คค.ปลุก ‘หัวหิน-ปากช่อง’ ผุดเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน

14 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1435 ครั้ง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ประชุมแนวทางพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก 4 สายทาง มีสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก กรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง โดยกำหนดตำแหน่งสถานีและแนวคิดพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่ในแนวเส้นทางรองรับกับโครงการ


นำที่ราชพัสดุนำร่องเมืองใหม่

สำหรับแนวคิดพัฒนาเมืองใหม่มี 2 แนวทาง คือ 1.นำที่ราชพัสดุมาพัฒนา หารือร่วมกับกรมธนารักษ์แล้ว มี 2 พื้นที่ ได้แก่ อ.ปากช่อง 551 ไร่ และนครสวรรค์ 3,358 ไร่ 2.จัดรูปที่ดิน จะทำให้ลดการเวนคืนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะวางผังใหม่ เหมือนตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ชุดแรก “คณะอนุกรรมการพิจารณาจุดที่ตั้งสถานีที่เหมาะสม” มีตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมโยธาฯ สภาพัฒน์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กรมธนารักษ์ คาดว่าอีก 1 เดือนจะชัดเจน

ทั้งนี้ จุดที่ตั้งเมืองใหม่ที่ไม่ใช้พื้นที่สถานีเดิมนั้นควรจะเลือกทำเลอยู่ห่างเมืองในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร และไม่จำเป็นต้องไปอยู่กับสถานีรถไฟความเร็วสูง แต่สามารถสร้างทางเดินเชื่อมถึงกันได้ คาดว่าสถานีแรกจะเป็นโมเดลนำร่อง คือ สถานีปากช่อง เนื่องจากเป็นที่ราชพัสดุสามารถดำเนินการได้เร็ว

ชุดที่ 2 "คณะอนุกรรมการพิจารณาคลื่นความถี่สำหรับระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม" มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เนื่องจากจะต้องขอใช้คลื่นความถี่สำหรับควบคุมการเดินรถรถไฟความเร็วสูง จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยจะขอจัดสรรคลื่นความถี่ GSM-R876-880 MHz Up Link และ 921-925 MHz Down Link

ดันปากช่อง-หัวหินโมเดลต้นแบบ

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับที่ตั้งสถานีที่สรุปชัดเจนแล้ว ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มี 1.สถานีลพบุรี สร้างบนพื้นที่ใหม่ 2.สถานีนครสวรรค์ อยู่บนที่ราชพัสดุ 3.สถานีพิจิตร อยู่บนพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิมไปด้านเหนือ 1 กิโลเมตร ส่วนสถานีพิษณุโลกยังไม่ได้ข้อสรุป

สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ข้อสรุปมีสถานีปากช่อง สร้างบนที่ราชพัสดุ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมสรรพาวุธ กองทัพบก กับสายกรุงเทพฯ-หัวหิน มีสถานีราชบุรีอยู่ที่เดิม สถานีเพชรบุรีสร้างบนถนนเพชรเกษม ห่างจากสถานีเดิม 2 กิโลเมตร และสถานีหัวหิน อยู่ฝั่งตรงข้ามสนามบินบ่อฝ้าย

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาฯ กล่าวว่า คาดว่าจะนำร่องก่อนคือที่สถานีปากช่อง ที่ใช้ที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่บริเวณ ต.หนองสาหร่าย และสถานีหัวหิน บริเวณห้วยทรายใต้-บ่อฝ้าย มีพื้นที่กว่า 3,000 ไร่

สำหรับขนาดเมืองมี 3 ขนาด เริ่มจากเมืองขนาดใหญ่ ได้แก่ พิษณุโลก นครราชสีมา พัทยา, เมืองขนาดกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ นครปฐม หัวหิน ระยอง ชลบุรี ศรีราชา และเมืองขนาดเล็ก มีสระบุรี ลพบุรี พิจิตร ราชบุรี เพชรบุรี ปากช่อง และฉะเชิงเทรา

ขนาดเมือง 5-6 พันไร่

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง พื้นที่สถานีควรจะมี 200-300 ไร่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกำหนดองค์ประกอบการพัฒนาให้สอดคล้องตามขนาดสถานี เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่เชิงสังคม ห้องสมุดประชาคม สถานพยาบาล พื้นที่หน่วยราชการ และนำพื้นที่พิเศษที่เป็นไพรมแอเรียมาประมูลให้เอกชนพัฒนา และนำรายได้มาสนับสนุนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงต่อไป

ทั้งนี้กรมโยธาฯเสนอวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อเลี่ยงการเวนคืน กำหนดใช้พื้นที่แห่งละ 5,000-6,000 ไร่ และใช้พื้นที่สำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูง 500-600 ไร่ หากสรุปแล้วจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ก่อนจะเดินหน้าจัดรูปที่ดินต่อไป

              “อย่างไรก็ตาม สนข.ยังไม่เห็นด้วยที่จะย้ายสถานีไปนอกเมือง เพราะจะทำให้มีค่าเวนคืนเพิ่ม ปริมาณผู้โดยสารอาจจะลดลงไปได้ ส่วนแนวคิดการจัดรูปที่ดิน สนข.ก็ยังไม่เห็นด้วยเพราะใช้เวลานาน และอาจทำให้แผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงล่าช้าออกไปด้วย ตอนนี้รอให้คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาไปหาข้อสรุปใน 1 เดือนนี้”



เคาะแล้ว 17 สถานี

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า กรมโยธาฯได้สรุปที่ตั้งสถานีที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่มาให้พิจารณา 17 สถานี ได้ข้อสรุป 14 สถานี เหลือ 3 สถานียังไม่สรุป โดยสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลกมี 5 สถานี มีขนาดพื้นที่พัฒนา 9 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ สถานีอยุธยา สถานีลพบุรี สถานีนครสวรรค์ สถานีพิจิตร และสถานีพิษณุโลก

สายกรุงเทพฯ-หัวหิน มี 4 สถานี ได้แก่ 1.สถานีนครปฐม ขนาดพื้นที่ 6 ตารางกิโลเมตร 2.สถานีราชบุรี 3 ตารางกิโลเมตร 3.สถานีเพชรบุรี 2 ตารางกิโลเมตร 4.สถานีหัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) 3.3 ตารางกิโลเมตร 

สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มี 3 สถานี 1.สถานีสระบุรี พื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร 2.สถานีปากช่อง 6.2 ตารางกิโลเมตร 3.สถานีนครราชสีมา ยังไม่สรุปมี 2 ทางเลือก 1.สถานีรถไฟเดิม ขนาดพื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร และสถานีรถไฟภูเขาลาด ขนาดพื้นที่ 5.25 ตารางกิโลเมตร

และสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง มี 5 สถานี 1.สถานีฉะเชิงเทรา อยู่ที่สถานีรถไฟเดิม 2.สถานีชลบุรี ขนาดพื้นที่ 6 ตารางกิโลเมตร 3.สถานีศรีราชา 1.3 ตารางกิโลเมตร 4.สถานีพัทยา 9 ตารางกิโลเมตร 5.สถานีระยอง มี 2 ทางเลือก คืออยู่ห่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 1 กิโลเมตร หรือห่างตัวเมืองระยอง 4 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ 7 ตารางกิโลเมตร กับอยู่ด้านเหนือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 3 กิโลเมตร และห่างตัวเมืองระยอง 6 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร 

นายกฯจี้พัฒนาระบบรถไฟไทย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามภาพรวมของการรถไฟฯ ระหว่างนั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพง-สถานีนครปฐม โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้การรถไฟฯกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้พิจารณาใน 1 เดือน คือ 

1.สร้างมูลค่าเพิ่มรอบสถานีแนวรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) เปิดให้เอกชนเช่าพัฒนาเชิงพาณิชย์ 2.ให้ประเมินผลตอบแทนการเช่าที่ดินแปลงใหญ่ 2 แห่ง คือ มักกะสัน และสถานีแม่น้ำ หลังจากที่กระทรวงการคลังจะขอนำที่ดินแปลงดังกล่าวให้กรมธนารักษ์เปิดให้เอกชนพัฒนาระยะยาว 99 ปี เพื่อเป็นการแลกหนี้เก่าที่ค้างอยู่ เนื่องจากการรถไฟฯไม่มีประสบการณ์พัฒนาที่ดินแปลงใหญ่

3.แนวทางบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีความเห็นต่างจากกระทรวงการคลัง โดยการรถไฟฯเสนอให้กลับมาอยู่ภายใต้หน่วยธุรกิจของการรถไฟฯ แต่กระทรวงการคลังมองว่าควรจะแยกเป็นองค์กรออกมาจากการรถไฟฯ ตามที่ศศินทร์เสนอในรูปบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่

 

 

ขอบคุณข่าวจากประชาชาติธุรกิจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: