ชี้เล่นพนันตั้งแต่เด็กเสี่ยงติด'การพนัน' เล็งใช้บทเรียนต่างชาติแก้ปัญหาเด็กไทย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1647 ครั้ง

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  ร่วมด้วยคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการลดผลกระทบจากการพนัน โดยมีนักวิชาการ และตัวแทนจากเครือข่ายครอบครัวและเยาวชนร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ที่โรงแรมเอเชีย

นายพงศธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความพยายามในการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้คนไทย ทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพนันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พบว่าสถานการณ์การพนันในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักพนันหน้าใหม่ หรือกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่ควรจะเป็นกลุ่มที่ได้รับความรู้ความเข้าใจ เพื่อไม่ให้ตกเข้าไปอยู่ในวังวนของการพนันมากขึ้น

นายพงศ์ธรกล่าวต่อว่า จากข้อมูลการสำรวจของคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2553 พบว่า กว่าร้อยละ 75 ของคนไทยล้วนเคยเล่นพนัน โดยประเภทพนันที่เล่นในครั้งแรกเริ่มจากหวยใต้ดิน (ร้อยละ 46) สลากกินแบ่งรัฐบาล (ร้อยละ 20.7)  ไพ่ (ร้อยละ 18.6) พนันฟุตบอล (ร้อยละ 3.5) และ ไฮโล (ร้อยละ 2.8) แม้ว่ากลุ่มอายุผู้เล่นสูงสุดส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ทำงาน แต่ก็พบว่าเยาวชน อายุน้อยกว่า 24 ปี เฉพาะพื้นที่สำรวจพบว่า เล่นพนันกว่าร้อยละ 4 หรือเกือบ 2 ล้านคน

จากการศึกษาทางการแพทย์ระบุว่า การเริ่มเล่นพนันในอายุน้อย ทำให้มีโอกาสที่จะติดพนันสูงกว่าผู้เริ่มเล่นพนันเมื่ออายุสูงขึ้น ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้การจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนันจึง ควรเน้นไปที่การทำงานเชื่อมโยงทั้งจากภาควิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน  และการเรียนรู้จากประสบการณ์ของต่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จะช่วยให้สามารถนำไปขยายเป็นยุทธศาสตร์การทำงานข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

ด้าน ดร. ชุง คิม วา (CHUNG Kim Wah) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงโปลีเทคนิค กล่าวว่า สำหรับการพนันในฮ่องกง มีความเป็นมาที่ยาวนาน โดยในอดีตการเล่นพนันเช่น การเล่นไพ่ นกกระจอก ถือว่าเป็นกิจกรรมในครอบครัว จนกระทั่งต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมการพนันขึ้น โดยสามารถมีการขออนุญาตจัดกิจกรรมการพนันที่ถูกกฎหมายได้ ทำให้ในฮ่องกง มีการพนันที่ได้รับใบอนุญาตหลายหลายรูปแบบ เช่น ล็อตเตอรี่ และการแข่งม้า เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมการพนันเหล่านี้ยังมีความถี่ในการออกรางวัล หรือการเปิดให้มีการดำเนินการได้มาก ทำให้คนฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นว่าการพนันส่งผลเสียต่อชีวิตของตัวเองอย่างไร เพราะล้วนแต่อยู่ในชีวิตประจำวัน แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น จากผู้ติดพนันจำนวนมากก็ตาม

ในส่วนของเยาวชน ดร.ซุงกล่าวว่า ปัญหาการพนันกับเยาวชนในฮ่องกง ดูจะไม่แตกต่างกับประเทศอื่น ๆ คือ ปัจจุบันเยาวชนฮ่องกงสามารถเข้าถึงเกมการพนันได้ง่าย จากเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตภายในบ้าน โดยเฉพาะการแทงพนันฟุตบอลที่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ่นทั่วโลก ขณะเดียวกันเจตคติของคนฮ่องกง ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นความสำคัญของปัญหาการพนันมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่เนื่องจากเติบโตมากับสภาพแวดล้อมของการพนัน และเห็นว่าการเล่นการพนันของลูกหลาน เป็นเพียงกิจกรรมบันเทิงอย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นแม้รัฐบาลจะมีกฎหมายการอนุญาตให้มีการพนันอย่างถูกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นแหล่งรายได้อย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบ ที่เกิดจากการพนันโดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนมาโดยตลอด

ขณะที่ ดร.ธีรารัตน์ พันธวี วงศ์ธนะเอนก จากสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนในต่างประเทศ ได้แก่ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กและเยาวชนในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันและการมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อื่น ๆ เช่น การติดยาเสพติด การสูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน และการใช้ความรุนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ผู้ที่มีปัญหาการพนันอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุน้อย และเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการพนันที่ถูกกฎหมายได้ในเกือบทุกรูปแบบ ทั้งที่มีข้อห้ามหรือจำกัดตามกฎหมาย ทั้งยังพบด้วยว่าเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาการพนันมีอัตราสูงถึงร้อยละ 3-8 ซึ่งสูงกว่าผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการพนันถึง 2-4 เท่าด้วย

 

            “สำหรับประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกันคือ เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการพนันได้ง่ายและกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้ โดยเห็นว่า ควรจะมีการยกปัญหาการพนันขึ้นเป็นปัญหาระดับชาติ รวมทั้งจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกับผู้ที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจในระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านนโยบายระดับประเทศขณะเดียวกันจะต้องอาศัยสื่อมวลชน ในการรณรงค์และสร้างความตระหนัก เกี่ยวกับปัญหาด้านการพนันให้สังคมได้รับทราบ ขณะเดียวกันต้องสร้างพื้นที่สีขาว เพื่อเป็นทางออกให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมที่ห่างไกลจากการพนันด้วย” ดร.ธีรารัตน์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: