เปิดคอร์สแก้ไข‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ รับมือวัยรุ่นสับสนเสี่ยงเป็นตุ๊ด-เกย์ กรมสุขภาพจิตหนุนช่วยรัฐอีกทาง

ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 20 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 18710 ครั้ง

 

 

คงจะปฎิเสธกันอีกไม่ได้แล้วว่า ปัจจุบันทั่วโลกไม่ได้มีอยู่แค่เพียง 2 เพศ หากแต่ยังมีเพศที่ 3 ที่ 4 ที่เปิดเผยตัวตนของตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเปิดตัวในสังคมจะมีมากขึ้น แต่สังคมไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงมีทัศนคติมองผู้ที่มีลักษณะความเบี่ยงเบนทางเพศว่า เป็นคนผิดปกติ แม้จะไม่ได้มีการต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศยังคงมีพื้นที่ที่จำกัด หรือแม้กระทั่งถูกจำกัดสิทธิ์บางประการ ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองที่มีบุตรหลาน มีพฤติกรรมเบี่ยงเบียนทางเพศเหล่านี้ ก็ยังคงมีความกังวลต่อพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนดังกล่าว  และพยายามขวนขวายหาวิธีทางเพื่อจะแก้ไขให้บุตรหลานกลับมามีพฤติกรรมที่เรียกว่า “ปกติ” ตามความเชื่อของสังคมไทยนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แพทย์สภาระบุ เบี่ยงเบนทางเพศ ไม่ได้ผิดปกติ

 

 

น.อ.(พิเศษ)น.พ.อิทธิพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงประเด็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ว่า ตามสถิติโลกแล้วคนที่จะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศมีเพียง 1 ต่อ 30,000 คน เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบแล้ว ประเทศไทยที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน จะมีผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศเพียง 1,000-2,000 คน เท่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะไม่ตรงกับสถานการณ์ความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะจะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้มีพฤติกรรมเบียงเบนทางเพศในประเทศไทย มีอยู่จำนวนมากกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก

 

ทั้งนี้พฤติกรรมการเบี่ยงเบนทางเพศ ถือเป็นความผิดปกติในคนที่มีความรู้สึกทางเพศ ทัศนคติ ตลอดจนพฤติกรรมทางเพศที่แสดงออกไม่เหมาะสม แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม มักเกิดจากสภาพจิตใจและฮอร์โมนในร่างกาย โดยปกติแล้วฮอร์โมนในร่างกายจะเป็นตัวกำหนดเพศ รวมถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวและควบคุมการทำงาน เช่น ในเพศหญิงจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนเพศชายจะมีฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน ซึ่งถ้าหากฮอร์โมนเพศดังกล่าวผิดปกติ โอกาสที่จะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศจะมีค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้มีพฤติกรรมการเบี่ยงเบนทางเพศจะเป็นโรคจิตหรือวิกลจริต แต่เป็นเพียงความผิดปกติทางจิตเวช หรือมีบุคลิกภาพผิดปกติเท่านั้น

 

 

สิ่งแวดล้อมมีผลสำคัญต่อการเบี่ยงเบนทางเพศ

 

                                                                                          

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวและการเลี้ยงดูแบบผิดเพศของครอบครัว การใกล้ชิดกับแม่มากเกินไป โอกาสที่ลูกจะซึมซับความเป็นผู้หญิงจากแม่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งสภาพแวดล้อมในโรงเรียน การคบเพื่อนเพศเดียวกันที่มีลักษณะตุ้งติ้ง อาจทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน เช่น ไม่ชอบเล่นกีฬา ไม่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น โดยปกติแล้วพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศนั้น อาจเริ่มตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่นตอนต้น แต่อาการจะปรากฏชัดในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

 

 

 

 

ในวงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับว่า พฤติกรรมการเบี่ยงเบนทางเพศไม่ใช่สิ่งปกติ ไม่ใช่โรคที่เกิดจากความผิดปกติใดๆ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก อนุญาตให้บุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศมีสิทธิเข้าพิธีสมรสและหย่าร้างกันได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกันชาย-หญิงทั่วไป

 

สำหรับสังคมไทย แม้ว่าจะไม่ได้มีการต่อต้านผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศอย่างรุนแรง แต่สังคมไทยยังมองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นความผิดปกติ เป็นความเบี่ยงเบน โดยพบว่า จากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับผู้รักเพศเดียวกันในประเทศไทยวางอยู่บนพื้นฐานทางความคิด 4 ประการ 1. การรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งเลวร้าย เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข 2. การรักเพศเดียวกันถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ 3. การรักเพศเดียวกันเป็นบทบาทที่เกิดจากความบกพร่องของสมาชิกในครอบครัว 4. การเป็นผู้รักเพศเดียวกันมาจากความบกพร่องของคนในครอบครัว

 

 

เปิดคอร์สให้คำปรึกษา ผู้มีพฤติกรรมเบียงเบนทางเพศ

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ทางการแพทย์จะระบุว่า พฤติกรรมทางเพศจะไม่ใช่ความผิดปกติ แต่พฤติกรรมที่แปลกแยกจากความเป็นไปของสังคม ก็ทำให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานมีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ไม่ได้ ล่าสุด ศูนย์ข่าว TCIJ พบว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาเอกชนบางแห่ง มองเห็นปัญหานี้ โดยจากผู้ปกครองที่กำลังหวั่นวิตกว่าลูกกำลังจะเข้าข่ายมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ มาขอคำปรึกษา ทำให้ต้องหันมาเปิดเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานที่มีพฤติกรรมนี้โดยเฉพาะ ซึ่งปรากฎว่าได้รับความสนใจจากผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง

 

 

อาจารย์ปั้น (ขอสงวนชื่อ-นามสกุลจริง) เจ้าของ ศูนย์เพิ่มพัฒนาการเด็กอาจารย์ปั้น ผู้ริเริ่มไอเดียการเปิดคอร์สให้คำปรึกษาผู้มีพฤติกรรมเบียงเบนทางเพศ  เปิดเผยกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์พัฒนาการเด็กของตน ไม่ได้เปิดให้บริการให้คำปรึกษาเรื่องพฤติกรรมเบียงเบนทางเพศ แต่เริ่มจากการเป็นสถาบันติวเตอร์เอกชน ในลักษณะของติวเตอร์ และสอนพิเศษวิชาต่าง ๆ ทั่วไป แต่ในระหว่างการสอนพิเศษ ได้พบเด็กที่มีลักษณะของเด็กพิเศษ เช่น ออทิสติก เข้าโดยบังเอิญ ทำให้รู้ว่าผู้ปกครองบางคนไม่กล้าบอกว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ แต่ต้องการให้เรียนหนังสือได้ดีเท่ากับเด็กอื่น ๆ ทำให้เกิดความสนใจ และเริ่มศึกษาเรื่องของเด็กพิเศษมากขึ้น จนกระทั่งเริ่มเปิดสอนหลักสูตรพิเศษ หรือฝึกเด็กพิเศษ ทั้งในกลุ่มของ ออทิสติก และดาวน์ซินโดรม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานมีลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างมาก

 

จนในที่สุดเริ่มที่มีผู้ปกครองสอบถามเรื่องของพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศของบุตรหลานเข้ามา และมากขึ้นเรื่อย ๆ ตนจึงมีความสนใจที่จะทำโครงการ หลักสูตรนี้ขึ้น แม้จะระบุในเว็บไซต์ว่า มีการจัดเป็นคอร์ส และมีค่าใช้จ่ายชัดเจน ที่ตกอยู่ราวคอร์สละ 6,000 บาท แต่เมื่อดำเนินการจริง ก็ไม่ได้มีการคิดค่าใช้จ่าย แต่จัดทำเป็น โครงการขึ้นมามากกว่า เพราะขณะนี้ก็ยังต้องมีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งการได้รับข้อมูลจากผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการด้วย

 

 

            “จริง ๆ สถาบันของเรายังไม่จัดเป็นคอร์สที่มีค่าใช้จ่าย เพราะผมเองก็ไม่ได้จบมาทางแพทย์ หรือ จิตวิทยา เรียนมาด้านวิศวะ แต่มีความสนใจเรื่องของจิตวิทยาอยู่แล้ว ทำให้เริ่มศึกษาเรื่องนี้มาเรื่อย ๆ ประกอบกับมีผู้ปกครองโทรศัพท์มาปรึกษามากขึ้น จึงคิดว่าเรามาทดลองร่วมกันดีกว่า ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไข พฤติกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะจากที่เริ่มโครงการมา เราก็เห็นว่าเด็กบางกลุ่มที่ไม่ได้เกิดความเบี่ยงเบียนจากจิตใจ แต่มาจากสิ่งแวดล้อม เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่สิ่งที่กังวลขณะนี้คือ การถูกต่อต้านจากกลุ่มเพศที่สาม เพราะเขาอาจจะคิดว่าผมมาแก้ไขทำไม เพราะพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ผมทำคือเหมือนให้คำปรึกษากับครอบครัว ถ้าเด็กไม่ได้เป็นจริง ๆ เขาก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่ถ้าเด็กที่มีจิตใจเกิดมาเพื่อสิ่งนี้แล้ว เราก็ไม่ได้ไปแก้ไข หรือจำกัดสิทธิอะไรของเขา” อาจารย์ปั้นกล่าว

 

 

 

คำปรึกษาได้ผล โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังค้นหาตัวเอง

 

 

สำหรับวิธีการของอาจารย์ปั้นนั้น เขาระบุว่า จะใช้วิธีการให้คำปรึกษา จะชี้ให้เด็กเห็นถึงผลระยะยาวของการมีพฤติกรรมการเบี่ยงเบนทางเพศ ผลกระทบในระยะยาวต่อครอบครัว ญาติพี่น้องและตนเองจากพฤติกรรมดังกล่าว ต้องเผชิญแรงกดดันอะไรจากสังคมบ้าง จะไม่พยายามบอกว่า การมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศเป็นสิ่งไม่ดี แต่พยายามให้เด็กมองเห็นอนาคต ทำให้เด็กบางคนเริ่มมองเห็นถึงสภาพความเป็นจริงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และให้เด็กรู้ว่าตนเองควรจะปฏิบัติตัวไปในทิศทางใดมากที่สุด เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนจิตใจ Connective Therapy บำบัดเชิงความคิด  โดยในช่วงแรก เด็กที่เข้าร่วมในโครงการส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร เพราะเด็กคิดว่าพ่อแม่เห็นตนเป็นเด็กผิดปกติ เหตุใดต้องให้เข้าโครงการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบนด้วย จนทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองถูกตรวจสอบ ซึ่งผู้ปกครองมักจะนำเด็กเข้าร่วมโครงการ ในวันที่เด็กมีพฤติกรรมการเบี่ยงเบนทางเพศเป็นเวลานานแล้ว ส่วนเด็กที่เข้าร่วมโครงการอีกด้านหนึ่ง เป็นเด็กที่มีพฤติกรรมการเบี่ยงเบนไม่มาก ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะให้ความสนใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากต้องการที่จะค้นหาตัวเองเช่นกัน

 

 

          “เราใช้วิธีการคล้ายการฉีดยาเข้าไปในตัวเด็ก โดยฉีดความเป็นชายเข้าไป ความคิด ทัศนคติของผู้ชาย เช่น การดูหนัง กิจกรรม เล่นกีฬา พยายามให้เด็กเห็นพฤติกรรมความเป็นชาย วิธีคิดของชาย เป็นการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนจิตใจ และต้องเปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อมของเด็ก เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง” อาจารย์ปั้นกล่าว

 

นอกจากกลุ่มชายรักชาย (ตุ๊ด เกย์) แล้วเจ้าของสถาบันศูนย์เพิ่มพัฒนาการเด็ก กล่าวด้วยว่า ยังมีกลุ่มหญิงรักหญิง (ทอม ดี้) เข้ามาขอรับคำปรึกษาด้วยเช่นกัน แต่มีไม่มากนัก เพราะกลุ่มทอมดี้ เป็นกลุ่มที่พ่อแม่มีความกังวลน้อยกว่า จากการเก็บข้อมูลของตนพบว่า ส่วนใหญ่กลุ่มทอมดี้ สุดท้ายแล้วพฤติกรรมดังกล่าวจะกลับมาเป็นผู้หญิงเหมือนเดิม

 

 

 

ทำเพราะเติมช่องว่าง รัฐดูแลไม่พอ-เอกชนรักษาแพง

 

 

หลังการเปิดหลักสูตรการปรับพฤติกรรมเบียงเบียนทางเพศ ของศูนย์แห่งนี้ อาจารย์ปั้นกล่าวว่า  มีผู้เข้าร่วมโครงการคอร์สสอนเด็ก-นักเรียน-นักศึกษาที่มีปัญหาเบี่ยงเบนทางเพศอย่างจริงจังประมาณ 8-9 คน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการเข้าร่วมโครงการอย่างน้อยประมาณ 3-4 เดือน การให้คำปรึกษาของอาจารย์ปั้น ส่วนใหญ่พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศจะยังไม่หายขาด แต่จะชะลอพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า

 

เมื่อถามว่า คิดว่าเพราะอะไรจึงมีผู้ปกครองหันมาสนใจการส่งบุตรหลาน เข้ามาร่วมโครงการนี้ ทั้งที่สถาบันเองก็ไม่ได้มีแพทย์ หรือนักจิตวิทยาโดยตรง ในการดำเนินการ อาจารย์ปั้นให้เหตุผลว่า น่าจะมีปัจจัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความรู้สึก ภาพลักษณ์ของบุตรหลาน และค่าใช้จ่าย เพราะ ปัจจุบันสถาบันที่ให้คำปรึกษาด้านนี้ของภาครัฐ ดูเหมือนว่าจะมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย หากจะเข้าไปปรึกษานั่นหมายถึงพ่อแม่จะต้องพาเด็กเดินเข้าไปที่โรงพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคจิต เช่น ศรีธัญญา หรือ  ร.พ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเด็กคงจะไม่ยอมไป และนั่นหมายถึงภาพลักษณ์ของลูกด้วย ในขณะที่การเข้าไปปรึกษาที่โรงพยาบาลเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก ในขณะที่หากเข้ามาที่สถาบันเล็กๆ เขาสามารถพาลูกเดินเข้าออกได้ และค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้มีอะไรมาก เป็นเหมือนการได้ช่วยกันมากกว่า จึงทำให้ผู้ปกครองหันมาให้ความสนใจมากขึ้น

 

 

          “ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน แต่มีคนเข้ามาพอสมควร บางครั้งผู้ปกครองก็โทรศัพท์มาและมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามเราไม่ได้บอกว่าเราเป็นสถานบำบัด ทางการแพทย์ แต่เป็นเหมือนสถาบันที่ให้คำปรึกษามากกว่า จากที่เริ่มดำเนินการมาก็มีผู้ปกครองเป็นอย่างดี” อาจารย์ปั้นกล่าว

 

 

กรมสุขภาพจิตเปิดกว้างหากสถาบันฯ เปิดช่วยเหลือประชาชนจริง

 

 

ด้านน.พ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสถาบันให้คำปรึกษา เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเบียงเบนทางเพศ ว่า การที่สถาบันเอกชนเปิดให้คำปรึกษากับผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศมีเจตนาที่ดี อยากช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่ได้คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วย แต่ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เข้ามาช่วยกันดูแลประชาชนในส่วนที่ภาครัฐดูแลไม่ทั่วถึง ส่วนทางกรมสุขภาพจิตได้มีการเปิดให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตและสุขภาพทั่วไป แต่ไม่ได้เปิดให้คำปรึกษาที่ระบุเฉพาะเจาะจงที่เรื่องทางเพศเท่านั้น ส่วนใหญ่จะให้คำปรึกษาในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา ทางกรมสุขภาพจิตได้เปิดให้คำปรึกษากับประชาชนทั่วไปหลายเส้นทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับคำปรึกษาโดยตรงกับแพทย์หรือจิตแพทย์ตามโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และยังมีการเปิดให้คำปรึกษาผ่านทางฮอตไลน์สายด่วน เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1667 หรือ ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต 1323 โดยมีผู้เข้ารับคำปรึกษาในเรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศอยู่จำนวนหนึ่ง

 

 

เตรียมออกระเบียบคุมสถาบันให้คำปรึกษาผู้เบียงเบนทางเพศ

 

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทางกรมสุขภาพจิต เคยพูดคุยกับสถาบันเอกชนที่ให้คำปรึกษากับผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบที่ออกมาระบุอย่างชัดเจน คาดว่าในอนาคตจะมีแนวโน้ม ที่จะออกเป็นกฎระเบียบให้มีความชัดเจน

 

ก่อนหน้านี้การรับให้คำปรึกษาพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นหน้าที่หนึ่งของจิตแพทย์ ซึ่งการจะนำลูกจะพบจิตแพทย์นั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติ ถูกตรวจสอบจากสังคม และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในปัจจุบันมีสถาบันเอกชนที่ช่วยให้คำปรึกษาแก่เด็กเยาวชน ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ รวมทั้งรับให้คำปรึกษากับผู้ปกครองของกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นพฤติกรรมดังกล่าว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับกลุ่มเยาวชนและผู้ปกครอง ให้สามารถเข้าถึงการให้คำปรึกษา

 

 

          “การมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความดีงาม หรือความเลวทรามของคนในสังคมแต่อย่างใด การกระทำและความคิด ทัศนคติของคน ๆ นั้นต่างหากที่จะเป็นสิ่งสำคัญ หากสังคมยอมรับผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ทำให้บุคคลเหล่านี้มีที่ยืนในสังคมได้มากเพียงพอ และบุคคลเหล่านี้อาจสามารถตอบแทนสังคมได้มากกว่าที่คนทั่วไปคิดก็เป็นได้” น.พ.วชิระกล่าว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: