ชาวโคกหินขาวร้องผู้ว่าฯขอนแก่นสอบรง.มันสำปะหลัง ไม่ทำประชาคม-ใช้น้ำจากชลประทาน-ตั้งรง.ในที่ชุ่มน้ำ

16 ม.ค. 2556


ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ม.ขอนแก่น นักศึกษาจากพรรคสามัญชน และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ประมาณ 100 คน ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ณ ศาลากลางจังหวัด กรณีการสร้างโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ของบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด บริเวณบ้านหนองหารจาง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า การสร้างโรงงานดังกล่าวยังทำประชาคมไม่ทั่วถึง และไม่ให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านจำนวนมาก เกรงว่ากระบวนการตามกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง และผลกระทบที่จะเกิดตามมา จึงขอให้มีการตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ว่า เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 หรือไม่

 

2.การอนุญาตใช้น้ำของโรงงานแป้งมัน บริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ต่อผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ในห้วยเสือเต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติว่าชอบหรือไม่ และ 3.ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่บริเวณที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านนายสมศักดิ์รับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินการภายใน 30 วัน และให้ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ทำการตรวจสอบข้อกฎหมายที่อนุญาตให้โรงงานแป้งมันใช้น้ำจากห้วยเสือเต้น ภายใน 7 วัน

 

นางณัฐภรณ์ แสงโพธิ์ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว กล่าวว่า การรวมตัวไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าฯ ครั้งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มต้องการให้มีการตรวจสอบ การสร้างโรงงานแป้งมันอย่างจริงจัง เพราะเคยไปฟ้องศาลปกครองแล้ว ไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกที่แล้ว ก็ไม่มีความคืบหน้า โรงงานก็ยังสร้างต่อไป

 

อีกทั้งชาวบ้านเห็นตัวอย่างจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รอบบริเวณอ.น้ำพอง ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมาแล้ว และโรงงานดังกล่าวไม่มีการออกมาแก้ปัญหาใด ๆ ทำให้เกรงว่าจะได้รับผลกระทบดังเช่นโรงงานอื่น ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้านนายศุภณัฐ บุญสด ตัวแทนนักศึกษา กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและสำรวจกระบวนการตั้งโรงงานแป้งมันสำปะหลังแล้ว พบว่า การก่อตั้งโรงงานแป้งมัน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องด้วยกระบวนการดังกล่าวไม่ได้ผ่านมติจากชุมชนแต่อย่างใด ไม่มีขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่ ได้ตัดสินใจเลย ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ และอยู่ห่างจากชุมชนเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าโรงงานตั้งสำเร็จ ผลกระทบเกิดกับชุมชนแน่นอน

 

ส่วนนายวิทูวัจน์ ทองบุ ตัวแทนศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าวว่า การอนุญาตจากโครงการชลประทานหนองหวาย ให้มีการก่อสร้างท่อและสถานีส่งน้ำของบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จากห้วยเสือเต้นนั้น เป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรี 3 พฤศจิกายน 2552 กำหนดให้ห้วยเสือเต้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และวางมาตรการคุ้มครองไว้ โดยการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำต้องใช้อย่างยั่งยืนทุกภาคส่วน และชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการใช้น้ำด้วย ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายวิทูวัจน์กล่าวต่อว่า การออกคำสั่งทางปกครองนั้น ตามระเบียบหากคำสั่งทางปกครองอาจกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ก่อนออกคำสั่งจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งสิทธิก่อน กรณีของโรงแป้งมันสำปะหลัง คำสั่งทางปกครองคือการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งก่อนออกคำสั่งดังกล่าว จะต้องมีหนังสือปิดประกาศให้ชุมชนร้องคัดค้านก่อน แต่ข้อเท็จจริงไม่มีกระบวนการที่ผ่านชุมชนเลย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกัน กลุ่มอนุรักษ์ฯ และนักศึกษาดังกล่าวรวมตัวกันที่บ้านหนองหารจาร เพื่อรณรงค์แจกใบปลิวให้ข้อมูล เกี่ยวกับการตั้งโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่อาจส่งผลกระทบแก่ชุมชนโดยรอบ จากนั้นจึงเดินทางไปที่กรมชลประทานหนองหวาย ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ยื่นหนังสือแก่ นายประพันธ์ ก้านทอง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เพื่อสอบถามข้อมูลถึงการสูบใช้น้ำในพื้นที่ห้วยเสือเต้นไปใช้ในโรงงานแป้งมันสำปะหลัง

 

ทั้งนี้ ห้วยเสือเต้นนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และสำคัญต่อชาวน้ำพองเป็นอย่างมาก มีการใช้น้ำเพื่อทำนา ปลูกพืชไร่ มีการจับสัตว์น้ำ และการใช้น้ำทำน้ำประปาหมู่บ้าน ประชาชนมีรายได้สัมพันธ์กับพื้นที่ชุ่มน้ำประมาณร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านเกรงว่าหากสูบน้ำป้อนโรงงานแป้งมันอาจทำให้ทรัพยากรในห้วยเสือเต้นสูญหายไป และการอนุญาตใช้น้ำนั้นชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: