ชำแหละ‘แก๊งแมวน้ำ’จุดบอดท่องเที่ยว คนวงในแฉมีทั้ง‘บ.ทัวร์-เอเย่นต์-ตำรวจ’

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2905 ครั้ง

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยปี 2555 สูงถึง 22,303,065 คน สร้างรายได้เข้าประเทศมากถึง 965,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงร้อยละ 24 ยังไม่นับการจัดอันดับเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของนิตยสารหรือเว็บไซต์ต่างประเทศ ที่ประเทศไทยมักจะติดอันดับต้นอยู่เสมอ บ่งบอกชัดเจนถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวของไทยในเชิงเศรษฐกิจ ล่าสุด กรุงเทพมหานครได้รับการจัดให้เป็น “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2556” (World’s Best City Award 2013)  จากผู้อ่าน   นิตยสารเทรเวล แอนด์เลเชอร์ (Travel & Leisure) อีกด้วย

แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเอารัดเอาเปรียบหรือหาประโยชน์จากนักท่องเที่ยวโดยผิดกฎหมายจากกลุ่มแก๊งต่าง ๆ ยังมีอยู่อีกมาก สร้างความเสียหายในแง่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไม่น้อย รูปแบบการก่ออาชญากรรมกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศรูปแบบหนึ่ง ที่มีข่าวอยู่เป็นระยะคือ การขโมยทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว โดยขบวนการที่เรียกว่า ‘แก๊งค์แมวน้ำ’ ซึ่งมีมาแล้วหลายปี และยังคงปฏิบัติการอยู่จนถึงทุกวันนี้

ศูนย์ข่าว TCIJ สืบเสาะหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวรายหนึ่ง ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจทัวร์รถ 30 หรือ ทะเบียนท่องเที่ยว ทำให้ทราบว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ขโมยของมีค่าจากนักท่องเที่ยว เป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งเท่านั้น ยังมีตัวละครหลักอยู่อีก 2 กลุ่มคือบริษัททัวร์และเจ้าหน้าที่รัฐ

ธุรกิจรถ 30 ถนนข้าวสารบูม เอเย่นต์นับพันราย

ถนนข้าวสารถือเป็นแหล่งรวมนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ทำให้มีธุรกิจต่อเนื่องจำนวนมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สถานบันเทิง ร้านขายของที่ระลึก รวมไปถึงธุรกิจรถทัวร์ แหล่งข่าวในวงการรถ 30 เปิดเผยกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า บริษัทรถทัวร์ที่ประกอบกิจการเป็นที่รู้จักของเอเย่นต์ทัวร์มีอยู่หลายบริษัท เช่น ลมพระยา, ดิเรก, โอเอส, ไฟนอล เป็นต้น  โดยการหาลูกค้าของบริษัทรถทัวร์ต่าง ๆ จะทำผ่านตัวแทนขายหรือเอเย่นต์เหล่านี้

จากการลงพื้นที่สำรวจถนนข้าวสารและสอบถามจากเอเย่นต์ขายตั๋วรถทัวร์บางรายบอกว่า ย่านถนนข้าวสาร ถนนรามบุตรี เลยไปถึงบริเวณสามเสนซอยต้น ๆ น่าจะมีเอเย่นต์และบริษัททัวร์อยู่ถึงหลักพัน ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

รูปแบบการทำธุรกิจ คือบริษัทรถทัวร์จะเสนอขายทัวร์ที่ราคาขั้นต่ำให้แก่เอเย่นต์ โดยให้เอเย่นต์ไปบวกราคาเพิ่มเอาเอง ราคาที่บวกเพิ่มจะอยู่ที่ประมาณ 50-150 บาท เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ บริษัทรถทัวร์ขอค่าตั๋ว 350 บาท เมื่อเอเย่นต์บวกเพิ่มแล้ว ราคาที่ขายให้แก่นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 บาท ซึ่งราคานี้สามารถขึ้นลงตามการต่อรองและลักษณะของลูกค้า เมื่อเอเย่นต์แต่ละรายได้ลูกค้าแล้วก็จะติดต่อกับบริษัทรถทัวร์ เช่น บริษัท ก. มีเอเย่นต์ 20 ราย แต่ละรายส่งลูกค้าให้ตามแต่ที่หาได้ เมื่อรวมกันเข้าก็จะได้จำนวนมากพอ ลูกค้าชาวต่างประเทศจะไปรอยังจุดนัดพบ ก่อนจะมีคนพาไปยังจุดที่รถทัวร์จอด เช่น บริเวณหัวโค้งเชิงสะพานปิ่นเกล้า หรือหน้าโรงแรมนิวสยาม บนถนนพระอาทิตย์ เป็นต้น

ค่าตั๋ว กทม.-เชียงใหม่ แค่ 350 กังขาบริษัททัวร์อยู่ได้อย่างไร

ค่าตั๋วกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่จะต้องให้แก่บริษัทรถทัวร์ แหล่งข่าวและเอเย่นต์ในพื้นที่บอกตรงกันคือ 350 บาท จะสังเกตได้ว่าเป็นราคาที่ต่ำมาก เพราะหากเทียบกับราคาค่าโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด พบว่า ค่าโดยสารกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เดือนสิงหาคม รถปรับอากาศชั้น 2 อยู่ที่ 438 บาท, รถปรับอากาศชั้น 1 ราคา 563 บาท และรถวีไอพี ราคา 876 บาท ขณะที่ค่าโดยสารบนเส้นทางเดียวกันของ บริษัท สมบัติทัวร์ รถปรับอากาศชั้น 1 ราคา 563 บาท, รถปรับอากาศพิเศษ ราคา 657 บาท และรถวีไอพี ราคา 876 บาท ส่วน บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีแบบโกลด์คลาส ราคา 657 บาท และแบบเฟิร์สคลาส ราคา 876 บาท

จึงชวนสงสัยว่าค่าโดยสารของรถทัวร์ 30 บนถนนข้าวสารจะคุ้มกับต้นทุนของบริษัทรถทัวร์ที่มีทั้งค่าเช่ารถค่าจ้างคนขับและค่าน้ำมันรถได้อย่างไร

เมื่อสอบถามไปยังบริษัท ขนส่ง จำกัด ซึ่งมีบริการรถทัวร์เช่าเหมาคันหรือรถ 30 เกี่ยวกับค่าน้ำมันรถของเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ พบว่า ใช้น้ำมันประมาณ 2.5 ลิตรต่อกิโลเมตร หากเป็นรถทัวร์ 2 ชั้น 8 ล้อ ค่าน้ำมันจะตกราว 12,000 บาทต่อเที่ยว ถ้าเป็นรถทัวร์ 1ชั้น 6 ล้อ ค่าน้ำมันอยู่ที่ 11,000 บาทต่อเที่ยว  อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณของศูนย์ข่าว TCIJ โดยอ้างอิงข้อมูลที่การใช้น้ำมัน 2.5 กิโลเมตรต่อลิตร คำนวณด้วยระยะทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 696  กิโลเมตร   อิงกับราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2556 ที่ 29.99 บาท ค่าน้ำมันรถบัสทัวร์ต่อเที่ยวเท่ากับ 8,349.22  บาท

รถทัวร์ 30 โดยปกติจุนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 36 คน หากการวิ่งรถแต่ละเที่ยวมีผู้โดยสารเต็มคันเท่ากับบริษัทรถทัวร์จะได้ค่าโดยสาร (36 X 350) =12,600 บาท ทว่า เงินจำนวนนี้ไม่ใช่เงินที่บริษัทรถทัวร์ได้ไปทั้งหมด เพราะยังต้องหักเป็นค่าจ้างให้แก่คนขับรถ 2 คน ในอัตรา 150 บาทต่อผู้โดยสาร 1 หัว  เท่ากับการวิ่งรถจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ต้องจ่ายค่าคนขับรถ (รวมเด็กรถ) 5,400 บาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันรถเข้าอีก ไม่ว่าจะคำนวณจากราคาน้ำมันดีเซลคูณด้วยจำนวนระยะทางหรืออิงกับค่าน้ำมันของ บขส. รายได้จากค่าโดยสารจะไม่เหลือเลย หรือถึงขนาดขาดทุนกันทีเดียว

คำถามคือ  บริษัทรถทัวร์จะอยู่ได้อย่างไรในสภาพที่ต้นทุนสูงมากกว่ารายได้ถึงขนาดนี้

แก๊งค์แมวน้ำขโมยของนักท่องเที่ยวโปะขาดทุน

ช่องทางการหารายได้ทั่ว ๆ ไปของบริษัทรถทัวร์ คือการขายโปรแกรมทัวร์ต่าง ๆ การบริการหาที่พักแก่นักท่องเที่ยว โดยติดต่อกับโรงแรมให้ หรือการบริการทำวีซ่าผ่านแดน ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางไปเที่ยวยังประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ ประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งก็มีทั้งที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพปะปนกัน

แต่อีกช่องทางหนึ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอคือ การขโมยทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ที่มักเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ หรือที่เรียกกันว่า แก๊งค์แมวน้ำ สถิติจากกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ในปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม เกิดการขโมยทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 90 ราย

พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ให้ข้อมูลแก่ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ค่ารถทัวร์ที่ออกจากถนนข้าวสารราคาถูกกว่าความเป็นจริงมาก จนยากที่จะคุ้มทุน การลักขโมยทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวจึงเป็นหนทางหนึ่งที่มิจฉาชีพบางคนเลือกใช้

            “เอเย่นต์ที่ทำคนเดียวหรือเป็นบริษัทก็แล้วแต่ สมมตินัดกัน 18.50 เจอตรงหน้าเกสต์เฮ้าส์ เอากระเป๋ามาให้พร้อม เขาก็จะให้ตั๋วมาใบหนึ่งเป็นเศษกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ถึงเวลาจะมีคนถือธงเดินมาให้นักท่องเที่ยวเดินตาม เดินจากท้ายซอยถึงปากซอย ก็ได้นักท่องเที่ยวจากหย่อมนี้ทีหย่อมนั้นทีรวมกัน พอมาถึงปุ๊บก็โทรศัพท์ให้รถมารับ พอนักท่องเที่ยวขึ้นก็ดึงตั๋วออกในลักษณะที่ว่าไม่ให้มีหลักฐานให้ใครไปอ้างได้ว่าแยกกรุ๊ปมา หรือกระทำการเข้าข่ายการซื้อตั๋วประจำทางเพื่อเดินทางเหมือนรถประจำทาง"

            “แล้วเจ้าของรถก็จะทำหนังสือสัญญาให้เช่าเหมาคันกับคนขับ ถ้ามองตามกฎหมายแบบตื้น ๆ ก็ถือว่าเช่าเหมา แต่จริง ๆ แล้วไม่สามารถมาทำในลักษณะของรถประจำทางได้ แต่เขาก็หลีกเลี่ยงกฎหมายโดยวิธีนี้ พอเราไปตรวจเขาก็บอกว่า ผมเช่าจากเจ้าของรถ มันก็จะเป็นปัญหา แต่เราก็จับบ่อย ซึ่งการจับเราก็ต้องเตรียมรถไว้อีกคันหนึ่ง เพราะถ้ายังไม่เคลื่อนรถถือว่ายังไม่ดำเนินการ พอรถเคลื่อนไปเราจะจับ ปัญหาคือมีนักท่องเที่ยวเต็มคัน เราก็ต้องเตรียมรถไว้สำรองให้นักท่องเที่ยวลงแล้วขึ้นรถอีกคัน แล้วเราก็จับกุม ข้อหาประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเราต้องได้รับความร่วมมือจากขนส่งทางบก”

ตร.ท่องเที่ยวเผยวิธีโจรกรรมแก๊งแมวน้ำ

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจนี้เปิดเผยว่า รถทัวร์ 30 ที่เป็นแก๊งมิจฉาชีพ แต่ละคันจะมีผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อย 3 คนคือคนขับรถ 2 และเด็กรถ 1 ในจำนวนนี้จะมีคนที่ทำหน้าที่ขโมยทรัพย์สินนักท่องเที่ยวที่เรียกกันว่า ‘นักร้อง’ ซึ่งมาจากคำว่า นักล้วง แหล่งข่าวเล่าว่า พวกนักร้องจะมีความชำนาญมาก บางรายสามารถถอดแหวนจากนิ้วมือของนักท่องเที่ยวได้โดยเจ้าของไม่รู้ตัว หรือกรณีที่รถคันนั้นทำช่องลับ เชื่อมต่อไปยังห้องเก็บกระเป๋านักท่องเที่ยว นักร้องก็จะเลื้อยเข้าไปในช่องนี้เพื่อเข้าสู่ห้องเก็บกระเป๋า

            “บางคันที่มีช่องลับ นักร้องก็เลื้อยลงไป ข้างในจะมีแอร์ มีพัดลมเย็นสบาย เลื้อยไปค้นกระเป๋านักท่องเที่ยว พาสปอร์ต 1 เล่ม ขายได้ถึง 4,000 บาท ยิ่งถ้าเป็นของญี่ปุ่นยิ่งแพง”

ด้าน พ.ต.อ.อาชยนให้ข้อมูลว่า การลักทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวจะมี 2 รูปแบบคือ การขโมยขณะรถกำลังวิ่ง ช่วงที่นักท่องเที่ยวหลับหรือลักทรัพย์จากกระเป๋าที่อยู่ใต้ท้องรถ ผ่านทางช่องลับที่เปิดไปถึง อีกแบบคือขณะที่รถจอดพักให้นักท่องเที่ยวลงไปรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ

            “ช่วงกลางคืนเวลาที่รถวิ่ง จะมีเด็กรถตัวเล็ก ๆ เปิดประตูหลัง คลานไปข้างใต้ โดยมีอุปกรณ์ในการงัดแงะกระเป๋า บางทีกระเป๋าถูกเปิดออกแล้วปิดให้เหมือนเดิม โดยที่นักท่องเที่ยวก็ไม่ทราบ มารู้อีกทีจะใช้เงินก็หายไปแล้ว รถบัสประเภทนี้เป็นประเภทเช่าเหมา เขาเรียกรถบัสแบบทัวร์ 30 คือเป็นรถที่ต้องเหมาแต่ละเที่ยวในการเดินทาง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว เรื่องการจำหมายเลขทะเบียนไว้ก่อนและชื่อรถบริษัทอะไร ก็ยากในการติดตาม”

วิธีการอย่างหนึ่งที่แก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้มักใช้ เมื่อขโมยทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก คือการส่งสัญญาณให้คนขับรถไม่ไปส่งตามจุดที่ระบุไว้ พ.ต.อ.อาชยน ยกตัวอย่างว่า แทนที่จะจอดที่ถนนข้าวสารก็กลับไปจอดที่ถนนเจ้าฟ้าหรือถนนราชดำเนินกลางแทน โดยอ้างกับนักท่องเที่ยวว่า รถติดและแสดงท่าทีเร่งรีบเพื่อบีบให้นักท่องเที่ยวรีบลงจากรถจนไม่มีเวลาตรวจสอบทรัพย์สิน เมื่อนักท่องเที่ยวลงจากรถเรียบร้อย คนขับก็จะรีบขับรถออกไปทันที บางกรณีเมื่อรถใกล้ถึงกรุงเทพฯ คนขับรถจะชะลอให้เด็กรถกระโดดลง เพื่อนำทรัพย์สินที่ขโมยได้ไปขายยังแหล่งที่รับซื้อของโจร อีกรูปแบบหนึ่งคือมีรถอีกคันคอยขับตาม กรณีที่ได้ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง มิจฉาชีพเหล่านี้ก็จะหาวิธีส่งต่อให้แก่รถที่ขับตามมา

ขบวนการแก๊งแมวน้ำ 2 รูปแบบ

แต่บริษัททัวร์กับคนขับรถหรือเจ้าของรถจะรู้เห็นเป็นใจด้วยทุกกรณีหรือไม่ ไม่สามารถฟันธงได้ บางกรณีก็เป็นการร่วมมือกัน บางกรณีก็เป็นการกระทำผิด เฉพาะตัวคนขับรถหรือเจ้าของรถ โดยที่บริษัททัวร์ไม่ได้รู้เห็นด้วย รูปแบบขบวนการแมวน้ำจึงแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ

1.บริษัททัวร์เป็นต้นทาง อาจจะจัดหารถเองและจ้างคนขับที่เป็นมิจฉาชีพ หรือจ้างเฉพาะคนขับที่มีรถเป็นของตัวเอง แต่ทั้งสองฝ่ายรู้เห็นเป็นใจ ในการขโมยทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว โดยสิ่งตอบแทนที่ได้ (คิดเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่) คือ บริษัทได้ค่าโดยสาร 200 บาทคูณด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว คนขับรถได้ค่าจ้าง 150 บาทต่อนักท่องเที่ยว 1 คน ส่วนทรัพย์สินที่ขโมยมาได้ก็จัดแบ่งกันไปตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งบางบริษัทจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนของสังกัดที่เกี่ยวข้อง คอยให้ความช่วยเหลือ หากเกิดกรณีต้อง “เคลียร์”

2.บริษัททัวร์ไม่มีส่วนรับรู้ใด ๆ กับการลักทรัพย์ที่เกิดขึ้น ได้แค่ค่าโดยสาร 200 บาท ต่อนักท่องเที่ยว 1 คน และแบ่งค่าจ้างให้แก่คนขับ 150 บาทต่อนักท่องเที่ยว 1 คนเท่านั้น ส่วนคนขับที่อาจเป็นเจ้าของรถหรือเช่ามาอีกทอดหนึ่ง จะเป็นหัวหน้าแก๊งลักทรัพย์สินนักท่องเที่ยวเอง พูดง่าย ๆ คือเป็นแก๊งแมวน้ำ เมื่อได้ทรัพย์สินมาแล้ว ก็จะแบ่งกันระหว่างคนขับรถและเด็กรถ ในกรณีนี้ บริษัททัวร์อาจกลายเป็นผู้เสียหายด้วย เนื่องจากถูกนักท่องเที่ยวร้องเรียนเอาผิด (และบางกรณีเอเย่นต์เองก็ติดร่างแหไปด้วยโดยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง)

            “ตราบใดที่คุณได้เงินในส่วนของคุณเอง คุณก็ไม่ต้องไปยุ่งกับส่วนอื่น มันเป็นการเชื่อมต่อกันอย่างหลวม ๆ โดยมีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้นจะเชื่อมต่อแบบไหน แบบร่วมมือกันหรือแยกกันทำ แบบตัดตอน  มันก็เป็นไปได้ ในเวลานี้มันเป็นไปทั้งหมด บริษัททัวร์จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้” พ.ต.อ.อาชยน อธิบาย

วงในเผยตำรวจมีเอี่ยว หนุนหลังบริษัททัวร์ขโมยของ

แหล่งข่าวที่เปิดเผยเรื่องนี้แก่ศูนย์ข่าว TCIJ อธิบายอีกว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในวงจรแก๊งแมวน้ำไม่ได้มีเพียงเท่านี้ สำหรับบางบริษัททัวร์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนของสังกัดที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลัง เพื่อคอยสะสางปัญหาหากเกิดการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว แหล่งข่าวเล่าว่า

            “สมมมติว่าเกิดการขโมยเงิน 3,000 ดอลล่าร์ ของนักท่องเที่ยว เป็นเงินไทย 90,000 บาท ตำรวจจะพูดว่ามันเป็นตัวเงิน เราไม่รู้จำนวนตัวเงินจริง ๆ ของคุณ (หมายถึงนักท่องเที่ยว) คุณก็พูดได้ เสร็จแล้วตำรวจก็จะโทรไปที่บริษัททัวร์ว่า นักท่องเที่ยวเงินหาย ทางบริษัททัวร์จะปฏิเสธ ไม่รู้ ไม่เห็น อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้เอา พอตำรวจจะเอารถของบริษัททัวร์นั้นไปตรวจสภาพว่าถูกต้องไหม คุยกันไปคุยกันมาเสร็จบอกว่า นู่นนี่นั่น ขอจ่ายค่าเสียหายคืนให้ 25 เปอร์เซ็นต์ นักท่องเที่ยวก็โอเค อย่างน้อยก็ได้คืนบ้าง ขี้เกียจเสียเวลา  โอเคจบ กลับบ้าน มันเป็นอย่างนี้”

แหล่งข่าวรายเดียวกันเผยว่า บริษัทที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนของสังกัดที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลัง คือบริษัท เอส, บริษัท ที และบริษัท แอล โดยบริษัท เอส จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชื่อ ม. คอยดูแล  ขณะที่บริษัท ทีและแอล ดูแลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชื่อ พ. กรณีที่ได้ทรัพย์สินเป็นเงินดอลล่าร์  พ. ก็จะให้ผู้หญิงอีกคนชื่อ ล. เป็นคนจัดการแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยอีกทอดหนึ่ง แหล่งข่าวระบุว่า กลุ่มขบวนการเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดที่เกี่ยวข้องคนอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่บางรายรู้เห็นเป็นใจและได้รับผลปรโยชน์ด้วย

จากการลงพื้นที่ถนนข้าวสาร เอเย่นต์บางรายที่ศูนย์ข่าว TCIJ พูดคุยด้วย เล่าว่า ทุกวันนี้บริษัททัวร์ส่วนใหญ่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเรื่องราคา ทำให้ราคาค่าโดยสารต่ำลงมาก จนไม่สามารถอยู่ได้จริงในเชิงธุรกิจ  การขโมยของบนรถทัวร์ จึงเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันด้านราคา เอเย่นต์รายนี้บอกว่า ส่วนใหญ่ตนจะส่งผู้โดยสารให้แก่บริษัทรถทัวร์ที่มีชื่อเสียงและเชื่อถือได้ แต่ก็ไม่ทุกครั้ง เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศบางรายต้องการค่าโดยสารราคาถูก ในกรณีนี้เอเย่นต์รายนี้จะบอกแก่นักท่องเที่ยวตรง ๆ ว่า ไม่รับประกันทรัพย์สินสูญหาย ทั้งแนะนำให้เก็บของมีค่าไว้กับตัวเสมอ

ที่น่าสนใจก็คือ เอเย่นต์รายนี้ เอ่ยชื่อบริษัท เอส และบริษัท ที ว่ามีตำรวจสังกัดหน่วยหนึ่งอยู่เบื้องหลังตรงกันกับแหล่งข่าวที่ศูนย์ข่าว TCIJ ทราบข้อมูลมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ทางพ.ต.อ.อาชยน กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ของตำรวจท่องเที่ยวเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการนี้ด้วยว่า “ขอไม่ยืนยัน เพราะว่าทางเราได้สำรวจ สอดส่อง ตรวจตราลูกน้องของเราอยู่ตลอดไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทางตำรวจท่องเที่ยวจะมีมาตรการกวดขัน แต่ขบวนการมิจฉาชีพเหล่านี้ก็ยังไม่หมดไป ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย และภาพลักษณ์ของประเทศไทย การสาวถึงต้นตอใหญ่จึงน่าจะเป็นหนทางการแก้ปัญหา ที่จะขจัดแก๊งแมวน้ำออกจากสังคมไทยได้ตรงจุดที่สุด

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก เดลินิวส์ ไทยรัฐ ข่าวสด และ Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: