ค้าปลีกดุรายใหม่เบียดสู้ยักษ์ใหญ่ จับตาทุกรายมีอำนาจเหนือตลาด กรมการค้าฯระบุไม่เข้าข่ายผิดกม.

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 18 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3254 ครั้ง

 

 

การทุ่มซื้อ บริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโครโฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โอเอชที จำกัด ของ ซีพี ออลล์ ด้วยวงเงินสูงถึง 188,880 แสนล้านบาท เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจที่ถูกจับตาและพูดถึง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นบิ๊กดีลเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวกระโดดสำคัญของซีพีในสมรภูมิค้าปลีกที่กำลังแข่งขันอย่างหนักหน่วง และเป็นสะพานก้าวสู่การทำตลาดในเอเชีย และยังหมายความด้วยว่า ธุรกิจของซีพีกำลังครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ-การผลิต ค้าส่ง และค้าปลีก

 

แต่ซีพีไม่ใช่เจ้าเดียวที่หวังชิงบัลลังก์ค้าปลีก ในตลาดนี้ยังมียักษ์ใหญ่อยู่หลายเจ้ารวมถึงยักษ์ตัวใหม่ที่เงินถึง ใจถึง พร้อมจะกระโดดเข้าชิงเค้กมูลค่า 2,399,377 ล้านบาทในปี 2555 และคาดว่าจะโตอีกร้อยละ 12 ในปีนี้

 

ทั้งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นตรงกันว่า ปี 2556 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ธุรกิจการค้าปลีกจะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง มีการขยายตัวทั้งในด้านรายได้และจำนวนสาขา ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่

 

ศูนย์ข่าว TCIJ รวบรวมข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในสมรภูมิค้าปลีกของไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เซเว่นครองตลาดสะดวกซื้อยอดขาย 2 แสนล้าน

 

 

ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน แบ่งธุรกิจค้าปลีกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Discount Store ซึ่งในปี 2555 มีรายได้รวม 396,166 ล้านบาท ในกลุ่มนี้ประกอบด้วยเทสโก้ โลตัส ที่มียอดขายอันดับ 1 ประมาณ 171,890 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.39 อันดับ 2 คือแม็คโคร มีรายได้ 112,140 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.31 และอันดับ 3 คือบิ๊กซี มีรายได้ 112,136 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.30

 

กลุ่มที่ 2 คือแกลุ่ม Convenience Store ในปี 2555 กลุ่มนี้มีรายได้รวม 210,378 ล้านบาท โดยมีเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นเจ้าตลาด มีรายได้ประมาณ 194,695 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.55

 

กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่ม Supermarket  มีรายได้รวมในปี 2555 ประมาณ 40,737 ล้านบาท ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้นำ มีรายได้ประมาณ 27,670 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67

 

 

ยักษ์ค้าปลีกเร่งขยายสาขาปี 2556

 

 

ส่วนในปี 2556 คาดว่าจะมีการขยายตัวของค้าปลีกสมัยใหม่เหล่านี้อีก ตามสภาวะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเทสโก้ โลตัส ที่ปัจจุบันมีสาขา 1,254 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่ง ในปี 2556 จะมีการลงทุนเพื่อขยายสาขาอีก 6,000 ล้านบาท และลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มอีก 3 แห่ง มูลค่า 6,000 ล้านบาท

 

ส่วนแม็คโคร ปัจจุบันมีสาขา 58 แห่ง กำลังมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีก 3 แห่ง ขณะที่บิ๊กซี ปัจจุบันมีสาขา 267 แห่ง วางแผนว่า ในปี 2559 จะขยายสาขาเป็น 1,250 แห่ง โดยแบ่งเป็นบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต 300 แห่ง และมินิบิ๊กซีและบิ๊กซีมาร์เก็ต 950 แห่ง

 

ด้านเซเว่น อีเลฟเว่น ผู้กลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อ ปัจจุบันมีสาขา 6,773 แห่งและมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 550 แห่ง

 

 

ร้านสะดวกซื้อแข่งดุ เจ้าใหม่-เจ้าเก่า เข้าชิงตลาด

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า รูปแบบร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะเป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจและขยายตัวเร็ว อันเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการเน้นความสะดวกรวดเร็ว อยู่ใกล้บ้าน ขณะที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ยังติดข้อจำกัดเรื่องกฎหมายผังเมือง อีกทั้งทำเลที่เหมาะสมสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ก็เริ่มหายากขึ้น หากดูความเคลื่อนไหวในกลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อตั้งแต่ปีที่แล้ว จะพบว่าทุนใหญ่ของไทยกำลังหันเหสู่ตลาดนี้

 

เริ่มตั้งแต่ บริษัท สหพัฒนพิบูลย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย สินค้าอุปโภค บริโภค อันดับ 1 ของไทย ได้ร่วมทุนกับบริษัท ลอว์สัน อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อแทนร้าน 108 ช็อป

 

กรณี บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซื้อบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด โดยวางเป้าหมายจะขยายสาขาให้ได้ 200 สาขาในปี 2556 จากที่อยู่ 713 สาขา และจะเปิดให้ได้ 3,000 สาขาใน 4 ปี ด้วยเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ทั้งยังจะเปลี่ยนชื่อท็อปส์ เดลี่ ซึ่งเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีอยู่ 119 สาขา มาใช้ชื่อ แฟมิลี่มาร์ท แทน

 

 

ขณะเดียวกัน ปตท. ยักษ์ใหญ่กิจการพลังงาน ก็พยายามรุกธุรกิจค้าปลีกผ่านจิฟฟี่ เดลี่ ใน 3 รูปแบบ คือร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 146 แห่งในสถานีบริการของ ปตท., ร้านจิฟฟี่ เดลี่ ที่เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค และอาหารพร้อมรับประทาน โดยเน้นเปิดให้บริการในส่วนราชการและอาคารสำนักงาน โดยจะเปิด 3 แห่งในปีนี้ และเพิ่มเป็น 30 แห่งในปีหน้า สุดท้าย คือ ร้านจิฟฟี่ ซูเปอร์ เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค

 

ด้านบีเจซีหรือ บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ราชันย์น้ำเมา ซึ่งพลาดหวังจากการซื้อคาร์ฟูร์, แฟมิลี่ มาร์ท และล่าสุด-แม็คโคร ก็กำลังเตรียมทัพลงทุน 153 ล้านบาทจัดระบบค่าปลีก เพื่อส่ง BJC ’ Smarts ลุยตลาดค้าปลีกด้วยตนเอง

 

 

ซีพี-กรมการค้าภายในยันไม่กระทบโชห่วย

 

 

เมื่อดูจากสภาพการแข่งขันแล้ว คำถามที่ตามมาคือค้าปลีกไทยรายย่อยหรือโชห่วย จะต้องเผชิญผลกระทบอย่างไร จากการแข่งขันของยักษ์ใหญ่เหล่านี้

 

นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า อยากให้มั่นใจว่าโชห่วยจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะโชห่วยถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของแม็คโคร ยิ่งโชห่วยซื้อสินค้าจากแม็คโครมากขึ้น แม็คโครก็จะเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นนโยบายการช่วยเหลือโชห่วยของค้าส่งอย่างแม็คโคร จะยังคงดำเนินต่อไป ส่วนเซเว่น อีเลฟเว่น ก็เป็นร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายสินค้าราคาสูงกว่าโชห่วย จึงเชื่อว่าโชห่วยจะไม่ได้รับผลกระทบจากการซื้อกิจการในครั้งนี้แต่อย่างใด

 

ประเด็นสำคัญที่ถูกกลาวถึงอีกประการคือ “การมีอำนาจเหนือตลาด” เป็นหลักเกณฑ์ที่ประกาศเมื่อปี 2550 ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่ระบุว่า ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป และมียอดเงินขายของรายใดรายหนึ่งตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งหลักเกณฑ์นี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ว่า เป็นหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างอ่อนเกินไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ย้อนกลับไปดูตัวเลขรายได้และส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการในกลุ่ม Discount Store, Convenience Store และ Supermarket พบว่า เข้าเกณฑ์เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดทั้งสิ้น เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 92.55 และมีรายได้ประมาณ 194,695 ล้านบาท เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีซีพีออลล์ฮุบแม็คโครว่า เข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ว่า

 

 

 

 

            “อยากให้มองในแง่ดีว่า เป็นครั้งแรกที่บริษัทของคนไทย เข้าซื้อกิจการค้าส่งรายใหญ่ของต่างชาติได้สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันถึงแม้ว่าหลักเกณฑ์การดูแลการควบรวมกิจการยังอยู่ระหว่างการจัดทำ แต่ก็ยืนยันว่าตามกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็เพียงที่จะกำกับดูแลไม่ให้ซีพีออล์มีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จนเอาเปรียบผู้ค้ารายอื่นหรือผูกขาด ทั้งนี้การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย แต่ต้องดูที่พฤติกรรม โดยทางซีพีออลล์ก็เป็นผู้มีประสบการณ์ในตลาดค้าปลีกที่เข้าใจกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นอย่างดี ดังนั้นเชื่อว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจค้าส่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจค้าปลีก นั่นหมายถึงโชห่วยหรือร้านค้ารายย่อยก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน”

 

ทั้งอธิบดีกรมการค้าภายในและเจ้าสัวธนินทร์ดูจะมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วยจะได้ประโยชน์มากกว่าผลกระทบ ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไรคงมีคำตอบให้เห็นกันอยู่แล้ว ไม่รู้ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ เจ้าของไอเดียร้าน ‘โชว์สวย’ จะเห็นด้วยกับเจ้าสัวธนินทร์หรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: