สลดมหาดไทยจ่อดันกฎกระทรวง ตีตราคนไร้สัญชาติเป็นอาชญากร เตรียมผลักเด็กนับล้านคนพ้นไทย

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1901 ครั้ง

 

 

 

มหาดไทยดันร่างกฎกระทรวงผลักเด็กไร้สัญชาติพ้นไทย

 

 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 มกราคมนี้ อาจจะมีการพิจารณากฎกระทรวง ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักร ของผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้เฉพาะกลุ่มเด็กที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ได้สิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร เช่นเดียวกับบิดาและมารดาภายในระยะเวลาที่บิดาและมารดาได้รับอนุญาต ส่วนเด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการจดทะเบียนหรือถือสัญชาติไทย จะถือว่าเป็นผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีผลให้เด็กกลุ่มนี้ต้องถูกผลักดันออกนอกประเทศ

 

ทั้งนี้หากร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้กลุ่มเด็กต่างชาติที่เข้าประเทศไทยโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ และเด็กที่เกิดในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย หรืออยู่ในสถานะระหว่างขอสถานะทางทะเบียนที่ถูกต้อง จะถูกจับกุม ผลักดันส่งกลับ โดยพลัดพรากแยกจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เด็กจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทย และมีครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศไทย จะต้องถูกผลักดันไปยังประเทศอื่น โดยปราศจากผู้ดูแล ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงละเมิดและแสวงประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เนื้อหาระบุเด็กไร้สัญชาติเป็นอาชญากร

 

 

ด้านองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กและสัญชาติ ในนามของเครือข่ายภาคีสมาชิกเด็กเคลื่อนย้ายเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยหลักการและวิธีปฏิบัติแล้ว เป็นการขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลักการผลประโยชน์สูงสุดของเด็กที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทยตกเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา โดยที่เด็กไม่ได้กระทำการใด ๆ เลย นอกจากนี้ การจับกุมควบคุมตัว และผลักดันกลับยังเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีชีวิตรอด

 

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า กฎกระทรวงดังกล่าว ที่ว่าด้วยการกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรของผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยฉบับใหม่ ที่ยกร่างเสร็จแล้ว มีเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อเด็กจำนวนนับล้านคนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่รัฐไทยไม่ได้ให้สัญชาติไทย ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับเดิมนั้นระบุไว้ว่า คนที่เกิดในประเทศไทยทุกคนถือว่าเป็นคนไทย แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติขึ้นมาใหม่ โดยนำเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเป็นประเด็นหลักในการแก้ไขกฎหมาย และมีการแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติโดยจำกัดบุคคล 3 กลุ่ม ที่จะไม่มีสิทธิในการได้รับสัญชาติไทย ตามหลักดินแดน ได้แก่ 1.กลุ่มที่ถูกผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐได้จัดทำบัตรชนกลุ่มน้อยให้ กลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่รัฐให้มาขึ้นทะเบียน 2.กลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในประเทศไทย อาทิ กลุ่มที่ถือวีซ่าพาสปอร์ตเข้ามาให้ประเทศไทย และ 3.กลุ่มคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเด็กที่เกิดจากบิดามารดา 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้นนี้จะกลายเป็นกลุ่มคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.สัญชาติของไทย

 

 

 

ต่อมาในปี 2551 มีการแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 โดยกำหนดว่า เด็ก ๆ เหล่านี้จะมีสถานะอย่างไร ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ มีเจตนารมณ์ในการยกร่างที่จะไม่ให้เด็กเหล่านี้เป็นเด็กผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างกฎกระทรวงเสร็จแล้ว และกำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา กลับยังระบุให้เด็กเหล่านี้เป็นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่

 

 

            “มีการระบุในกฎกระทรวงชัดเจนว่า ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกลุ่ม ซึ่งจะทำให้เด็กทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นกลายเป็นอาชญากรทันที”

 

 

การออกกฎหมายเช่นนี้ นับเป็นการละเมิดและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาสิทธิเด็ก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และขัดต่อเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.สัญชาติ เอง และการแก้ไขนี้ต้องเป็นไปเพื่อป้องกันให้เด็กไม่ผิดกฎหมาย ตามหลักของกฎกระทรวงด้วย

 

 

            “แต่เมื่อกฎหมายออกมาแล้วเด็กก็ยังผิดกฎหมายอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย และตามหลักกฎหมายสากลและหลักกฎหมายทั่วไปถือว่า 1.เด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ 2 เด็กไม่ได้กระทำความผิดอาญา 3.เด็กไม่ได้เข้าเมือง เพราะเด็กอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่คนเข้าเมือง เด็กจึงผิดกฎหมายไม่ได้ ผลสุดท้ายก็คือ เด็กกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา และกฎหมายคนเข้าเมืองมีโทษจำคุก ทำให้เด็กเป็นอาชญากรตั้งแต่แรกเกิด ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องจับกุมและผลักดันออกนอกประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราต้องพูดถึงผลกระทบเหล่านี้ เพราะท้ายที่สุดเด็กกลุ่มนี้อาจเป็นเด็กที่เป็นลูกหลานคนไทย เด็กเร่ร่อน เด็กในสถานสงเคราะห์ที่ไม่มีเอกสารหลักฐาน”

 

 

 

 

เสนอตั้งคณะกรรมการพิจารณายกร่างใหม่

 

 

ทั้งนี้ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้เสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว 6 ข้อ คือ 1.เด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทยต้องไม่มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 2.ต้องช่วยเหลือคุ้มครองเด็กซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เกิดในประเทศไทยตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 3.ต้องดำเนินการตามหลักการ ไม่เลือกปฏิบัติ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยให้เด็กได้รับการพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และมีศักยภาพสูงสุด 4.เด็กทุกคนต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ได้รับการจดทะเบียนการเกิด และได้รับสัญชาติ ไม่ว่าจะสัญชาติไทยหรือสัญชาติที่อื่นใดตามความเป็นจริง 5.เด็กต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าจะเกิดในประเทศไทยโดยบิดาหรือมารดา เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และ 6.รัฐบาลต้องทบทวนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ และต้องตั้งคณะทำงานพิจารณายกร่างใหม่ โดยมีนักกฎหมายและผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก นักสิทธิเด็ก นักสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองและอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมาย

 

ขณะที่ น.ส.วรางคณา มุทุมล เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการเด็กย้ายถิ่นประจำประเทศไทย (Save the Children) กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หากมีกฎหมายที่มีความเสี่ยงกับเด็ก เราจะต้องเร่งดำเนินการระงับ และต้องไม่ยอมให้เกิดกฎหมายฉบับนั้นเกิดขึ้นมา ซึ่งตามหลักแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการสิทธิเด็ก ว่าด้วยสหประชาชาติจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่าเด็กจะมีสัญชาติใด ศาสนาไหน จะต้องได้รับการดูแลคุ้มครองให้ปลอดจากความรุนแรงทุกรูปแบบ มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและมีโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ดังนั้นข้อกังวลของเราคือ หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะมีเด็กที่ต้องถูกจับกุมและพลัดพรากจากครอบครัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันตรายต่อเด็กเอง และขัดต่อหลักประโยชน์สูงสุดเกี่ยวกับเด็ก

 

 

 

ร่างกฎหมายมหาดไทย กระทบประชาคมอาเซียน

 

 

เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการเด็กย้ายถิ่นฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กในไทยไม่ได้คุ้มครองเฉพาะเด็กไทย แต่หมายรวมถึงเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้เข้าร่วมประชาคมอาเซียน และมีตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก โดยภาระหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ คือช่วยส่งเสริมคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพ จึงเป็นภาระหน้าที่ที่เราต้องทำให้เพื่อนสมาชิกเห็นว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานในการคุ้มครองและดูแลเด็กที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในรูปแบบไหน อย่างไรบ้าง

 

 

 

 

ถึงแม้ที่ผ่านมาเรามีความก้าวหน้าในหลายรูปแบบ ในการคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยพยายามแก้ไขจุดบกพร่องและจัดการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมสิทธิการศึกษาให้เด็กทุกคนในประเทศ และมียุทธศาสตร์เพื่อจัดการสถานะบุคคล โดยการถอนข้อสงวนในคณะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มาตรา 7 แต่เมื่อกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรของผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยฉบับนี้ออกมา จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อประชาคมอาเซียนตกต่ำลง ดังนั้นหากความมุ่งหวังในอนาคตที่ต้องการเป็นผู้นำอาเซียน เราจะต้องคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นหลักด้วย

 

 

 

 

 

เครือข่ายภาคีสมาชิกเด็กเคลื่อนย้าย ออกแถลงการณ์ค้านกฎหมายมหาดไทย

 

 

ส่วนเครือข่ายภาคีสมาชิกเด็กเคลื่อนย้าย ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย ระงับการออกร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ระบุว่า 1.รัฐใด ๆ ไม่สามารถออกกฎหมายบัญญัติให้เด็ก ที่เกิดในดินแดนของตนเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายได้ เนื่องจากเด็กไม่ได้เข้าเมือง อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากแต่เด็กเกิดขึ้นในประเทศไทย 2.หากร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้เด็กไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย จะต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศตามกฎหมายคนเข้าเมืองซึ่งจะกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็ก เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดยอมรับว่า เด็กเป็นพลเมืองของประเทศนั้น และเด็กจะขาดโอกาสในการพัฒนา ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

 

 

 

ทั้งนี้ในฐานะที่เด็กเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและรอการเนรเทศ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเป็นการกระทำ ที่อาจทำให้เด็กตกอยู่ในสภาพที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลที่เหมาะสม ซึ่งขัดต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการดูแลเด็กที่เดินทางตามลำพังและเด็กที่แยกจากผู้ดูแล

 

3.หากมีการผลักดันเด็กที่ตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ซึ่งเป็นการผลักดันกลับประเทศ จะมีความเสี่ยงสูงมากที่เด็กเหล่านั้นจะตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งในช่วงระหว่างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกวาดล้างจับกุม และเคลื่อนย้ายเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดนที่มีการส่งกลับ ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลร้ายต่อประเทศไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาปีล่าสุด  และ 4.ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องต่อแผนการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งมุ่งไปสู่เสรีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก หากแต่เนื้อหาตามร่างกฎหกระทรวงฉบับนี้ มุ่งจำกัดสิทธิการย้ายถิ่นของประชาชน และทำให้ผู้ย้ายถิ่นเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: