กิตติพล สรัคคานนท์ วรงค์ หลูไพบูลย์ กับ วรรณกรรมไม่จำกัด

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ธ.ค. 2556


ครั้นจะอดทนรอให้รัฐลงมาสนับสนุนหรือรอสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ใจป้ำ ก็อาจต้องรอจนสิ้นแรง กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และ วรงค์ หลูไพบูลย์ จากสำนักพิมพ์บทจร จึงจับมือกันใช้พลังของโซเชียล มิเดียให้เป็นประโยชน์ ดัน ‘โครงการวรรณกรรมไม่จำกัด’ ออกมา ขอระดมทุนจากนักอ่านที่อยากเห็นงานแปลคลาสสิกออกสู่สังคมไทย โดยเริ่มต้นกับงานระดับตำนาน-รีพับลิก (Republic) ของเพลโต

ความคิดของพวกเขาไม่ใช่แค่แปลงานวรรณกรรมชั้นดี แต่พวกเขากำลังทดลองหารูปแบบใหม่ๆ ของวงการหนังสือ รูปแบบที่เปิดกว้าง รูปแบบที่นักอ่านสามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์โดยตรง รูปแบบที่แตกต่าง และหวังว่ามันจะไปไกลแบบไม่จำกัด

ศูนย์ข่าว TCIJ : นอกจากที่ว่า เมืองไทยไม่ค่อยมีงานแปลวรรณกรรมคลาสสิกออกมาแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆ ของการเกิดโครงการวรรณกรรมไม่จำกัดอีกหรือเปล่า

วรงค์ : พี่โย (กิตติพล) เคยทำหนังสือแปลมาก่อน แต่เป็นหนังสือแปลเล่มเล็ก ๆ ซึ่งสาเหตุหนึ่งคงเป็นเรื่องทุนจึงทำให้มีความสามารถทำได้เพียงเล่มเท่านี้ ซึ่งยังไม่ใช่เล่มมาสเตอร์พีซของนักเขียนคนนั้น ข้อจำกัดคือเรื่องทุนและคนแปล การที่จะอ่านหนังสือต่างประเทศได้ ไม่ใช่แค่ภาษาดีเท่านั้น แต่ต้องไปนั่งค้นคว้าต่อว่าบริบทของวรรณกรรมเล่มนั้นคืออะไร ต่อให้เปิดดิกชันนารีมันก็ยังมีบางจุดที่หายไป จึงต้องใช้นักแปลที่ลงไปคลุกกับมันและมีบรรณาธิการมาช่วยถึงจะสกัดออกมาได้เต็มที่ ซึ่งไม่ใช่งานง่ายที่จะทำออกมาได้ เพราะต้องพึ่งทั้งเงิน เวลา ทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย

วรงค์ หลูไพบูลย์

เดิมเรามักจะเรียกร้องไปที่รัฐว่าควรจะลงมาช่วยตรงนี้ เราต้องการคนที่มีความกล้าหาญสักคนมาช่วยเพื่อให้เกิดการแปลวรรณกรรมเหล่านี้ พอมาถึงจุดหนึ่ง เราคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีแนวทางอย่างอื่น เผอิญผมมาทางสายคอมพิวเตอร์ ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีมันไปไกลมากแล้ว มันมีสิ่งที่เรียกว่าโอเพ่น ซอร์ส ที่แชร์ความรู้ร่วมกัน ผลตอบรับมันกว้างและเร็วมาก มีพลังและพัฒนาได้เร็ว และยังทำให้ความเป็นกรรมสิทธิ์เริ่มเลือนไป กลายเป็นสมบัติร่วมกัน ผมคิดว่าวงการหนังสือมีปัญหาที่ปิดตัวเอง จึงเรียกร้องทรัพยากรสูงมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะทำแบบอื่นๆ ตอนนี้ฝรั่งเขามีแนวคิดไปไกลแล้ว เราเห็นเว็บ Kickstarter ซึ่งเป็นเว็บระดมทุนโดยเจาะกลุ่มไปที่งานสร้างสรรค์ และเปิดให้คนที่มีความคิดอยากจะสร้างงานอะไรขึ้นมาสักอย่างมาเสนอให้คนระดมทุนกัน

ถ้าเราใช้การระดมทุนแบบนี้ เราจะแก้ปัญหาของเราได้หรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้นจุดแรก แล้วเราก็มาเจอกับหนังสือรีพับลิก ซึ่งน่าสนใจ ก็เลยคิดว่าลองเอามาใช้วิธีนี้กันดูก่อน เป็นการลองผิดลองถูกกับสิ่งที่เราคิด

ศูนย์ข่าว TCIJ : สิ่งที่พูดกันมาตลอดที่ว่า ธุรกิจหนังสือบ้านเรามีปัญหาก็ยังเป็นจริงอยู่

วรงค์ : คงใช่ครับ มันมีหลักฐานเพราะคนในแวดวงหนังสือกันเองก็ยังเห็นว่ามีปัญหา อย่างตอนหลังๆ เราจะเห็นเครือข่ายร้านหนังสือขนาดเล็กเกิดขึ้น แม้แต่ในระดับโลกยังมีการคุยกันเลยว่าธุรกิจหนังสือต้องมีการปรับเปลี่ยน บางคนพยายามหาวิธีการแก้ปัญหานี้มาตลอด

ศูนย์ข่าว TCIJ : สภาพธุรกิจหนังสือในไทย ติดอยู่ตรงไหน งานแปลคลาสสิกจึงไม่ออกมา

กิตติพล : ผมคิดว่า แง่หนึ่งก็เป็นเรื่องของผลประกอบการธุรกิจ อย่างสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ผลิตงานวรรณกรรมจำพวกนี้อยู่ในจุดที่เรียกว่า ถ้าไม่ขาดทุน หรือเจ๊ง เราก็ไม่เลิก แต่ในฐานะของกลุ่มทุน องค์กรมหาชน หรือสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ถ้ากำไรน้อยกว่ามาตรฐาน เขาก็ไม่ทำ หรือไม่แบกรับความเสี่ยง ปัญหาที่เราพูดกันอยู่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเข้าไปจัดการ หรือถึงแม้จะเคยมีสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หรือเอกชนอื่นๆ ที่พยายามทำเรื่องพวกนี้ แต่มันก็ไม่ยั่งยืน หรือแข็งแรงเพียงพอจะสร้างฐานผู้อ่าน และอีกด้าน เราจะเห็นได้ว่า ผู้อ่านที่มีความต้องการอ่านงานคลาสสิกก็ถูกกันออกไปจากตลาดหนังสือตรงนี้ (ที่แม้จะเล็กและแคบแต่ก็มีอยู่) คือถูกทำให้เป็นผู้ติดตามรอคอยโดยไม่ค่อยมีสิทธิ์ส่งเสียงหรือนำเสนออะไร นี่เป็นจุดที่วรงค์ หรือผมเริ่มไปคิดกันต่อว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถดึงเอาผู้อ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวตรงนี้เลย

อย่างกรณีของ Kickstarter ที่เล่าไปนั้น พอได้กลับไปดูความคิดแรกเริ่มของโครงการก็จะเห็นได้ครับว่า ดนตรี วรรณกรรม หรือศิลปกรรมจำนวนหนึ่งไม่ได้มาจากการอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงเพียงอย่างเดียว หากศิลปิน นักคิด นักเขียนจำนวนมากได้เผยแพร่ผลงานของเขาก็ด้วยการระดมทุนจากสาธารณชนคนทั่วไป มันก็เลยกลับมาสู่จุดที่ว่า ณ เวลานี้ เราสามารถเจอผู้อ่านได้แล้ว เพราะเรามีสังคมออนไลน์ มีเครื่องมือมากมาย ทำให้ผู้อ่านรวมตัวกันได้ โครงการของเราจึงน่าจะนำเอารูปแบบการระดมทุนที่เคยมีอยู่ก่อนแล้วกลับมาปรับใช้กับสังคมสมัยใหม่

ศูนย์ข่าว TCIJ : ที่พูดกันมากว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยไม่แข็งแรง จริงเท็จแค่ไหน?

วรงค์ : ผมตอบว่าไม่แน่ใจก็แล้วกันครับ เพราะต่อให้มันจริง เราก็เปลี่ยนได้ มีท่านที่ศึกษาเรื่องทางนี้ในสื่อสังคมที่ไปนั่งค้นนั่งอ่านแล้วนำมาแชร์กัน เขาบอกว่าคนเยอรมันที่ตอนนี้เป็นชาติที่อ่านหนังสือเยอะมาก แต่ก่อนหน้านี้เขาไม่ใช่ชนชาติที่อ่านหนังสือหรอก มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนได้ ที่ทำให้คนอ่านหนังสือได้

ศูนย์ข่าว TCIJ : แล้วทำไมในต่างประเทศถึงมีงานแปลดีๆ ออกมาเยอะมาก สภาพธุรกิจของเขาต่างจากของเรา?

กิตติพล : มันมีประวัติศาสตร์ที่รองรับความเชื่อตรงนี้ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหนว่า วัฒนธรรมการแปลถูกจำกัดไว้ในแวดวงสังคมชั้นสูง (และพระ)  ซึ่งในยุโรปเองช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมากมายระหว่างศตวรรษที่ 15-16 นั้น ก็เกิดจากความรู้ต่างๆ (ที่มาจากการแปลตำราภาษาอาหรับซึ่งแปลมาจากภาษากรีกโบราณอีกชั้น) อาจพูดได้ว่า การแปลคือเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นการยกระดับให้คนชั้นล่างก้าวขึ้นมามีความรู้เทียบเท่าคนชั้นสูง ซึ่งแน่นอนว่าการระแวดระวังในความเปลี่ยนแปลงนี้ยังคงมีอยู่ในสังคมเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นนำทางปัญญา (ที่จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มักไม่เห็นประโยชน์ของการแปล หรือสนับสนุนให้เรากลับไปอ่านตัวบทในภาษาดั้งเดิมมากกว่าจะนำงานเหล่านั้นมาแปลในภาษาของเรา)

แต่ถ้าไม่มองกันในบทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ที่พูดมาแล้ว ผมก็เชื่อว่า ยังคงมีความต้องการงานแปลดีๆ ในหมู่ผู้อ่านอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเวลานี้ สิ่งที่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นก็คือการแปลงานยังคงมีความสำคัญ หรือมันไม่ใช่การบิดเบือนต้นฉบับหรือทำลายความหมายในภาษาดั้งเดิมเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ

กิตติพล สรัคคานนท์

ศูนย์ข่าว TCIJ : ทำไมต้องกำหนดระยะเวลาระดมทุนไว้ที่ 45 วัน

วรงค์ : เราเอาต้นแบบมาจาก Kickstarter ครับ และถ้าไม่มีกำหนดระยะมันจะเหมือนการตีกินไปเรื่อย เราก็ต้องมีหมุดหมายไว้นิดหนึ่ง ที่ Kictstarter กำหนดเวลาเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ในส่วนของโครงการวรรณกรรมไม่จำกัด การกำหนดเวลาก็เพื่อให้รู้ว่ามีคนสนใจงานคุณแค่ไหน ซึ่งก็เป็นงานแรกของเรา มันเหมือนกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน เชิญชวนคนอ่านมารู้จักกับวิธีการแบบนี้

ศูนย์ข่าว TCIJ : การกำหนดระยะเวลาการระดมทุนที่ 45 วัน ถ้าครบแล้วจำนวนเงินที่ระดมทุนไม่ถึงที่ตั้งไว้จะทำอย่างไร

วรงค์ : ตรงนี้ตอบเฉพาะหนังสือรีพับลิกก่อน คือคนที่ระดมทุนมายังไงก็จะได้รับหนังสือแน่นอนครับ เพราะโครงการนี้เราค่อนข้างระมัดระวังกับเล่มแรก นักแปลเขาแปลเรียบร้อยออกมาแล้ว ถ้าเกิดไม่มีโครงการนี้เราก็จะพิมพ์อยู่ดีกับสำนักพิมพ์พันหนึ่งราตรี เราก็เลยนำมาทดลองกับโครงการนี้ก่อน ต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่เราทำตอนนี้ถือว่าลัดวงจรอยู่เหมือนกัน เรากำลังเอาวิธีการของโครงการระดมทุนที่ชัดเจน มีคนเสนอโครงการเข้าร่วมประกวดกันเยอะ มีคนมาร่วมเยอะในต่างประเทศ มาใช้กับบ้านเราที่ยังไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่ ถ้าการระดมทุนไม่มีการกำหนดระยะเวลาเลย มันก็ดูไปต่อไม่ได้ ในเล่มต่อไปถ้าระดมทุนไม่ครบ เราก็ยังคงยังดันต่อไปให้หนังสือเกิดขึ้น แต่ถามว่าจะเข้าเนื้อมั้ย คือพวกเราก็คิดในแง่ความปลอดภัยของตัวเราเองพอสมควร

ขอให้ข้อมูลเพิ่มนิดหนึ่งครับ ในต่างประเทศอย่าง Kickstarter ไม่มีใครโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารนะ ทุกคนใช้บัตรเครดิต ซึ่งมันก็คือเครดิตไงครับ เขายังไม่ตัดเงินคุณนะ ถ้าโครงการคนมาระดมทุนเงินไม่ถึงเป้า เขาก็แค่บอกว่าไม่เอาเครดิตตรงนี้ แต่ถ้าระดมทุนถึงเขาถึงค่อยตัดเงินออกไป คือโลกมันไปไกลมากแล้ว แต่สิ่งที่เราทำมันเหมือนลัดวงจร

ศูนย์ข่าว TCIJ : ฟังแล้วน่าจะเป็นโครงการระยะยาว

กิตติพล : ครับ เป็นโครงการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งในแง่การแปลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนอ่านเข้าใจเป้าหมายของการระดมทุนตรงนี้

วรงค์ : คือเราก็พยายามเปลี่ยนความคิดของคนอ่านนั่นแหละครับ ถ้าพูดภาษาในแวดวงซอฟต์แวร์คือถ้าอยากได้ต้องทำเองและคุณก็สามารถทำได้ แล้วถ้าเห็นตรงไหนที่ไม่ชอบก็สามารถเปลี่ยนได้เองเลย โครงการนี้ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือคุณไม่ต้องมารอสำนักพิมพ์พิมพ์ให้อ่าน เราเปิดให้แม้กระทั่งว่า เอ๊ะ ตรงนี้แปลผิด คุณก็เข้าไปแก้สิ แก้ได้เลย เป็นเวอร์ชั่นของคุณ

ศูนย์ข่าว TCIJ : การเปิดให้วิพากษ์ วิจารณ์ และปรับเปลี่ยนได้ ทำให้นึกถึงวิกิพีเดีย แต่ถ้าเราเปิดให้วรรณกรรมแปลสามารถแก้ได้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนที่มาแก้ไข ปรับเปลี่ยน จะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ มากพอ

วรงค์ : วิกิพีเดียอาจจะต่างกับโครงการนี้นิดหนึ่ง คือวิกิพีเดียจะมีแพลตฟอร์มกลาง คนที่เข้ามาเปลี่ยนจะเปลี่ยนในนามของวิกิพีเดีย แต่โครงการนี้ ถ้าคุณเปลี่ยนหรือแก้ไขจุดที่คุณคิดว่าผิด คุณเปลี่ยนในนามของคุณ คุณกระจายต่อในนามของคุณ และคุณต้องรับผิดชอบเวอร์ชั่นของคุณ เพียงแต่เราเชื่อมั่นว่าคุณมีวิจารณญาณและความรับผิดชอบมากพอ ซึ่งความเชื่อนี้ก็เป็นความเชื่อเดียวกันกับการเคลื่อนไปเป็นแนวทางอย่างวิกิพีเดีย ที่เชื่อว่าคนที่เข้ามาแก้นั่นแหละจะควบคุมกันเอง ถ้าเราไปนั่งดูจะเห็นว่า คนแก้มั่วๆ ก็เยอะ แต่เขาเชื่อว่าคนที่เห็นว่ามันไม่ถูกต้องจะมาแก้กลับ คือมันต้องเชื่อตรงนี้ก่อนจึงจะเปิดให้มีอะไรแบบนี้ได้

ศูนย์ข่าว TCIJ : สมมติว่าผู้อ่านได้หนังสือมาแล้ว ปรากฏว่าหนังสือแปลผิด แล้วผู้อ่านจะทำอย่างไรกับหนังสือเล่มนั้น

กิตติพล : หนังสือที่เป็นฮาร์ดก็อปปี้สำหรับผมมันเหมือนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่วางอยู่ระหว่างสื่อในโลกที่เราอยู่กับโลกก่อนหน้านี้ อย่างที่บอกไปแล้วว่า เป้าหมายของการระดมทุนไม่ใช่การพรีออเดอร์หนังสือเล่มนั้น แต่หนังสือถือเป็น ‘สิ่งตอบแทน’ แก่ผู้ร่วมระดมทุนที่ให้เกิดการแปลผลงานที่แพร่กระจายไปสู่สาธารณชน แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราก็จัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาบนมาตรฐานและความรับผิดชอบของการผลิตหนังสือด้วยเหมือนกัน คือมีผ่านการดูแลแก้ไขเนื้อหา การจัดหน้า พิสูจน์อักษร แบบเดียวกับการทำหนังสือทุกอย่าง

แต่หนังสือทั่วไป ไม่เคยปล่อยแจกจ่ายตัวบทแปลให้ผู้อ่าน หรือให้สิทธิ์ แก่ผู้อ่านในการแก้ไขได้ตามใจ หรือถ้าใครเอาไปเผยแพร่ที่ไหนก็จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ พูดง่ายๆ ถ้าหนังสือเล่มนี้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจริง เราก็จะสามารถแก้ไขส่วนที่ผิดพลาดนั้นให้สมบูรณ์ขึ้นในฉบับที่เราเผยแพร่ออนไลน์ ดังนั้น ในฉบับพิมพ์ครั้งต่อๆ ไป (ที่เราไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสำนักพิมพ์หรือใครคนใด) ก็จะมีต้นฉบับที่ปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วรงค์ : ผมคิดว่าหนังสือแปลแบบพิมพ์เป็นเล่มอย่างทุกวันนี้ก็มีปัญหานี้เช่นกันเช่น ถ้ามันแปลผิดแล้วจะทำอย่างไร สิ่งที่เราทำก็เพื่อตอบคำถามนี้แหละ การพูดเรื่องถูกผิดในทางแปลวรรณกรรมบางครั้งมันก็พิสูจน์ถูกผิดได้ยากครับ ตรงนี้ก็คล้ายๆ กัน คุณบอกว่าแปลผิด โดยมากนักแปลเขาไม่เชื่อหรอกครับว่าเขาแปลผิด เขาคิดมาแล้วว่าต้องแปลแบบนี้ ถ้าคุณคิดว่าแปลผิด คุณก็ทำสำนวนของคุณออกมาเลยสิ ซึ่งเดิมทีคุณทำอะไรไม่ได้ เพราะมีแค่ตัวบทกับหนังสือเป็นเล่ม แต่นี่เราแจกบนอินเตอร์เน็ต คุณก็แปลของคุณออกมาเลยและขอให้คุณเชื่อในคนอ่าน ถ้าคุณแปลดีกว่า ถูกต้องกว่า ขอให้เชื่อว่าเดี๋ยวคนอ่านจะเอาเวอร์ชั่นของคุณเป็นฉบับที่ถูกต้อง

ศูนย์ข่าว TCIJ : พวกคุณบอกว่างานนี้จะเป็นของสาธารณะ ถ้าเกิดว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ นำไปพิมพ์ขาย ทำได้?

วรงค์ : ก็ไม่มีปัญหาครับ

กิตติพล : ในเงื่อนไขว่า ผู้ที่นำไปพิมพ์เผยได้ จะต้องระบุชื่อเจ้าของสำนวนแปลด้วยทุกครั้ง (จะเห็นได้ว่า นอกจากตัวบทที่แก้ไขได้ เรายังมีไฟล์จัดหน้าพร้อมพิมพ์ที่ใครก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ซึ่งก็แปลว่าสำนักพิมพ์ใดที่มีความต้องการเอางานดังกล่าวไปตีพิมพ์เผยแพร่ก็จะลดต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายเรื่องการจัดหน้า ค่าพิสูจน์อักษร หรือค่าต้นฉบับ ซึ่งทำให้สามารถจัดจำหน่าในราคาที่ไม่แพงได้อีกด้วย)

วรงค์ : คือเรายังถือว่านักแปลเป็นผู้สร้างสรรค์ เขาควรได้รับประโยชน์ตรงนี้ เพียงแต่เราไม่ได้จำกัดสิทธิ์การพิมพ์แต่ผู้เดียวเอาไว้เหมือนเดิม ก็คล้ายกับวรรณกรรมคลาสสิกของฝรั่งที่หมดความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์แล้ว ที่มีคนพิมพ์เต็มไปหมด แต่ไปแข่งกันที่การจัดหน้ากับการบรรณาธิการ แต่ไม่มีการผูกขาดสิทธิ์ในตัวบท เพราะมันกลายเป็นสมบัติสาธารณะแล้ว ถ้ามีคนเอาไปพิมพ์ ก็ดี แต่ว่าก็ทำออกมาดีๆ สิ คือให้การแข่งขันมันไปอยู่ตรงนี้

ศูนย์ข่าว TCIJ : เห็นว่าจะต้องแปลจากภาษาดั้งเดิมด้วย

วรงค์ : อันนี้เป็นความใฝ่ฝันของเรา

กิตติพล : อย่างที่เวธัส (เวธัส โพธารามิก ผู้แปล รีพับลิก) ทำนี่ก็ถือว่าเหนือความคาดหมายนิดหน่อย เพราะความสามารถในการแปลภาษากรีกโบราณก็เป็นเรื่องที่หาได้ไม่ง่ายในหมู่นักแปล ส่วนนักแปลที่เชี่ยวชาญภาษาอื่น ๆ ก็น่าจะยังมีอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับนักแปลที่เต็มใจเข้าร่วมโครงการนี้

วรงค์ : ที่เราเปิดตัวเองขึ้นมา ก็หวังว่าสักวัน คนที่รู้ภาษาอื่นๆ เขาจะยินดีมาร่วมงานกับเรา เราถึงเอาดอน กิโฆเต้ ไว้หลังๆ ไง (หัวเราะ) ขอให้ภาษาอังกฤษมีผลงานออกมาระดับหนึ่งก่อน แล้ววันหนึ่งพอมีคนเห็นอาจจะดึงคนที่รู้ภาษาอื่นๆ ที่สนใจมาร่วมงาน แต่เราก็ยอมรับว่ายาก อย่างภาษารัสเซียก็คงลำบาก แต่เราเชื่อว่าเราแก้ปัญหาได้ เพราะความที่มันเป็นสาธารณะทำให้ฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษารัสเซียมีเยอะ

ศูนย์ข่าว TCIJ : ใช้ชื่อโครงการว่า วรรณกรรมไม่จำกัด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้จำกัดแค่วรรณกรรม เพราะรีพับลิกถูกมองเป็นหนังสือปรัชญามากกว่า อนาคตอาจจะมีการแปลงานวิชาการดีๆ ออกมาด้วย?

กิตติพล : ก็มีคนถามเหมือนกันว่า ทำไมรีพับลิกถึงเป็นวรรณกรรม จริงๆ ถ้าตอบกันแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องพูดว่า วรรณกรรมนั้นก็รวมสิ่งที่เป็นข้อเขียนทั้งหมด (นิยามของรัชกาลที่ 6) แต่ถามว่าเราจะจำกัดไว้ที่ตรงไหนก่อน ตอนนี้เราคงจำกัดไว้ที่งานประเภทเรื่องแต่ง นวนิยาย งานเขียนที่โดยทั่วไปรู้จักันอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย

วรงค์ : คงอยู่ที่ความชำนาญของตัวบรรณาธิการด้วย เมื่อโครงการนี้เปิดตัวออกมาแล้วก็ไม่ได้หวังว่าเราจะเป็นจุดรวมของการทำอะไรแบบนี้คนเดียว แต่หวังว่าคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ จะทำ ถ้าโครงการนี้มีจุดที่สร้างบุคลิกได้ชัดเจนว่าเป็นวรรณกรรม ก็น่าจะทำให้คนอ่านมีภาพในหัวเกี่ยวกับโครงการนี้ชัดเจน อย่างงานรีพับลิก ฝรั่งเองก็พูดนะครับว่ามันเป็นงานวรรณกรรมปรัชญา มันไม่ใช่งานวิชาการปรัชญา คือมันดูเหมือนงานปรัชญาก็จริง แต่มันเขียนในรูปของวรรณกรรม

กิตติพล : หรือถึงแม้มันจะถูกใช้เป็นหนังสือสำคัญในแวดวงรัฐศาสตร์ แต่โดยตัวรูปแบบแล้วเราสามารถอ่านในเชิงวรรณกรรมได้ เพราะข้างในก็มีทั้งนิทาน มีทั้งบทเปรียบเปรยสองสามเรื่องที่คนจำได้ ผมคิดว่าโดยตัวรูปแบบมันเห็นเค้ารอยของความเป็นวรรณกรรม มีบทสนทนา มีตัวละครดำเนินเรื่อง

ศูนย์ข่าว TCIJ : คิดว่าในอนาคตจะขยายเป็นโมเดลทางธุรกิจได้หรือเปล่า

กิตติพล : มันควรต้องเป็นโมเดลทางธุรกิจรูปแบบหนึ่งครับ แต่อาจไม่ได้มีเป้าหมายหลักเป็นผลกำไรเพียงอย่างเดียว

วรงค์ : ผมคิดว่าเป็นโมเดลทางธุรกิจได้ แต่เราพยายามจะปรับโครงสร้างรายได้ให้ต่างจากหนังสือทั่วไป เดิมหนังสือคิดรายได้ออกมาโดยให้ความสำคัญกับแรงงานบางอย่างมากกว่าแรงงานบางอย่าง เช่น เราถือว่าแรงงานของการแปลสูงกว่าแรงงานในการพิสูจน์อักษร ดังนั้น นักแปลควรจะได้ค่าแปลในการพิมพ์ทุกครั้ง พิมพ์สองครั้งนักแปลได้ทั้งสองครั้ง แต่พิสูจน์อักษรได้ครั้งเดียวจบ เป็นโมเดลที่เชื่อว่านักแปลเป็นคนที่สำคัญที่สุดในงาน บรรณาธิการอาจจะสำคัญรองลงมา คนจัดหน้าสำคัญน้อยสุด

งานนี้เราอาจจะปรับนิดหนึ่ง โดยอาจจะบอกนักแปล ให้ร่วมมือกันหน่อย ทำให้เป็นเหมือนกับงานเหมารวม ดังนั้น พอไปดูราคาจะรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายของนักแปลจะราคาสูงกว่าปกตินิดหนึ่ง แต่เราถือว่ามันเป็นงานเหมา เพราะเมื่อเสร็จแล้ว งานแปลจะกลายเป็นสมบัติสาธารณะทันที ไม่ได้เก็บไว้ที่คุณ แล้วผูกขาดไปตลอดเหมือนวิธีคิดแบบเดิม ไม่ใช่ว่าเราไม่แสวงหากำไร เราก็ได้กำไร แต่จะไม่ตีกินเหมือนเดิม แต่เดิมสำนักพิมพ์เป็นคนลงทุน เราก็ถือว่าคนลงทุนเป็นคนแบกรับความเสี่ยง เขาควรจะได้มากเป็นพิเศษ ถ้าตีพิมพ์ครั้งที่สองก็ควรได้มากกว่าเดิม แต่คราวนี้เราระดมทุน ดังนั้น คนกลางไม่ควรจะได้ประโยชน์ตรงนี้ การระดมทุนคนที่ได้ประโยชน์ควรเป็นสาธารณชน นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ

แต่เราไม่ได้ทำเพื่อการกุศล เพราะคนทำทุกคนก็จะได้ค่าตอบแทน และคิดว่าเป็นค่าตอบแทนที่คุ้ม เพียงแต่เราปฏิเสธค่าลิขสิทธิ์ที่ตีกินยาว ซึ่งถามว่ามันจะเวิร์คมั้ย เรากำลังทดลองอยู่ครับ เพราะคนที่คิดเรื่องพวกนี้เชื่อว่าการทำแบบนี้ทำให้งานสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้

กิตติพล : แต่ต้องมองด้วยว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าไปเสนอสำนักพิมพ์ทั่วไป ถ้าเขาไม่พิมพ์ มันไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นถ้าไม่มีพลังของนักอ่าน โอกาสที่งานวรรณกรรมดีๆ จะได้รับการเผยแพร่ ก็จะมี แต่ก็น้อยมาก หรือทำได้ก็อาจเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่าพิมพ์แบบจำกัด

ศูนย์ข่าว TCIJ : พวกคุณคาดหวังกับโครงการวรรณกรรมไม่จำกัดไว้แค่ไหน จะถึงกับช่วยเขย่าหรือสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในวงการธุรกิจหนังสือให้มีที่ทางสำหรับหนังสือแปลดีๆ ได้หรือเปล่า

วรงค์ : ผมคิดว่าเรื่องของการเขย่าวงการ มันเหมือนกับเรายังมองในแง่ธุรกิจที่ต้องมีใครสักคนทำให้ตัวเองมีอิทธิพลแล้ววงการเปลี่ยนแปลงตาม ผมมองโครงการนี้ในในแง่การตอบต่อตัวเองมากกว่าครับว่า เราก็เป็นคนอ่านหนังสือคนหนึ่ง แต่ทำไมหนังสือที่เราอยากอ่านจึงไม่มี ส่วนในระดับวงการ เราเห็นว่าวงการมีปัญหาอยู่ เราจึงพยายามจะแก้ปัญหา ถ้าเห็นว่าแนวทางนี้แก้ปัญหาได้ก็หวังว่าคนอื่นจะลองนำไปประยุกต์ และถ้ามีคนอื่นมีวิธีที่ดีกว่า เราก็พร้อมจะนำแนวคิดของคนอื่นมาประยุกต์เหมือนกัน

ในโลกที่เปิดแบบนี้ มันไม่มีใครเป็นเจ้าของความคิด เห็นอะไรดีเราก็แชร์ คนอื่นก็เอาไปแชร์ต่อ สิ่งที่เราหวังมากคือให้มันเกิดการแชร์แบบนี้ หวังให้วงการเปิดตัวมากกว่านี้ ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาบางอย่างที่มีอยู่ตอนนี้ได้

กิตติพล : ผมมองในอีกด้านหนึ่งด้วยคือ เรื่องของตัวบท หรือชีวิตของตัวบทที่มีอยู่ในแวดวงวรรณกรรมของเรา ถ้าโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ของมันจริงๆ ก็คงมีอีกหลายเรื่องหลังจากนี้ให้เราได้พูดคุยถกเถียงกันจากการได้อ่านตัวบทใหม่ๆ ที่เข้าไปเคาะถึงประตูบ้าน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: