หวั่น‘ซาวลา’สัตว์หายากใกล้จะสูญพันธุ์ ถูกล่ามากขึ้น-พื้นที่ป่าในลุ่มน้ำโขงลดลง

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 19 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 6196 ครั้ง

‘เนื้อทราย-ซาวลา’ ใกล้สูญพันธุ์

ดร.โธมัส เกรย์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ WWF ลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่า ความหลากหลายของถิ่นอาศัยที่น่าทึ่งในภูมิภาคแม่น้ำโขง เป็นแหล่งกำเนิดของสัตว์เท้ากีบที่หลากหลายบนโลกใบนี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ 4 ชนิดพันธุ์ ซึ่งไม่มีใครเทียบได้ แต่ที่ผ่านมาสัตว์เท้ากีบสองชนิดพันธุ์ที่เป็นสัตว์ประจำถิ่นในแถบลุ่มน้ำโขง กูปรีและสมัน สูญพันธุ์ไปจากโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 ขณะที่เนื้อทรายและซาวลา ก็กำลังจะสูญพันธุ์ไปจากภูมิภาคนี้เช่นกัน และยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน ในประเทศต่าง ๆ ที่พวกมันอาศัยอยู่ ซึ่งรวมทั้งละอง ละมั่ง และวัวแดงด้วย

สำหรับสัตว์เท้ากีบเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดพันธุ์หนึ่ง ในภูมิภาคที่เป็นที่รู้จักน้อยมาก และน่าสนใจว่า หากไม่ได้รับการดูแลอาจจะสูญพันธุ์ไปในเร็ว ๆ นี้ ได้แก่  ซาวลา (sao la) ซึ่งมีการค้นพบเมื่อปี 2535 ได้รับการ ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในการค้นพบทางสัตววิทยาที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในศตวรรษที่ 20 และจนถึงขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคย สังเกตการณ์ซาวลาในป่าธรรมชาติ และการค้นหาตัวสัตว์ที่ลึกลับสายพันธุ์นี้ ยังคงเป็นเรื่องยาก ทำให้ไม่สามารถประเมิน จำนวนประชากรที่ชัดเจนได้ แต่คาดว่าอาจอยู่ที่ประมาณหลักสิบถึงไม่กี่ร้อยตัว ขณะที่การพัฒนากำลังล้อมกรอบถิ่นอาศัยของซาวลา แต่ภัยคุกคามที่แท้จริงมาจากการลักลอบล่า ซาวลาติดกับดักลวดที่พรานป่าวางไว้เพื่อดักสัตว์อื่น

ซาวลา เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่กี่ชนิดที่ถูกค้นพบในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดเถื่อเทียนเหว (Thua Thien Hue) ห่าติ๋ง (Ha Tinh) ทางภาคกลางเวียดนาม

พบซาวลาถูกล่าในเวียดนามต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม (Institute for Ecology and Natural Resources) แห่งเวียดนาม ระบุว่า ยังคงตรวจพบการล่ากวางซาวลา (Sao la) อยู่ในบางท้องที่ภาคกลางเวียดนาม โดยพบซากและหัวกะโหลก ตามบ้านเรือนของราษฎรในท้องที่ห่างไกลของ จ.กว๋างจิ (Quang Tri) ติดกับชายแดนสปป.ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ในเขตป่าเขา 4 อำเภอดังกล่าว

กวางซาวลาเป็นสัตว์ป่าสายพันธุ์วัวป่า (wild ox) มีน้ำหนักราว 100 กิโลกรัม เป็นสัตว์ป่าที่มีรายชื่ออยู่ใน “สมุดปกแดง”ของโลก ในฐานะสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที่ โดยยังไม่มีข้อมูลว่า ปัจจุบันมีกวางประเภทนี้ในเวียดนามเป็นจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการเวียดนาม ได้มีความพยายามเพาะพันธุ์กวางซาวลาแต่ไม่สำเร็จ สัตว์พวกนี้ไม่ยอมปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ยอมกินอาหาร ตกใจง่าย และผสมพันธุ์ตามสภาพในธรรมชาติเท่านั้น จนกระทั่งต้องส่งตัวอื่น ๆ กลับเข้าสู่ป่า ให้ดำรงชีวิตตามวิถีทางในธรรมชาติต่อไปสภาพเช่นนี้ทำให้น่าเป็นห่วงว่าพวกมันอาจจะต้องสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า

         “ในประเทศเวียดนาม มีวิธีการบังคับใช้กฏหมายวิธีใหม่ที่ได้รับการ สนับสนุนโดยโครงการคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพของ WWF ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี ด้วยการเกณฑ์คนท้องถิ่นมาเป็นผู้พิทักษ์ป่า คอยเดินลาดตระเวนเพื่อรักษาป่า และปลดกับดัก ซึ่งกำจัดไปได้มากกว่า 14,000 อันต่อปี” ดร.เกรย์ กล่าว

“เท้ากีบ” อีกหลายชนิดยังน่าห่วง

ในรายงานของ  WWF ยังระบุถึงสัตว์หายากที่น่าเป็นห่วงอีกหลายชนิด เช่น เก้งปูเตา หรือเก้งใบไม้ สัตว์ตระกูลกวางที่เล็กที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ได้รับชื่อนี้เพราะเพียงใบไม้ใหญ่ ๆ ใบเดียว ก็สามารถห่อตัวได้มิด พบครั้งแรกในปี 2542 ที่ประเทศพม่า การจะพบตัวมันถือเป็นเรื่องยาก กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ ก็ยังไม่สามารถ ประเมินการกระจายตัวและสถานะของมันได้ ขณะที่กวางป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในกวางที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์เท้ากีบในโลก มีก็แต่กวางมูสและกวางเอลก์ ที่เป็นสายพันธุ์เท้ากีบที่ยังมีชีวิตและมีขนาดใหญ่กว่าพวกมัน ขณะนี้จำนวนกวางป่าทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ลดลงเป็นอย่างมากเพราะถูกล่า

ขณะที่ วัวแดง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวัวป่าที่สวยและสง่างามที่สุดในตระกูลวัวป่า ก็มีจำนวนประชากรลดลงถึงร้อยละ 80 นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2503 เขตที่ราบทางภาคตะวันออกของกัมพูชา ซึ่งเป็นป่าแล้งเขตร้อนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นถิ่นอาศัยของประชากรวัวแดงจำนวนมากที่สุดในโลก ตัวเลขระหว่าง 2,700 - 5,700 ตัว แต่การลักลอบล่าวัวแดง และการขายเขาวัวข้ามชาติ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์สายพันธุ์นี้ลดลง

             “วัวป่าและกวางใหญ่ทั่วเอเชีย เป็นเหยื่อพันธุ์หลักของเสือ” ดร.เกรย์กล่าว พร้อมกับระบุว่า “การอนุรักษ์สัตว์กีบในภูมิภาค จึงมีความเชื่อมโยง อย่างอธิบายไม่ได้ถึงชะตากรรมของเสือในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2531 จำนวนของพวกมันลดลงจาก 1,200 ตัว เหลือ เพียง 350 ตัว การลดลงของสัตว์ที่เป็นเหยื่อนับเป็นปัญหาหนักสำหรับประชากรเสือที่เหลืออยู่ เพราะพวกมันต้องกินสัตว์เหล่านี้”

รายงานฉบับล่าสุดของ  WWF ยังรายงานด้วยว่า สัตว์เท้ากีบในภูมิภาคยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับแร้งในภูมิภาคนี้ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพญาแร้ง อีแร้งสีน้ำตาล และแร้งเทาหลังขาว ที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในอนุทวีปอินเดีย เนื่องจากยาพิษและจากยาไดโคฟิแนคที่ใช้ในสัตว์ จำนวนประชากรแร้งที่เหลืออยู่ในพม่าและที่ราบตะวันออกกัมพูชา เป็นประชากรที่เป็นความหวังที่ดีที่สุดในการอยู่รอดของสัตว์สายพันธุ์สัญลักษณ์นี้

           “สถานะของสัตว์สายพันธุ์กวางและวัว เป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้ถึงสุขภาวะ ความหลากหลายและความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งภูมิภาคความเป็นอยู่ที่ดี และการฟื้นตัว ของประชากรสัตว์สายพันธุ์ที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ผู้นำในภูมิภาคต่างให้การยอมรับว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งนั้น จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับความอุดมสมบูรณ์ และประโยชน์ทาง ธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่ตอนนี้จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ” ดร.เกรย์กล่าว

ระบุป่าหายมากกว่า 4 ล้านตารางกิโลเมตร

ในรายงานชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางธรรมชาติ ล้วนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สัตว์หลายชนิดค่อย ๆ สูญพันธุ์ไป เพราะขาดแหล่งอาศัยและดำรงชีวิต โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีผลกระทบอย่างมากไม่เพียงแต่ในพื้นที่ประเทศลุ่มน้ำโขง แต่รวมไปถึงประเทศในเอเซียแปซิฟิกด้วย ท่อนไม้จำนวนมากในภูมิภาคนี้ถูกส่งไปยังประเทศจีน สอดคล้องกับจำนวนส่งออกไม้ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปีของประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม ซึ่งจากข้อมูลในรายงานด้านระบบนิเวศของประเทศในลุ่มน้ำโขงของ WWF ชี้ว่าสถานะของพื้นที่ป่าในภูมิภาคนี้ ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 4.42 ล้านตารางกิโลเมตร (4.24 ล้านเฮกเตอร์) หรือประมาณ 30 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ป่าทั้งโลก ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1973-2009 ที่ผ่านมา

ในขณะที่การดำเนินธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในประเทศจีน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในการใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเลย ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจในระดับท้องถิ่นหรือระดับส่วนกลางของประเทศก็ตาม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าเหล่านี้ในประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างหลีกเลี่ยงไมได้

เรียกร้องรัฐบาลลุ่มน้ำโขงตัดสินใจร่วมกัน

นอกจากนี้ในรายงานยังเสนอให้รัฐบาลแต่ละประเทศ ร่วมกันตัดสินใจว่า จะเดินหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวหน้า หรือเลือกที่จะใช้วิธีการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน เพราะพื้นที่ในภูมิภาคนี้ นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งยังเป็นแหล่งที่มีสัตว์หายากหลากหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งร่ำรวยพันธุ์ปลา ซึ่งผลผลิตเหล่านี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงผู้คนในภูมิภาคเข้าด้วยกัน WWF ทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรกลุ่มต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูและพลิกฟื้นจำนวนประชากรสัตว์เท้ากีบในป่า ที่ครั้งหนึ่งเคยมีพวกมันอาศัยอยู่มากมาย และให้ได้กลับคืนสู่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มสูงขึ้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ WWF ให้การสนับสนุนการยกระดับการปกป้องเขตอนุรักษ์ การบริหารจัดการและการบังคับใช้กฏหมาย การทำป่าไม้อย่างยั่งยืน การเพิ่มทางเลือกเพื่อใช้ประโยชน์จากป่า และการทำมาหากินอย่างยั่งยืนที่จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันที่มีต่อประชากรสัตว์เท้ากีบที่โดดเด่นที่ยังคงเหลืออยู่ในภูมิภาคนี้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: