ม็อบหลากรส-ต้านนิรโทษฯถึงไล่รัฐบาล ปราศรัย-เดินสาย-เช็คอินหน่วยราชการ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 16 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2663 ครั้ง

เป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้ว สำหรับการชุมนุมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ โดยจุดประเด็นจากการไม่เห็นด้วยของประชาชนจำนวนมากต่อการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เมื่อย่ำรุ่งของวันที่  1 พ.ย.2556

การชุมนุมที่เกิดจากความพร้อมใจของประชาชนเกือบทุกภาคส่วน ออกมาแสดงพลังคัดค้านดังกล่าวกลายเป็นกระแสร้อนแรง จนในที่สุดวุฒิสภาฯ มีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปในการพิจารณาในสภาฯ  แต่ดูเหมือนการชุมนุมที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี กลับไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการเคลื่อนไหว โดยได้เปลี่ยนเป้าหมายการชุมนุมจากเพียงการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยกระดับเป็นการล้มล้างรัฐบาล

ก่อนประกาศตัวเป็นแกนนำการชุมนุมอย่างชัดเจน ด้วยการลาออกจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมส.ส.อีก 8 คน พร้อมประกาศปฏิรูปประเทศไทย ด้วย “สภาประชาชน” ที่ถูกออกแบบขึ้นมา โดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส.

ศูนย์ข่าว TCIJ สรุปพัฒนาการ และไฮไลท์สำคัญ ของการชุมนุมที่นำโดยนายสุเทพ ตั้งแต่เริ่มชุมนุม จนถึงปัจจุบันที่ดูเหมือนว่ายังคงหาทางออกไม่ได้ และคงจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

จุดประเด็น “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย”

การผ่าน กม.นิรโทษกรรม วาระ 3 ในสภาฯ กลายเป็นชนวนเกิดความไม่พอใจให้กับประชาชนทั่วประเทศ พากันรวมตัวออกมาชุมนุมเรียกร้องให้คว่ำการพิจารณาดังกล่าว โดยขบวนชุมนุมประกอบด้วยประชาชนที่ไม่เห็นด้วยที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่สังกัดสี นัดกันออกเดินคัดค้านไปบนถนนหลายสายรวมถึงในพื้นที่ต่างจังหวัด

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำในการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ระบุเป้าหมายในการชุมนุมคือ “ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม.”  มีประชาชนร่วมชุมนุมจำนวนมาก โดยตั้งเวทีบริเวณสถานีรถไฟสามเสน ก่อนจะเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ร่วมกับ กลุ่มผู้ชุมนุม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ (คปท.) โดยมี สัญลักษณ์เป็นนกหวีด พร้อมอุปกรณ์สีธงชาติ อาทิ ริบบิ้น โบว์ผูกผม ที่คาดผม สายรัดข้อมือ มือตบ  สร้อยคอ เป็นต้น

การเป่านกหวีด หรือ Whistleblower เป็นวิธีการที่เริ่มขึ้นโดย Ralph Nader ซึ่งเป็นทั้งนักกฎหมาย นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อสังคม ตัดสินใจทำการเป่านกหวีด หรือ Whistleblower ในสภาเพื่อเตือนไปยังรัฐบาลที่เริ่มแสดงออกให้เห็นพฤติกรรมที่ทุจริต และไม่โปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง ในปี ค.ศ.1970

วันที่ 9 พ.ย.2556  ม.ล.อภิมงคล โสณกุล และนายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ โฆษกกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงว่า จะปักหลักการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจะไม่ยกระดับการชุมนุมสู่การโค่นล้มรัฐบาล แต่ยันยันการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรม

เปลี่ยนเป้าหมายเป็นล้มระบอบทักษิณ หลังสว.คว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

วันที่ 10 พ.ย.2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นปราศัยบนเวทีอนุสาวรีย์ราชดำเนิน ว่า ขีดเส้นตายให้ รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 11 พ.ย. แต่รัฐบาลยังไม่ทำอะไร ดังนั้นในวันที่ 11 พ.ย. จะมีคนมาชุมนุมมาก และยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล เหมือนกับม็อบคนเสื้อแดงที่ทำเมื่อปี 2553 อย่างแน่นอน แต่จะให้ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้ว่า ม็อบคนดีชุมนุมกันอย่างไร

วันที่ 12 พ.ย.2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส.จ.สุราษฎร์ธานี พร้อม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 8 คน พร้อมประกาศจะชุมนุมต่อสู้กับ รัฐบาลในการต่อค้านคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนถึงที่สุด

วันที่ 13 พ.ย.2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เขียนเผยแพร่ในเฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า ถึงแม้วุฒิสภา จะคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว แต่จะหยุดชุมนุมไม่ได้ เพราะต้องรอเวลา 180 วันก่อน โดยจะต่อสู้ต่อ ในแนวทางของผู้มีอารยะ จิตใจสูง เคารพกฎหมายบ้านเมือง พร้อมทั้งขึ้นเวทีปราศัยกับผู้ชุมนุม ระบุ จะไม่นำผู้ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล-รัฐสภา เพราะไม่มีประโยชน์ ประกาศยกระดับการชุมนุมในวันที่ 15 พ.ย.

วันที่ 18 พ.ย.2556 นายสุเทพประกาศว่า ในวันที่ 24 พ.ย.จะมีผู้ชุมนุมเกินล้านคน โดยมีเป้าหมายเพื่อล้มล้าง ระบอบทักษิณ เพราะระบอบทักษิณยังอยู่

ยกระดับดาวกระจายยึดสถานที่ราชการ-สื่อ

วันที่ 24 พ.ย.2556 ผู้ชุมนุมเดินทางเข้าร่วมเวทีราชดำเนิน ชื่อ  “24 พ.ย. วันมวลมหาประชาชนไทย คนไทยใจเกินล้าน” มีการจัดสถานที่รองรับ บนเวทีมีนักร้อง นักดนตรี ร่วมแสดงให้ผู้ชุมนุมฟัง ขณะที่มีออกร้านอาหารมากกว่า 300 ร้านค้า เป็นร้านอาหารจานเดียว ที่มีชื่อเสียงใน 50 เขตทั่วกทม. พร้อมกับร้านอาหารเมนูชาวปักษ์ใต้ เช่น หมูย่างเมืองตรัง ร้านขนมจีน ข้าวแกงปักษ์ใต้ ให้มาออกร้านตลอดแนวถนนราชดำเนิน มีผู้ที่ชุมนุมเข้าคิวรับอาหารได้ฟรีตลอดเวลา รวมถึงครัวอาหารสี่ภาคที่ตั้งเต็นท์ประกอบอาหารแจกจ่ายเดิมอยู่แล้วกว่า 30 เต็นท์

การชุมนุมคึกคัก ประชาชนเดินทางออกมาร่วมชุมนุมพร้อมโพสต์รูปภาพ ข้อความผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ครวมทั้งบุคลสาธารณะ นักธุรกิจ ดารา คนดังในแวดวงสังคม ที่พากันถ่ายภาพการเข้าร่วมชุมนุม กลายเป็นกระแสรักชาติ ทำให้มีผู้คนออกไปร่วมชุมนุม

วันที่ 25 พ.ย.2556 นายสุเทพประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินดาวกระจาย 13 เส้นทาง ไปยังสถานที่ราชการ กระทรวงสำคัญต่างๆ และสำนักงานสื่อวิทยุโทรทัศน์ ขณะที่ตนเองนำผู้ชุมนุมเดินทางไปยัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ก่อนจะเข้ายึดพื้นที่และสั่งให้ข้าราชการหยุดทำงาน ส่วนกลุ่มที่ไปยังองค์กรสื่อมวลชนต่างๆ โดยเฉพาะสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้เดินทางไปกดดันเพื่อขอให้นำเสนอข่าวของกลุ่มผู้ชุมนุมบ้าง

ระบุว่าจะชุมนุมภายใน 3 วัน จบสิ้น

สำหรับกลุ่มของนายสุเทพที่นำมวลชนเดินดาวกระจายไปยังสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ถ.พระรามหก โดยเมื่อไปถึงได้ให้มวลชนตัดโซ่คล้องประตู เพื่อให้ข้าราชการออกมาร่วมชุมนุมได้ ขณะที่ให้เหตุผลการชุมนุมที่กระทรวงการคลังว่า เพื่อไม่ให้มีการโอนเงินไปให้หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การบริหารของระบอบทักษิณได้ พร้อมกันนี้ได้ให้ผู้ชุมนุมตัดน้ำตัดไฟ บริเวณกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้มีการทำงานในวันนั้น ก่อนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ขอออกหมายจับนายสุเทพและพวก ที่เข้ายึดกระทรวงการคลัง ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง  ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 215 และผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ

ต่อมานายสุเทพนำมวลชนในนามกปปส. เดินต่อไปยึดศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ท่ามกลางการคุ้มกันของการ์ด ขณะที่กลุ่มอื่นที่มีบรรดาอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกปปส.คนอื่นๆ นำเดินไปยังสถานที่ราชการหลายแห่งในกรุงเทพฯ ทั้งที่ บช.น. กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งกำแพง เครื่องมือต่าง ๆ เตรียมรับมือการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม

ประกาศยกระดับ บุกยึดทำเนียบฯ-บชน.ไม่ได้ไม่กลับ

นายสุเทพประกาศบนเวทีชุมนุมที่ศูนย์ราชการ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุม พร้อมกันนี้ระบุว่าในวันที่ 1 ธ.ค.2556 จะนำมวลชนเข้ายึดทำเนียบ และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด

วันที่ 30 พ.ย.2556 เป็นเวลาเดียวกับที่กลุ่มนปช. ระดมมวลชนคนเสื้อแดงจากทั่วประเทศ ขึ้นรถบัสนับร้อยคันเดินทางเข้ามาชุมนุม โดยระบุว่าเพื่อปกป้องรัฐบาล ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก และช่วงเย็นนั้นเอง ทำให้เกิดการปะทะกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เป็นนักศึกษา 1 ราย กลุ่มนปช. 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

วันที่ 2 ธ.ค.2556  เกิดการปะทะกันหลายจุด ระหว่างผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะบริเวณทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม ที่พยายามฝ่ารั้วแนวป้องกัน เพื่อเข้าไปภายใน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตลอดทั้งวัน

โซเชียลเน็ตเวิร์คปล่อยภาพ-ข่าวมั่วจนไม่รู้อันไหนจริง-เท็จ

โซเชียลเน็ตเวิร์ค มีการแชร์รูปภาพการปะทะกันอย่างดุเดือดในหลายจุด โดยเฉพาะภาพการยิงแก๊สน้ำตา และการต่อสู้ของกลุ่มผู้ชุมนุม มีทั้งภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และภาพไม่จริง เช่น มีการนำภาพข่าวการยิงแก๊สน้ำตาจากต่างประเทศมาโพสต์ แต่ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ในประเทศไทย

มีข่าวลือ ต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เกี่ยวกับการเตรียมการรับมือผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ พร้อมกันนี้ยังมีการโพสต์แชร์เรื่องราวในระหว่างการปะทะ เช่น เรื่องราวของนายกบ ผู้ชายอ้วน ซึ่งต่อสู้แก๊สน้ำตาด้วยกางเกงในตัวเดียว กลายเป็นฮีโร่ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น จนเป็นที่รู้จักไปทั่วในโลกออนไลน์

ผู้เข้าร่วมชุมนุมโพสต์ข้อความรายงานสถานการณ์การชุมนุม เช่น ความสามัคคีของผู้ชุมนุมที่มี ผู้ร่วมอุดมการณ์นำอาหาร และสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ที่การระดมสิ่งของจำเป็นในการป้องกันแก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมกองหน้า การแชร์ความรู้ด้านการป้องกันแก๊สน้ำตา โดยระบุว่าการชุมนุมเป็นไปตามกติกา และบนพื้นฐานของความรักชาติ โดยมีรายงานด้วยว่า ในระหว่างการปะทะ ในเวลา 18.00 น. มีการเปิดเพลงชาติ ผู้ปะทะทั้งสองฝ่ายต่างหยุดยืนตรงร้องเพลงเคารพธงชาติ ก่อนที่จะลงมือปะทะใหม่หลังเพลงชาติจบ

นายสุเทพประกาศให้ผู้ชุมนุมเตรียมพร้อมต่อการรับมือของตำรวจ ในการบุกยึดทำเนียบ และบชน.ในวันต่อมา เพราะเชื่อว่าจะมีการรับมือรุนแรงอย่างแน่นอน

เตรียมสู้ต่อแต่ตำรวจเปิดรับยื่นดอกไม้-เลี้ยงข้าว- เช็คอิน กลายเป็นจูบปากชื่นมื่น

วันที่ 3 ธ.ค.2556  ผู้ชุมนุมพร้อมเครื่องมือป้องกัน เคลื่อนขบวนไปยัง บช.น. เพื่อเข้ายึดตามที่นายสุเทพประกาศ แต่เมื่อไปถึง ปรากฎว่า พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.กลับมีคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเปิดประตูรับผู้ชุมนุม ยุติการปะทะ พร้อมกับสั่งให้กองร้อยน้ำหวานนำดอกไม้มาเตรียมมอบให้กับผู้ชุมนุม ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น บรรยากาศตรงข้ามกับวันก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับที่ทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดทางให้ผู้ชุมนุมเข้าไปสร้างสัญลักษณ์ภายในทำเนียบได้อย่างสะดวก ทำให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปเข้าถ่ายรูปโพสต์เฟซบุคส์ และโซเชียลออนไลน์อื่น ๆ ก่อนเดินทางออกมาพร้อมรอยยิ้ม ทั้งสองเหตุการณ์สร้างความงุนงงให้กับสื่อต่างชาติ และ ประชาชนที่คอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

วันที่ 4 ธ.ค.2556 นายถาวร เสนเนียม นำผู้ชุมนุม เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่ออ่านแถลงการณ์ถึงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ปะทะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเมื่อไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามผ่าแนวกั้นโดยใช้บันได และเครื่องมือต่าง ๆ ปีนกำแพงเข้าไปภายใน แต่ต่อมา มีการประกาศว่าจะมีการเปิดประตูกลางให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้าไป ทำให้ไม่เกิดความรุนแรง ก่อนที่ ผู้ชุมนุมจะเดินทางเข้าไปอ่านแถลงการณ์ และรับประทานอาหารกลางวันที่ สตช.เตรียมไว้ และเดินทางทางกลับอย่างสงบ

ยุบสภาแต่กปปส.สู้ต่อ ยันมวลมหาประชาชนต้องการปฏิรูปประเทศ

วันที่ 9 ธ.ค.2556 นายสุเทพประกาศดีเดย์ครั้งใหญ่ เวลา 09.39 น. จะยึดทำเนียบรัฐบาล เริ่มเดินเท้าจากศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่ 08.29 น.

แต่เมื่อขบวนถึงบนถ.วิภาวดีรังสิต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ใหม่ แต่การเดินและการชุมนุมยังคงไม่ยุติ

นายสุเทพระบุว่า การยุบสภาฯ ไม่ใช่การแก้ปัญหา โดยเรียกร้องให้ นายกฯลาออก เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเลือกตั้ง และยังยืนยันที่จะตั้งสภาประชาชนให้ได้

ขณะที่หลายฝ่ายพยายามเปิดเวทีเพื่อให้นายสุเทพมีโอกาสพบกับกลุ่มต่างๆ เริ่มตั้งแต่เวที “เสวนาสาธารณะเพื่อความสงบสุขและประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย” ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการสันติภาพ บก.กองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะ ในวันที่ 14 ธ.ค.2556 ซึ่งนายสุเทพเดินทางไปแลกเปลี่ยนด้วย และยังยืนยันว่า ประชาชนยังต้องการปฏิรูปประเทศไทย แต่สำหรับเวทีที่รัฐบาลจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายสุเทพไม่ได้เดินทางไปร่วมด้วย

นับจากวันนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า คลื่นมวลมหาประชาชนหรือจะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ จะไหลบ่าไปฟากฝั่งไหน ประเทศไทยจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 จะบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนที่ทุกคนวาดหวังหรือไม่ เราจะมีรัฐบาลที่ปราศจากคอร์รัปชั่นจริงหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้

 

ขอบคุณภาพถ่ายจาก Google และ Facebook

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: