'ศาลรธน.'ชี้แก้ที่มาส.ว.ผิดกระบวนการ มีมติ'5ต่อ4'ให้ยกคำร้องเรื่องยุบพรรค

20 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1408 ครั้ง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัย คำร้อง 4 ฉบับ ที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ  นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับคณะ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ ยื่นขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 68 กรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กับพวก ซึ่งเป็น ส.ส.และ ส.ว.รวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ไม่ชอบทั้งในเชิงรูปแบบ กระบวนการ และเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ ว่าการกระทำของนายสมศักดิ์ กับพวกเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งคำร้องของพล.อ.สมเจตน์นั้น ได้ระบุขอให้ยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่ผู้ร้องมีนายสมชาย แสวงการ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายวิรัตน์ และนายพีระพันธุ์มาศาล ส่วนฝ่าย ส.ส.-ส.ว. นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ได้มอบหมายผู้อื่นมาฟังคำวินิจฉัยแทน ส่วน ส.ส.-ส.ว.ที่เหลืออีก 311 ราย ไม่ได้มาศาล โดยองค์คณะได้มอบหมายให้นายจรูญ อินทจาร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยในคดีนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 50 นาทีจึงแล้วเสร็จ

ขณะที่ศาลพิเคราะห์คำร้อง เอกสารประกอบ และการไต่สวนพยานหลักฐาน รวมทั้งคำแถลงการณ์ปิดคดีแล้วเห็นว่าคดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะมีคำวินิจฉัยได้ จึงกำหนดประเด็นวินิจฉัย 2 ข้อ 1.กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฯ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...พ.ศ.... มีลักษณะและการกระทำที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่  และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

แต่ก่อนเริ่มวินิจฉัย 2 ประเด็น มีปัญหาต้องวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯหรือไม่ ศาลเห็นว่า ตามหลักการประชาธิปไตยที่มี 3 อำนาจ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ให้มีการถ่วงดุลกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า องค์กร สถาบันการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนไทย โดยปราศจากการขัดกันของผลประโยชน์ ไม่ประสงค์ให้องค์กรใดบิดเบือนการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้หลักการจะให้ยึดถือเสียงข้างมาก แต่ถ้ากระทำการโดยอำเภอใจ กดขี่ข่มเหงเสียงข้างน้อยโดยไม่ฟังเหตุผลและไม่มีที่ยืน ย่อมกลายเป็นปัญหาการถ่วงดุล และหากให้ปล่อยฝ่ายใดมีอำนาจปราศจากการตรวจสอบ จะทำให้ประเทศเสื่อมลง ขณะที่การใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการตรวจสอบไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการใดที่จะนำไปสู่ความเสียหาย เสื่อมโทรม ของประเทศชาติ หรือวิวาทบาดหมางของประชาชน ก็ย่อมขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 216 วรรค 5 ก็ได้ระบุชัด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา เมื่อพิจารณาแล้ว ผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 68 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้ในวินิจฉัยได้

ส่วนกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฯ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่...พ.ศ.... มีลักษณะและการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ศาลเห็นว่า ร่างแก้ไขที่มีการเสนอประชุมสภาในการรับหลักการวาระ 1 นั้น ไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะ ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญในมาตรา 116 (2) ที่ให้ ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที การกระทำตังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติว่าร่างที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชเสนอ จึงเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดบทบัญญัติมาตรา 291 (1)

นอกจากนี้การตัดสิทธิการอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คน ทั้งที่ยังไม่มีการฟังการอภิปรายเลย แม้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจในการสั่งให้ปิดการอภิปราย แต่ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบ และเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติที่มีการสรุปให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เม.ย. ส่งผลให้วันแปรญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่กำหนดไว้ 15-20 วัน นับแต่วันที่รับหลักการวาระที่ 1 เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 และขัดต่อหลักนิติธรรม ที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 3

อีกทั้งการเสียบบัตรแสดงตนของ ส.ส. ในการลงคะแนน ก็มีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และวิดีทัศน์บันทึกการประชุม เพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่านายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน ทั้งที่การใช้สิทธิลงคะแนนตามหลักกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้นระบุว่า สมาชิก 1 คน สามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนไว้ เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มของร่างรัฐธรรมนูญ ฯ นั้น มีลักษณะเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ใช่วิถีทางที่บัญญัติไว้ในในรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ ฯ ปี 50 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหาที่มาจากหลากหลายวิชาการในสัดส่วนที่เท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีแม่แบบมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 40 และได้นำข้อบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว.จากรัฐธรรมนูญ ปี 40 มากำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะลงสมัครต้องไม่เป็นสามีภรรยาและบุตรของผู้ที่เป็น ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งหากพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้วต้องเว้นวรรคการลงสมัครรอบใหม่ไม่น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนาให้องค์กรวุฒิสภา เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และกลั่นกรองตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ลงสมัคร ส.ว.ให้ใกล้เคียงกับผู้ลงสมัคร ส.ส. เท่ากับเป็นการแก้ไขไปสู่จุดสูญสิ้น เป็นการนำพาชาติถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นสภาผัวเมีย นำไปสู่การผูกขาด กระทบต่อการปกครองประเทศ เปิดช่องให้ผู้ที่สามารถควบคุมกลไกดังกล่าว ใช้วุฒิสภาให้ได้มาเพื่ออำนาจในการปกครอง อีกทั้งยังเป็นการทำลายการเป็นสภาถ่วงดุลของ ส.ว.ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา และกระบวนการของการแก้ไข ที่พบว่ารวบรัดไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรับธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ,125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง 126 วรรคหนึ่ง , มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค สอง

และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับคำร้องขอให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์ 312 ส.ส.-ส.ว.นั้นยังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ฯ  มาตรา 68 วรรค 3 และวรรค 4 ที่จะยุบพรรค จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้

 

ขอบคุณข่าวจากคมชัดลึก

อ่านข่าวออนไลน์จากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: