จี้รัฐบาลหยุด'อีเอชไอเอ' แม่วงก์-ยมบน-ยมล่าง

16 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1168 ครั้ง

เมื่อวันที่ 16 กันยายน คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์หยุด EHIA อัปยศ หยุดเขื่อนแม่วงก์ ยกเลิกการศึกษาเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง คืนงบประมาณให้แผ่นดิน ระบุว่า จากการที่รัฐบาลได้อนุมัติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ทั้งที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) รวมทั้งยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อีกทั้งยังเคยสอบไม่ผ่านมาแล้วถึง 4 ครั้ง ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้อำนาจในการแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาผ่าน EHIA ตามที่รัฐบาลต้องการ การดำเนินการเยี่ยงนี้จึงเป็นการอัปยศอย่างยิ่ง ไม่ต่างกับการเล่นละคร ปาหี่ ตบตา หลอกลวงคนไทยทั้งชาติ อีกทั้งยังเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับ กดดันให้การศึกษาที่เป็นวิชาการเสื่อมเสียหมดความน่าเชื่อถืออีกต่อไป

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ฉบับอัปยศ ที่เป็นตรายางให้ทำลายป่าและระบบนิเวศน์อย่างชอบธรรม และขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่วงก์โดยเด็ดขาด ทั้งนี้พวกเราขอให้กำลังใจคณะนักอนุรักษ์ทุกท่าน ที่ร่วมกันรณรงค์เดินเท้าทางไกล จากแม่วงก์สู่กรุงเทพ เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของป่าแม่วงก์และระบบนิเวศน์ รวมทั้งขอมอบเสบียงอาหารที่เรารับบริจาค มาจากชาวบ้าน ถึงจะไม่มีมูลค่ามากมาย แต่ก็เป็นน้ำใจจากพวกเราชาวสะเอียบ

สำหรับโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ.แพร่ ซึ่งอยู่ในแผนงานโมดูล A1 ของ กบอ. ในงบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้มีการศึกษาทั้ง EIA. และ EHIA. คงไม่ต้องทำการศึกษาอีกต่อไปแล้ว อย่าได้สร้างความอัปยศ อย่าได้สร้างความเสื่อมเสียทางวิชาการอีกต่อไปเลย เราคงไม่สามารถยอมรับความอัปยศดังกล่าวได้ และเราจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ เอางบประมาณไปพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นจะดีกว่า

อนึ่ง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนยันคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดยเสนอให้รัฐบาลดำเนินแนวทางการจัดการน้ำชุมชน ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ อันเป็นแนวทางที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังใช้งบประมาณน้อยกว่าอีกด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: