ยันมีสารกันบูดในขนมปัง จี้'โลตัส'ขอโทษผู้บริโภค

19 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 2075 ครั้ง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ โครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน จัดเวทีสื่อสารสาธารณะ “การใช้วัตถุกันเสียในอาหาร จากกรณีพบวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐานในขนมปังของห้างค้าปลีกชื่อดัง ”หลังจากนิตยสารฉลาดซื้อเผยแพร่ผลการทดสอบขนมปังพร้อมบริโภค

 

น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มีหน้าที่ในการเฝ้าระวังสินค้าให้กับผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการทดสอบ เราทำอย่างตรงไปตรงมา ใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยในกรณีขนมอบ เราส่งทดสอบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และผลการทดสอบที่ได้แจ้งไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 143 ว่า พบวัตถุกันเสียในขนมอบนั้นเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด การที่ บริษัท หเทสโก้ฯ มีจดหมายเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้แก้ไขข้อความวัตถุกันเสียต่ำกว่ามาตรฐานนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอชี้แจงดังนี้

 

 

 

1.การให้ข้อมูลของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง กลไกคุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่ร่วมกับ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ถูกต้องตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ ของผู้บริโภคตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ โดยประกาศฉบับดังกล่าว ในข้อ 2.กำหนดให้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้วไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด ซึ่งในกรณีขนมปังไส้ถั่วแดง Tesco the Bakery ที่พบการใช้วัตถุกันเสียสองชนิดคือกรดซอร์บิก 650 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(มก./กก.) และกรดโปรปิโอนิค 1,006 มก./กก. โดยมีมาตรฐานระบุไว้ว่า วัตถุกันเสียชนิดแรกให้ใช้วัตถุกันเสียได้ไม่เกิน 1,000 มก./กก. และวัตถุกันเสียชนิดที่สองให้ใช้วัตถุกันเสียได้ตามปริมาณที่เหมาะสม นี้ จักต้องใช้ปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุดคือกรดซอร์บิกที่ไม่เกิน 1,000 มก./กก.เป็นเกณฑ์ พร้อมต้องนำวัตถุกันเสียทั้งสองชนิดมารวมกันประกอบการพิจารณา มิได้เป็นไปตามที่ทางบริษัทได้ชี้แจงมาแต่อย่างใด

 

2.การระบุว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” ย่อมหมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายกับผู้บริโภค ต้องไม่พบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ (End Product) ดังนั้นตามที่บริษัทได้ชี้แจงมาว่า ไม่มีการใช้สารกันบูดในกระบวนการผลิต และอาจเกิดจากสารที่อยู่ในส่วนผสมของขนมปัง เช่น แป้ง เนย นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหาร มีหน้าที่ตรวจสอบวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตอาหาร และเมื่อผลิตเป็นอาหารแล้วย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจสอบต่อเนื่อง ว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือตามที่กล่าวอ้างบนผลิตภัณฑ์ของตนเองหรือไม่ และในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก ยังพบว่า มีการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่น่าจะเป็นมาตรฐานของของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศพึงกระทำ

 

และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้บริษัทฯ ขอโทษผู้บริโภคเป็นการทั่วไปที่ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน และมีการผลิตและจำหน่ายสินค้า ที่อาจจะเข้าข่ายอาหารปลอมด้วยไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก ตลอดจนดำเนินการแก้ไขให้สินค้าของบริษัทมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไปด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภ.ก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทย์ฯ เป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล มีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ผ่านการรับรอง ในการทดสอบขนมปังที่ทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ส่งมานั้น ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็ใช้เกณฑ์การวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้จึงขอยืนยันผลการวิเคราะห์ตามรายงานผลการทดสอบที่ทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้เผยแพร่ลงในนิตยสารฉลาดซื้อ

 

ผศ.ปรัชรัชต์ ธนวิยุธท์ภักดี จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุกวันนี้มีการใช้วัตถุเจือปนในอาหารจำนวนมาก เพื่อทำให้อาหารเป็นไปตามคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น ยืดอายุ หรือปรุงแต่งรสชาติ วัตถุกันเสียก็ถูกพบว่า มีการนำมาใช้กันมากขึ้น เพื่อการยืดอายุอาหารออกไป ที่พบได้บ่อยคือ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น น้ำผลไม้ แยม เนื้อสัตว์แปรรูป ส่วนกรดโปรปิโอนิก จะนิยมมากในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งเป็นไปภายใต้กฎหมายกำหนด คือบางชนิดอนุญาตให้ใช้แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน ถ้ามีการใช้วัตถุกันเสียมากกว่า 1 ตัว ก็ต้องดูว่าเมื่อนำค่าทั้งหมดมารวมกันแล้วต้องไม่เกินค่าต่ำสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ ไม่ใช่ดูทีละตัว ค่ามาตรฐานของวัตถุกันเสียที่กฎหมายกำหนดก็คำนวณจากค่าความปลอดภัยที่คนเราบริโภคแล้วจะไม่เป็นอันตราย สำหรับอันตรายของวัตถุกันเสียก็จะเสี่ยงต่อระบบขับถ่ายและภาวะภูมิแพ้ได้

 

ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า อย.ทำงานภายใต้กฎหมายอาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งมีระเบียบปฏิบัติที่มีขั้นตอนเฉพาะ ตั้งแต่การอนุญาตผลิต การดูเรื่องโรงงาน สถานประกอบการ ฯลฯ การเก็บตัวอย่างสินค้าอาหารก็เช่นกัน ต้องทำภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมาย และต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สำหรับกรณีการใช้วัตถุกันเสียนั้น ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทาง อย.เฝ้าระวังมาโดยตลอด และพบว่ามีปัญหาการใช้เกินมาตรฐานในหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งการใช้วัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งเกณฑ์นี้ก็อิงตามหลักสากล คือ Codex ตามกฎหมายกำหนดให้ ซอร์บิกและเบนโซอิก ต้องไม่เกิน 1,000 มก./กก. และหากมีการใช้มากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ก็ต้องไม่เกินค่าต่ำสุดของตัวใดตัวหนึ่งที่ใช้ สำหรับกรณีการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค อย.สามารถเข้าไปขอเก็บสินค้าจากผู้ประกอบการได้ทันที ซึ่งกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร้องเรียนเข้ามานั้น ทางอย.ได้เก็บตัวอย่างส่งให้ทางกรมวิทย์ตรวจวิเคราะห์แล้ว ก็ต้องขอขอบคุณที่ทางเครือข่ายผู้บริโภคได้ช่วยทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะลำพังกำลังของทางหน่วยงานเองก็ต้องยอมรับว่าทำได้ไม่เต็มที่ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: