ตรวจน้ำทะเลเสม็ดเกือบทุกอ่าวปลอดภัย แต่ยังห้ามเล่นน้ำ‘อ่าวพร้าว-อ่าวลูกโยน’

17 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3134 ครั้ง

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายหาดและอ่าวต่าง ๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำรอบเกาะเสม็ดจำนวน 3 ครั้ง  โดยครั้งแรก คือ วันที่ 3 สิงหาคม 2556  ครั้งที่ 2 วันที่ 9 สิงหาคม 2556 และครั้งที่ 3 คือ วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา จากตัวอย่างน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบเกาะเสม็ดจำนวน 12 อ่าวจากทั้งหมด 20 อ่าว แบ่งการตรวจหลัก ๆ ออกเป็น 3 ส่วน คือ การตรวจวัดค่าโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) ซึ่งทั้งสองเป็นสารที่เกี่ยวกับน้ำมันดิบรั่วไหล และสุดท้ายคือการตรวจหาสารโลหะหนักต่าง ๆ ทั้งปรอท แคดเมียม สารหนู

ผลการตรวจวัดค่าโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการก่อมะเร็ง ซึ่งค่ามาตรฐานขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ระดับต่ำสุดที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่ 300 ไมโครกรัมต่อลิตร ปรากฏว่า ผลการตรวจครั้งแรกและครั้งที่สองพบน้อยกว่า 1 ไมโครกรัมต่อลิตร และครั้งที่สาม พบน้อยกว่า 0.2 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งทั้งหมดอยู่ในค่ามาตรฐาน

ส่วนค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ที่ 1 ไมโครกรัมต่อลิตร ตรวจครั้งที่หนึ่งพบว่าทุกอ่าวมีค่าเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะอ่าวพร้าวพบถึง 513 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่เมื่อมีการตรวจครั้งที่ 3 ล่าสุดปรากฏว่า ลดลงแทบทุกอ่าวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เหลือเพียง 2 อ่าวเท่านั้น ที่ยังมีค่าเกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ คือ อ่าวพร้าวอยู่ที่ 5.7 ไมโครกรัมต่อลิตร และอ่าวลูกโยน 1.3 ไมโครกรัมต่อลิตร แม้ว่าค่าที่เกินมาจะไม่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต แต่เพื่อความปลอดภัยขอให้อย่าเพิ่งลงเล่นน้ำใน 2 อ่าวดังกล่าว

ขณะที่ผลการตรวจหาสารโลหะหนัก โดยเฉพาะสารปรอทนั้น ซึ่งค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร การตรวจวัดครั้งที่หนึ่ง พบว่ามีอ่าวพร้าว และอ่าวทับทิม ที่มีค่าเกินมาตรฐาน 29 เท่า หรือ 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนอ่าวทับทิมพบ 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตร กระทั่งครั้งที่ 3 ล่าสุดพบว่า อ่าวพร้าวเหลือเพียง 0.01 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งลดลงเป็น 10 เท่า ขณะที่อ่าวทับทิมเหลือเพียง 0.04 ไมโครกรัมต่อลิตร ดังนั้น ไม่ต้องกลัวเรื่องสารปรอทอีก ส่วนการตรวจวัดสารโลหะหนักอื่น ๆ อย่างโครเมียม และแคดเมียม พบว่าการตรวจครั้งที่ 1 และ 2 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมาตลอด ส่วนครั้งที่ 3 ผลการตรวจยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะแจ้งให้ทราบได้ในวันที่ 23 สิงหาคม 2556

ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษจะเก็บตัวอย่างตรวจสอบอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 19 และ 23 สิงหาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลวันที่ 23 และ 26 สิงหาคม ตามลำดับ ช่วงนี้จึงขอแนะนำประชาชน และนักท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในพื้นที่อ่าวพร้าวและอ่าวลูกโยน จนกว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะอยู่ในภาวะปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษเก็บตัวอย่างทรายบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนคราบน้ำมัน โลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่าย เบื้องต้นตรวจไปแล้ว 30 เปอร์เซนต์ของชายหาด ส่วนใหญ่ไม่พบสารอินทรีย์ระเหยง่าย แต่พบบางจุดปนเปื้อนระดับต่ำมาก คาดผลตรวจจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ตัวอย่างอีก 10 วันจึงจะรู้ผล

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากปองพล สารสมัคร ผู้สื่อข่าว The Nation

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: