บทวิเคราะห์ : กรณีเขื่อนแม่วงก์       ก็เป็นเรื่องประชาธิปไตย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 21 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1966 ครั้ง

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเขื่อนโจมตีว่า การค้านเขื่อนมีสื่อหนุนช่วยมหาศาล เป็นเรื่องคนชั้นกลางดัดจริต  พวกคัดค้านคือคนกรุงเทพฯ เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ หรือในกรณีสุดขั้วก็คือ พวกค้านเขื่อนเป็นพวกเดียวกับฝ่ายฆ่าประชาชนในปี 2553 ฯลฯ ราวกับฝ่ายอยากได้เขื่อนมีสื่อในมือน้อยมาก คนได้สัมปทานตัดไม้ใต้เขื่อนคือคนที่จริงใจที่สุด หรือคนต่างจังหวัดทุกคนอยากได้เขื่อนเหมือนกัน สิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนเขื่อนไม่ได้ตอบเลยก็คือ ทำไมการประท้วงเขื่อนแม่วงก์ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้?

หัวใจของการเดินเท้าค้านเขื่อนและการชุมนุมต้านเขื่อนที่ตามมา คือการเป็นปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้พลเมือง ซึ่งมีความกระตือรือร้นในเรื่องส่วนรวม ได้แสดงตัวตนออกมาได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยสถาบันตัวแทนทางการเมืองแบบปกติ จะเรียกความกระตือรือร้นนี้ว่า “จิตสาธารณะ” หรือ “การเมืองเชิงประเด็น” (single-issue politics) ก็ย่อมได้ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า คำนี้ในบริบทนี้ต่างจากที่กลุ่มหมอประเวศหรือสภาพัฒนาการเมืองเขาใช้กัน

ทำไมการแสดงตัวตนโดยไม่ผ่านสถาบันตัวแทนทางการเมืองถึงมีความสำคัญสำหรับพลเมืองกลุ่มนี้?

คำตอบคือการเมืองไทยในช่วงหลังปี 2549 เป็นการเมืองแบบแบ่งขั้ว ที่เริ่มจากพรรคการเมืองสู่ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ก่อนจะขยายตัวเป็นการแบ่งขั้วระหว่างอุดมการณ์การเมืองสองแบบ ซ้ำในที่สุดการแบ่งขั้วทุกอย่างก็ผสมปนเปกัน จนสถาบันการเมืองแบบทางการอย่างรัฐสภาหรือพรรคการเมือง ถูกดูดให้เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งขั้วไปด้วย ผลก็คือการสูญเสียความสามารถในการอ้างว่าเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มในสังคมไปแทบสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แม้การเมืองแบบแบ่งขั้วจะเป็นเรื่องใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับประสบการณ์ในสังคมอื่นแล้ว การแบ่งขั้วในสังคมไทย ถือว่ามีขอบเขตที่เล็กมาก เหตุผลคือเราไม่มีการแบ่งขั้วในประชาสังคม ที่เดินคู่ขนานไปกับการแบ่งขั้วทางการเมืองระดับชาติ จนเห็นได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น เราไม่มีสภาแรงงานเหลืองกับสภาแรงงานแดง ไม่มีชาวนาเหลืองกับชาวนาแดงในความหมายที่เคร่งครัด หรือกระทั่งไม่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองในระดับโครงสร้างสังคม

พูดสั้น ๆ ก็คือ การแบ่งขั้วมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างการเป็นปฏิกริยาต่อความไม่พอใจเฉพาะหน้ากับการมีฐานที่มั่นในโครงสร้างสังคมระยะยาว

แน่นอน การเมืองแบบแบ่งขั้วนี้ครอบคลุมคนจำนวนมากของประเทศ แต่ก็มีคนหลายกลุ่มที่อัตลักษณ์ทางการเมืองของพวกเขา ไม่ลงตัวกับการแบ่งขั้วนี้โดยสมบูรณ์ คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้สนับสนุนการเมืองแบบแบ่งขั้วแน่ ๆ ไม่ต้องพูดการที่การเมืองแบบแบ่งขั้วเพิ่งเกิดในเวลานิดเดียว จนง่ายเหลือเกินที่จะถูกย่อยสลายทิ้งไป

พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงหรือเสื้อหลากสี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคลั่งเจ้าหรือฝ่ายล้มเจ้า ทั้งหมดนี้มีช่องโหว่ในหลายเรื่องเหมือนกัน เช่น ความเสมอภาคทางเพศวิถี การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม การใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน และช่องโหว่พวกนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงทางการเมืองที่มี่น้ำหนักมากพอจะทำให้ผู้คนหันหลังให้การเมืองแบบแบ่งขั้วได้ตลอดเวลา

มองในแง่นี้ คนที่ไม่ถูกรวมอยู่ในการเมืองแบบแบ่งขั้ว เป็นคนกลุ่มที่มีความมุ่งมั่นที่สุด ที่จะมีที่ทางทางการเมืองในสภาพปัจจุบัน และการเมืองเรื่องการค้านเขื่อนแม่วงก์ เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีบทบาทได้เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นในช่วงที่ผ่านมา

น่าสังเกตด้วยว่า การต่อสู้ทางการเมืองแบบแบ่งขั้วทุกระดับ มีประเด็นใจกลางอยู่ที่ความพยายามช่วงชิงคะแนนเสียงและความสนับสนุนทางการเมืองจากคนสองกลุ่ม คนกลุ่มแรกคือคนกลุ่มที่เรียกว่าคนชั้นกลางใหม่ในชนบท ส่วนคนกลุ่มที่สองคือเกษตรกรที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ผลก็คือคนชั้นกลางในเขตเมืองและเกษตรกรระดับล่างในชนบทเป็นคนกลุ่มที่มีความสำคัญไม่มากนักในฉากการเมืองแบบนี้ไปโดยปริยาย

แม้ขั้วการเมืองทุกฝ่ายมีแนวโน้มจะสนใจคนสองกลุ่มนี้น้อยลงเหมือนกัน  แต่เป็นธรรมดาว่า ขั้วที่ชนะเลือกตั้งจนเป็นรัฐบาลต้องถูกคนสองกลุ่มนี้มองเห็นในฐานะศัตรูมากกว่าฝ่ายอื่นอย่างเทียบไม่ได้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย ความขาดตกบกพร่องของนโยบายจึงเชื่อมโยงกับฝ่ายที่เป็นรัฐบาลในทางใดทางหนึ่งได้เสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนชั้นกลางในเมืองกับเกษตรกรระดับล่างจะเป็นฐานมวลชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา

การคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

ความหลากหลายที่น่าประทับใจของผู้คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ที่มีตั้งแต่คนชั้นกลาง ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ หมอ นักเขียน เสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อหลากสี กรรมกร ฯลฯ เป็นการแสดงให้เห็นของการฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งของประชาสังคมและการเมืองเชิงประเด็น ที่แทบไม่มีพื้นที่ในสังคมไทยหลังรัฐประหาร 2549 ถึงแม้ศูนย์กลางที่โดดเด่นที่สุดของคนกลุ่มนี้ จะได้แก่คนชั้นกลางในเมือง ซึ่งรู้สึกว่าไม่มีคนกลุ่มไหนในระบบการเมืองที่เป็นตัวแทนของพวกเขาในระดับที่น่าพอใจ

เพราะคนเหล่านี้มีทักษะในการใช้สื่อสมัยใหม่ และเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร สนามปฏิบัติการของพวกเขาจึงอยู่ที่โซเชียลมีเดียและสังคมออนไลน์ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตแค่ในฐานะเครื่องมือสำหรับระดมความสนับสนุนทางการเมืองในแง่มุมต่าง ๆ แต่อินเตอร์เน็ตคือเบ้าหลอมเสมือนทางวัฒนธรรมในการแสดงให้ “คนรุ่นใหม่” เห็นว่าอะไรคือการรวมตัวที่เท่ห์ มีเสน่ห์ สังคมรับได้ หรืออีกนัยคือการช่วงชิงนิยามว่าอะไรเป็นความรู้สึกร่วมทางการเมืองของคนรุ่นเดียวกัน

ถึงตรงนี้ การคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่แค่การคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่ทำลายสภาพแวดล้อมอีกต่อไป แต่การคัดค้านเขื่อนแม่วงก์สร้างความรู้สึกถึงความมีตัวแทนและตัวตน ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความเคลื่อนไหวอันเต็มไปด้วยสีสัน สนุกสนาน โรแมนติค มีความหลากหลาย และที่สำคัญคือมีความสมเหตุสมผลจนยากที่จะโต้แย้งได้ในยุคสมัยที่รัฐบาลพร่ำบอกมาเป็นสิบ ๆ ปีว่าเมืองไทยเหลือป่าน้อยจนไม่ต้องเถียงแล้วว่า จะทำลายป่าตรงไหนดี

ข่าวดีสำหรับฝ่ายอยากสร้างเขื่อนคือ คุณไม่มีวันเห็นการเมืองบนท้องถนน หรือการปลุกระดมมวลชนอย่างคลุ้มคลั่งโดยฝ่ายค้านเขื่อนแบบนี้ แต่ข่าวร้ายคือการต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสารแบบอารยะเป็นเรื่องที่รัฐไทยมองข้ามมาโดยตลอด เมื่อเทียบกับความทุ่มเทในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารวิธีต่าง ๆ สมรภูมินี้จึงเป็นสมรภูมิที่รัฐคุมไม่ได้  มีโอกาสแพ้น้อยกว่าชนะ ซ้ำการปิดกั้นข่าวสารในโลกออนไลน์ในกรณีเขื่อนแม่วงก์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ เสียงเรียกร้องของฝ่ายค้านเขื่อน เรื่องให้ต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสาร จึงถูกตอบโต้ด้วยยุทธการเพื่อดึงเขื่อนไปสู่การเมืองมวลชนแบบแบ่งขั้วอย่างถึงที่สุด แม้กระทั่งทำให้เขื่อนเป็นการเมือง ถึงขั้นพร้อมสร้างการเผชิญหน้า ระหว่างมวลชนในพื้นที่กับผู้เดินค้านเขื่อนคนเดียวก็ทำได้ ไม่ต้องพูดถึงการประดิษฐ์ตรรกะวิปลาสประเภทการสร้างเขื่อนเท่ากับประชาธิปไตย เพราะแสดงความรับผิดชอบที่รัฐบาลมีต่อความต้องการของประชาชน

ความเห็นต่างเรื่องเขื่อนกลายเป็นการเมืองเรื่องเขื่อนไป เพราะการกระทำแบบนี้ และความโหดเหี้ยมทางวาทกรรมแบบนี้ตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากความไม่มั่นใจในการต่อสู้ทางข้อมูลที่โปร่งใสจริง ๆ

โศกนาฏกรรมของสังคมไทยหลังรัฐประหาร 2549 คือการถูกกดดันให้จมจ่อมกับการบอกว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของเสียงส่วนใหญ่ เพื่อตอบโต้วาทกรรมปฏิปักษ์ประชาธิปไตยของฝ่ายอนุรักษ์นิยม  ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงที่สุด คือการอนุมานว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำอะไรก็เท่ากับประชาธิปไตยไปหมด ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยทำหน้าที่เพียงแสดงให้เห็นเจตจำนงของประชาชนว่าเขาต้องการใครเป็นผู้ปกครองสูงสุดเท่านั้นเอง

ภายใต้กระแสสูงของการเมืองแบบแบ่งขั้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักพูดและนักปราศรัยมีอิทธิพลผ่านการปลุกระดมจนสังคมไทยล้มเหลวในการได้มาซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสาธารณะในหลายมิติ การถกเถียงเรื่องเขื่อนแม่วงก์เป็นประตูบานใหญ่ที่มีศักยภาพจะเปิดสังคมไทยไปสู่โลกนอกการถกเถียงแบบต่อปากต่อคำที่ครอบงำอยู่ในขณะนี้ ความสำเร็จของการถกเถียงเรื่องนี้มีผลโดยตรงต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยแบบปกติให้กลับคืนมาในสังคมไทย

ถึงที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยไม่ใช่การละเมิดข้อตกลงเบื้องต้นที่ต่อให้เสียงส่วนใหญ่ก็ล้มล้างไม่ได้ การทำทุกอย่างให้เป็นสาธารณะคือหนึ่งในข้อตกลงเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดในระบบประชาธิปไตย

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: