ชี้พิษภัยโฟมบรรจุอาหาร สะดวก-กินง่าย-ตายเร็ว

ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 19 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 19855 ครั้ง

 

ปัจจุบันนี้เราจะพบการณรงค์เรื่องการใช้กล่องโฟมมากขึ้น โดยเฉพาะใน Social Media ที่ชี้ให้เห็นพิษภัยจากโฟมที่นำมาใส่อาหาร ซึ่งในปัจจุบันเราคิดเสมอว่า เป็นภาชนะที่อำนวยความสะดวก เช่น กล่อง จาน ชาม แก้วน้ำ ฯลฯ

 

กล่องโฟมบรรจุอาหารคาวและหวานเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมเมือง จากยุคที่ผู้คนต้องการความเร่งรีบ ความรวดเร็วทันใจ รวมถึงความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการทำอาหาร ทำให้กล่องโฟมใส่อาหารกลายเป็นสินค้าที่เหมาะสำหรับความต้องการของคนในปัจจุบันจนกลายเป็นความเคยชินกับการรับประทานอาหารแบบใส่กล่องโฟมไปแล้ว แต่ท่ามกลางความสะดวกสบายเหล่านี้ รู้หรือไม่ว่ากล่องโฟมแฝงไปด้วยภัยเงียบที่อาจทำร้ายสุขภาพของคุณได้

 

 

 

พลาสติกโฟมที่ใช้บรรจุอาหาร ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นโฟมที่ทำมาจากพลาสติกชนิด Polystyrene (PS) เกิดจากการนำโมเลกุลของสาร styrene มาเชื่อมต่อกันเป็นสายยาวโดยขบวนการ polymerization ซึ่ง Polystyrene ที่ได้จะถูกนำมาเติมสารช่วยในการขยายตัว ได้แก่ carbon dioxide และ pentane เพื่อช่วยให้พลาสติกสามารถพองตัวและเกิดการแทรกตัวของก๊าซในเนื้อพลาสติก ได้เป็น Polystyrene Foam (PS foam) หรือ Styrofoam หลังจากให้ความร้อนด้วยไอน้ำ PS foam ที่ได้มักถูกนำไปรีดให้เป็นแผ่น เรียกว่า Polystyrene Paper Foam (PSP) ก่อนจะนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหารรูปร่างต่างๆ ตามต้องการ

 

กล่องโฟมเริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ 5 ราย และผู้ผลิตกล่องโฟม 10 ราย ซึ่งมีเพียงรายเดียวที่ไม่ได้ ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังการผลิตโดยรวมในปัจจุบันประมาณ 1300 - 1500 ตันต่อเดือน โดยจะผลิตเป็นถาดหรือกล่องสำหรับใส่อาหารเป็นหลัก และมีสัดส่วนในการส่งออกประมาณ 30 % ต่อปี ปัจจุบันคนไทยใช้กล่องโฟมวันละไม่ต่ำกว่า 138 ล้านกล่อง เฉลี่ย 2.3 กล่อง/คน/วัน

 

น.พ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นถึงอันตรายจากกล่องโฟมบรรจุอาหารว่า กล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำ ๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประกอบด้วย สไตรีน ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง

 

 

ขณะเดียวกัน กล่องโฟมถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการบรรจุอาหาร แต่ไม่เหมาะกับอาหารที่ร้อนจากการปรุงให้สุก หากนำกล่องโฟมใส่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ความร้อนจะทำให้สารสไตรีน ที่เป็นสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการผลิต อีกทั้งสารชนิดนี้ยังเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งสะสมอยู่ในกล่องโฟมบรรจุอาหารละลายตัวปะปนกับอาหาร นอกจากนั้นสารสไตรีนยังมีสารที่ทำให้สมองเสื่อมและมึนงง หงุดหงิดง่าย มีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และยังเป็นสารก่อมะเร็ง ในเพศชายอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่เพศหญิงมีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้นและอาจส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งตับทั้งในผู้ชายและผู้หญิง หากรับประทานอาหารจากกล่องโฟมทุกวันวันละอย่างน้อย 1 มื้อติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าปกติถึง 6 เท่าอีกด้วย

 

น.พ.วีรฉัตร กล่าวเตือนอีกว่า “อาหารตามสั่งหรือข้าวราดแกงกับไข่ดาวหรือไข่เจียวร้อน ๆ อาจจะไปละลายผนังกล่องโฟม เสมือนรับประทานอาหารคลุกสไตรีนไปโดยไม่รู้ตัว แม้แต่ไข่ดิบที่วางขายในแผงไข่พลาสติก สารสไตรีนก็ยังมีโอกาสวิ่งเข้าไปในเปลือกไข่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเลือกไข่ดิบก็ควรเลือกซื้อจากแผงไข่ที่เป็นกระดาษจะปลอดภัยที่สุด”

 

นอกจากนั้น น.พ.วีรฉัตร ยังเตือนอีกว่า ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสไตรีนในกล่องโฟมบรรจุอาหารได้ง่ายมาก เมื่ออุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง ทำให้สารสไตรีนสามารถซึมเข้าสู่อาหารได้สูง และหากปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสารชูแอลกอฮอล์ จะเป็นตัวดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ ถ้าซื้ออาหารบรรจุกล่องโฟมทิ้งไว้นานๆโดยไม่ได้รับประทานจะทำให้อาหารดูดสารสไตรีนได้มากขึ้น อีกทั้งถ้านำอาหารที่บรรจุกล่องโฟมเข้าไมโครเวฟเพื่ออุ่นอาหารยิ่งจะทำให้สารสไตรีนไหลออกมาในปริมาณที่มากขึ้น และหากอาหารสัมผัสกับกล่องโฟมมากๆ รวมถึงร้านค้าที่ตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร ยิ่งทำให้ได้รับสารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าอีกด้วย

 

 

 

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

กล่องโฟมบรรจุอาหารมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพลาสติกโฟม เป็นสารที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1,000 ปี กว่าที่จะย่อยสลาย การนำไปฝังต้องใช้พื้นที่มาก สารพิษจากกล่องโฟมจะตกค้างตามกองขยะ การเผาทำลายยังทำให้เกิดมลพิษในอากาศ

 

วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติกโฟม โดยหันไปใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดอื่น หรือ ภาชนะที่ทำจากแก้วหรือกระเบื้อง ที่ปลอดภัยกว่าและสามารถนำกลับมาใช้บรรจุอาหารได้อีกหลายครั้ง หรือใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastics) แทน เช่น  บรรจุภัณฑ์อาหารไบโอชานอ้อย ใช้วัตถุดิบจากเส้นใยธรรมชาติ (non-wood fiber) ได้แก่ เยื่อกระดาษจากชานอ้อย โดยกระบวนการผลิตเน้นคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: