แฉตีปี๊บข่าวเวอร์‘ขาดก๊าซ-ไฟดับ’ หาเหตุจ่อผุด ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ปตท.-กฟผ.ยันไฟฟ้าสำรองพอใช้

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 27 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 2023 ครั้ง

 

 

ทันทีที่นายพงษ์ศักด์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ประกาศให้คนไทยเตรียมตัวรับสถานการณ์ วิกฤติทางพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ โดยระบุว่า ประเทศไทยอาจจะต้องเสี่ยงกับเหตุการณ์ไฟดับ เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามความต้องการ เนื่องจากขาดก๊าซธรรมชาติ ก็กลายเป็นความแตกตื่นโกลาหลกันไปถ้วนหน้า ที่ต่างเร่งระดมวางแผนหาทางรับมือกันอย่างเร่งด่วน ต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น กับระบบพลังงานของไทยในช่วงสงกรานต์ที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนที่สุด

 

สาเหตุที่ประเทศไทยจะไม่มีเชื้อเพลิงสำรองใช้ในปีนี้ เป็นเพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศพม่า ที่ไทยซื้อใช้เป็นหลัก จะปิดซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่แหล่งยาดานา และเยตากุน ในอ่าวเมาะตะมะ จนไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติมาให้ได้ ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขาดก๊าซเข้าระบบถึงวันละ 1,100 ลูกบาศก์ฟุต ขณะที่ก๊าซจากแหล่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ก็ไม่สามารถส่งก๊าซมาให้ใช้ได้เช่นกัน เพราะเกิดอุบัติเหตุ สมอเรือทำท่อก๊าซชำรุด เมื่อปลายปี 2555 เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงจะทำให้ประเทศไทยขาดก๊าซธรรมชาติไปราว 1 ใน 4 ของปริมาณการใช้ทั้งประเทศ

 

 

 

พม่าหยุดซ่อมแท่นทุกปี ไม่ใช่ครั้งแรก

 

 

อย่างไรก็ตามการออกมาให้ข่าวครั้งนี้ ถูกจับตาจากสังคมอย่างมาก โดยระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เหตุใดจึงมีการให้ข่าวสร้างความแตกตื่นให้กับสังคมไทยมากขนาดนี้ โดยฟากที่ไม่เห็นด้วยเห็นว่า หากย้อนกลับไปทบทวนสถานการณ์เกี่ยวกับการขาดก๊าซธรรมชาติ ป้อนให้กับโรงไฟฟ้า เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับคนไทย เมื่อหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า การขาดก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเข้าระบบในการผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.นั้น เริ่มมีสัญญานเตือนกันมาเรื่อย ๆ หลังจากปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเพิ่มอัตราขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

 

โดยครั้งนั้นพม่าแจ้งผ่าน ปตท. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อก๊าซโดยตรงว่า จำเป็นจะต้องปิดซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซ ทำให้ไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้กับไทยได้เป็นเวลา 10 วัน ในช่วงสงกรานต์ของ ปี 2551 ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้ไม่มีก๊าซเข้าระบบถึงวันละ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต จากปริมาณที่ใช้วันละกว่า 3,000  ลูกบาศก์ฟุต เช่นกัน ประกอบกับในขณะนั้น แหล่งก๊าซสำคัญๆ อย่าง M9 ที่พม่า, แหล่งก๊าซเจดีเอ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือแหล่งนาทูน่า ในอินโดนีเซีย ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ทำให้โรงไฟฟ้าเปิดใหม่ของกฟผ. 8 แห่งไม่มีก๊าซเข้าระบบ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย ในลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

 

และหลังจากนั้นการแจ้งปิดซ่อมแท่นก๊าซในประเทศพม่า ก็มีอย่างต่อเนื่องในปี 2553-2554 และล่าสุดในปี2555 ไม่นับรวมเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แท่นขุดเจาะก๊าซในพม่าเกิดอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ จนไม่สามารถส่งก๊าซได้ตามกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นอยู่หลายครั้งในตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้งที่ผ่านมา หากตรวจสอบข้อมูลแม้พบว่า จะมีปัญหาบ้าง ทั้งในเรื่องของการเตรียมพลังงานสำรอง หรือการขาดก๊าซในภาคขนส่ง แต่ก็พบว่า มีการประชุมเตรียมการจากหลายหน่วยงานด้านพลังงานไว้ล่วงหน้า จนสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านไปได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ การแก้ไขปัญหาฉุกเฉินได้ถูกเตรียมการไว้เช่นกัน โดยในส่วนของกฟผ. ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ออกมาให้ข้อมูลว่า สำหรับโรงไฟฟ้าที่จะได้รับผลกระทบหากพม่าหยุดส่งก๊าซมาไทย ทั้งหมดเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าพระนครใต้  ที่กฟผ.ได้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตาแทนก๊าซฯ ที่หายไป และในปีนี้ทางกฟผ.จะต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตาเช่นกัน และพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในส่วนอื่น ๆ มาสำรองเท่าที่ทำได้

 

 

กฟผ.คาดการณ์ปีนี้ใช้ไฟทุบสถิติ แต่ยังมีพอใช้

 

 

จากการคาดการณ์ของ กฟผ.คาดว่า การใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วงฤดูร้อนของปี 2556 นี้ จะมีสถิติพุ่งสูงสุดทำสถิติใหม่อยู่ประมาณ 27,000 เมกะวัตต์ หรือสูงขึ้น 5 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับปี 2555 อยู่ที่ระดับ 26,127 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเกิดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่เชื่อมั่นยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการ ในช่วงที่เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์ปกติเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้กฟผ.ยังระบุว่า แม้จะมีการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุดในช่วงฤดูร้อน หรือประมาณเดือนเมษายน 2556 แต่เชื่อว่าไฟฟ้าสำรองของประเทศยังอยู่ในระดับปกติที่ 15-20 เปอร์เซนต์ ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมด เพราะถึงแม้จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบไฟฟ้าของไทยในปี 2556 ก็ตาม แต่จะมีโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก (IPP) ผลิตไฟฟ้าส่งจำหน่ายให้กฟผ. เข้าระบบประมาณ 120-130 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จะมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ไม่เข้ามาแย่งใช้ไฟฟ้าจากบ้านเรือนทั่วไป จึงไม่เกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอย่างแน่นอน

 

ขณะที่ในปี 2557 ไทยจะมีความมั่นคงด้านไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ.เกิดขึ้น 2 โรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ หน่วยที่ 2 และโรงไฟฟ้าวังน้อย หน่วยที่ 4 ซึ่งจะช่วยเสริมกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เพิ่มขึ้น โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้แห่งละ 800 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ไทยมีไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 1,600 เมกะวัตต์ รวมทั้งปลายปี 2558 จะมีโรงไฟฟ้าพระนครเหนือหน่วยที่ 2 ของ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอีก 850 เมกะวัตต์ และของภาคเอกชนรายใหญ่อื่น ๆ อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีสำรองไฟฟ้าถึง 20 เปอร์เซนต์ อยู่ระดับที่มีความมั่นคงไฟฟ้าสูงพอสมควร

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งปีของปี 2556 กฟผ.คาดว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าในปี 2556 นี้ คาดว่าจะทรงตัว ไม่ปรับขึ้นสูง เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ราคาค่าเชื้อเพลิงปรับเพิ่มมากนัก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปตท.เตรียมแอลเอ็นจี ส่งผลิตไฟฟ้า แต่ไม่พอสำหรับรถยนต์

 

 

ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนให้กับกฟผ. กล่าวว่า ปตท.จะเตรียมแผนนำก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ที่ซื้อจากต่างประเทศมาสำรองไว้แล้ว ออกมาใช้ในระบบช่วงฉุกเฉิน แต่ก็นำออกมาใช้ได้ไม่มากนัก เพียง 700 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตก  รวมไปถึงภาคขนส่งที่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพราะการนำแอลเอ็นจีมาใช้ยังมีความยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้กับรถยนต์ เพราะค่าความร้อนที่จะต้องถูกปรับให้มีคุณสมบัติ หรือค่าความร้อนใกล้เคียงกับก๊าซจากพม่า โดยการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ทำให้มีความยุ่งยาก และอาจส่งผลต่อรถยนต์ รวมถึงความเข้าใจของผู้ใช้ด้วย

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งพม่าหยุดการส่งก๊าซเมื่อปี 2555 หลังการเติบโตของการใช้ปริมาณก๊าซธรมชาติใน รถยนต์เพิ่มสูงขึ้นมาก จนกลายเป็นปัญหา ปตท.เคยพยายามขนส่งก๊าซจากภาคตะวันออกมายังพื้นที่ฝั่งตะวันตก เพื่อแก้ไขปัญหาก๊าซฯ ขาด โดยทำการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไป เพื่อปรับค่าความร้อนให้เหมาะสมกับรถยนต์ และยังต้องมีขั้นตอนในการขออนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อขอปรับค่าความร้อนของก๊าซด้วย แต่การดำเนินการครั้งนั้นถูกโจมตีอย่างหนักจากเอ็นจีโอ ที่เห็นว่าการเติมก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์ลงในก๊าซธรรมชาติ หรือเอ็นจีวี ถือเป็นการเอาเปรียบเรื่องการขายเนื้อก๊าซ ที่ขายให้กับประชาชน และยังถือเป็นการสร้างมลภาวะ แทนที่จะเป็นการใช้พลังงานสะอาดตามที่เคยโฆษณา กลายเป็นประเด็นถกเถียงกว้างขวางมาแล้ว ในครั้งนี้ ปตท.ระบุว่า จะยังมีปริมาณก๊าซ ในท่อเพียงพอสำหรับรถยนต์ในพื้นที่ภาคตะวันตก แต่ก็อาจจะมีบางส่วนได้รับผลกระทบบ้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กังขา‘เพ้ง’ตื่นเกินเหตุหรือมีวาระซ่อนเร้น

 

 

หากพิจารณาจากแผนสำรองกรณีฉุกเฉิน พร้อมหามาตรการรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ที่มี การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนประหยัดพลังงาน เพื่อลดความต้องการในช่วงที่เกิดปัญหาในทุกภาค ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ภาคขนส่ง ไปจนถึงภาคครัวเรือน มีการดำเนินการล่วงหน้าเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว

 

ส่วนการจัดหาแหล่งพลังงานในระหว่างที่ขาดก๊าซเข้าระบบ  กฟผ.ใช้วิธีใช้น้ำมันเข้ามาใช้ในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ หรือการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก การออกมาตีปี๊บของ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ครั้งนี้ แม้จะเข้าใจในความห่วงใยเรื่องอนาคตพลังงานของประเทศ แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การให้ข้อมูลครั้งนี้ ดูจะสร้างความตระหนกมากเกินไปหรือไม่ หรือรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีวาระซ่อนเร้นอื่นที่อาศัยเหตุการณ์นี้ จุดประเด็นเกี่ยวกับการหาพลังงานสำรองประเภทใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ในประเทศ

 

 

 

           “สิ่งที่ไทยจะต้องพึงสังวรเรื่องในอนาคต เรายังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมาก และต่อไปอีก 8-9 ปี ข้างหน้าสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็จะหมด และมีคนคิดต่อต้านไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซ ก๊าซสัมปทานก็ไม่ให้ต่อ ทุกคนต้องแข็งใจว่าจะเลือกทางไหน ทางเดินของอนาคตของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะต้องต่อสู้เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องทำ และต้องขยายเพื่อให้ประเทศเติบโต ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจต่อไป”  คำสัมภาษณ์ของนายพงษ์ศักดิ์ ที่ทำให้ข้อสังเกตบางประการนี้ชัดเจนขึ้น แม้จะเป็นการพูดในครั้งแรก ๆ ของการให้ข่าวกับสื่อมวลชน เพราะหลังจากนั้นดูเหมือนว่า จะไม่ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้อีกเลย แต่ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกนำมาปะติดปะต่อ จนกลายเป็นภาพชัด ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างกว้างขวางในขณะนี้

 

 

 

หนุนผุด ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’

 

 

นอกจากการกล่าวถึงภาพกว้างของการเร่งหาพลังงานใหม่ ๆ แล้ว นายพงษ์ศักดิ์ ยังให้สัมภาษณ์ที่ทำให้มองเห็นแนวนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุว่า แม้ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะถูกการต่อต้านเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนเป็นสาเหตุให้ถูกต่อต้านจากองค์กรเอกชนนั้น จะต้องมีการสร้างความเข้าใจใหม่ เพราะถึงแม้ว่าองค์กรเอกชนเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ดี ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ว่าจะส่งผลต่อประชาชนหรือไม่ แต่เอ็นจีโอก็ต้องมีจริยธรรมและคุณธรรมด้วยว่า การต่อต้านต้องอยู่ในกรอบและพิจารณาว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไข หรือมาตรฐานระดับโลกหรือไม่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ควรจะต่อต้านว่ามีก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์ออกมาในปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ มีฝุ่น หรือ ซัลเฟอร์มากน้อยแค่ไหน มีไนโตรเจนมากขนาดไหนที่ออกมาเกิน มีฝุ่นละอองเกินกว่าค่ามาตรฐานหรือไม่ ถ้าทำต่ำกว่ามาตรฐาน เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีที่สะอาดเป็นสีเขียว และเป็นที่ท่องเที่ยว ไม่มีมลภาวะ เหล่านี้เป็นประโยชน์ ถ้าเราสามารถทำผ่านจุดต่าง ๆ เหล่านี้เราต้องยอมรับ แต่บางคนแม้แต่ผ่านจุดมาตรฐานแล้วก็ไม่ยอมรับ ซึ่งอันนี้เป็นการบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจผิด

 

 

        “ผมขอร้องว่า การเป็นเอ็นจีโอต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย ในการต่อสู้ตรงนี้ อย่างเรื่องพลังน้ำ เวลาน้ำท่วมทุกคนหายหมดเลย เพราะน้ำท่วมเกิดความเสียหายอย่างมาก การสร้างเขื่อนก็ไม่ได้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ประเทศต้องปรับเปลี่ยน กระทรวงพลังงานต้องปรับเปลี่ยน ว่าต้องให้การเรียนรู้กับประชาชน ให้เข้าใจเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ดังนั้นจำเป็นต้องทำแคมเปญให้ประชาชนเข้าใจ จัดตั้งหน่วยงานที่อาสาสมัครพลังงานไปเดินอธิบายหรือชี้แจงต่อประชาชน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

 

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าถึงขณะนี้เป้าหมายของการออกมาให้ข่าวแบบตีฟูประเด็นของนายพงษ์ศักดิ์ จะมีจุดประสงค์อะไรแอบแฝง ตามการตั้งข้อสังเกตของสังคมหรือไม่ สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือ รัฐบาลจะมีแนวทางด้านพลังงานที่ยั่งยืนอย่างไร หากไม่เลือกที่จะปลูกจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างประหยัด ที่จริงจัง และต่อเนื่อง คู่ขนานไปกับการจัดเตรียมพลังงานสำรองอย่างยั่งยืน เพราะเป็นที่ยอมรับแน่นอนแล้วอีกไม่นานพลังงานหลักของไทยที่ยังคงเป็นก๊าซธรรมชาติ กำลังจะหมดไป ท่ามกลางการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยในสังคมไทย ย่อมส่งผลต่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน

 

 

ขอบคุณภาพจาก Google.com , PIXVIEW.NET (WATID CHOOSIN)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: