‘ทวาย’โวยอิตาเลียนไทยเบี้ยวค่าชดเชย ไล่พ้นที่ทำกินผุดถนนเข้าท่าเรือ-นิคมฯ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 25 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2274 ครั้ง

ปัญหาผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ จากการดำเนินการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ยังคงเป็นปัญหาหลักที่ไม่ได้เพียงสร้างความเดือดร้อนเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่การดำเนินการที่รัฐบาลไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ยังสร้างผลกระทบไปในทุกที่ที่การพัฒนากำลังจะเข้าไปถึงอีกด้วย ล่าสุดคือโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมของชาวบ้านทวาย ประเทศพม่า

ชาวทวายร้องอิตาเลียนไทยฯ ไม่จ่ายค่าชดเชยที่ดิน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า กลุ่มท้องถิ่นในนาม วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development-CSLD) ร่วมกับ สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association-DDA) ในพื้นที่เมืองทวาย ประเทศพม่า แถลงข่าว เรื่อง “ความไม่เป็นธรรม และความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับค่าชดเชยของ บจม. อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์” ที่สำนักงานของสมาคมพัฒนาทวาย ณ เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่า เรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีการจ่ายเงินชดเชยจากการถูกยึดที่ดินทำกิน เพื่อก่อสร้างถนนรองรับโครงการท่าเรือน้ำลึกในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งจากรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย

การตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกันของหน่วยงานทั้งสอง พร้อมกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เกิดขึ้นหลังจากเกิดความไม่พอใจต่อบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่า ในการพัฒนาพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนหนึ่งของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่เชื่อมโยงระหว่างโครงการกับประเทศไทยที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยชาวบ้านระบุว่า ไม่ได้รับค่าชดเชยที่อิตาเลียนไทยรับปากว่า จะจ่ายให้หลังการประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเสร็จสิ้นแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านจะไม่ยินยอมในข้อตกลงการจ่ายชดเชยต่าง ๆ ที่อิตาเลียนไทยฯดำเนินการ โดยเห็นว่า การจ่ายค่าชดเชยในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบนี้ไม่ได้มีมาตรฐานที่ชัดเจน แต่กลับขึ้นอยู่กับการเจรจาทางวาจาระหว่างอิตาเลียนไทยฯ และชาวบ้านเท่านั้นก็ตาม แต่ตั้งแต่มีการเจรจายอมรับข้อตกลงแล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าต่อการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวแต่อย่างใด

เคยกักรถก่อสร้าง-แล้วปล่อย หลังจากบริษัทสัญญาว่าจะจ่ายแต่เงียบ

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเคยรวมตัวกันปิดถนน และกักรถของอิตาเลียนไทยฯ ไว้เป็นเวลา 3 วัน เพื่อขอให้มีการเจรจา และเรียกร้องให้บริษัทดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้สัญญาไว้ และขอให้รับผิดชอบต่อความเสียหายของทรัพย์สินและที่ดินที่ถูกยึดไปสร้างถนน กระทั่งมีเจ้าหน้าที่ของอิตาเลียนไทยฯ มาร่วมเจรจาว่าจะดำเนินการให้ ทำให้ชาวบ้านยุติการประท้วงดังกล่าว และรอผลตามที่ได้รับแจ้ง แต่อิตาเลียนไทยฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามที่รับปากไว้ จนต้องร่วมกันออกแถลงการณ์อีกครั้ง โดย กลุ่มท้องถิ่นในนามวิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา CSLD ได้ยืนกรานเรียกร้องให้อิตาเลียนไทยฯ ให้คำตอบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความตึงเครียดในพื้นที่ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับอิตาเลียนไทยฯ และหากไม่ได้รับคำตอบภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ชาวบ้านจะสร้างรั้วกั้นถนนและปลูกต้นไม้ในที่ดินเดิมของพวกเขา และจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู รวมถึงรัฐบาลพม่า และรัฐบาลไทยด้วย

ออกแถลงการณ์ระบุ การก่อสร้างทำลายแหล่งรายได้หลักชุมชน

ทั้งนี้คณะกรรมการ วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา CSLD (ชุมชนกามองตวย) ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ความไม่เป็นธรรม และความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับค่าชดเชยของ บจม. อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์” ลงวันที่ 17 กันยายน 2556 มีเนื้อหาระบุว่า กลุ่มท้องถิ่นในนาม วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา (Community Sustainable Livelihood and Development-CSLD) เรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ (ITD) ตอบสนองอย่างทันที เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้กับ 38 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่าง ทิกะดอน (Thitgadon) และมยิตตา (Myitta) ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 และถือเป็นโครงสร้างหลักของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายโดยปราศจากหลักการยินยอมที่ได้รับบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนในพื้นที่หมู่บ้านมยิตตา พินทาเตา และตะบิวชอง ตั้งแต่ปี 2553 และได้ทำลายต้นหมาก ยางพารา และมะม่วงหินมพานต์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน

จ่ายเงินไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส

ที่ดินของชาวบ้านถูกยึดไปอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อการก่อสร้างถนน ซึ่งได้ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านในหลายชุมชน เช่น มยิตตา พินมาเตา กาตองนี ตะบิวของ เยโบค คาเล็ทจี และทิกะดอน มาตั้งแต่ปี 2553 แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ได้ยินยอมพร้อมใจในข้อตกลงเกี่ยวกับค่าชดเชย แต่ทางบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ได้สัญญาว่า จะจ่ายค่าชดเชยนั้นให้หลังจากการประเมินพื้นที่ผลกระทบนั้นเสร็จสิ้น แต่บริษัทก็ไม่ได้รักษาสัญญานั้น

การประชุมเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้นหลายครั้งในปี 2556 และทางบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้จ่ายค่าชดเชย (111) แยกต่างหากให้กับเจ้าของสวนยางพารา อย่างไรก็ตาม บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไม่ได้จ่ายเงินค่าชดเชยที่เหลือให้กับชาวบ้านอีก 38 คน และไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอน ที่กำหนดขึ้นอย่างโปร่งใสสำหรับการจ่ายค่าชดเชยที่เหลือ  เจ้าของสวนบางคนไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ เพราะบริษัทไม่ได้นับต้นไม้ในสวนของพวกเขาที่ถูกทำลายไปโดยการก่อสร้างถนนตั้งแต่ปี 2553

จี้ดำเนินการเร่งด่วนลดความตึงเครียด

ดังนั้น ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากหมู่บ้านตะบิวชองจึงได้เรียกร้องให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ตอบคำถามให้ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการจ่ายค่าชดเชย และเพื่อที่จะเรียกร้องความสนใจจากสาธารณะเกี่ยวกับข้อวิตกกังวลของพวกเขา ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ชาวบ้านจึงได้กักรถยนต์ของ บริษัท อิตาเลียนไทย จำนวน 3 คันไว้ และได้ปล่อยไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556 จนถึงขณะนี้อิตาเลียนไทยฯ ยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับชาวบ้าน

ดังนั้น กลุ่มท้องถิ่นในนาม วิถีชีวิตชุมชนยั่งยืนและการพัฒนา – CSLD จึงขอเรียกร้องให้อิตาเลียนไทยฯ ให้คำตอบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะลดความตึงเครียดระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ในอนาคตพวกเราเชื่อว่า การพัฒนาโครงการไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ หากปราศจากการยินยอมและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

รัฐบาลไทยหนุน แต่ไม่ชัดเจนกับชาวบ้าน

สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นโครงการที่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 บนพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ที่เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของประเทศพม่า อายุสัมปทาน 60 ปี โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค และระบบขนส่งที่เชื่อมโยงมายังประเทศไทย ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้จัดตั้ง บริษัท ทวาย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินงาน แต่ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างและการระดมทุน ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 127,000 ล้านบาท

ปัจจุบันรัฐบาลไทย ได้วางแผนการสนับสนุนโครงการด้วยการจัดตั้ง บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด ในรูปแบบของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ของไทย ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า เพื่อบริหารโครงการ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ 81 เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางจากทวายสู่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวการสนับสนุน และความพยายามในการผลักดันโครงการ ของรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อมาดูแลตามหน้าที่ต่าง ๆ กันไป โดยในประเด็นหนึ่งคือการจัดทำแผนโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศของไทย เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบแผนงานนี้ด้วย ซึ่งได้สร้างความสับสนกับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่เคยรับทราบความชัดเจนใด ๆ ต่อแผนการต่าง ๆ เหล่านั้นเลย ขณะเดียวกัน บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการโยกย้ายหรือการจ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นมาตรฐานให้กับชาวบ้านได้รับทราบ ทั้งจำนวนชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ที่อิตาเลียนไทยฯสำรวจ กลับไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากมีกลุ่มท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งตกสำรวจ ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจว่า จะได้รับการดูแลอย่างจริงใจแค่ไหน

คนทวายเดือดร้อนจนต้องร้องกรรมการสิทธิ์ฯ

ชาวบ้านระบุว่า ตั้งแต่อิตาเลียนไทยฯ เข้ามาปักหลักในพื้นที่ พวกเขาก็เริ่มประสบกับความยากลำบากในการทำมาหากิน และไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติดังเดิม เช่น ไม่สามารถจะปลูกพืชผลตามฤดูกาลได้ ถูกจำกัดพื้นที่เพาะปลูก หรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โครงการว่า ให้ย้ายไปปลูกที่อื่น ถนนของหมู่บ้านถูกรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลา จนสภาพใช้การไม่ได้ โดยเฉพาะในหน้าฝน ส่วนในหน้าแล้งก็เกิดปัญหาฝุ่นคลุ้งตลบไปทั่ว และทางบริษัทมักไม่ใส่ใจที่จะมาปรับปรุงซ่อมแซมให้ชาวบ้าน ในขณะที่แหล่งน้ำของชุมชนก็ถูกทำลายจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้

และวันที่ 5 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการทวาย ประเทศพม่า ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในโครงการนี้ด้วย โดยในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว มีเนื้อหาระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระบุว่า พวกเรา สมาคมพัฒนาทวาย เขียนจดหมายถึงท่านเพื่อหยิบยกข้อกังวลยิ่งในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่กำลังเกิดขึ้นในแคว้นตะนาวศรี พวกเราหวังว่าทางคณะกรรมการสิทธิของประเทศไทยจะมีมาตรการในการส่งเสริมให้เกิดสิทธิมนุษยชนในมาตรฐานสากลต่อโครงการนี้

ในปี 2551 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอเอ กับการท่าเรือพม่า เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งตามข้อตกลงเดิมอิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการ แต่ปัจจุบันภายใต้บันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 โครงการนี้ได้กลายมาเป็นโครงการระหว่างรัฐต่อรัฐ คือ รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า โครงการประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโครเคมี โรงงานถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานอื่น ๆ รวมถึงโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำเพื่อใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และการสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศไทย

ระบุกระทบชาวบ้านจำนวนมาก

โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบต่อวิถี ชีวิตและสิทธิมนุษยชนของประชาชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ใน 3 พื้นที่ คือ 1) พื้นที่ 204.5 ตารางกิโลเมตรของท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในเขตนาบูเล่ ซึ่งห่างจากเมืองทวายไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร มีประชากร 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ใน 21 หมู่บ้าน

2) หมู่บ้านกาโลนท่า ห่างจากเมืองทวายไปทางเหนือ 36 กิโลเมตร ซึ่งมีแผนจะสร้างเขื่อนที่แม่น้ำตะลายยาร์ มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน

3) พื้นที่ก่อสร้างถนนที่มีความยาว 132 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับบ้านพุน้ำร้อนของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 50,000 คน ที่จะถูกผลกระทบ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากบริษัทไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์-ไม่ได้รับสิทธิในการรับรู้ข้อมูล และไม่มีการปรึกษาหารือที่เหมาะสมกับคนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์

ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลในอีไอเอ แต่เดินหน้าโครงการไปแล้ว

โครงการจะส่งผลกระทบต่อทั้งชนพื้นเมืองทวายที่อาศัยอยู่ในเขตนาบูเล่ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ก่อนสมัยพุกาม) และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทย ข้อตกลงและแผนทั้งหมดนี้ได้กระทำกันระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย และรัฐบาลพม่า ซึ่งลงนามกันโดยปราศจากการปรึกษาหารือหรือแจ้งกับคนท้องถิ่นดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ แม้ว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 แต่อิตาเลียนไทยฯ เพิ่งจะว่าจ้างให้บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พื้นที่สร้างเขื่อนที่หมู่บ้านกาโลนท่า และพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทยตามลำดับ ซึ่งการศึกษาเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แก่ชนพื้นเมืองท้องถิ่น ในขณะที่โครงการยังคงดำเนินต่อไป การกระทำเช่นนี้ของอิตาเลียนไทยฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทยไม่ได้เคารพสิทธิของชนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและที่ดินในชุมชนของพวกเขา

การโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ และค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม

ชนพื้นเมืองดั้งเดิมทวายมากกว่า 32,000 คนในเขตนาบูเล่ และอีก 1,000 คนจากหมู่บ้านกาโลนท่า กำลังเผชิญกับการบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่ โดยไม่มีการสำรวจเกี่ยวกับการโยกย้ายอย่างเป็นระบบ และไม่มีการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายเกี่ยวกับความต้องการของประชาชน พื้นที่รองรับการโยกย้ายถูกสร้างขึ้นโดยที่ชาวบ้านไม่ได้เห็นชอบด้วยซ้ำร้ายคือ บ้านในพื้นที่รองรับถูกสร้างขึ้นอย่างคุณภาพต่ำ และมักจะทลายลงเมื่อถูกลมพัดที่หมู่บ้านกาโลนท่า บริษัท อิตาเลียนไทย และรัฐบาล กำลังพยายามจะสร้างเขื่อนเก็บน้ำที่แม่น้ำตะลายยาร์ ใกล้กับหมู่บ้าน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะทำให้พื้นที่สวน 3,000 เอเคอร์ ที่ชาวบ้านกาโลนท่าทั้งหมดพึ่งพา ต้องจมน้ำและถูกทำลาย ชาวบ้านกำลังเรียกร้องว่าพวกเขาจะไม่ย้าย เพราะพวกเขาไม่ต้องการสูญเสียป่าไม้และที่ดินที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ทางบริษัทกลับกดดันชาวบ้านด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออกไป การผลักดันให้มีการโยกย้ายโดยไม่สมัครใจนั้น ยังถือเป็นการไม่เคารพสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจของชาวท้องถิ่น และยังคุกคามวิถีชีวิตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในพื้นที่นาบูเล่

จากรายงานวิจัยเรื่อง “Local People Understandingof Dawei Special Economic Zone” ระบุว่า 86 เปอร์เซนต์ ของชาวบ้านในพื้นที่นาบูเล่ ที่จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น พึ่งพาที่ดินและการเกษตร อย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับการโยกย้ายที่บาไว ทาวา และวาซุนถ่อ ที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลและเทือกเขาตะนาวศรีนั้นคับแคบเกินกว่าจะทำการเพาะปลูกใด ๆ ได้ หากชาวบ้านจากนาบูเล่ถูกบังคับให้โยกย้ายไปอยู่เมื่อการก่อสร้างบ้านรองรับเสร็จสิ้น พวกเขาจะไม่มีที่ที่ทำการเพาะปลูกอาหารและทำการเกษตร

การจ่ายค่าชดเชยในหลายกรณีเกิดความไม่เป็นธรรม และไม่เท่าเทียม และที่ดินต่าง ๆ ถูกยึดไปเพื่อสร้างสำนักงานของบริษัท และสร้างถนนสำหรับการสัญจรเพื่อเข้าถึงพื้นที่ก่อสร้าง แม้ว่าโครงการจะดำเนินการโดยบริษัทเดียว แต่เกิดความแตกต่างในการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่และอำนาจของผู้ที่อาศัยในพื้นที่นั้น ซึ่งเกิดการเลือกปฎิบัติอย่างรุนแรงในการจ่ายค่าชดเชยของอิตาเลียนไทยฯ เช่น ในบางพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ชาวบ้านมีสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับค่าชดเชย ในขณะที่บางพื้นที่ โดยเฉพาะที่นาบูเล่ ชาวบ้านกลับถูกคุกคามและได้รับค่าชดเชยน้อยกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลยังพยายามที่จะเข้ามามีอิทธิพลในกระบวนการจ่ายค่าชดเชยด้วย สิ่งที่ร้ายที่สุดคือ บริษัทไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย และสิ่งนี้ได้นำไปสู่การคอรัปชั่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และบรรดานายหน้าค้าที่ดินทั้งหลาย

หวังว่าไทยจะเคารพสิทธิมนุษยชนกับคนทุกเชื้อชาติ

พวกเราเชื่อว่าประเทศไทย ในฐานะที่ลงนามในปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน จะยืนหยัดอยู่ในหลักการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่เฉพาะต่อบุคคลและพลเมืองในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นพวกเราชาวบ้านจากทวายและตะนาวศรี หวังว่าทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยสามารถที่จะเข้ามาสืบสวนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนและการละเมิดที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายที่ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย และรัฐบาลไทย เพื่อนำไปสู่การเคารพในสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเหล่านี้

ทั้งนีเสมาคมพัฒนาทวายระบุว่า โครงการทวายจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวทวายกว่า 83,000 คน ในบริเวณ 3 พื้นที่ คือ

(1) พื้นที่ 204.5 ตร.กม. ของการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายในเขตนาบูเล่ ซึ่งมีประชากร 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ใน 21 หมู่บ้าน ที่จะต้องถูกอพยพ

(2) หมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งมีแผนก่อสร้างเขื่อนที่แม่น้ำตะลายยาร์ มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน ที่จะต้องถูกอพยพ

(3) พื้นที่ก่อสร้างถนนระยะทาง 132 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับบ้านพุน้ำร้อนของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 50,000 คนที่จะได้รับผลกระทบ

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: