‘ชัยวัฒน์ คำหวาน’วอนกองสลากฯ เพิ่มโควต้าให้คนพิการพึ่งตัวเองได้

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ม.ค. 2556


 

นายชัยวัฒน์ คำหวาน ประธานกลุ่มองค์กรแนวร่วมผู้ค้าสลากราคาควบคุม ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันผู้พิการจำนวนมาก ยึดอาชีพขายล็อตเตอรี่ เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้ มีเพียงสวัสดิการจากรัฐบาลเพียงเดือนละ 500 บาทต่อคน ผู้พิการส่วนใหญ่จึงมีอาชีพขายล็อตเตอรี่ รองลงมาเป็นนักดนตรี และหมอนวด

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้พิการเหล่านี้มีส่วนแบ่งหรือโควต้า ในการรับสลากกินแบ่งรัฐบาลมาขายเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิการที่มีอาชีพขายล็อตเตอรี่ ผู้พิการบางส่วนจึงต้องรับสลากกินแบ่งจากผู้ค้าคนกลางมาขาย ทำให้ต้องจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนด เนื่องจากรับมาในราคาแพง เพราะผ่านผู้ค้าคนกลางไม่ได้ซื้อจากกองสลากฯ โดยตรง

 

       “ต้นทุนล็อตเตอรี่จากกองสลากฯ ราคาเพียงใบละ 72.80 สตางค์ แต่ผู้พิการต้องซื้อจากผู้ค้าคนกลางในราคา 95 บาท และขายในราคา 110 บาท จึงเกิดคำถามว่าทำไมผู้พิการที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการขายล็อตเตอรี่ จึงไม่ได้โควตาในการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับกองสลากฯ แน่นอนว่าคนพิการไม่มีโอกาสเข้าถึงโควตาของกองสลากฯ เพราะเป็นการเข้าถึงยากมาก ผู้ที่ได้โควตารับมาจากกองสลากฯ อาจจะไม่ได้ขายเอง แต่นำมาขายต่อ ซึ่งผู้ที่มาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับผู้พิการจริง ๆ อาจจะเป็นผู้ค้าลำดับที่  3  ที่ 4 ซึ่งแต่ละช่วงที่ผ่านมา ต้องมีการปรับราคาขึ้นมาตลอด”

 

 

ทั้งนี้จากข้อมูล บัญชีจัดสรรสลากบำรุงการกุศลเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 จำนวน 22 ล้านฉบับ หรือประมาณ 220,000 เล่ม องค์กรและนิติบุคคลที่ได้รับการจัดสรร ประกอบด้วย มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดละ 39,000 เล่ม สโมสรรัฐสภางวดละ 1,000 เล่ม องค์กร สมาคม คนพิการ ได้รับงวดละ 24,920 เล่ม จำนวน 808 ราย

 

ส่วนนิติบุคคลได้รับการจัดสรรงวดละ 60,000 เล่ม แบ่งเป็น 3 ราย รายละ 20,000 เล่ม ประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด  และ บริษัท หยาดน้ำเพชร จำกัด  นอกจากนี้ ยังมีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 20,000 เล่ม และบริษัท เกิดสุขการค้า จำกัด ที่อยู่ในส่วนขององค์กรได้รับการจัดสรร 20,000 เล่ม

 

จากข้อมูลดังกล่าวยังระบุองค์กรที่ได้รับการจัดสรรเกินงวดละกว่า 10,000 เล่ม ได้แก่ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และกรณีที่พิมพ์เพิ่ม 4 ล้านฉบับ จากเดิม 3.6 ล้านฉบับ จะเพิ่มให้แก่สมาคมทหารผ่านศึกแห่งประเทศไทย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

 

และเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้จัดสรรสลากให้กับองค์กรใหม่ เพิ่มอีก 4 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรมูลนิธิรายใหม่ 3,140 เล่ม องค์กรสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2500 เล่ม ผู้เกษียณอายุสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 500 เล่ม และสโมสรรัฐสภา 100 เล่ม รวม 6,240 เล่ม

 

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า การเข้ามาขายล็อตเตอรี่ของผู้พิการต้องมีเงินลงทุน เพื่อไปซื้อล็อตเตอรี่มาขาย ซื้อล็อตเตอรี่เล่มหนึ่งจะมี 100 ฉบับ ราคาทุน 9,500 บาท ผู้พิการจะขายในราคาใบละ 110 บาท เท่ากับว่ารับมา 95 บาท ขาย 110 บาท ได้กำไรใบละ 15 บาท ถ้าขายได้หมดจะได้กำไรเล่มละ 1,500 บาท ถ้ามีเงินลงทุนในการซื้อมาก ก็จะขายได้มากตามไป

 

 

           “ถ้าผมต้องการรายได้งวดละ 10,000 บาท ผมต้องซื้อล็อตเตอรี่มาขาย 8 เล่ม เป็นเงินที่ต้องลงทุน 75,000 บาท ถ้าขายหมดจะได้กำไรประมาณ 10,000 บาท หมายความว่า ผมต้องขายใบละ 110 บาท ซึ่งเป็นราคาขายเกินราคาจากที่กองสลากตั้งไว้”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนผู้พิการที่ไม่มีเงินลงทุนไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จากพ่อค้าคนกลางมาขาย จะใช้วิธีกู้เงินกองทุนคนพิการ จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสูงสุดกู้ได้คนละไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งจะได้ล็อตเตอรี่ประมาณ 3 เล่ม ถ้าขายหมดจะได้กำไรประมาณ 4,500 บาท ซึ่งไม่พอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

 

          “ถ้าได้แค่ 4,500  บาทต่องวด ไม่พอกับค่าใช้จ่ายแน่นอน เพราะไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนธรรมดา ก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน”

 

กลุ่มองค์กรแนวร่วมผู้ค้าสลากราคาควบคุม ได้ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งรัฐบาลในท้องตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้ทั้ง 3 ฝ่ายได้ประโยชน์ คือ ฝ่ายแรกผู้พิการ ซึ่งกองสลากฯ อาจจะจัดสรรสลากในโควตาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ถ้าสลากฯ มีจำนวนมากขึ้นราคาสลากอาจจะถูกลง ดังนั้นผู้พิการที่รับมาจากผู้ค้าคนกลางมาขายจะมีกำไรเพิ่มขึ้น

 

รัฐบาลจะได้ประโยชน์ด้วย จากจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น จากการขายสลาก ทั้งรัฐบาลเอง และองค์กรการกุศลต่าง ๆ ซึ่งนายชัยวัฒน์มองว่า การที่กองสลากฯพิมพ์สลากออกมาขายมากขึ้น จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เงินที่ได้จะเข้าสู่รัฐบาลรวมถึงองค์กรการกุศลต่าง ๆ ขณะที่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ซื้อ จะสามารถซื้อสลากราคาที่ถูกลง เพราะปัจจุบันนี้ล็อตเตอรี่ขายเกินกว่าราคาที่กำหนดประมาณ 30 บาท ซึ่งหากใช้ 30 บาท คูณด้วย 36 ล้านฉบับ เป็นจำนวนที่พิมพ์สลากในแต่ละงวด จะเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้จะตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้เลย แต่เป็นเงินที่พ่อค้าคนกลาง ที่ได้รับโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ละงวดเป็นคนได้ ถามว่าเงินจำนวนนี้หายไปอยู่ตรงไหน ทำไมกองสลากฯ ไม่แก้ไขปัญหานี้ อาจจะเป็นเรื่องที่กองสลากฯไม่กล้าเปิดเผยก็ได้

 

ดังนั้นกลุ่มฯคนพิการจึงเสนอให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พิมพ์ล็อตเตอรี่ในแต่ละงวดเพิ่มมากขึ้น  เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อและผู้พิการ ที่ต้องการมีรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย

 

อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรแนวร่วมผู้ค้าสลากราคาควบคุม ได้เจรจากับผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สรุปว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องเสนอให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพิจารณา ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการตอบกลับมาแต่อย่างใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: