แนะบรรจุสิทธิผู้บริโภค เข้าในหลักสูตรการเรียน

16 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1116 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ในงานสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 3 เรื่อง “สานพลัง สามพลัง เพื่อผู้บริโภค สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการแผนการพัฒนาการเฝ้าระวังกลไกลระบบยา กล่าวว่า ขณะนี้ข้อบังคับของผู้บริโภคสากลจะมีอยู่ทั้งหมด 8 ข้อคือ สิทธิต่อการได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สิทธิต่อการได้รับความปลอดภัย สิทธิต่อการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สิทธิในการมีโอกาสเลือก สิทธิในการร้องเรียน สิทธิในการได้รับการชดเชย สิทธิในการได้รับการบริโภคศึกษา สิทธิในการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนในประเทศไทยมีเพียงบางข้อเท่านั้น จึงจำเป็นต้องผลักดันไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้คือ มีสิทธิในการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

 

ผู้อำนวยการแผนการพัฒนาการเฝ้าระวังกลไกลระบบยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังต้องเร่งผลักดันให้มีสิทธิด้านบริโภคศึกษา เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคได้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม การโฆษณาของบริษัทผู้ผลิต และการเป็นผู้บริโภคที่ดี โดยส่วนนี้รัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังโดยการบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศ รวมถึงสิทธิในการได้รับการชดเชย โดยเฉพาะการชดเชยจากการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีมาตรา 41 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติอยู่ แต่ไม่ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิการรักษา และสิทธิในการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

 

 

            “ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตยา มีการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายไว้เลย ใครมีปัญหาจากการใช้ยา เช่นการแพ้ยา ก็จะได้รับเงินชดเชยนี้ ต่างประเทศก็มี แต่ที่ประเทศไทยไม่มี เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ผลิตจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ” ภ.ญ.นิยดากล่าว

 

ภ.ญ.นิยดากล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอที่จะต้องผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานผู้บริโภคสากล ซึ่งจะมีการประชุมรวบรวมแนวคิดข้อเสนอของประเทศสมาชิกในเดือนกรกฎาคมปีนี้ คือ สิทธิทางการเงินการธนาคาร สิทธิด้านพลังงาน สิทธิด้านอาคาร ที่อยู่อาศัย และการสิทธิการเป็นผู้แทนจากจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนจะมีข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่นั้น คงต้องรอผลการสรุปจากที่ประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้งหนึ่ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: