผมคิดว่าไม่ การศิโรราบน่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดของคนบาหลี แต่ผมไม่คิดว่านี่คือการยอมจำนนโดยสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งของการศิโรราบต่อทวยเทพผู้ดูแลธรรมชาติ คือวิถีอันอ่อนน้อมและการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

..............

 

กูต้า เมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลลือชื่อของบาหลี เปรียบกับหญิงสาว อูบุดเป็นหญิงสาวที่เงียบขรึมกว่า เรียบ เก๋ และชวนค้นหา ขณะที่กูต้า-เธอโฉบเฉี่ยว ไฉไล จริตจก้านมากกว่า และฉูดฉาดอย่างร้ายกาจ

 

มองด้วยสายตาคนนอก-ย้ำครับว่า ‘คนนอก’-กูต้าแทบจะกลืนหายไปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับหลายแห่งทั่วโลก ผู้คนพลุกพล่าน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ร้านสินค้าแบรนด์เนม ร้านกาแฟกิ๊บเก๋ ไม่ต่างกับภูเก็ตหรือพัทยา กระทงเซ่นสรวงเทพเจ้ามีให้เห็นน้อยกว่าที่อูบุดมาก ศาลเจ้าและรูปปั้นเทวดาอารักษ์ก็น้อยกว่าและเงียบเหงากว่า ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าทวยเทพ อสูร ทวารบาล จำเป็นต้องอาศัยความมืดพรางตัว ป่านนี้คงหลบลี้หนีหายจากกูต้าไปหมดแล้ว

 

ผมจิตนาการฟุ้งฝันถึงมหากาพย์สงครามระหว่างรามและทศกัณฑ์ ที่กูต้า ทวยเทพ อสูร ภูติ เทวา-เทวี อยู่ฝ่ายหนึ่ง วิทยาศาสตร์ การพัฒนา การท่องเที่ยว อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง มีมนุษย์เป็นผู้เฝ้าดูและเลือกข้าง ผลคือทวยเทพเป็นฝ่ายถอยร่น แน่นอน มนุษย์ย่อมเลือกยืนฝั่งผู้ชนะ ผิด-ถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

โลกนี้เป็นการต่อสู้อันไม่จบสิ้น ระหว่างสิ่งเก่า-ใหม่, ความชั่ว-ความดี ฯลฯ พรหม-เสกสร้าง วิษณุ-ปกปักรักษา ศิวะ-ทำลายล้าง หมุนวนเป็นวัฏจักร หากสิ่งนี้คือวิถีที่ตรีมูรติ เทพแห่งเทพทั้งสามขีดเส้นไว้ เทพเจ้าอันดับรองลงมาก็มีหน้าที่แค่ปฏิบัติตาม มิพักต้องกล่าวถึงมนุษย์

 

 

 

 

...............

 

อดีต มนุษย์ใช้ศรัทธาเป็นถนนให้ชีวิตเดินและเป็นจอบขวานถากถางอารยธรรม จวบจนการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เริ่มต้นที่โคเปอร์นิคัสผู้อาจหาญ (เหิมเกริมและสมควรตายในสายตาศาสนจักรคาทอลิก) ทำลายโลกที่เคยเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมานับพันปี แล้วยกตำแหน่งให้ดวงอาทิตย์ ตามมาด้วยกาลิเลโอ และจบลงอย่างสมบูรณ์แบบด้วยน้ำมือของไอแซค นิวตัน โลก ธรรมชาติ และชีวิตแปรเป็นเพียงเครื่องจักรกลขนาดใหญ่แสนซับซ้อนที่ขับเคลื่อนไปตามกลไกแห่งเหตุและผล มิใช่น้ำมือเทพเจ้าอีกต่อไป

 

(แต่คนตะวันตกเขาก็ยังเถียงกันไม่เลิกนะครับว่า ‘อะไร’ ‘สิ่งใด’ หรือ ‘ใคร’ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรนี้ เพราะมันย่อมขับเคลื่อนโดยตัวมันเองไม่ได้ เหนืออื่นใด ‘ใคร’ สร้างมันขึ้น โดยใช้ตรรกะทำนองเดียวกันคือ เครื่องจักรไม่สามารถสร้างตัวมันเองได้ เหล่านี้นำไปสู่คำตอบที่เลี่ยงไม่ได้-พระเจ้า ซึ่งไม่ใช่บทสรุปที่คนตะวันออกคุ้นเคย)
 

ถึงคำอธิบายโลกด้วยมุมมองวิทยาศาสตร์และเหตุผลจะดูแล้งเสน่ห์ไปบ้าง แต่มันก็คลี่คลายความกลัวและเพิ่มทางเลือกการดำรงชีวิตแก่มนุษย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ก่อนหน้า ปัญหาประการเดียวคือมันรุกรานที่อยู่ที่ยืนของมุมมองอื่นๆ ที่ไม่ได้วางอยู่บนหลักเหตุผล

 

กูต้าไม่ใช่สถานที่แห่งเดียวบนโลกที่การต่อสู้ดำรงอยู่ มันเกิดขึ้นทุกที่ ไม่เว้นกระทั่งในหัวใจของเรา

 

................

 

เหตุผลที่มากเกิน เป็นเส้นทางสู่ความจองหองโอหัง

 

ศรัทธาที่ล้นเกินคือบ่อเกิดความมืดบอดงมงาย

 

สำหรับผม เหตุผลก็คือรูปแบบหนึ่งของศรัทธา ใช่หรือไม่ว่า คนเราศรัทธาในเหตุผลจนมืดบอดได้ไม่ต่างกันกับความศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ

 

เมื่อมันต่างก็เป็นศรัทธา มันจึงนำไปสู่การเข่นฆ่าได้เหมือนๆ กัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

..............

 

ระหว่างพักในอูบุด ผมเดินผ่านสถานที่แสดงนาฎลีลาของชาวบาหลีสองสามแห่ง ถูกพนักงานเชื้อชวนให้ซื้อบัตรเข้าชมมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ไม่มีโอกาสได้ชม และคิดว่าคงไม่มีโอกาสอีกแล้ว เพราะมันเป็นค่ำคืนสุดท้ายของผมในอูบุด รุ่งเช้า ผมต้องเดินทางไปกูต้า

 

เห็นด้วยหรือเปล่าครับว่า ชีวิตช่างแสนยาก แต่พอถึงบทจะง่ายก็ช่างง่ายแสนง่าย หรือจะมีใครบนฟ้าขีดเขียนมาให้แล้วจริง ๆ

 

ค่ำคืนเกือบสุดท้ายในกูต้าก่อนกลับเมืองไทย ผมเททิ้งเวลากลางวันอย่างสุรุ่ยสุร่ายไปกับการเดินเล่น เฝ้ามองผู้คน เขียนโปสการ์ดถึงบางคนในเมืองไทย อ่านหนังสือ วิ่งบนชายหาดอีกหลายกิโล (ช่างน่าหมั่นไส้เหลือเกิน ก็ผมไปพักผ่อนนะครับ) กลางคืนเดินดูแสงไฟมากกว่าการจับจ่าย เพราะไม่มีเงินเหลือแล้ว ก่อนค่อย ๆ เดินเอื่อย ๆ กลับที่พัก

 

บนถนนแคบ ๆ เลยหน้าที่พักไปประมาณ 50 เมตร ผู้คนจำนวนหนึ่งยืนมุงดูอะไรบางอย่าง เสียงดนตรีแบบบาหลีถูกห่อหุ้มด้วยความอึกทึกลอยมาจูงมือผมเข้าไปหา ข้างหน้า ด้านขวามือดูเหมือนจะเป็นศาลเจ้าประจำชุมชน นักดนตรีกำลังบรรเลง บนพื้นด้านหน้าผมห่างไปไม่เกิน 5 เมตร ชายบาหลี 5-6 คนนั่งอยู่บนเสื่อ ในจำนวนนั้น ชายร่างใหญ่คนหนึ่งไม่ได้ใส่เสื้อ ถัดออกไป หญิงบาหลีประมาณ 10 คนในชุดรำฟ้อนและหน้ากากกำลังร่ายรำลับหายเข้าไปในฝูงชนอีกด้านหนึ่ง แล้วก็มีชายอีกสองคนในชุดและหน้ากากปีศาจเขี้ยวยาว ขนรุงรัง กึ่งเดินกึ่งวิ่งออกมาด้วยท่าทางวางอำนาจ ปีศาจสองตนเริ่มร้องกัมปนาท เด็กหนุ่ม 3-4 คนที่นั่งรออยู่รอบนอก ค่อย ๆ เกิดอาการองค์ประทับ กรูเข้าไปต่อกรกับปีศาจ ผลลัพธ์คือพ่ายแพ้

 

สักพัก ชายร่างใหญ่ไม่ใส่เสื้อคนนั้นจึงลุกขึ้นเดินไปยังหุ่นสัตว์ประหลาดสี่ขา ตาโต เขี้ยวคม ขนยาว ที่วางอยู่บนขาตั้งไม้ เขาและผู้ช่วยแทรกตัวเข้าไปในหุ่น (คลับคล้ายการแสดงเชิดสิงโตในบ้านเรา) มันคือบารอง สัตว์ประหลาดในจินตนาการที่คอยปกปักรักษาบาหลีจากความชั่วร้ายทั้งปวง

 

สุดท้าย ปีศาจสองตนก็ต้องถอยร่นในแก่บารอง

 

ทั้งหมดคงเป็นพิธีกรรมที่มีเจตจำนงบางประการและจำลองการต่อสู้ระหว่างความชั่วร้ายกับความดีงามตามความเชื่อของชาวบาหลี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

................

 

ความบังเอิญ?

 

มันช่างน่าจับใจที่ผมมีโอกาสตีตั๋วชั้นพิเศษชมนาฏลีลาที่คงพอกล่าวได้ว่า ‘จริง’ กว่า

 

ผมถามตัวเองว่า ถ้าตีตั๋วชมการแสดงที่อูบุด ผมจะได้เห็นพิธีกรรมที่กูต้าหรือเปล่า

 

นี่คือความบังเอิญที่ตั้งใจของบางสิ่งหรือเป็นเหตุผลของความน่าจะเป็นจาก 1 ใน 1,000,000 ...ความเป็นมนุษย์และตกคณิตศาสตร์ไม่ยินยอมให้ผมตอบ แต่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้กรรมวิธีแบบใด คำตอบที่ได้ล้วนน่าอัศจรรย์ใจไม่แพ้กัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

................

 

การต่อสู้มีอยู่ทุกที่ แม้แต่ในหัวใจของเราเอง สงครามนี้หยุดได้ ถ้าคุณสามารถบรรลุถึงปรมาตมันตามความเชื่อของศาสนาฮินดู

 

แล้วคุณล่ะ? คิดว่ามันเป็น ‘ความบังเอิญ’ หรือ ‘ความน่าจะเป็น’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: