คปก.ดันปฏิรูปตัวบทกม. สร้างความเชื่อมั่นปชช.

24 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1663 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง การปฏิรูปการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

 

ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมโดยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” ว่า ตามกฎหมายแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันสามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ดีตามสมควร แต่ในทางปฏิบัติมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้งทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ดังนั้นในการปฏิรูปกฎหมายต้องทำพร้อมกัน 3 อย่าง คือ 1.ปฏิรูปตัวบทกฎหมาย 2.ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และ 3.ปฏิรูปความคิดของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยตนเห็นว่าบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรมีการทบทวนทางปฏิบัติที่ยังเป็นปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว และขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อถือศรัทธาต่อประชาชน

 

ดร.คณิตกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมดั้งเดิมเป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบไต่สวน โดยระบบไต่สวนไม่แยกอำนาจหน้าที่ ในการสอบสวนฟ้องร้อง และ อำนาจหน้าที่ ในการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน ให้องค์กรที่ต่างหากจากกันเป็นผู้ทำหน้าที่ทั้งสอง การตรวจสอบความจริงในระบบไต่สวนจึงมีชั้นเดียว คือ การตรวจสอบโดยศาล ทั้งนี้จะเห็นว่าในระบบไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา เป็นกรรมในคดีจึงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน พอมาถึงกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่เป็นกระบวนการยุติธรรมใน ระบบกล่าวหา ซึ่งมีการแยกอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความจริง ซึ่งการตรวจสอบความจริงในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่มี 2 ชั้น คือการตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงาน และการตรวจสอบความจริงชั้นศาล ตนเห็นว่า การตรวจสอบความจริงทั้งสองชั้นต้องกระทำอย่างมีความเป็นภาวะวิสัย โดยในระบบกล่าวหาซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่นั้น ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็น “ประธานในคดี” จึงมีสิทธิต่าง ๆ ในคดีสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

 

 

            “วิธีพิจารณาความอาญาที่ดี ต้องมีความเป็นเสรีนิยมมีความเป็นประชาธิปไตยและกระทำเพื่อสังคม โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายควรมีคุณลักษณะสำคัญสองประการ คือเป็นกฎหมายที่รักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ นอกจากนี้ในแง่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น“ประธานในคดี” การกระทำใด ๆ กับผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องคำนึงถึงสภาพความเป็น “ประธานในคดี”ของเขาด้วย”

ดร.คณิต กล่าวว่า ปัจจุบันการขอหมายจับยังไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายเท่าที่ควร โดยคำร้องขอให้ออกหมายจับต้องระบุรายละเอียดแห่งการกระทำ และมีหลักฐานตามสมควร ว่าบุคคลนั้นได้กระทำการดังกล่าว ขณะเดียวกันการตรวจสอบในการที่จะออกหมายจับของศาลในทางปฏิบัติก็ดูเหมือนจะยังขาดความเป็นเสรีนิยมอยู่มาก แสดงถึงความไม่เข้าใจต่อบทบาทความเป็นเสรีนิยมของตน เช่นเดียวกับการแจ้งข้อหาแม้กฎหมายจะได้แก้ไขไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่ดี

 

 

            “หากการตรวจสอบความจริงของเจ้าพนักงานมีความเป็นภาวะวิสัย และการฟ้องของพนักงานอัยการถูกกฎหมายแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่ดี เพราะศาลจะพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องไม่ได้” ดร.คณิต กล่าว

 

 

ด้าน นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมาธิการเฉพาะเรื่อง ด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมที่ทั่วโลกใช้อยู่ที่ถูกกำหนดโดยมาตรฐานของ สหประชาชาติ เป็นกระบวนการที่ดีที่สุดในการสร้างความเป็นธรรม แม้ในบางสถานการณ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถือว่าเป็นกระบวนการที่ยังดีที่สุด เพราะเคารพสิทธิมนุษยชน การที่ทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรมนั้น ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และต้องคำนึงว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายได้ กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ ฉบับปี 2550 ได้ตระหนักถึงความเท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและทั่วถึงโดยเฉพาะคดีอาญา หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 วงการกฎหมายมีความตื่นตัวอยู่ระยะหนึ่ง แต่ด้วยการขาดการบูรณาการจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

 

            “คปก.เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ประกอบกับบทเรียนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในประเทศไทยยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่มาก เช่น คดีสิ่งแวดล้อม คดีผู้บริโภค คดีภาคใต้ เป็นต้น และยังเห็นว่า การเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมาย ยังเป็นส่วนผลักดันในการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ และมีผลอย่างมากกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการเข้ามาสำรวจ ตรวจสอบ และการสร้างเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อที่จะทำให้การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในประเทศไทยเป็นจริง” นายสมชายกล่าว

 

 

นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำ สำนักประธานศาลฎีกา กล่าวการอภิปราย “การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข”ว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทางกฎหมาย ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศาลได้แก่ การจัดหาทนายความ ซึ่งมีปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเรื่องค่าตอบแทนทนายความในการดำเนินคดี การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต้องมีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีแพ่ง กำลังทุนทรัพย์ของคู่ความแต่ละฝ่ายทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ซึ่งกระทบถึงระบบการค้นหาความจริงเพื่อนำเสนอต่อศาลได้ ดังนั้น จึงต้องบูรณาการทั้งในทางแพ่งและทางอาญาประกอบกัน

 

 

            “ข้อเสียของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในปัจจุบันคือ เรื่องมาตรฐานการดำเนินการว่าสมบูรณ์หรือไม่ หากจัดให้มีหน่วยงานหรือเจ้าภาพเข้ามาจัดการเชิงระบบก็จะเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ส่วนอัตราค่าตอบแทนของทนายความอาสาหรือทนายความขอแรง ก็สมควรที่จะอยู่ในอัตราที่สูงกว่านี้ ขณะเดียวกันก็ควรจะเพิ่มศักยภาพของทนายความใหม่ด้วย เรื่องนี้ต้องคิดกันใหม่ทั้งระบบ และต้องกระทำทั้งสองมิติควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง” นายชาญณรงค์กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: