‘รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์...ตอบ ลดความเหลื่อมล้ำต้องทำอย่างไร

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 23 ม.ค. 2556


 

ท่ามกลางเสียงคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่อ้างว่าจะทำให้เอสเอ็มอีนับแสนรายต้องปิดกิจการ เพราะสู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ยืนยันว่าค่าแรง 300 บาทเป็นนโยบายที่สมเหตุสมผลและควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน ค่าแรงของแรงงานเพิ่มขึ้นเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายได้ประชาชาติโตเฉลี่ยปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคมที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของผู้ที่ได้มันมาจากค่าเช่า กำไร และดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่ลูกจ้าง-พนักงาน

 

การขึ้นค่าแรง 300 บาทจึงไม่ใช่เพียงนโยบายที่ควรทำ แต่ต้องทำ ประเด็นอยู่ที่ว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทมิใช่เป้าหมายในตัวมันเอง แต่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งถ้าสิ่งนี้เป็นเป้าหมายของรัฐบาลมากกว่าแค่หวังผลทางการเมืองระยะสั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันนโยบายอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เก็บภาษีทรัพย์สิน ขั้นแรกลดความเหลื่อมล้ำ

 

 

รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า ปัจจัยแรกที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไม่ลดลงคือโครงสร้างภาษี การจัดเก็บภาษีของไทยปัจจุบันเน้นหนักที่เงินเดือนและค่าจ้าง คิดเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ภาครัฐ ซึ่งประชากรที่ได้เงินเดือนและค่าจ้างส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางถึงล่าง

 

 

            “ประเทศที่เจริญแล้วและความเหลื่อมล้ำไม่สูงมาก คนไม่แตกต่างกันมาก สัดส่วนภาษีที่เก็บจากเงินได้จะน้อยมาก ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินภาษีส่วนใหญ่จะมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบริโภค ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน แต่ภาษีทรัพย์สินของไทยตอนนี้ที่มีอยู่ก็เก็บในอัตราต่ำมากและยังมีข้อยกเว้นเต็มไปหมด ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ”

 

 

 

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือปัญหาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า แต่เจ้าของที่ดินกลับเสียภาษีน้อยมาก ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น รศ.ดร.พิชิต กล่าวว่า ในต่างประเทศพัฒนาแล้วที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะถูกเก็บภาษีหนักมาก เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมที่ดิน ขณะที่เมืองไทยเศรษฐีและนักการเมืองกลับมีโฉนดเป็นตั้งๆ เป็นเจ้าของที่ดินทั่วประเทศ แต่กลับทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า ซึ่งถ้าจัดการตรงนี้ได้ความเหลื่อมล้ำจะลดลง

 

 

ต้องออกแบบภาษีทรัพย์สินให้ดี คนรวยไม่ใช่ ‘เป้านิ่ง’

 

 

รศ.ดร.พิชิตกล่าวว่า แต่การจะเก็บภาษีทรัพย์สินจะต้องมีการออกแบบที่ดี เพราะคนรวยไม่ใช่ ‘เป้านิ่ง’ การเก็บภาษีทรัพย์สินอาจจะช่วยได้ในระยะแรก แต่เมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่งจะไม่ได้ผล เนื่องจากกลุ่มคนมีฐานะจะหาวิธีหลบเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่างๆ เช่น ยกทรัพย์สินให้ลูกหลานก่อนเสียชีวิต ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าเกณฑ์ภาษีมรดก หรือในยุโรปและอเมริกาที่การสะสมที่ดินถูกเก็บภาษีหนักมาก มหาเศรษฐีจะเก็บความร่ำรวยผ่านทางเครื่องประดับ พันธะบัตร หรือตั้งเป็นกองทุนแทน

 

 

 

 

             “ภาษีทรัพย์สินต่าง ๆ จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะคนย้ายทรัพย์สินหนีได้ ซึ่งผมคิดว่าการจะผลักดันออกมาได้เป็นเรื่องยาก นักการเมืองก็คงไม่อยากทำเพราะก็กักตุนที่ดินไว้เยอะเหมือนกัน ดังนั้น จะต้องมีแรงกดดันจากประชาชนหรือสภาพเศรษฐกิจที่บีบให้รัฐต้องหารายได้ เช่น เกิดวิกฤตทางการคลัง เป็นต้น”

 

 

ถามต่อไปว่า หมายความว่าถ้าเกิดวิกฤตการคลังหรือหนี้สาธารณะตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ อันเป็นผลจากนโยบายประชานิยม ก็อาจเป็นแรงบีบให้รัฐต้องออกกฎหมายจัดเก็บภาษีทรัพย์สินใช่หรือไม่

 

 

        “ผมบอกได้ว่ามันไม่เกิด เพราะหนี้สาธารณะของไทยยังต่ำมาก ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ เพดานอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ยังอีกเยอะ หนี้สาธารณะที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในหลัก 3-4 แสนล้าน ไม่ถือว่ามาก แล้วหนี้ที่เรามีอยู่ประมาณ 2-3 ล้านล้าน ซึ่งก้อนที่ใหญ่ที่สุดคือเงินอุ้มสถาบันการเงินต่างๆ ตั้งแต่ปี 2540 ทุกวันนี้ยังอยู่ 1.1 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้ที่รัฐบาลแบกอยู่ใครได้ไป คือพวกธนาคารและคนรวยที่ฝากไว้เงินในเวลานั้น”

 

 

ปรับสมดุลโครงสร้างสินค้าเกษตร ช่วยเกษตรกรลืมตาอ้าปาก

 

 

การปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องควบคู่ไป ดร.พิชิตกล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรแทบทุกสาขาตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบมาตลอด แทบไม่มีอำนาจต่อรองในตลาด และเป็นผู้รองรับผลกระทบเพียงฝ่ายเดียว

 

 

            “เกษตรกรเป็นเหมือนกระโถนที่คอยรับ พอราคาตก เกษตรกรก็เป็นผู้แบกต้นทุนไว้ ความเสี่ยงมันไปอยู่ที่เกษตรกรเยอะ ทั้งที่ในกระบวนการมันมีผู้เข้าร่วมมากกว่านี้ ทั้งพ่อค้าส่ง พ่อค้าปลีก ผู้บริโภค แต่เกษตรกรกลับเป็นผู้รับความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะโครงสร้างตลาดเป็นโครงสร้างที่ไม่สมดุล อย่างเรื่องข้าวที่พูดว่าเป็นตลาดแข่งขัน แต่ไม่ว่าแข่งขันแบบไหน ชาวนากลับเป็นผู้รับเคราะห์ตลอด เพราะถ้าแข่งขันจริงมันต้องแบ่งผลประโยชน์ แบ่งความเสี่ยงกันไปตามความสามารถ แต่คนที่น่าจะรับความเสี่ยงได้น้อยที่สุดกลับโดนหนักที่สุด แสดงว่าคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดในห่วงโซ่นี้คือเกษตรกร

 

ดังนั้น ต่อให้ทำเกษตรมากี่สิบปีฐานะก็ไม่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นไม่ใช่คนจนลง คนก็อยู่เท่าเดิมหรือมีฐานะดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่คนรวยมันรวยขึ้นเร็วกว่าจึงห่างออกไป ถ้าส่งเสริมให้เกษตรกรแต่ละกลุ่มมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและปรับสมดุลในโครงสร้างสินค้าเกษตรได้ก็จะช่วยได้เยอะ”

 

 

เร่งกระจายความเจริญ ผ่านพ.ร.บ. 2.2 ล้านล้าน

 

 

นอกเหนือจากมาตรการด้านภาษี เครื่องมือสำคัญอีกตัวหนึ่งคือการกระจายความเจริญ หมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจออกไปยังส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องในระยะยาว

 

 

             “ในระยะสามสี่ปีมานี้เราลงทุนในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ตอนหลังหัวเมืองต่างๆ เริ่มโต แต่การจะกระจายออกไปต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางการคมนาคมที่ดี การลงทุนระบบรางทั้งระบบ ถนนหรือทางรถไฟไปถึงไหน ความเจริญ รายได้ จะตามไปด้วย เห็นได้ว่าหัวเมืองที่เจริญทุกวันนี้จะอยู่ตามถนนหลวงสายหลัก ถ้าเป็นถนนสายรองเมืองก็จะมีขนาดเล็กลง”

 

 

 

 

ดร.พิชิต จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับรัฐบาลที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท

 

 

             “ควรจะทำตั้งนานแล้ว ถ้าไม่มีรัฐประหาร ป่านนี้ทำไปตั้งเยอะแล้ว ประเทศไทยควรต้องทำ ด้วยรายได้ต่อหัวระดับนี้ ถ้าเทียบกับประเทศอื่น เขามีรถไฟความเร็วสูงแล้ว มีท่าเรือน้ำลึกสองสามแห่งแล้ว เราถือว่าล้าหลังมาก”

 

 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจะต้องมีกระบวนการพูดคุยกับชาวบ้าน เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านสามารถต่อรองได้ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยอม ถ้ามีการแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม แต่ถ้าประเภท ‘เขียวจัด’ รัฐก็ไม่ควรไปบังคับหักหาญ แต่ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

 

มาตรการการลดความเหลื่อมล้ำทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ คงต้องทิ้งให้รัฐบาลเป็นผู้ตอบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: