‘วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ’วิพากษ์ ‘สังคมก้มหน้า’ชีวิตในโลกเสมือน เมื่อโซเชียลมีเดียครอบงำ

ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ก.ค. 2556


 

 

ภายใต้ยุคสมัยที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีหรือโซเชียล มิเดียกำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน และคาดว่าในอนาคตโซเชียลมีเดีย จะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ หรือแม้กระทั่งความคิดของผู้คน จนนำไปสู่การประกอบสร้างตัวตนผ่านโซเชียลมีเดีย

วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการของนิตยสาร GM บรรณาธิการนิตยสาร Digital Life และนักเขียน แต่อีกบทบาทที่เขาทำมาเป็นเวลานานคือ ผู้ใช้และนักสังเกตโลโซเชียลมีเดีย นี่คือคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในมุมของเขา

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ขอเริ่มด้วยคำถามกว้าง ๆ ก่อนว่า คุณมองโซเชียลมีเดียอย่างไร ที่เป็นกระแสต่อเนื่องอยู่ตอนนี้ก็มีหน้ากากกาย ฟอว์ก

วุฒิชัย : ก็เหมือนกับละครแรงเงา เฟอร์บี้ หรือกังนัมสไตล์ สำหรับคนที่เล่นโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เราก็จะคุ้นเคยกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ สักพักก็มีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เดือนต่อเดือน วันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง ผมไม่ได้คอมเมนท์ว่า สิ่งไหนมีคุณค่า สิ่งไหนมีความน่าเชื่อถือ หรือสิ่งไหนดีกว่า ผมแค่พยายามจะบอกว่า มันเป็นสิ่งที่วูบขึ้นมาจากเทคโนโลยีเท่านั้นเอง

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : การวูบไหวของปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไร หรือเพียงแฟชั่นอย่างหนึ่งเท่านั้น เป็นสีสันให้แก่ชีวิต

วุฒิชัย : ผมคิดว่า เวลาเราใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีมันเล่นงานเรา หรือมันทำปฏิกิริยาบางอย่างกับเรา 2 ด้านด้วย หนึ่ง-มันแยกเราออกจากกัน เช่น เวลาคุณฟังเพลงเวลาไปต่างจังหวัดกับเพื่อน ถ้าสมัยก่อนผมจะมีเครื่องเล่นเทปแบบพกพาอยู่อันหนึ่ง ผมเสียบหูฟัง เพื่อนทุกคนก็ฟังของตัวเอง เทคโนโลยีเปิดพื้นที่ส่วนตัวให้เรามากขึ้น ยิ่งนานวันเทคโนโลยี ยิ่งแยกเราออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าในใจลึก ๆ เราก็ถวิลหาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบ ๆ ตัวเราเหมือนสังคมแบบดั้งเดิม จึงกลายเป็นปฏิกิริยาแบบที่ 2 คือ เทคโนโลยีนำเรากลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง และก็กลับมารวมกันในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่รูปแบบเดิมอีกแล้ว เป็นการรวมกันผ่านเครือข่าย ผ่านสื่อ ผ่านอะไรบางอย่างที่เป็นนามธรรม ที่ล่องลอยอยู่บนฟ้า เช่น ทุกวันนี้รถติด คุณนั่งรถตู้กลับบ้านที่อยู่ชานเมือง คุณจะเห็นว่าทั้งรถตู้ทุกคนก้มหน้ามองสมาร์ทโฟนในมือ ทุกคนถูกแยกออกจากกัน เราเป็นคนแปลกหน้ากัน แต่เราไปมีความสัมพันธ์กับใครก็ไม่รู้ที่อยู่ในโทรศัพท์ อยู่ในเครือข่ายของเรา ในฟอลโลเวอร์ที่เป็นเฟรนด์ของเรา

หน้ากาก ละครแรงเงา ละครคุณชาย หรือการเขย่าขนมหมี ให้กลายเป็นช็อคบอล มันสะท้อนให้เห็นว่า เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมส่วนใหญ่ เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น ทุกวันนี้กลับถึงคอนโดมิเนียมคนเดียว ข้างห้องไม่รู้จักกัน กลับบ้าน เปิดทีวี ดูโซเชียลมีเดีย และแชร์ความคิดเห็นที่มีต่อละครลงไป สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อกัน อาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมือง ธุรกิจ แล้วแต่จุดประสงค์

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : จริงหรือไม่ ที่ว่าคนปัจจุบันมีความรู้สึกเหงากันมากขึ้น อยู่คนเดียวไม่ค่อยจะได้ เกี่ยวกันหรือไม่ที่เรามุ่งเข้าไปในโซเชียลมีเดีย เพื่อจะร่วมกลุ่มกันอีกครั้ง

วุฒิชัย : ความเหงามันฟังดูโรแมนติก จากคำถามฟังดูแล้วก็เกือบจะใช่ อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาทางสังคม มนุษย์เราไม่รู้หรอกว่า เราเป็นใคร เราเป็นอะไร เราจะสามารถเข้าใจตัวเราเองได้จากสายตาของคนอื่น มีคำกล่าวว่า มนุษย์สามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้ด้วยสายตา เราสามารถสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งเดียวที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ คือหัวของเราเอง เป็นความรู้สึกลึก ๆ ของเราว่า เรายังไม่สามารถเข้าถึงตัวเราเองได้ จนกระทั่งเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

เราสร้างตัวตนขึ้นมาจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ว่าถ้าเป็นสังคมดั้งเดิม สังคมชาวบ้านที่ยังไม่มีความทันสมัยมากจะมีโอกาสทางสังคม มากกว่าที่เราจะได้อยู่ร่วมกับคนอื่น แต่ปัจจุบันสังคมมีความเป็นเมือง มีเทคโนโลยีมากขึ้น มันแยกเราออกจากกัน เช่น ขึ้นรถไฟฟ้าไม่เคยคุยกับใคร ทุกคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ ทำให้ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ กลายเป็นสังคมที่เราไม่เคยถูกเห็น เราจึงไม่เข้าใจว่าเราเป็นใคร ผมว่าหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือพีซี ที่เราเล่นกันตอนกลางคืน มันเป็นเสมือนกระจก จริงๆ แล้วเราไม่ได้ดูโลก แต่เรากำลังมองดูตัวเอง เช่น วันหนึ่งเราจะรอคอมเมนท์กี่คอมเมนท์ คนกดไลค์กี่คน มีคนรีทวีตข้อความของเรากี่ครั้ง มีคนแมสเสจมาหาเรามากแค่ไหน จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้คือ กระจกที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : จำนวนไลค์ จำนวนทวีต อีกแง่หนึ่งก็คือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีตัวตนกับคนอื่น

วุฒิชัย : แน่นอน ถ้าวันไหนส่องกระจก แล้วเห็นกระจกเป็นกระจกที่ว่างเปล่า เราก็จะไม่รู้ว่า วันนี้เราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าวันไหนเป็นกระจกใส มีแสงสว่างส่องมาที่เรา วันนี้ได้มา 5 ไลค์ 5 คอมเมนท์ มีคนรีทวีตเรามากมาย มันก็ยิ่งก่อสร้างตัวเองมากขึ้นทุกวัน ๆ แรก ๆ เราอาจเข้าใจว่า เราใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเสพข้อมูลข่าวสารทั้งโลก แต่จริง ๆ แล้ว มันคือการเอาทั้งโลก มาเป็นกระจกสะท้อนให้เราสามารถเห็นตัวเรามากกว่า เราแค่อยากเห็นสิ่งที่เราต้องการจะเห็นในโลกโซเชียล มิเดียเท่านั้น เช่น เพื่อนที่มีความคิดเหมือนกับเรา เพื่อนที่อยู่ในแวดวงเดียวกันเรา เป็นเหมือนการป้อนข้อมูลที่ก่อสร้างเป็นตัวเราขึ้นมา

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ถ้าจำนวนไลค์ จำนวนรีทวีต คืออุปกรณ์การสร้างตัวตน แต่ละคนก็ต้องสร้างสเตตัส (Status) คม ๆ ตลอดเวลา แบบนี้มันก็เหนื่อยอยู่ไม่น้อย

วุฒิชัย : สำหรับบางคนที่ไม่ชินกับมันก็คงจะเหนื่อย แต่สำหรับคนที่เป็นสื่อหรือเป็นนักเขียนอยู่แล้ว ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนกับการแต่งหน้า ทาปาก ทุก ๆ วัน คือการพยายามได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : จากที่อ่านงานของคุณรู้สึกว่า คุณมีมุมมองต่อการมองวิธีการต่าง ๆ ที่มันข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือโซเชียล มิเดียในแบบกลาง ๆ แต่จริง ๆ แล้วสังคมก้มหน้าแบบนี้มีโทษบ้างหรือเปล่า

วุฒิชัย : ผมว่ามันคือการนั่งส่องกระจกมองตัวเองทั้งวัน สมัยก่อนยังมีกิจกรรมอื่นให้เราทำ เช่น ถ้าเราเป็นนักศึกษา เราขวนขวายที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของชมรม ได้รับการยอมรับจากเพื่อน แต่สมัยนี้ สิ่งต่าง ๆ มันควบแน่น ทุกอย่างมันสำเร็จรูปมาก เช่น ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมอยากเป็นนักเขียน ต้องเขียนเป็นอาทิตย์ ๆ ผลงานชิ้นหนึ่งถึงจะเสร็จ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ผ่านไป 2 สัปดาห์ ไม่มีใครสนใจงานเขียนของเราเลย จนกระทั่ง 2-3 ปี ถึงจะมีผลลัพธ์กลับมาว่าเริ่มมีคนสนใจในงานเขียนของเรา ซึ่งมันแตกต่างจากทุกวันนี้ ทุกอย่างมันสำเร็จรูป รวดเร็ว เมื่อคุณโพสต์อะไรลงไปจะได้รับผลลัพธ์ทันทีทันใด

 

 

ผมคิดว่า โลกที่มันรวดเร็วขนาดนี้ สร้างตัวตนได้รวดเร็วแบบนี้ มันดึงดูดความสนใจในตัวเรามาก จนแทบไม่ต้องทำสิ่งอื่นแล้ว การงาน ครอบครัว งานอดิเรก โลกอื่น ๆ กิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิต แทบไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้ว คุณแค่ส่องกระจกของชีวิต มันง่ายมากที่จะโพสต์ข้อความอะไรก็ได้ลงไป เดี๋ยวนี้มีเพจที่โพสต์ข้อความคม ๆ คุณก็แค่รีทวิตข้อความเหล่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันสำเร็จรูปพร้อมที่จะให้คุณกดแชร์ กดรีทวีต เพื่อที่จะมาสะสมเป็นตัวคุณมากขึ้น ๆ

ผมชอบโพสต์ภาพหนึ่งลงในเฟซบุ๊ค เป็นภาพที่ตัวการ์ตูนกำลังวิ่งเข้าหาป้ายที่เขียนว่าความสำเร็จที่อยู่ข้างหน้า แต่ข้างหน้าป้ายนั้นกลับมาหลุม ในหลุมเขียนว่า เฟซบุ๊ค ผมว่ามันเป็นการ์ตูนที่สะท้อนให้เห็นถึงโทษ สะท้อนให้เห็นยุคสมัยปัจจุบันว่า คนในสังคมติดกับอยู่กับตนเองกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้อยากมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป ก่อนหน้านี้ทุกคนในโลกดีใจที่มีเว็บ 2.0 แตกต่างจาก 1.0 เว็บ 2.0 คือเว็บที่เปิดโอกาสและถ่ายทอดเผยแพร่ตัวเองไปได้เยอะมาก เช่น ยูทูป บล็อกออนไลน์ต่าง ๆ เราก็ตื่นเต้นมาก เพราะต่อไปจะสามารถสร้างคอนเทนท์ของโลกที่จะรณรงค์สิ่งที่ดีเพื่อสังคม จนกระทั่งเริ่มมีทวิตเตอร์หรือไมโครบล็อก (Micro-Blog) ต่อมามีเฟซบุ๊คและในที่สุดก็เป็นโซเชียล มิเดียแบบเต็มตัว

แต่ทุกวันนี้มีใครเขียนบล็อกดี ๆ เขียนไดอารี่อย่างตั้งใจ มีใครอยากถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ดีจริง ๆ หรือเปล่า เมื่อก่อนเราดีใจที่เราสามารถสร้างคอนเท็นต์ได้เอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมรู้สึกว่าคอนเท็นต์น้อยลงเรื่อย ๆ เพราะว่าทุกคนก็รอ รอละคร รอหน้ากาก รอเฟอร์บี้ รอสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่มันสามารถกดได้ง่าย แชร์ได้ง่าย ได้รับฟีดแบ็คกลับมาทันทีทันใด การที่คุณตั้งใจให้คอนเท็นต์มีคุณภาพเป็นเรื่องรองไปแล้ว ทุกวันนี้บล็อกก็เริ่มตายและสิ่งที่เฟืองฟูคือไมโครบล็อก ทำอะไรนิดเดียวก็ได้ผลตอบรับในทันทีทันใด ผลในอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ เทคโนโลยีมันสร้างสิ่งที่สปอยล์เรามากขึ้น ธรรมชาติของมนุษย์คือไม่เห็นหัวตัวเอง เราไม่เข้าใจว่าเราคืออะไร เราเป็นใคร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยส่องให้เราดูหัวของตัวเองไปทุกวันเรื่อย ๆ

 

ศูนย์ข่าวTCIJ : การผลิตตัวตนแบบสำเร็จรูปมันก็แตกหักง่าย วันหนึ่งถ้ามันแตกสลายไป คนเราจะอยู่อย่างรู้สึกมั่นคงได้อย่างไร เพราะเหมือนเอาตัวเราไปฝากไว้กับการกดไลค์หรือคอมเม้นท์ต่าง ๆ

วุฒิชัย : ก็ต้องย้อนกลับไปคำถามแรกสุดที่ว่า จริง ๆ แล้วตัวตนเราคืออะไร ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่เป็นข้อสันนิฐานของผม ผมรู้สึกว่าตัวตนของเราขึ้นอยู่กับไทม์แอนด์สเปซ เวลาเราอยู่ที่บ้านเราเป็นคนแบบหนึ่ง อยู่ที่ออฟฟิศก็เป็นคนอีกแบบหนึ่ง ตัวตนเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ไทม์แอนด์สเปซที่เราเข้าไปยึดครอง ไซเบอร์สเปซก็เป็นอีกสเปซหนึ่งที่ตัวตนเราเข้าไปยึดครอง จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นคอนเส็ปต์ใหม่ แต่เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกต่างตั้งคำถามกันมาก่อนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต สมัยนั้นถ้าคุณเกิดทัน คุณอาจจะได้ใช้ห้องแชทรูม อีเมลล์  ไอซีคิว ที่ยังไม่ใช้โซเชียลมีเดียแบบทุกวันนี้ เมื่อ 10 ปีกว่าก่อน มีภาพยนตร์เรื่อง You’ve got mail ทอม แฮงค์ กับ แม็ค ไรอัน จีบกันทั้งเรื่อง เขาเคยเจอตัวจริงของกันและกัน แต่เขาไม่รู้จักกัน เขารู้แต่ว่าเขาหลงรักใครสักคนหนึ่งผ่านแชท ตัวละครทั้ง 2 ตัวรักกันเมื่อเขาอยู่ในไซเบอร์สเปซ แต่เมื่อพออยู่ในโลกแห่งความจริงเขาไม่ได้เปิดเผยว่าเขาคือใคร จนกระทั่งฉากท้ายของเรื่อง ทั้ง 2 คนนัดกันเพื่อที่จะไปเจอตัวจริงของกันและกัน โดยใช้สวนสาธารณะเป็นจุดนัดพบ ทอม แฮงค์ เดินจูงสุนัข แม็ค ไรอัน ก็เดินมา สักพักมีเพลงขึ้น Somewhere over the rainbow เป็นฉากจบที่ถูกต้องมาก ในโลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นเหมือนภาพยนตร์โรแมนติก-คอมเมดี้อย่างนั้นหรือเปล่า

ถ้าคุณเคยอ่านข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่นักศึกษาผู้หญิงกำลังจะกระโดดตึกตาย เพราะว่าเขาเล่นเฟซบุ๊คกับผู้ชาย แต่นักศึกษาหญิงคนนี้ใช้ภาพโปรไฟล์ของคนอื่น พอนัดเจอกันจริง ๆ ผู้ชายบอกว่า ทำไมไม่เหมือนในรูปเฟซบุ๊ค ตอนแรกเขาก็คงคิดว่ามันจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งแบบภาพยนตร์ สุดท้าย ผู้ชายก็รับไม่ได้ นักศึกษาหญิงคนนั้นก็โดนปฎิเสธไป จนกระทั่งนักศึกษาหญิงเสียใจจะกระโดดตึกตาย

การแบ่งตัวตนใน 2 สเปซ ยิ่งตัวตนห่างกันมากเท่าไหร่ ยิ่งมีปัญหามากขึ้นเท่านั้น คุณจะยิ่งจัดการมันยากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้าย มันจะกลายเป็นปัญหาของคุณในระยะยาว แต่ถ้าถามว่าตนตัวไหนเป็นตัวตนที่แท้จริงมากกว่ากัน อันนี้ ไม่รู้ มีคนเคยบอกผมว่า ผมสามารถเป็นตัวของผมเองได้มากกว่าเวลาที่ผมอยู่หลังคีย์บอร์ด เพราะว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ผมเป็นผู้ที่ขี้อาย ไม่เอาไหน แต่เมื่อเวลาผมอยู่หลังคีย์บอร์ด ผมกลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่แสดงความเห็นถึงเรื่องอุดมคติ ต้องถามว่าแล้วตัวตนไหนคือตัวตนที่แท้จริงของคุณ ผมไม่มีคำตอบ ตัวตนที่แท้จริงอาจจะไม่มีอยู่ก็ได้

 

ศูนย์ข่าวTCIJ : คุณมีวิธีการจัดการตัวตนในแต่ละไทม์แอนด์สเปซ ไม่ให้มันชนกันหรือกัดกินกันและกันอย่างไร

วุฒิชัย : ผมเชื่อว่า ถ้าเราจัดการตัวตนในแต่ละโลกได้ใกล้เคียงกัน เราถือว่าตัวตนไหนที่เรารู้สึกสบายกันมันมากที่สุด เราก็ค่อย ๆ พยายามจัดการให้มันใกล้เคียงกับตัวตนนั้นมากที่สุด ไม่เป็นภาระที่เราจะต้องหนักใจหรือกังวล แต่ผมรู้สึกว่า ผมเป็นสื่อมวลชน นักข่าว นักเขียนมาก่อน ผมรู้ว่าสิ่งที่ผมถ่ายทอดออกไปผ่านสื่อ ผมจะต้องรับผิดชอบคำพูดของผมมากแค่ไหนในฐานะสื่อมวลชน และผมก็รู้ว่าเวลาผมอ่านข่าว ดูทีวี ดูข่าว ผมรู้ว่ามันจริงเท็จแค่ไหน เพราะว่าผมรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้น เวลาผมถ่ายทอดอะไรลงไปในสื่อใหม่อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ผมพยายามกำกับให้มันไม่ใหญ่ไปกว่าตัวตนที่แท้จริงของผม

แต่สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นสื่อมาก่อน คนที่ไม่ใช่ดารา นักเขียน นักข่าว เวลาเขาได้เจอกับสื่อใหม่เขาดีใจ ผมไม่เคยบอกกับโลกเลยว่า ผมมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร แต่ทุกวันนี้ผมสามารถอ่านได้หมดทุกคน ทุกระดับในสังคม ผมสามารถพูดถึงคำที่มันยิ่งใหญ่ อุดมการณ์ล้นฟ้า ต่อสู้ เกลียดชัง หรือรักคนนั้นคนนี้ ผมเฝ้ารอไลค์ เฝ้ารอรีทวีต สิ่งนี้คุณจะเหนื่อยและหนักกับการเล่นโซเชียล มิเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าคำของคุณมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ กองเชียร์ของคุณ คนที่เขาฟอลโล่คุณจากสิบเพิ่มขึ้นเป็นพันจนกระทั่งเป็นหมื่นคน คุณจะต้องคอยเอาอกเอาใจ ด้วยการป้อนคำใหญ่ ๆ เหล่านั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมว่ามันเหนื่อยเหมือนกับการหลอกตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนในนิยายเรื่องคนขี่เสือ คุณยิ่งมีคนมาห้อมล้อมมากเท่าไหร่ คุณยิ่งไม่เป็นตัวของตัวเองมากเท่านั้น

ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Prestige เป็นเรื่องราวของนักมายากล คุณจะเห็นว่ากลที่นักมายาเล่นจะค่อย ๆ กลืนเขา กลจะค่อย ๆ จริงจังขึ้นเรื่อย ๆ มีนักมายากลจีนที่มีกลเด็ดอยู่กลหนึ่งในชีวิตคือ กลซ้อนโหลปลาทอง สุดท้าย เขาซ้อนโหลปลาทองที่หว่างขาของตัวเอง เพราะว่าเขาต้องอยู่ภายใต้เสื้อคุ้มขนาดใหญ่ แม้กระทั่งลงจากเวทีแล้ว เขาก็ยังต้องแสดงเป็นคนอ้วน คนแก่หลังโก่งไปตลอดทั้งชีวิต เพียงเพื่อเวลาเขาแสดงบนเวที เขาจะได้เล่นกลนี้ได้อย่างแนบเนียนที่สุด ในที่สุดตัวตนเวลาอยู่บนเวทีมันจะบังคับบัญชาเราตลอดไป ถ้าพูดถึงการเมืองเวลาเราไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย ทะเลาะกัน เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นแค่กลที่คุณหลอกคนอื่นไปเรื่อย ๆ แม้ว่าคุณจะลงมาจากเวทีแล้ว คุณก็ยังต้องหลอกคนอยู่ต่อไป ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เวิร์ค

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : พูดกันว่าโลกโซเชียลมีเดียเป็นสังคมประชาธิปไตยในอุดมคติ ต่างคนต่างมีเสรีภาพ คุณเชื่ออย่างนั้นหรือไม่

วุฒิชัย : เป็นความเชื่อในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง มันก็เหมือนกับเมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนที่เราตื่นเต้นกับ เว็บ 2.0 บล็อก ยูทูบ ต่อไปนี้สถาบันสื่อที่ยิ่งใหญ่จะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเราจะสร้างคอนเท็นต์ของตัวเอง แต่ละคนก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เมื่อก่อนเราเคยมองสังคมในอุดมคติว่าจะต้องเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ดี เช่นเดียวกับตอนนี้ เรากำลังคาดหวังข้อมูลข่าวสารที่ดีเหล่านี้ในโซเชียลมีเดียกับเรื่องการเมือง รู้สึกว่าเอสเอมเอส เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ มันทำให้เกิดเหตุการณ์อาหรับ สปริง สิ่งนี้แหละจะทำให้นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ่ายทอดความคิด ทำให้ประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากทางอื่น นอกจากข้อมูลข่าวสารจากรัฐอย่างเดียว สมัยก่อนเรากลัวสิ่งที่รัฐเซ็นเซอร์ หรือรัฐล้างสมองประชาชน เรายกนิยายของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เรื่อง 1984

 

 

ในยุคปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารในลักษณะอื่นๆ เยอะมาก ในโซเชียลมีเดีย เราอยากรู้อะไรเราเสิร์ชกูเกิล เราไม่ต้องรอหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งเราค้นพบว่าเราเซ็นเซอร์สื่อด้วยตัวเราเอง คุณย้อนกลับไปดูรายชื่อเพื่อนของคุณ ที่สุดแล้วเราไม่ได้อยากได้ข่าวสารที่เสรี เราอยากได้ข้อมูลข่าวสารแค่ที่มันรองรับความคิดที่มีอยู่เดิมของเรามากกว่า รายชื่อเพื่อนของเราล้วนมีแนวความคิดคล้ายๆ กัน ทุกคนช่วยกันหาเหตุผลเพื่อมาอธิบายความเกลียดนั้น ดังนั้น โซเชียลมีเดียคือ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม คือวิทยุยานเกราะของเรา ที่จะป้อนความคิดเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกลียดคนนั้นคนนี้ รักคนนั้นคนนี้ เป็นการตอกย้ำ มีคนเห็นด้วย มีคนมากดไลค์ คอมเม้นท์ รีทวีต เราก็สร้างของเราเอง ฉันเกลียดคนนั้น ฉันรักคนนี้ โพสต์เพื่อที่จะได้รับไลท์ คอมเม้นท์ ท้ายที่สุด ตัวฉันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เราก็อยู่บนเวทีขึ้นเรื่อย ๆ จนเราเป็นนักมายากลคนนั้น

มายาคติที่ประชาธิปไตยในอุดมคติ ผมไม่เชื่อ บนโลกที่เทคโนโลยีทันสมัยแค่ไหน สุดท้ายเราก็ตกอยู่ในบ่อเดิม คือบ่อที่เราวิ่ง ๆ อยู่ แล้วมีบ่ออยู่ข้างหน้าแล้วเราก็ตกลงไปในบ่อเดิมขึ้นไม่ได้ เพราะถ้าขึ้นไปเพื่อนจะโห่

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ในหนังสือของคุณวุฒิชัย ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สุด แพงที่สุด ดีที่สุดแต่ขอให้เป็นเทคโนโลยีที่มีคุณค่าและมุมมองที่ถูกต้องและควรค่าต่อคนไทย เหมือนจะบอกว่าเทคโนโลยีเป็นตัวที่กำหนดคุณค่าและมุมมองความถูกต้องของคน ไม่ใช่มนุษย์ที่เป็นตัวกำหนดคุณค่าและมุมมอง

วุฒิชัย : มนุษย์เป็นผู้สร้างเทคโนโลยี แต่สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีย้อนกลับมากำหนดมนุษย์ เราไม่สามารถจะนึกถึงตัวตนอื่น หรือโลกอื่น หรือกระทั่งความจริงในลักษณะอื่นที่มาก่อนเทคโนโลยี เราอยู่ภายใต้กรอบความคิดบางอย่างที่คนเรามีอยู่แล้ว ซึ่งสานต่อกันมารุ่นต่อรุ่น

มีการ์ตูนเรื่องหนึ่งของค่าย Dream Work เรื่อง Meet the Robinsons ตัวละครที่ชื่อ Robinsons เป็นนักประดิษฐ์ เขาประดิษฐ์หมวกใบหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้ ทุกทำอย่างแทนเรา คิดทุกอย่างแทนเรา แต่หมวกถูกตัวร้ายขโมยไป  ทำเรื่องชั่วร้าย ตัวร้ายสั่งให้หมวกผลิตหมวกที่มีลักษณะเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกและแพร่ไปทั่วโลก ผลิตซ้ำตัวมันเอง ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีมันผลิตซ้ำตัวมันเองขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเรามองโลกที่เกิดขึ้นมาหรือเกิดก่อนเทคโนโลยีไม่ได้ เพราะฉะนั้นความจริง ความดี ความงาม ที่มาก่อนสิ่งเหล่านี้ เราจึงนึกไม่ออกว่าคืออะไร เราเลือกได้ในระดับหนึ่ง เราเป็นตัวของตัวเราเองได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกอะไร จะสร้างความเป็นตัวเองแบบไหนได้เพียงในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง ผมเลือกที่จะพยายามทำงานเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เลือกที่จะลอยขึ้นและมองลงมาว่าสิ่งนั้นคืออะไร มากกว่าที่จะกระโดดเข้าไป

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ฟังแล้วเหมือนอยู่กันโลก Matrix

วุฒิชัย : แน่นอนเราอยู่ในโลก Matrix อยู่แล้ว เราไม่สามารถคิดก่อนความคิดได้

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ มันจะพาเราไปสู่อะไร เราจะอยู่กับเทคโนโลยี โซเชียลมีเดียอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสมดุลไม่ให้เทคโนโลยีมันกัดกินเรามากจนเกินไป

วุฒิชัย : สิ้นหวัง ไม่รู้จะตอบอย่างไร

 

ศูนย์ข่าว TCIJ : ไม่มีทางที่เราจะอยู่กับมันอย่างพอดีเลยหรือ เราต้องถูกครอบงำโดยเทคโนโลยีไปเรื่อย ๆ ต่อไปก็อาจมีเทคโนโลยีใหม่ที่ครอบเราและกดเราลงไปเรื่อยอย่างนี้หรือ

วุฒิชัย : ตอนนี้เทคโนโลยีมันอยู่ในขั้นที่หมวกใบนั้นมันผลิตซ้ำตัวเองขึ้นมาเรื่อย ๆ รุ่นต่อรุ่น แน่นอนว่ามนุษย์คือคนที่สร้างมันขึ้นมา แต่ความคิดในการสร้างมันคือหมวกใบนั้นที่ผลิตซ้ำกันมาเป็นรุ่น ๆ สิ่งหนึ่งคือการที่เรายอมรับว่า มนุษย์อ่อนด้อย พ่ายแพ้ ภายในเราอ่อนปวกเปียก เลวร้าย เน่าหนอน เป็นการยอมรับความพ่ายแพ้ของมนุษย์ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์จะยิ่งใหญ่ จะก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า พอมีโซเชียลมีเดีย ต่อไปนี้ประชาธิปไตยจะยิ่งใหญ่ ผมคิดว่ามันคือการยอมรับว่าจริง ๆ แล้วเราตกหลุมและจมอยู่ในกะลาของเทคโนโลยี ถ้าเรายอมรับความอ่อนด้อย เราก็จะมองแบบล้อเล่น ไม่จริงจัง ไม่ซีเรียส ไม่เอาชีวิตเข้าไปแลก ไม่ยึดถือว่ามันเป็นความจริงแท้ที่สุด ผมไม่เชื่อว่ามันจะดี ผมไม่เชื่อว่ามันจะจริง

เรื่องตัวตน จากคำถามที่ว่าเรามีตัวตนอยู่ในไซเบอร์สเปซ ถ้าเรายอมรับว่าตัวตนไม่มีอยู่ มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีตัวตนไหนที่จริงไปกว่าตัวตนไหน ผมว่ามันก็ทำให้เรามีชีวิตอยู่ในโลกที่มีไทม์แอนด์สเปซมากมายในทุกวันนี้ได้ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้เวลาอยู่บนรถไฟฟ้า เราอยู่บนไทม์แอนด์สเปซอย่างหนึ่ง พอเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา มันก็กลายเป็นประตูไปไหนก็ได้ที่จะพาเราไปอีกไทม์แอนด์สเปซหนึ่ง ถ้าเรารู้สึกว่าไทม์แอนด์สเปซนั้นเป็นเรื่องปลอม แล้วไทม์แอนด์สเปซอีกอันก็ไม่ได้จริงไปกว่ากัน มันก็ทำให้เราจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น ตัวตนไหนที่เราสบายใจ ทวิตเตอร์ก็ตัวตนหนึ่ง เฟซบุ๊คก็ตัวตนหนึ่ง เว็บบอร์ดก็ตัวตนหนึ่ง อินสตาแกรมก็ตัวตนหนึ่ง อยู่บ้านก็ตัวตนหนึ่ง มันเยอะไปหมด ถ้าคุณยอมรับว่ามันไม่จริง แค่เล่นไปตามบทบาท ทำอย่างไรให้เราสบายใจ...แค่นั้นพอ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: