ข่าวเลิกใช้ส้วมซึมไม่จริง แค่ให้มีชักโครก12สถานที่

27 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2608 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เปิดเผยว่า น.พ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องส้วม กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตหลายแห่ง ระบุว่า มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกส้วมซึม ภายใน 120 วัน ให้หันใช้ชักโครกแทน ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการจับแพะชนแกะ ไม่ทราบว่านำมาผูกโยงกันได้อย่างไร เพราะเป็นการโยงพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2556 กับ มติ ครม.เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) ซึ่งการนำเสนอเรื่องนี้ต่อ ครม.เพื่อส่งเสริมให้ส้วมสาธารณะ 12 ประเภท หันมาใช้ส้วมนั่งราบ และชักโครก เท่านั้น

 

 

            “คนเข้าใจผิดคิดว่าจะมีการไปออกกฎหมาย บังคับให้ครัวเรือนให้ใช้ส้วมนั่งราบแทนส้วมนั่งยองหรือส้วมซึม ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง เราไม่สามารถไปออกกฎหมายบังคับชาวบ้านได้ เพียงแต่การนำเสนอของกระทรวงสาธารณสุขต่อ ครม.เพื่อต้องการให้ส้วมสาธารณะ 12 ประเภท คือ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ดิสเคานต์สโตร์ อย่างน้อยต้องมีส้วมนั่งราบ เพื่อรองรับผู้สูงอายุ คนท้อง คนน้ำหนักเกิน ไม่ให้มีปัญหาเรื่องเข่าเสื่อม หรือหน้ามืด ตรงนี้ไม่ได้เป็นกฎหมาย และไม่สามารถไปบังคับชาวบ้านได้ ไม่สามารถไปละเมิดสิทธิประชาชนได้ ไม่มีกฎหมายให้ทำเช่นนั้นได้” น.พ.ณัฐพรกล่าว

 

 

รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ในส่วนที่มีการออกกฎหมายบังคับแล้วคือ ในส่วนของปั๊มน้ำมัน  และสถานที่จำหน่ายอาหาร คือ ร้านอาหารใหญ่ ๆ มีการบังคับว่าจะต้องมีส้วมนั่งราบ 1 ห้อง ไม่ใช่ว่า ห้องน้ำทุกห้องต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบนั่งราบ หรือชักโครกหมด แต่ขอให้มีอย่างน้อย 1 ห้อง ส่วนชาวบ้านนั้นอยากรณรงค์ให้หันมาใช้ส้วมนั่งราบหรือชักโคกมากกว่าเพราะส่วนใหญ่มีผู้สูงอายุอยู่ หากทุกบ้านเปลี่ยนมาเป็นนั่งราบได้ก็จะช่วยป้องกันปัญหาข้อเข่าเสื่อม รวมถึงคนท้อง คนอ้วน

 

น.พ.ณัฐพร กล่าวต่อว่า เรื่องพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 เป็นคนละส่วนกับแผนแม่บทที่จะรณรงค์ให้สถานที่ 12 ประเภท หันมาใช้ส้วมแบบนั่งราบ หรือชักโครก

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้คนไทยทั่วประเทศมีส้วมนั่งราบ หรือชักโครกใช้มาน้อยเพียงใด น.พ.ณัฐพรกล่าวว่า ไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์ เพราะส่วนใหญ่เป็นส้วมซึมหรือนั่งยอง เพราะบ้านนอกหรือบ้านจัดสรรรุ่นเก่า ล้วนใช้ส้วมแบบนั่งยอง  แต่ถ้าบ้านรุ่นใหม่เป็นชักโครกหมดแล้ว

 

 

ขอบคุณข่าวจากเว็บไซต์เดลินิวส์

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: