แนะสังคมเปิดตาสองข้าง-เข้าใจเรื่องจริง หยุดแย่งอำนาจ-กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ ภาพโดย ราชพล เหรียญศิริ ศูนย์ข่าว TCIJ 13 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1750 ครั้ง

จากกรณีวิกฤตการณ์การเมืองในปัจจุบัน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนารัฐศาสตร์ภาคประชาชน หัวข้อ “วิเคราะห์การเมืองไทยในห้วงวิกฤต” เพื่อเสนอทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งต่าง ๆ โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันทน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.นันทวัฒน์กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันว่า ท่ามกลางความขัดแย้งในขณะนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด ย้อนกลับไปดูตั้งแต่ก่อนปี 2549 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้รับแรงสนับสนุนเป็นอย่างมาก แต่ความขัดแย้งก็เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยแต่เดิมเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยแต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นและตามมาด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดช่องว่างขึ้นมากมาย ทั้งกับพรรคการเมือง ประชาชน และโครงสร้างทางสังคม

เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นใน 1 เดือนที่ผ่านมา มาจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาฯ เสนอกฎหมายนิรโทษกรรรม และเสนอให้แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดไม่ราบรื่น เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง แต่ยังพบว่ามีข้อบกพร่องอยู่ เนื่องจากรัฐมนตรีในขณะนั้นมีอำนาจมากเกินไปบ็ยังพบ็็ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเรียกได้ว่ามีสีเทา

กระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกฎหมายที่ได้มาหลังการรัฐประหาร แต่ให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และคาบเกี่ยวว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ คือ การเขียนที่มีลักษณะกำกวม และต้องอาศัยการตีความ จึงยังเป็นข้อถกเถียงของนักวิชาการหลายฝ่ายว่า ปัญหาเกิดจากรัฐธรรมนูญเองที่มีปัญหาหรือผู้ใช้รัฐธรรมนูญมีปัญหาในการตีความ

ทุกพรรคต้องมีแผนปฏิรูปการเมืองที่ชัดเจน

ดร.นันทวัฒน์กล่าวถึง กฎหมายนิรโทษกรรมว่า เชื่อว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว แต่ที่มาของปัญหาคือ ในตอนต้นไม่มีการชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวกินวงกว้างหรือจำกัดกรอบแค่ไหน ถ้านิรโทษกรรมให้กับประชาชนจริงจะมีประชาชนกี่คนที่ได้รับการนิรโทษกรรม และยังมีการเพิ่มเรื่องต่าง ๆ เข้าไปในภายหลังด้วย จึงทำให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย ซึ่งศ.ดร.นันทวัฒน์เชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความไม่เข้าใจในกิจกรรมทางการเมือง

แม้กระทั่งข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีมากขึ้นและขยายวงกว้าง ซึ่งในทางวิชาการแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาเหมือนกัน และตั้งแต่เลือกตั้งมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้กำหนดทิศทางของตนเองขึ้นมาให้ชัดเจน เพราะฉะนั้นในวันนี้ที่พูดเรื่องสภาประชาชน หลายคนถามว่าคืออะไรก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ คือมีเพียงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีความชัดเจนเลย

           “หลายฝ่ายบอกว่า ‘ต้องปฏิรูปการเมือง’ ก่อน แต่เชื่อว่ายังไม่มีความชัดเจน ทุกพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีแผนดำเนินการที่ชัดเจน ยืนยันแนวทางดังกล่าว และบอกกล่าวให้กับประชาชนให้เข้าใจ เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน” ดร.นันทวัฒน์กล่าว

แนะสังคมเปิดกว้าง ทำความเข้าใจกับเรื่องจริง

ทั้งนี้ในการเสวนาดังกล่าว นักวิชาการต่างเสนอไปในแนวทางเดียวกันว่า ให้ตั้งเวทีเจรจากันระหว่างกปปส.กับรัฐบาล เพื่อหาฉันทามติ ไม่ใช่เพื่อขึ้นมามีอำนาจ เสริมสร้างอำนาจ และกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม

ด้าน ดร.กนกรัตน์ระบุว่า สังคมไทยอยู่ในภาวะปิดตาข้างเดียว และมีหลายอย่างที่ทำให้เราต้องหันกลับมาทำความเข้าใจ คนที่คิดว่าตัวเองเป็นมวลมหาประชาชน คงจะมีคำถามหลายคำถามที่อยู่ในใจ เช่น นโยบายของพรรคเพื่อไทยทำให้บ้านเมืองชิบหาย นโยบายจำนำข้าวเป็นสิ่งที่เลวมาก ทำไมเราต้องยอมให้นักการเมืองมาปกครองเรา เราเป็นมวลมหาประชาชนอันบริสุทธ์ การตั้งสภาประชาชนเป็นทางออกเดียวที่ดีที่สุด เพราะเลือกเท่าไหร่ก็ได้นักการเมืองหน้าเดิม ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คนก็ออกมาชุมนุมอีก แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ กลุ่มคนเสื้อแดงก็ออกมาอยู่ดี และที่สำคัญสภาประชาชนมาจากคนดี ทุกคนอึดอัดว่าไม่มีทางออก แต่ถ้าเราถอยหลังกลับมา เปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์ เราต้องมองว่าเราอยู่กับอะไร

ไม่ใช่การเมืองมวลชน แต่เป็นชนชั้นนำเรียนรู้การใช้มวลชน

การเมืองทั้ง 2 ขั้ว มีมวลชนที่หลากหลาย หนึ่งคือ มวลชนที่เป็นฐานพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลยเลย สองคือ มวลชนพันธมิตรเดิม และสามชนชั้นกลางที่คิดว่าตัวเองเป็นกลาง แต่ครั้งนี้ลุกขึ้นมา เพราะทนไม่ได้กับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล กลุ่มนี้เป็นการรวมกันของ 2 กลุ่มแรก และเป็นกลุ่มคนจำนวนมหาศาล

          “กลุ่มพี่น้องเสื้อแดงก็มีความหลากหลายเช่นกัน มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับนโยบาย ถ้าเราตั้งคำถามว่า คุณจะปกป้องแม้แต่รัฐบาลที่โกงกินหรือ ก่อนรัฐบาลทักษิณ ไม่มีรัฐบาลไหนสนใจคนกลุ่มนี้มาก่อน ปัญหาที่ว่าทำไมเสื้อแดงต้องลุกขึ้นมาปกป้องรัฐบาลที่ให้ประโยชน์กับเขาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ อยากจะบอกว่าสิ่งที่เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม พี่น้องเสื้อแดงไม่ใช่คนที่จนที่สุด แต่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ คนราชดำเนินบอกว่า คนพวกนี้ไม่เสียภาษี ซึ่งความจริงแล้ว มีภาษีหลายตัวเช่น ภาษี VAT ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ ทุกคนต้องจ่ายภาษีตัวนี้อยู่แล้ว” ดร.กนกรัตน์กล่าวและว่า

สิ่งที่มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายต้องตั้งคำถามว่า การเมืองมวลชนไม่ใช่การเมืองมวลชน แต่เป็นชนชั้นนำที่เรียนรู้การใช้มวลชน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองส่วนใหญ่ใช้เวลาดำเนินไปเป็นร้อยปี และจบลงด้วยสงครามกลางเมืองหลายครั้ง แต่สถานการณ์ในขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อว่ายังมีทางชน แต่คนยังตายไม่พอ ซึ่งการเรียนรู้ว่า การขจัดให้ฝ่ายตรงข้ามหายไป เป็นต้นทุนที่แพงมาก การเมืองเป็นเรื่องลองผิดลองถูกระยะยาว ทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่ใช่เรื่องของการอยู่ร่วมกันฝ่ายเดียว และไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม

ปชป.ภาคใต้ได้คะแนนมาก ไม่ได้หมายถึงซื้อเสียงมาก

นอกจากนี้ ดร.สิริพรรณยังกล่าวถึงการแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ระบุว่า “ภาคที่มีการซื้อเสียงได้ผลที่สุดคือ ภาคใต้และภาคกลาง คนที่จบปริญญาโทขึ้นไปเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งข้อความดังกล่าวมาจากคำถามในการวิจัยเลือกตั้ง 2554 ที่ว่า การรับเงินผูกมัดให้ท่านต้องเลือกพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ โดยผลการวิจัยพบว่า 10.1 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าผูกมัด คือ ถ้ารับเงินมาแล้วจะต้องเลือกพรรคการเมืองนั้น ขณะที่ 89.9 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่ผูกมัด แต่คำถามดังกล่าวเป็นการถามความรู้สึก ไม่ได้หมายความว่า เขาจะต้องเลือกพรรคการเมืองนั้น หรือขายเสียง

อย่างไรก็ตามบอกไม่ได้เช่นกันว่า พรรคการเมืองไม่ซื้อเสียง เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง ในบางพื้นที่มีการชนะด้วยคะแนนตั้งแต่ 10,000 - 80,000 เสียง ถ้าพรรคการเมืองจะซื้อเสียงเขาจะต้องรู้ว่าจะชนะด้วยคะแนนเสียงเท่าไหร่ และไม่จำเป็นต้องซื้อเสียงให้ชนะขาดลอยก็ชนะการเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ ดร.สิริพรรณยืนยันว่า ในภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ชนะขาด ไม่ได้หมายความว่า ภาคใต้ใช้เงินซื้อเสียงมากที่สุด เพียงแต่ถ้าได้รับประโยชน์มาแล้วจะตอบแทนมากที่สุด แสดงให้เห็นว่า คนใต้ซื่อสัตย์และตอบแทนกับสิ่งที่ตัวเองได้มา ไม่ได้บอกว่าภาคใต้ใช้เงินซื้อเสียงมากที่สุด นี่เรียกได้ว่า ปรากฏการณ์ปิดตาข้างเดียวของสังคม แต่ถ้าเราเปิดตาทั้ง 2 ข้างจะพบอคติของทั้ง 2 ฝ่ายเช่นกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: