‘กรรณิการ์ กิจติเวชกุล’  ไทยบนเหรียญอีกด้านของโลกาภิวัตน์

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 25 มิ.ย. 2556


 

 

โลกาภิวัตน์ย่อโลกให้กลายเป็นหมู่บ้าน เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน จากเรื่องราวเล็ก ๆ ที่ส่งผลผระทบเป็นวงกว้างและเบื้องหลังที่เราไม่เคยฉุกคิด ศูนย์ข่าว TCIJ พูดคุยกับกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ นักวิจัยด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา นักจัดรายการวิทยุ เช้าทันโลก ที่คลื่นเอฟเอ็ม 96.5 และนักเขียน งานเขียนเล่มล่าสุดของเธอ Global Report เป็นการรวบรวมรายงานพิเศษที่มีต้นเรื่องอยู่นอกประเทศไทย และมีผู้คนตัวเล็กๆ ทั่วโลกที่ถูกแรงบีบจากโลกาภิวัตน์เป็นแกน

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: ทำไมจึงต้องสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านหรือเหตุการณ์ในอีกซีกโลก

 

กรรณิการ์: ตอนอยู่ a day weekly บก.อธิคม คุณวุฒิ ให้โจทย์มาว่า อยากได้รายงานต่างประเทศที่มีความสำคัญ แต่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยให้ความสนใจ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วข่าวต่างประเทศ จะพบว่า มีความสนใจอยู่ไม่กี่เรื่อง ความขัดแย้งในตะวันออกกลางหรือเรื่องเศรษฐกิจ แต่จะไม่รู้ว่าผู้คนที่นั่นเป็นอย่างไร ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร นโยบายการลงทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีผลอะไรกับเขาหรือไม่ โลกภิวัฒน์ทำให้ทุกคนเจริญหมดเลยหรือเปล่า ผลประโยชน์ที่ได้รับเท่าเทียมกันหรือเปล่า เมื่อมีคำถามแบบนี้เกิดขึ้น จาก บก.อธิคมจึงเริ่มสนใจ

 

ประกอบกับช่วงนั้นได้ไปเวทีสังคมโลกที่มุมไบ ประเทศอินเดีย มี 2 เรื่องที่สามารถเขียนได้เลยคือ เรื่องน้ำดำ เพราะตอนไปมุมไบมีการประท้วงของคนอินเดียในหลายที่ของการประชุม มีการเดินรณรงค์เพื่อบอกกับที่ประชุมว่า มีโรงงานน้ำดำไปตั้งในพื้นที่และเกิดการแย่งชิงน้ำ เวลาเราดื่มน้ำอัดลมหนึ่งขวดเราไม่รู้ว่าที่มาเป็นอย่างไร เรารู้ว่ามีน้ำตาลสูงหรืออาจจะมีสารบางอย่างที่ไม่ดีต่อร่างกาย เราสามารถตั้งข้อสังเกตได้ แต่เราไม่รู้ว่ามีการแย่งชิงน้ำระหว่างโรงงานผลิตน้ำดำกับเกษตรหรือชุมชน เมื่อศึกษาเพิ่มเติมจึงพบว่า นอกจากการแย่งชิงน้ำแล้วยังมีเรื่องของการตลาด การแทรกแซงนโยบายรัฐ เวลาที่รัฐจะเข้าไปรณรงค์ว่า น้ำดำมีน้ำตาลสูงมากและอาจมีสารบางอย่างที่เป็นอันตรายกับร่างกาย พบว่าจะมีกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) ที่รับเงินจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพื่อเข้าไปแก้ไขหรือทอนกฎ ระเบียบ ให้ความเข้มข้นในการตรวจสอบน้อยลง

 

เราต้องการนำเสนอให้คนรู้สึกว่า เรื่องใกล้ตัวที่น่าสนใจ บางครั้งเริ่มจากจุดเล็ก ๆ มันเชื่อมโยงไปได้อีกหลายเรื่องราวมาก และยังต้องการการเปลี่ยนแปลง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: คนที่ตกเป็นหยื่อ คนที่ไดรับผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์เท่าที่คุณศึกษามา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่า

 

กรรณิการ์: โลกาภิวัตน์ที่ผลักดันโดยลัทธิเสรีนิยมใหม่ มี 3 ประการ คือ หนึ่ง-การแปรรูป สอง-การลดกฎระเบียบ และสาม-การเปิดเสรี แน่นอนว่าคนระดับล่างจะรู้สึกว่าโลกาภิวัตน์ทำให้มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น แต่คนระดับบนจะยิ่งมีเงินเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนจึงยิ่งห่างจากกันมากขึ้น

 

ถ้าดูคลิป Story of Stuff  ของ Annie Leonard มีคำถามว่า เวลาคิดถึงรัฐบาลคุณคิดถึงอะไร จะเห็นเลยว่า เดิมรัฐบาลต้องมาจากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ทุนหรือนักธุรกิจเป็นอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมที่รัฐต้องดูแล แต่ว่าเมื่อกลุ่มทุนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดหน้าที่ของรัฐคือการไปเช็ดรองเท้าให้กับกลุ่มทุน โดยไม่ได้สนใจประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อกลุ่มทุนคิดแต่เพียงว่าจะหาทรัพยากรได้จากที่ไหน แล้วเมื่อคนอยู่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากร กลุ่มทุนจึงต้องเขี่ยคนที่อยู่ในบริเวณนั้นออกไปเป็นลำดับแรก ฉะนั้นคนที่ได้รับผลกระทบก่อนคือคนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง คนจน คนที่จะถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกรีดแรงงาน เป็นต้น นี้คือ เหยื่อของโลกาภิวัฒน์

 

โลกาภิวัตน์มองว่า ถ้าทุนสามารถเดินหน้าได้ เงินจะไหลลงมา กลุ่มชนชั้นล่างจะได้ประโยชน์ แต่จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ งานของดิฉันตอบหลายเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ และยังส่งผลให้กลุ่มชนชั้นล่างลำบากมากขึ้นด้วย

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: มุมมองของคุณเป็นการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ต่อต้านกระแสทุนนิยมมากไปหรือเปล่า

 

กรรณิการ์: ไม่ใช่ค่ะ แต่กำลังจะบอกว่า อย่ามองอะไรเพียงด้านเดียว ยังมีอีกหลายด้านที่คุณยังไม่รู้ ถ้าคุณได้อ่าน คุณจะเข้าใจว่าคุณอยู่ตรงไหนของมัน บางทีคุณไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตรงนั้น แต่คุณสามารถสัมผัสได้จากเรื่องราวที่เราไปเก็บมาบอกมาเล่าให้คุณฟัง

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: เมื่อรู้ว่า โลกาภิวัตน์ ทุนนิยมได้แผ่อิทธิพลไปทั้วทั้งโลก ในสังคมไทย โลกาภิวัตน์และทุนนิยมมีอิทธิพลหรือเป็นผลกระทบกับชีวิตคนไทยอย่างไรบ้าง ช่วยยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหม

 

กรรณิการ์: เรื่องหนึ่งที่จะอยากหยิบยกขึ้นมา ตอนปี 2008 (พ.ศ. 2552) เกิดวิกฤตอาหาร ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ข้าวสารบรรจุถุงหมด คนแย่งกันซื้อ แต่สามารถซื้อข้าวได้คนละถุงหรือสองถุงเท่านั้น ทั้งที่ไม่ใช่เหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้ย้อนกลับมามองว่า ประเทศไทยเป็นเมืองที่ปลูกข้าว เหตุใดจึงเกิดภาวะการแย่งซื้อข้าวสาร ตอนนั้นมีคำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์หรือรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศว่า คนจีนกับคนอินเดียรวยขึ้น จึงบริโภคอาหารและเนื้อสัตว์มากขึ้น อีกด้านหนึ่งบอกว่า พืชอาหารถูกนำไปเป็นพืชพลังงานมากขึ้น

 

ถึงแม้ว่าคนจีน คนอินเดียจะบริโภคอาหารมากขึ้น แต่การผลิตเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อลองค้นข้อมูลพบว่า มีการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตร จากเดิมที่นักลงทุนเล่นกับกระดาษ เล่นหุ้นหรือตราสารหนี้ แล้วพบว่าไม่ทำกำไร ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลง เกิดปัญหาวิกฤตต่าง ๆ นักลงทุนต้องการลงทุนกับอะไรที่ได้กลับคืนมามาก ๆ มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ลานินญา เกิดความแห้งแล้ง นักลงทุนคาดการณ์ว่า ผลผลิตจะน้อยลง นักลงทุนจึงมีการซื้อสินค้ากักตุนเพื่อเก็งกำไร เมื่อความต้องการมากขึ้น ราคาจะเพิ่มสูงขึ้น นี่ไม่ใช่การลงทุนเพื่อซื้อไปบริโภคและไม่ใช่นักลงทุนรายบุคคล แต่เป็นนักลงทุนพวกเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund กองทุนเก็งกำไรประเภทหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายในการบริหารเพื่อให้ได้ ผลตอบแทนหรือกำไรให้มากที่สุด โดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและซับซ้อน)

 

มีคำบอกเล่าว่า การซื้อล่วงหน้าในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด สามารถนำมาทำขนมปัง หรือเส้นพาสต้าให้คนอเมริกันในประเทศกินได้ 2 ปีติดต่อกัน เราสนใจแค่ว่าปีนั้นข้าวถุงแพง แต่เราไม่รู้ระบบของมันเลย นี้คือผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เพราะมีความพยายามลดระเบียบ รัฐไม่สามารถควบคุมได้ ระบบตรวจสอบไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีหน่วยงานงานใดสามารถเข้าไปตรวจสอบกับกิจการเหล่านี้ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงาน FTA Watch (กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน) ล่าสุด ประเทศไทยกำลังเจรจาเอฟทีเอหรือเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA)กับสหภาพยุโรปหรืออียู (Europe Union: EU) มีอะไรที่สังคมไทยต้องจับตาดูบ้าง

 

กรรณิการ์: มี 4 เรื่อง หนึ่ง-เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ไม่ว่าจะเป็นการยืดอายุสิทธิบัตร การทำลายการแข่งขันของอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ รวมถึงความพยายามที่จะทำลายยาชื่อสามัญด้วยความพยายามที่จะบอกว่า น่าจะปลอม น่าจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เราก็ไปดักจับเขาเอาไว้ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายไทยและโลกมีอยู่ เช่น โดยสามารถกล่าวหาเขาได้ข้างเดียวโดยไม่ต้องมีหลักฐานเพียงพอ ไม่ต้องรับฟังบุคคคลที่สาม และสามารถจะยึดเขาได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นคนผลิต วัตถุ คนส่ง แค่เพียงว่าต้องสงสัยในสิ่งที่บางครั้งดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ การตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตอนนี้ เขาสามารถจับลิขสิทธิ์กับเครื่องหมายการค้าซึ่งสามารถแยกด้วยตาเปล่าได้ แต่เขาจะไม่จับสิทธิบัตร ถ้าคุณกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตร เพราะสิทธิบัตรโมเลกุลต่างกันแยกด้วยตาเปล่าไม่ได้ ขึ้นศาลต้องใช้เวลา 4-5 ปี และเวลากล่าวหากัน บางข้อกล่าวหาก็เกินเลย ยกตัวอย่าง คดีในประเทศไทย ที่บริษัทยาชื่อสามัญถูกบริษัทยายักษ์ใหญ่กล่าวหา 70-80 เปอร์เซนต์  ถูกยกฟ้องทั้งหมด แต่ว่าตอนนี้บอกให้ยึดไว้ได้เลย ทั้งที่ดูด้วยตาเปล่าไม่ได้เลย

 

สอง-เรื่องสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต มีความพยายามจะขยายความคุ้มครองพันธุ์พืชโดยสิทธิบัตร ปัจจุบันการนำพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอไปปลูก จะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรไป 1 รอบ แต่รุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ที่นำไปปลูกก็ยังต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร มีการเปรียบเทียบว่า แต่เดิมปลูกมะม่วงพันธุ์ที่คุ้มครอง เมื่อออกผลเป็นลูกมะม่วงจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร ถ้านำไปทำมะม่วงกวนยังต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร

 

สาม-การคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถฟ้องร้องในกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน เดิมวิธีการฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการ เป็นเรื่องที่ฟ้องร้องกันระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่กำลังจะนำมาใช้กับรัฐ คือคุณมีสิทธิฟ้องรัฐชาตินั้นต่ออนุญาโตตุลาการ ตอนนี้ถูกเรียกว่า อุตสาหกรรมอนุญาโตตุลาการไปแล้ว ตัวอย่าง รัฐบาลออสเตรเลียออกกฎให้ทำซองบุหรี่แบบเดียวกันเพื่อควบคุมนักสูบบุหรี่และไม่เพิ่มนักสูบหน้าใหม่ บริษัท ฟิลลิป มอรริส ไม่พอใจนโยบายนี้จึงฟ้องศาลออสเตรเลีย ปรากฏว่าแพ้ ศาลบอกรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน ปรากฎว่าฟิลลิป มอร์ริสไปฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการ ถ้าฟิลลิปมอร์ริสชนะ เขาจะได้ 2 อย่าง คือล้มนโยบายนี้ไปเลยและเรียกค่าเสียหายจากรัฐบบาลออสเตรเลีย ซึ่งก็มาจากภาษีของประชาชน นี้คือคดีที่ยังไม่จบ

 

อีกเรื่องคือสินค้าที่มีความอ่อนไหว เรื่องเหล้า แอลกอฮอล์ ประเทศเรายังมีช่องว่างอีกมากที่จะบริโภคได้ เพราฉะนั้นเขาก็จะเข้ามาเพื่อขอลดภาษี แต่สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เราควรจะเจรจาแบบสินค้าปกติหรือไม่ ทางเรามองว่ามันไม่ควร

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: เวลาพูดถึงทุนนิยม จะมีกลไกบางอย่างที่ควบคุม เช่น กลไกตลาดที่คอยควบคุมราคาให้เกิดสมดุล  แต่คุณพูดเหมือนมันไม่มีกลไกอะไรที่จะปกป้องคนยากคนจนเลย

 

กรรณิการ์: ไม่มีค่ะ จริงๆ รากฐานของทุนนิยมที่อดัม สมิธ (บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์) บอกว่าทุนนิยมต้องควบคุมโดยชุมชน ตลาดมันไม่สามารถเดินหน้าไปได้ ตลาดเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อชุมชนเข้าไปจัดการ ดูแลหรือว่าใช้มัน แต่จะพบว่าสิ่งที่เสรีนิยมใหม่ทำคือ หนึ่ง-การลดกฎระเบียบต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการจัดการ สอง-ให้มีการจัดการแบบที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นจะมีล็อบบี้ยีสต่างๆ เข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ รัฐบาล ตอนนี้เริ่มมีการซื้อนักวิชาการหรือทำให้เหมือนองค์กรวิชาการ เพื่อที่จะบอกรัฐบาลว่า ทำแบบนี้สิ แบบนั้นสิ

 

อย่างในอเมริกา วานิชธนกิจหรือบรรดาธนาคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทำเลวไว้เยอะมาก แทนที่รัฐบาลจะจัดการกับคนพวกนี้ โอบามากลับบอกว่า too big to jail คือใหญ่เกินกว่าจะเอาเข้าคุก หรือว่าใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม เพราะว่าเศรษฐกิจอื่นๆ จะล้มตามไปด้วย คุณจะเห็นว่าเขายอมให้คนจนส่วนใหญ่ถูกไล่ออกจากบ้าน ยอมให้มีการรัดเข็มขัด อย่างที่เห็นในหลายๆ ประเทศในยูโรโซน ยอมให้คนไม่มีงานทำ ไม่มีการจ้างงาน ตัดระบบสวัสดิการต่างๆ ออกไปเยอะมาก เอาข้าราชการออกเพื่อที่จะเอาเงินไปอุ้มแบงค์

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: การเอาเปรียบในอีกซีกโลกหนึ่งคนไทยจะทำอะไรได้เพื่อช่วยคนอีกซีกโลกหนึ่งได้บ้าง

 

กรรณิการ์: ตอนไป Social Forum ที่มุมไบ มีนักกิจกรรมสังคมพูดว่า คุณไม่มีทางเอาชนะทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ จนกว่ามันจะทำลายทุกจุดของสังคมแล้ว เมื่อถึงตอนนั้นเขาจะสำนึก ฟังดูแย่ แต่นักกิจกรรมสังคม บอกต่อว่าไม่เป็นไร โลกาภิวัตน์ไม่ได้ไปทำลายทุกจุดในคราวเดียว  บางที่เกิดขึ้นแล้ว แต่บางที่ยังไม่เกิด เราสามารถเรียนรู้จากที่ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว หมายความว่าเรามีสิทธิที่จะเรียนรู้และนำบทเรียนหรือผลกระทบมาผลักดันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม เหมือนกับสิ่งที่ภาคประชาสังคมไทยกำลังทำอยู่ สามารถออกมาบอกได้ว่าการเจรจา ถ้าออกมาหน้าตาแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น นี้คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ด้วยกัน  เราเห็นชะตากรรมของผู้คน ถ้าเราไม่อยากเห็นชะตากรรมแบบนั้น เราจะหาวิธีป้องกันได้อย่างไร

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: เท่าที่ติดตามมา เฝ้าดูนโยบายทางการเมือง เฝ้าดูสังคม เราเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน เราเรียนรู้และเตรียมตัวรับมือมากน้อยแค่ไหน

 

กรรณิการ์: เราเรียนรู้น้อยมาก เรื่องพวกนี้ยังเป็นแค่ซอกลืบเล็กๆ ในความรับรู้ของสังคมไทย แต่เราก็อยากให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น ณ ตอนนี้ข้อมูลหาได้ไม่ยาก เพียงแต่จะต้องข้ามผ่านอคติหรือที่เรียกว่า Mind Set ของผู้กำหนดนโยบายที่เชื่อว่า เสรีนิยมใหม่ถูกที่สุด การแปรรูปถูกที่สุด ความเชื่อที่เขาถืออยู่กระแสหลักมาก จนเขาไม่เชื่อว่าถ้าเขาออกมาเดินหนทางที่มันต่างออกไป เขาจะสามารถทำให้เศรษฐกิจเจริญได้ เดินต่อไปได้ ไม่มีใครเชื่อทั้งที่ก็มีคนทดสอบแล้ว ทำแล้ว และสามารถทำได้สำเร็จ เรื่องแบบนี้เราคงต้องพูดกันมากขึ้น

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: ถ้าโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมกำลังขับเคลื่อนด้วยอัตราความเร็วที่เป็นอยู่ คุณมองว่า อนาคตข้างหน้ามันจะนำพาโลก นำพาคนไทยไปสู่อะไร

 

กรรณิการ์: สังเกตว่าตอนนี้คนรวยก็รวยมาก ขณะที่คนจนก็ยังมี และเริ่มต่างกันมากขึ้น ถามว่าเขาอยู่กันคนละโลก คนละสังคมหรือเปล่า คำตอบคือไม่ เขาก็อยู่ในโลก ในสังคมเดียวกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นคืออาชญกรรม เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ที่ที่เป็นพื้นที่จำลองที่จะบอกเรื่องราวเหล่านี้ได้คือประเทศแอฟฟริกาใต้ มีทั้งคนขาวคนดำที่รวยมากและคนขาวคนดำที่จนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรวยต้องระวังตัวมาก จะเห็นว่าบ้านคนรวยจะมีรั้วสูงและหนามากเลย บนรั้วยังมีเหล็กแหลมและมีไฟวิ่งตลอดเวลา ประตูเข้าออกมีเพียงทางเดียวและต้องมีการตรวจหลายชั้นมาก คนรวยต้องอยู่อย่างหวาดผวา

 

ในปีที่มีการประชุม Earth Summit สถานี BBC ทำสารคดีชึ้นหนึ่งโดยไปถามเด็กทั่วโลกเลย เขาสัมภาษณ์เด็กที่มีอายุ 10ขวบ ทั้งเด็กผิวขาวและเด็กผิวดำในโจฮันเนสเบิกว่าอยากได้อะไร เด็กดำตอบว่า อยากได้การศึกษาเพราะรู้ว่าการศึกษาทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร ขณะที่เด็กผิวขาวตอบว่าอยากได้กฎหมายที่อนุญาตให้ถือปืนได้ 2 กระบอก เพราะตอนนี้อนุญาตให้ถือปืนได้แค่กระบอกเดียวเท่านั้น แต่เราไม่สามารถฆ่าคนจนให้ตายหรือหมดไปจากโลกนี้ได้เพื่อที่เราจะรู้สึกปลอดภัยหรือสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนรวยได้

 

ศูนย์ข่าว TCIJ: แล้วมีความหวังหรือเปล่า

 

กรรณิการ์: อย่าบอกว่ามีหวัง แต่พยายามบอกตัวเองว่าอย่าท้อ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: