ดูคำตอบ‘นปช.-กปปส.’มาชุมนุมทำไม ประชาธิปไตยในฝันหน้าตาเป็นอย่างไร

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 24 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3267 ครั้ง

มูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) สำรวจความคิดเห็นถึงความตึงเครียดทางการเมืองที่ประทุขึ้นในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่า สิ่งที่เป็นเชื้อให้ความตึงเครียดประทุขึ้น เกิดจากแนวคิดในการปฏิรูปกฏหมายที่ผลักดันโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย เรื่องแรกคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ที่จะเป็นการปูทางให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทย เรื่องที่สองคือ ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ที่จากเดิมเป็นการผสมผสานระหว่าง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งและจากการสรรหา มาเป็นให้ส.ว.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งข้อเสนอนี้ก็ถูกตีตกไปโดยศาลรัฐธรรมนูญ

หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลปฏิเสธไม่ยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา และนำมวลมหาประชาชนออกมาประท้วงภายใต้ชื่อ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. โดยได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณให้หมดไปจากประเทศไทย และ ไม่ต้องการให้ตระกูลชินวัตรเล่นการเมืองอีกต่อไป และขับไล่รัฐบาลนี้ออกไป อันนำไปสู่การรวมตัวกันของมวลชนคนเสื้อแดงที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน อย่างสงบเป็นเวลาหลายวันก่อนแยกย้ายกันไป

จากการสำรวจมวลชนที่มาชุมนุมทั้งสองฝ่ายแบ่งเป็น ฝ่าย กปปส. โดยในตารางระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า e People’s Democratic Reform Committee หรือ PDRC ใช้สัญลักษณ์สีดำ จำนวน 250 คน และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.โดยตารางจะระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า United Front of Democracy Against Dictatorship หรือ UDD ใช้สัญลักษณ์สีแดง จำนวน 250 คน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา พบว่า

จำนวนประชากร : จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้มาชุมนุมทั้งสองกลุ่มนั้นใกล้เคียงกัน โดยอายุเฉลี่ยของผู้มาชุมนุมกลุ่ม นปช. อยู่ที่ 46 ปี ส่วนด้าน กปปส. อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 43 ปี และร้อยละ 12 ของกลุ่มตัวอย่าง อายุ 25 ปี หรือต่ำกว่านั้น เห็นได้ว่าร้อยละ 77 ของกลุ่มนปช. และร้อยละ 68 ของกปปส. มีอายุ มากกว่า 35 ปี ขึ้นไป โดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของผู้มาชุมนุมทั้งสองกลุ่มอยู่ที่ 46-55 ปี

เพศ : เพศของผู้มาชุมนุมทั้งสองกลุ่มเฉลี่ยแล้ว จำนวนผู้มาชุมนุมทั้งเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกันนัก

ระดับการศึกษาสูงสุด พบว่า ทั้งสองกลุ่มผู้ชุมนุมมีระดับการศึกษาดีกว่าเกณท์ระดับการศึกษาแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจโดยมูลนิธิเอเชีย (The  Asia Foundation) เมื่อปี 2552 (2009) โดยร้อยละ 68 ของกปปส. มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้น ขณะที่กลุ่มนปช.มีเพียงร้อยละ 27

สถานภาพสมรส : กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่ยังไม่แต่งงานร้อยละ 39 ส่วนนปช.ร้อยละ 26 และเป็นผู้มาชุมนุมที่มีบุตรแล้ว กปปส.ร้อยละ 52 กลุ่มนปช.ร้อยละ 67

ที่อยู่อาศัยตามภูมิศาสตร์ : แม้การชุมนุมเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แต่จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 57 ของกลุ่มกปปส. เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขณะที่กลุ่มนปช.มีเพียงร้อยละ 32 ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทมหานคร ในทางกลับกันร้อยละ 68 ของกลุ่มนปช.มาจากต่างจังหวัด ส่วนกลุ่มกปปส.มาจากต่างจังหวัดร้อยละ 44

ที่อยู่อาศัยตามภูมิภาค : ในจำนวนผู้มาชุมนุมที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดร้อยละ 48 ของกลุ่มนปช. มาจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 42 มาจากภาคกลาง ขณะที่กลุ่มกปปส.ร้อยละ 45 มาจากภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ส่วนอีกร้อยละ 42 มาจากภาคกลาง ซึ่งสอดคล้องกับฐานเสียงของพรรคการเมืองที่แต่ละกลุ่มให้การสนับสนุน ซึ่งแน่นอนร้อยละ 80 ของกลุ่มนปช. มาจากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ร้อยละ 75 ของกลุ่มกปปส.จะมาจากภาคใต้ ตะวันออก และตะวันตก

สถานภาพทางด้านหน้าที่การงาน : ผู้มาชุมนุมกลุ่มนปช.มีจำนวนผู้มาชุมนุมที่เป็นคนทำงานแล้ว ร้อยละ 75 ส่วนกลุ่มกปปส.ผู้ชุมนุมที่ทำงานแล้ว ร้อยละ 78 ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่แตกต่างกัน

กลุ่มนปช. ประกอบอาชีพ ค้าขาย ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร ส่วนด้าน ผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส. ประกอบอาชีพ ข้าราชการ นักธุรกิจ และลูกจ้างทั่วไป

รายได้ครัวเรือน : ความแตกต่างของรายได้ในกลุ่มผู้ชุมนุม เกือบ 1 ใน 3 หรือ คิดเป็นร้อยละ 32 ของกลุ่มกปปส. มีรายได้ต่อเดือนเกิน 60,000 บาท และที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ร้อยละ 10 ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนปช. ที่มีรายได้เดือนละเกิน 60,000 บาท ร้อยละ 4 ขณะที่ร้อยละ 56 ของกลุ่มนปช.มีรายได้เดือนละน้อยกว่า 30,000 บาท ขณะที่ร้อยละ 42 มีรายได้เดือนละต่ำกว่า 20,000 บาท

การจัดการการชุมนุม : แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุม

คำถาม : รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางมาชุมนุมนี้จากแหล่งใด

คำตอบที่ได้พบว่า ทั้งสองกลุ่มรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลคล้าย ๆ กัน คือจากรายการของช่องโทรทัศน์ทางการเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีคำตอบอื่น ๆ อีก เช่น จากเพื่อน วิทยุ เป็นต้น

มาร่วมชุมนุมคนเดียว หรือมาเป็นกลุ่ม

คำถาม : มาชุมนุมคนเดียวหรือมาเป็นกลุ่ม หรือมาพร้อมกับกลุ่มจัดตั้งในพื้นที่ของคุณ

พบว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส.ที่มาคนเดียวร้อยละ 20 ขณะที่นปช.มีเพียงร้อยละ 9

ด้านผู้ชุมนุมที่เป็นกลุ่มที่มาพร้อมกับกลุ่มจัดตั้ง กลุ่มนปช.มีจำนวน ร้อยละ 36 กลุ่มกปปส. มีจำนวนร้อยละ 12

กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ที่สุด คือกลุ่มที่ระบุว่ามากับเพื่อน เป็นกลุ่มนปช.ร้อยละ 54 และกลุ่มกปปส.ร้อยละ 64

การสนับสนุนด้านการเงิน

คำถาม : คุณจ่ายเงินค่าสมาชิก หรือ ค่าธรรมเนียม หรือ ให้โดยสมัครใจ เข้าทุนกองกลาง เพื่อใช้เป็นทุนในการมาชุมนุมในครั้งนี้หรือไม่?

คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้จากทั้งสองกลุ่มคือ ไม่ได้มีการสนับสนุนด้านการเงินใด ๆ โดยกลุ่มนปช.ตอบว่า ไม่ ร้อยละ 62 ส่วนกลุ่มกปปส.ตอบว่าไม่ร้อยละ 60

การเดินทางมาร่วมชุมนุม

คำถาม : ทางผู้จัดการชุมนุมได้จัดเตรียมพาหนะสำหรับเดินทางมาชุมนุมให้หรือคุณเดินทางมาด้วยตนเอง

มากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มนปช. คิดเป็นร้อยละ 35 ตอบว่า เดินทางโดยได้มีการจัดเตรียมรถโดยสารไว้ให้ ส่วนร้อยละ 96 ของกลุ่มกปปส.ตอบว่าเดินทางมาด้วยตนเอง

แหล่งข้อมูลกิจกรรมทางการเมืองภายในประเทศ

เราจะสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของประเทศไทยได้อย่างไร

ผู้ชุมนุมฝ่าย กปปส. จะใช้หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ท social media หรือ smart phone  ในการรับข้อมูลข่าวสาร มากกว่าผู้ชุมชุมกลุ่มนปช. ในขณะที่กลุ่มนปช. ใช้โทรทัศน์และวิทยุเป็นสื่อหลักมากกว่ากลุ่ม กปปส. 

การใช้เทคโนโลยีในการจัดการการเดินขบวน

จากการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 2 กลุ่ม ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อหลัก ในการจัดการเดินขบวน โดยกลุ่มกปปส. ใช้ smart  phone มากถึงร้อยละ 42 ขณะที่กลุ่มนปช.ใช้ร้อยละ 7 ขณะที่กลุ่มนปช.ใช้โทรทัศน์เป็นแหล่งข้อมูลหลัก ร้อยละ 25 ที่จะสามารถการขับเคลื่อนการเดินขบวนได้อย่างฉับไว ส่วนกลุ่มกปปส.ใช้เพียงร้อยละ 5

แรงจูงใจในการเข้าร่วมชุมนุม

คำถาม: อะไรเป็นสาเหตุให้มาร่วมเดินขบวนในวันนี้

แรงจูงใจในการมาร่วมเดินขบวนของทั้งสองกลุ่มนั้นแตกต่างกัน โดยเกือบร้อยละ 80 ของกลุ่มนปช. แบ่งเป็น ร้อยละ 39 ตอบว่า มาเพราะต้องการมาปกป้องรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง อีกร้อยละ 38 มาเพื่อปกป้องประชาธิปไตย และร้อยละ 4 ตอบว่า มาเพื่อสนับสนุน อดีตนายกฯทักษิณกลับมา และปกป้องครอบครัวตระกูลชินวัตร

ด้านกลุ่มกปปส. ร้อยละ 48 ระบุว่า มาเพราะไม่ต้องการให้ตระกูลชินวัตรลงเลือกตั้งอีก และร้อยละ 14 ตอบว่า เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ และอีกร้อยละ 13 ต้องการหยุดพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย

สนับสนุนประชาธิปไตย 1

คำถาม : ขณะที่ประเทศกำลังเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสำหรับคุณหมายถึงอะไร

ร้อยละ 23 ของกลุ่มนปช.มองว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยคือการยอมรับเสียงข้างมาก ในทางกลับกัน ด้านผู้ชุมนุม กลุ่มกปปส.ร้อยละ 14 มองว่าประชาธิปไตย คือการรับฟังเสียงทุกเสียงของประชาชน หรือรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ด้านผู้ชุมนุมฝ่าย นปช.เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ที่เห็นไปในทางเดียวกันกับกปปส.

สนับสนุนประชาธิปไตย 2

คำถาม : ในบางครั้ง ประชาธิปไตยก็ไม่ได้ดีเสมอไป เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ก็จะมีประชาชนบางกลุ่มกล่าวว่า เราต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีบางคนเห็นว่าประชาธิปไตยดีที่สุด คุณคิดว่าอย่างไร

ร้อยละ 91ของผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.เห็นด้วยว่าประชาธิปไตยดีที่สุด ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มกปปส. เชื่อว่าประชาธิปไตยดีที่สุด ร้อยละ 50 และอีกร้อยละ 46 เชื่อว่า ผู้นำทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเสมอไป

ความพอใจต่อประชาธิปไตยในประเทศไทย

คำถาม : คุณพอใจกับระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยแค่ไหน

แม้ว่ากลุ่มนปช.จะรู้สึกพึงพอใจกับระบบประชาธิปไตยไทยมากกว่ากลุ่มกปปส. แต่เสียงส่วนใหญ่ของทั้งสองกลุ่มร้อยละ 57 ของกลุ่มนปช. และร้อยละ 77 ของกลุ่มกปปส.ต่างก็ยังไม่พอใจกับประชาธิปไตยไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง

สมมุติว่าเพื่อนของคุณสนับสนุนกลุ่มสีเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นเหลืองหรือแดง ซึ่งกลุ่มคนส่วนใหญ่ไม่ชอบ คุณจะยอมรับได้หรือไม่ หรือคุณจะเลิกคบเพื่อนของคุณไปเลย?

ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันมากในเรื่องการยอมรับความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง เมื่อเทียบกับการยอมรับในปี 2552 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ยอมรับในความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างในกลุ่มเพื่อนได้ ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง

องค์ประกอบที่ดีที่สุดของรัฐบาลประชาธิปไตย

หากมีเพียงสองทางให้เลือกเกี่ยวกับรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

1.รัฐบาลที่ดีต้องประกอบไปด้วยตัวแทนของทุกภาคส่วนของประเทศ และมาจากทุกระดับชั้นของสังคม

2.รัฐบาลที่ดีต้องถูกจัดตั้งโดยคนฉลาดและมีการศึกษาที่ดี

ข้อไหนใกล้เคียงกับแนวคิดของคุณ

คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้จากทั้งสองกลุ่มคือ ร้อยละ 81 ของกลุ่มนปช. และร้อยละ 77 ของกลุ่มกปปส. เชื่อว่า รัฐบาลที่ดีต้องประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน และต้องเป็นตัวแทนจากทุกระดับชั้นของสังคมด้วย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญควรได้รับการแก้ไขหรือไม่

 1 ใน 3 ของกลุ่มกปปส.ร้อยละ 32 และ 2 ใน 3 ของกลุ่มนปช.คิดเป็นร้อยละ 65 เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ แต่ยังมีจำนวนผู้ชุมนุมอีกเป็นจำนวนมากของทั้งสองฟากไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ

คิดว่าถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทิศทางใด

ร้อยละ 79 ของกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยว่า ควรจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญในบางมาตรา (กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ก็ร่างฉบับใหม่ขึ้นมา) ร้อยละ 70 ของกลุ่มนปช. อยากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ก็กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ในทางกลับกัน กลุ่มกปปส.เห็นด้วยกับการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 โดยร้อยละ 70 เห็นว่าควรจะต้องมีการจัดการ ไม่ว่าจะแก้ไขใหม่หรือปล่อยไว้อย่างเดิม

มาตรการเพื่อยุติความตึงเครียดทางการเมือง

คิดว่าต้องทำอะไรจึงจะสามารถยุติความตึงเครียดทางการเมืองในขณะนี้ได้

ร้อยละ 50 ของกลุ่มนปช.เห็นว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลควรจะยอมรับรัฐบาลนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และยุติการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ในทางกลับกันร้อยละ 44 ของกลุ่มกปปส.เห็นว่า รัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง ควรจะถูกแทนที่ด้วยตัวแทนจากสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

อ่านฉบับเต็มภาษาอังกฤษที่ http://asiafoundation.org/resources/pdfs/FinalSurveyReportDecember20.pdf

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: