จวกพื้นที่การเกษตร ‘ในน้ำมียา ในนามีหนี้’ สื่อสร้างสุขอุบลฯแนะ เกษตรกร-เยาวชนผลิตสื่อ รู้ทันสารเคมี

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 19 ต.ค. 2556


เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม  ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางบ้านหมู่ 1 ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงความมั่นคงทางอาหารจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการเสริมศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จ.อุบลราชธานี  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดอบรมเกษตรกรและเยาวชนในตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ผลิตสื่อหนังสั้นรู้เท่าทันสารเคมีทางการเกษตร โดยมีเกษตรกรและเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 คน

นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เกษตรกรผ่านรูปแบบการผลิตสื่อหนังสั้น ให้รู้เท่าทันพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ และมีทักษะการคิดบท ถ่ายทำ และตัดต่อเบื้องต้นจนสามารถผลิตหนังสั้นเกษตรอินทรีย์ออกมาเพื่อสื่อสารต่อสังคมได้ อบรมนำร่อง 5 พื้นที่ ระยะเวลา 2 วัน จัดในระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 256  ได้แก่ ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ, ต.โนนกลาง อ.พิบูลมังสาหาร, ต.ก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน,ต.หนองบ่อ อ.เมือง,ต.ม่วงใหญ่ อ.โพธิ์ไทร และต.นาตาล อ.นาตาล โดยพื้นที่ต.คูเมืองจัดอบรมเป็นรุ่นแรก

หลักสูตรการจัดอบรม เริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ในหัวข้อ รู้เท่าทันสารเคมีทางการเกษตร โดยดร.สังวาล สมบูรณ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี กล่าวว่า ในอดีตไร่นาเกษตรกรมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เกษตรกรใช้สารเคมีทางการเกษตรมากขึ้น เห็นได้ชัดจากข้อมูลนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยในปี 2555 เฉพาะสารกำจัดวัชพืชมีนำเข้ากว่า 100 ล้านกิโลกรัม มูลค่ากว่า10,000 ล้านบาท จนมีคำเปรียบเปรยเชิงเยาะเย้ยผืนนาไทยว่า ในน้ำมียา ในนามีหนี้ นาผืนนี้มีแต่หนี้กับยา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เด็กหญิงวัย 4 ขวบ อ.สว่างวีระวงศ์ ป่วยโดยมีแผลเป็นตุ่มขนาดใหญ่เต็มขาและเท้า หลังวิ่งเล่นที่ท้องนาโดยพื้นที่ข้างเคียงปลูกยางพาราแปลงใหญ่กว่า 3,000 ไร่ และฉีดยาฆ่าหญ้าในไร่ยางพาราด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของสารเคมีทางการเกษตร โดยคุณจุฬาพร คำรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงผลตรวจเลือดเกษตรกร จ.อุบลราชธานี เพื่อหาความเสี่ยงจากสารเคมีทางการเกษตร ในปี 2554 จำนวน 35,087 ราย พบว่ามีความเสี่ยงไม่ปลอดภัยสูงถึงร้อยละ 29.45

ขณะที่นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม เกษตรกรอินทรีย์ ต.โนนกลาง อ.สำโรง ชี้ทางออกอย่างเป็นรูปธรรม คือการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยแนะนำว่า เกษตรกรต้องรู้จักประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเกษตร เริ่มตั้งแต่การวัดค่าของดิน การทำปุ๋ยใช้เอง รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องการตลาด จากประสบการณ์ที่ผ่านมายืนยันว่า เกษตรกรอินทรีย์มีรายได้ดี ไม่อดตายแน่นอน ยกตัวอย่าง ตนปลูกหอมแดงขาย ราคาสูงตันละ120,000 บาท  ปลูกผักขายส่งตลาดในจ.อุบลฯ ได้แก่ อุทยานบุญนิยม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ รายได้ต่อครั้งถึง 4,000- 5,000 บาท เป็นต้น

จากนั้นผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เทคนิคการเขียนบท ถ่ายทำ และตัดต่อ และได้แบ่งกลุ่มลงมือปฏิบัติการถ่ายทำหนังสั้น โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมทั้งคิดบท นักแสดง ถ่ายทำ และตัดต่อ หลังจากนั้นได้เปิดฉายให้แก่คนในชุมชนดูร่วมกันด้วยความสนุกสนานและได้สาระความรู้อีกด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: