‘ดร.จรัญ มะลูลีม’วิเคราะห์นัยยะพิธีศพ ชี้ทางสงบเดียวของภาคใต้คือ‘เจรจา’

รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล 24 ก.พ. 2556


รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงทางออกจากความไม่สงบใสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะผู้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

ถาม : การตายจากเหตุการณ์บุกถล่มฐานทหาร และถูกวิสามัญฆาตกรรมสะท้อนอะไรบ้าง โดยเฉพาะนายมะรอโซ จันทราวดี ที่ถูกระบุว่า เป็นแกนนำขบวนการอาร์เคเค

 

ดร.จรัญ : สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาเป็นหนึ่งในเหยื่อชะตากรรมที่ถูกจับขึ้นรถบรรทุก ถูกจับกุมในคดีตากใบ ถ้าเราเชื่อที่พ่อเขาพูดก็คือ หลังจากเหตุการณ์นั้นเขากลายเป็นคนหวาดกลัวอย่างรุนแรง ให้ไปทำบัตรประชาชนก็ไม่กล้า ให้ไปเกณฑ์ทหารก็ไม่กล้า แต่ในที่สุดเขาก็ทำทั้งสองอย่าง นั่นก็แสดงว่าอย่างน้อยครอบครัวเขาก็อยากให้ลูกอยู่ในกระบวนการที่ถูกต้องของรัฐไทย ในการเป็นพลเมืองของรัฐ

 

 

 

เขามีประวัติศาสตร์บาดแผลในกรณีเหตุการณ์ตากใบ เหตุนี้ทำให้เราต้องคิดเสมอว่า การใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม ต้องมีการคิดใคร่ครวญให้ดี เพราะกรณีตากใบจะบอกว่า ผู้ชุมนุมมีความผิดนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีสาเหตุที่เพียงพอต่อการกล่าวหา เพียงแต่การชุมนุมนั้นเกิดขึ้น เพราะเขาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เท่านั้น ซึ่งภาพเหล่านี้กลายเป็นความทรงจำประวัติศาสตร์ ถูกตอกย้ำ ถูกมองว่าทำไมพี่น้องมุสลิมจึงถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งคลิปเหล่านี้ก็ถูกเผยแพร่ไปยังประเทศมาเลเซียและในหลาย ๆ ที่

 

ความจริงอีกอย่างที่ได้สัมผัสจากคนภาคใต้จำนวนมากคือ คนในพื้นที่ก็ไม่พอใจขบวนการก่อความไม่สงบที่ไปสังหารผู้คน  โดยเฉพาะเป้าหมายอย่างครู ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของเด็ก ๆ ด้วย ครูไม่ได้มีความผิดอะไร แต่หากจะมีการกล่าวหาคน 16 คน ที่ถูกวิสามัญว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ มีผลงานทำลายล้าง ฆ่าคน หรือก่อเหตุระเบิด ก็ขอให้มีหลักฐานที่ชัดเจน เมื่อมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทั้ง 16 คนนี้ ยุ่งเกี่ยวจริง คนเหล่านี้ไปสังหารผู้คน ดังนั้นการที่รัฐตอบโต้ สังคมก็อาจจะไม่ได้มองว่าเป็นความผิดพลาดอะไร แต่ตอนนี้มีคำถามว่า 16 คนนี้คือใครกันแน่

 

นอกจากนั้น ในระยะหลังที่มีคนพูดกันมากคือ การที่รัฐบอกว่ามีประชาชนคอยบอกความเคลื่อนไหว มันเป็นเช่นนั้นจริงไหม ถ้าเป็นจริงก็แสดงว่า ประชาชนเริ่มไม่พอใจกลุ่มผู้ก่อเหตุ ที่สร้างความปั่นป่วนขึ้นในพื้นที่จนทำมาหากินไม่ได้ แต่ถ้าคนที่คอยแจ้งข่าวแก่รัฐ เป็นกลุ่มที่เคยปฏิบัติการแล้วกลับใจก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์เริ่มแตกต่างกัน เช่นเดียวกับในหลาย ๆ ประเทศ กลุ่มที่ต่อต้านรัฐ โดยใช้ความรุนแรง ก็จะมีความคิดที่แยกเป็นสองฝ่ายอยู่มากเหมือนกัน

 

ถาม : อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากคือคลิปพิธีศพที่ถูกเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต

 

ดร.จรัญ : คลิปงานศพเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมาก ในฐานะมุสลิมคนหนึ่งดูแล้วก็รู้สึกตกใจเหมือนกัน เสียงในคลิปนี่ เป็นการอ้างจากคัมภีร์อัลกุรอาน ที่โดยสรุปแล้วกล่าวว่า อย่าคิดว่าผู้ที่เสียชีวิต เสียชีวิตไปแล้ว แต่ความจริงเขายังอยู่ หมายความว่าเนื่องจากเขาเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง เขาเป็นนักรบที่ถูกต้อง นอกจากนั้น ยังมีการเอ่ยถึงพระนามของพระเจ้าในครั้งนี้ด้วย ซึ่งโดยปกติจะใช้ในภาวะที่เป็นการให้กำลังใจหรือนึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และในงานศพนี้ปรากฏว่า คนมาละหมาดเยอะมาก แต่งกายเหมือนคนมุสลิมขณะทำพิธีอื่น ๆ คือการที่มีคนเต็มใจมาเยอะมาก และเอื้อนเอ่ยนามของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี่จึงมีความเป็นการเมืองอิสลามอยู่ด้วย

 

 

 

 

             “โดยนัยสำคัญก็คือ เป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับการที่รัฐบอกว่า ชัยชนะในระยะหลังนี้ มาจากการที่คนในพื้นที่เริ่มเข้าใจรัฐมากขึ้น แต่สิ่งที่เห็นจากงานหรือคำพูดในพื้นที่ และที่สำคัญการฝังศพ โดยไม่อาบน้ำศพ (ตามหลักการมรณสักขีสำหรับ ‘ชะฮีด’ ผู้เสียชีวิต เพื่อปกป้องศาสนาหรือต่อสู้กับอธรรม) แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้อาจตีความว่า การต่อสู้กับอำนาจรัฐนั้นเป็นความชอบธรรม เพราะเกิดการกดขี่บีฑา แต่ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์จริง ก็ต้องดูว่าคนเหล่านี้เคยไปสังหารครูบาอาจารย์หรือไม่ ถ้าสังหารผู้คน ก็ไม่ตรงกับคำสอนของศาสนาอิสลามที่ว่า การสังหารชีวิตคนหนึ่งคนเท่ากับสังหารชีวิตคนทั้งมวล การไว้ชีวิตคนหนึ่งคนเท่ากับไว้ชีวิตคนทั้งมวล ชีวิตมนุษย์มีค่า” ดร.จรัญกล่าว

 

 

 

 

ดร.จรัญกล่าวว่า นอกจากนั้นคำสอนในศาสนาอิสลาม ยังมีรายละเอียดมากกว่านั้นคือ ในเวลาสงคราม ต้องไม่มีการไประรานเด็ก ผู้หญิง ศาสนสถาน ซึ่งนี่ก็อาจให้ความรู้สึกได้ว่า กรณีของเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เป็นศาสนสถาน แต่ก็ยังมีวิธีการปราบปรามที่เรารับทราบกันดีว่าใช้กำลังมากเกินไป กรณีภาคใต้ของไทย มีหลายอย่างที่เป็น “Something in between” คือ ปัญหาหลายอย่างมันแทรกเข้ามาหลาย ๆ ด้าน มีหลายบริบท แต่เหตุการณ์ครั้งนี้สิ่งที่ต่างออกไปจากเดิมคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในพิธีศพนั้น สะท้อนว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้มองคนเหล่านี้ว่าเป็นคนร้าย ส่วนจะมองว่าเป็นฮีโร่หรือไม่นั้นเป็นเรื่องในใจของแต่ละคน แต่อย่างน้อยไม่ได้มองว่าเป็นคนร้าย บางคนก็เรียกว่าคนเหล่านี้เป็นนักรบญิฮาด

 

อย่างไรก็ตาม วิธีการต่อสู้หากใช้ความุรนแรงเช่นสังหารผู้คน หรือใช้วิธีการใด ๆ ที่ไม่ได้เน้นสันติภาพ หรือการเจรจา โอกาสสำเร็จคงจะยากพอสมควร

 

ถาม : ศาสนาอิสลามกล่าวถึงสงครามศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างไร

 

ดร.จรัญ : หากไปสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่จะต้องต่อกรด้วย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าตัวเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมต่อรัฐ หรือศาสนสถานของเขาถูกรุกรานจากรัฐ หรือรัฐเข้าไปทำลายอย่างกรณีกรือเซะ ก็อาจจะมีการตีความเชื่อมโยงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเรียกว่า เป็นนักรบหรือชาฮีดหรือชาฮาด หรือการจะเรียกว่าเป็นคนที่สละชีพตามแนวทางศาสนาได้นั้น มีกฏเกณฑ์ ไม่ใช่จะไปสรุปเอาเองว่าเป็นอย่างนั้น

 

          “ถ้าจะตีความง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่จะเรียกว่าเป็นผู้สละชีพทางศาสนาได้ ประการแรกต้องปกป้องศาสนา ปกป้องศาสนสถานจากการทำลายของคนต่างศาสนิก ประการที่ 2 คือ การต่อสู้เพื่อปกป้องให้สัจธรรมของอิสลามยังดำรงอยู่จากการถูกรุกราน นี่คือเหตุผลง่าย ๆ ประการสำคัญคือวิธีการต่อสู้นั้น ต้องเป็นการปกป้องมากกว่าการรุกราน แต่ถ้าถูกรุกรานหนักเข้าก็ต้องสู้ จะนั่งดูอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากนี้ไปก็คือ การตีความ เช่น อาจมีการตีความโดยโน้มนำมาจากเหตุการณ์ในอดีตเช่นในประวัติศาสตร์ การแย่งชิง การแบ่งดินแดนโดยอำนาจชาวตะวันตก บางคนก็อาจไปโยงกับเรื่องแบบนี้ ดังนั้นถ้ากลุ่มแยกดินแดนที่เขามองแบบนี้ โดยไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้คนโดยไร้เหตุผล โอกาสที่จะได้รับการยอมรับในพื้นที่ก็ย่อมมี

 

แต่ก็เหมือนกับทุกศาสนาที่ย่อมมีการตีความแตกต่างกัน บางสำนักคิดอาจตีความเข้าข้างรัฐ บางสำนักคิดอาจตีความเข้าข้างผู้ที่ต่อต้านรัฐ บางสำนักคิดอาจตีความไปในสายประนีประนอม แต่คำสอนที่แท้จริงมีกำหนดอยู่แล้วอย่างแน่นอน

 

ถาม : ภาพในพิธีศพ ทั้งคนมาร่วม และพิธีกรรม อาจแสดงได้ว่าผู้ตายกำลังต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

 

ตอบ : เป็นไปได้ที่ผู้ตายจะถูกตีความโดยคนรอบข้างว่า แท้ที่จริงแล้วคนเหล่านี้กำลังต่อสู้กับความอธรรมของอำนาจรัฐที่มาค้นบ้านเขา ค้นแล้วค้นอีก หรือกระทำต่อเขาจนทำให้ชีวิตทุกวันนี้เขาขาดอิสรภาพ เหล่านี้บางคนอาจมองว่า เป็นความอธรรมได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 2 เหตุการณ์ที่ผ่านมาคือเหตุการณ์กรือเซะและตากใบที่เป็นการสังหารหมู่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังมากเกินไป แล้วสิ่งนี้กลายเป็นตราประทับ

 

เราจะเห็นว่าในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบมีคนแนะนำว่า ต่อจากนี้ ไม่ว่าเกิดเหตุอะไรจะต้องไม่มีการทำเช่นนั้นอีก คือในกรณีมีการชุมนุมจะต้องใช้วิธีล้อมไว้นาน ๆ จนกระทั่งคนเหล่านั้นยอมจำนน และอาจหันมาให้ความร่วมมือกับรัฐ นอกจากนั้นมีผู้แนะนำว่า ในอนาคตควรต้องให้ตำรวจทำหน้าที่สอบสวน จับกุม ส่วนทหารนั้นก็ไปทำหน้าที่ของทหาร ตำรวจเขามีหน้าที่รักษากฎหมาย

 

 

 

ถาม : กรณีตากใบถ้าคนผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับโทษตามกฎหมาย จะช่วยลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงได้หรือไม่

 

ดร.จรัญ : “กรณีกรือเซะ ตากใบ คนไปเห็นใจคนสั่งการซะเยอะ นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น บางคนไม่รู้เรื่องมาก่อน แต่เขาก็ถูกเรียกขึ้นรถไป ถูกจับกุม อย่างกรณีมะรอโซก็หลุดรอดมาได้อย่างบอบช้ำ กระบวนการยุติธรรมก็จบลงที่คนที่อยู่ในเหตุการณ์เสียมากกว่า และยิ่งสู้กับอำนาจรัฐ รัฐก็ต้องช่วยอยู่แล้ว คณะกรรมการไต่สวน  คณะกรรมการที่มาจากรัฐก็เห็นใจกันอยู่แล้ว นี่เป็นธรรมชาติของสังคมไทย ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือ สังคมไทย แม้พนักงานไต่สวนจะลงความเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง แต่คนเหล่านี้ก็จะถูกย้าย และแม้จะถูกย้าย อีกไม่นานก็ได้เลื่อนตำแหน่ง นี่เป็นวัฒนธรรมของคนไทย ที่มองว่าข้าราชการเป็นผู้มีความมุ่งมั่นทำเพื่อแผ่นดิน”

 

ถาม : การวิสามัญฆาตกรรมที่นำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ และมีหลายความเห็นในสังคม ที่แสดงความสะใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจารย์มองอย่างไร

 

 

ดร.จรัญ : แม้เจ้าหน้าที่ทหารมีหน้าที่ปกป้องตนเอง ถ้าคนเหล่านั้นเข้ามาเพื่อโจมตี แต่การประโคมข่าวหรือแสดงความสะใจให้เห็นว่า สังหารหมู่คนเหล่านี้ได้ หลังจากคนเหล่านี้ไปสังหารผู้อื่นมานานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะไม่ว่าอย่างไร ถึงที่สุด ไม่ว่ากลุ่มใดที่ถูกกระทำและต่างตอบโต้กัน ต่างก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่ถ้ายังสู้กันอยู่อย่างนี้มันก็กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเผลอหรือใครจะมีโอกาสมากกว่า ทางออกในปัจจุบันคือ เมื่อตอบโต้กันมาอย่างยาวนานถึงขั้นนี้ วิธีใดก็ไม่เหมาะเท่ากับการหันหน้ามาเจรจา ซึ่งหลาย ๆ ประเทศเขาก็เจรจาสำเร็จแล้ว รัฐไทยเองก็ควรเรียนรู้เรื่องการให้โอกาสแก่คนในพื้นที่ คือให้พวกเขามีส่วนร่วมในการปกครอง เช่น ใช้กฎหมายอิสลาม ให้เขามีวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของเขา

 

ซึ่งการเจรจาถือเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งในการแก้ปัญหา ที่ไม่รู้ว่า จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ในประเทศไทย แต่อย่างที่ฟิลิปปินส์ กรณีโมโร ( Moro National Liberation Front ) ที่คล้ายประเทศไทย และมีมานับสิบ ๆ ปีติดต่อกัน ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจา คือได้รับความสำเร็จจากอำนาจภายนอก ที่ร่วมผลักดัน แต่เรื่องการรับความช่วยเหลือ ให้มีการเจรจา รัฐไทยไม่ค่อยให้การยอมรับ ต่างจากฟิลิปปินส์ที่รัฐบาลเขาคำนึงถึงอนาคตว่า ตราบใดที่ยังสู้รบกันอยู่แบบนี้ ต่างฝ่ายต่างสูญเสีย ฉะนั้นให้เขามีโอกาสปกครองตนเองแต่ก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลที่ยังคงดูอยู่ห่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้สามารถเปลี่ยนคน จากที่เคยลุกขึ้นมาต่อสู้กลายเป็นคนที่พร้อมจะดูแลชุมชนของตนเองให้เจริญเติบโตขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดี อย่างอื่นก็จะดีตาม ยุติความรุนแรงที่ยาวนาน 40 ปีได้ สิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ก็เพียงการถกเถียงกัน ด้านนโยบายบางอย่าง ที่ต้องทำให้มีความชัดเจน ความสำเร็จของฟิลิปปินส์ถ้าศึกษาให้ลึกจะเห็นว่า ไม่ได้มาจากฝ่ายเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของทั้งสหภาพยุโรป รัสเซีย อินเดีย องค์กรภาคประชาสังคมก็มีบทบาทอย่างมาก คือมีคนช่วยเยอะและเฝ้าติดตามสถานการณ์เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีบทบาทสำคัญคืออินโดนีเซีย แต่ผู้ที่สำคัญที่สุดและพยายามให้เรื่องนี้จบมาโดยตลอดก็คือ ประเทศมาเลเซีย

 

 

 

ถาม : นอกจากแนวทางการเจรจาแล้ว เหตุการณ์วิสามัญครั้งนี้ทำให้เกิดบทเรียนอะไรกับสังคมบ้าง

 

ดร.จรัญ : สังคมไทยต้องมองว่า ทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากปัญหาทางประวัติศาสตร์ เป็นปัญหาที่สั่งสมมาในระยะเวลาหนึ่ง และมาจากมาตรการด้านความมั่นคงที่รัฐนำมาใช้กับคนเหล่านั้น ซึ่งกรณีตากใบก็เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ยังไม่เกิน 1 ทศวรรษ ใครจะลืมได้ รัฐต้องระมัดระวัง ถ้ายังมีการล้อมปราบ รัฐจะสูญเสียความชอบธรรม หากจะล้อมปราบต้องมีข้อมูลแน่ชัดว่าคนเหล่านั้นเป็นปฏิปักษ์กับรัฐในด้านใดบ้าง

 

            “ง่ายนะสำหรับการยิงใคร การยิงหรือการกำจัดผู้คนมันไม่ยาก แต่ความรู้สึกว่าเป็นคนประเทศเดียวกันนั้น จะหาได้จากที่ไหน และการตอบโต้ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ต้องไม่ลืมว่ายุคที่นักศึกษาเข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์ในป่า ก็เกิดจากนโยบายการดำเนินการทางทหาร ขณะเดียวกัน กรณีของภาคใต้ต้องใช้กระบวนการเชิงจิตวิทยา ใช้สิ่งที่ทำให้คนในพื้นที่ได้คิด ได้นำเสนอ มากกว่าที่ทุกอย่างจะมาจากส่วนกลาง ซึ่งท้ายที่สุดก็ลงไปอย่างเลือกปฏิบัติ แต่บทเรียนสำคัญที่สุด ต้องไม่ให้มีเหตุการณ์อย่างกรือเซะหรือตากใบเกิดขึ้นอีก เพราะถ้าเกิดขึ้น โอกาสที่จะใช้เป็นเรื่องราวหาความชอบธรรมทางการต่อสู้ต้องมีขึ้นตลอดเวลา เช่น เรื่องของความสูญเสีย หายใจไม่ออก ความทุกข์ทรมาน แล้วก็เกิดเป็นเงื่อนไขปลุกเร้าได้” ดร.จรัญกล่าว

 

 

นอกจากนั้นปัญหาในระยะหลัง ที่นักวิชาการบางกลุ่ม ซึ่งติดตามสถานการณ์ภาคใต้มักพูดถึงก็คือให้ระมัดระวังเรื่องของอุตสาหกรรมความมั่นคง คือทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง งบประมาณจะลงไปทุ่มเทที่นี่ ถ้าคนที่มีจิตใจที่ดีใช้งบประมาณเพื่อสร้างความสงบก็เป็นเรื่องดี แต่เราจะยืนยันได้หรือไม่ เพราะเงินจำนวนมากที่เข้ามานั้น คนที่นำมาใช้ก็คือมนุษย์ ที่ย่อมเป็นผู้ที่มีกิเลสตัณหา ดังนั้นถ้าใช้ไปไม่ถูกที่ นอกจากความสงบจะไม่เกิดแล้ว อาจจะเป็นการดึงความไม่สงบให้ยาวต่อไปได้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: