แจงไข่แพงเพราะ'ร้อน-นำเข้าไก่' คาดราคาจะลงก่อนขึ้นอีกปลายปี จี้รัฐให้อำนาจเอ้กบอร์ดแก้ปัญหา

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 13 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3020 ครั้ง

เพราะไม่เพียงไข่ไก่จะเป็นอาหารพื้นฐานที่คนไทย หรือแม้แต่ต่างชาติจะมีติดครัวขาดไม่ได้แล้ว “ไข่ไก่” ยังถือเป็นดัชนีชี้วัดรัฐบาลแต่ละยุค เกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องปากท้องของประชาชนได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคา “ไข่” ทุกครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อพบว่า มักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งการออกมาพูดจา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อยู่ตามสื่อมวลชนกันอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่า “ไข่ไก่” จะถูกเบี่ยงเบียนประเด็นไปเป็นเรื่องการเมืองอยู่บ้าง แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว การขยับราคาขึ้นของ “ไข่ไก่” ก็ถือเป็นข่าวที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของผู้คนโดยแท้

 

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ราคา “ไข่ไก่” กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อราคาในท้องตลาดขยับตัวสูงขึ้น จากราคา 2 บาทกว่า ๆ ขึ้นมาที่ 3 บาทกว่า หรือในบางพื้นที่ราคาไข่ไก่อาจสูงไปถึง 5-7 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของไข่ ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อไปว่า ราคาอาหารอื่น ๆ จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปหรือไม่ และรัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรในการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ หากปล่อยให้ราคาขึ้นไปเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่ เพราะทันทีที่ราคาไข่ไก่ขยับตัว ราคาอาหารสำเร็จรูปอย่าง กระเพราไก่ไข่ดาว ก็ปรับราคาขึ้นตามทันทีบางร้านขายไข่ดาวฟองละ 8 บาท หรือ บางแห่งขายในราคา 10 บาทกันเลยทีเดียว

 

 

 

เกษตรชี้ไข่ไก่แพงเพราะอากาศร้อน

 

 

หลังจากราคาไข่กลายเป็นประเด็นขึ้นมา นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ระบุว่า จากรายงานของกรมปศุสัตว์ เชื่อว่าราคาไข่ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติ ทำให้ไก่ยืนกรงที่มีอยู่ 16-17 ล้านตัว ทั่วประเทศ ออกไข่ได้น้อยลง จากเดิมจะควรจะได้ในปริมาณวันละ 36 ล้านฟอง ลดลงเหลือวันละ 32 ล้านฟอง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ในไตรมาสแรกของปี 2556 โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ระบุว่า ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ โดยเฉพาะค่าแรงในการเลี้ยงไก่สูงขึ้นถึงร้อยละ 41 ถือเป็นกลุ่มที่ปรับตัวสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง จนเป็นเหตุให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัว โดยราคาคละขนาดหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟอง 3.30-3.42 บาท นั่นเอง พร้อมกันนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาแล้ว

 

 

เกษตรกรวอนเห็นใจ ราคาตกนานแล้ว พอขยับบ้างคนบ่น

 

 

นายมาโนช ชูทับทิม กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “ไข่ราคาสูง เงินเฟ้อต่ำ เหตุใดกลไกการตลาดบิดเบือน” ว่า หากพิจารณาราคาไข่ในปัจจุบันที่ สศก.กำหนดไว้ที่ 3.30 บาทนั้น ในภาคของผู้ผลิตถือว่ายอมรับได้ เพราะอยากให้ทุกคนมองไปในเรื่องของสถานการณ์ความเป็นจริงของเกษตรกรผู้เลี้ยง เพราะในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรไม่ได้กำไรจากราคาไข่ไก่มากนัก และที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ จะต้องต่อสู้กับต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ราคาไข่ไก่เคยตกลงไปเหลือเพียงฟองละ 1.50 บาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าต้นทุน แต่เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง ก็จำเป็นจะต้องขาย ทำให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีอยู่จำนวนมากหมดเนื้อหมดตัว บางคนเลิกอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ไปเลยก็มี

 

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งปัญหาราคาต้นทุนการเลี้ยง ปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น หรืออื่น ๆ ทำให้ราคาไข่ปรับตัวขึ้น แต่การปรับตัวของราคาไข่ไก่ไม่ได้อยู่ที่ราคาหน้าฟาร์มของเกษตรกร แต่ราคาอาจจะไปเพิ่มขึ้นจากพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขให้ถูกจุด ไม่ใช่การสร้างกลไกการค้าหรือเงื่อนไขในการกดราคาหน้าฟาร์มลง จนเป็นปัญหากับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่

 

 

 

 

            “ส่วนที่มีข่าวว่าผู้เลี้ยงไก่ไข่ สต๊อกไข่ไว้นั้น คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะไข่ไก่เป็นของสด เก็บไว้ก็มีแต่เสื่อมคุณภาพ และราคา เมื่อมีไข่ออกทุกวันเกษตรกรก็ต้องขายออกไป เพราะจะต้องนำเงินมาหมุนเวียนเป็นต้นทุน อาจจะมีบ้างในช่วงก่อนหน้านี้ ที่มีไข่ออกมามากจนล้นตลาด จนกลายเป็นปัญหา เกษตรกรขายไข่ไม่ได้ราคา ขาดทุนกันมาก ก็ต้องมีการสต๊อกโดยสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ จะต้องรวมตัวกัน เพื่อไปเช่าห้องเย็นซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากสต๊อกไข่ ราคาที่เป็นปัจจุบันนี้น่าจะเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว” นายมาโนชกล่าว

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม 2555 ที่ชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ประมาณ 100 คน ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี เคยรวมตัวกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำโดยด่วน โดยระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ต้องประสบกับปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำกว่าต้นทุน จากราคาขายไข่ไก่หน้าฟาร์มฟองละ 2 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท จึงต้องการให้ราคาไข่ไก่ขยับขึ้นมาที่ฟองละ 2.80 บาท เพื่อให้เกษตรรายย่อยสามารถอยู่ได้ รวมถึงต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการชี้นำราคาไข่ไก่ของบริษัทรายใหญ่ ที่ขายไข่ไก่ต่ำกว่าต้นทุน และทบทวนมติคณะรัฐมนตรีชุดที่ผ่านมา ในการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไข่ไก่ ซึ่งเป็นผลทำให้ราคาตกต่ำจนถึงขณะนี้

 

 

สศก.ชี้ 5 ปีคนกินไข่เพิ่ม ปริมาณไข่ก็เพิ่ม

 

 

จากข้อมูลของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ “ไข่ไก่” ในปี 2555 ที่ผ่านมา ระบุว่า ในช่วง 5 ปี คือ 2551-2555 ประเทศไทยมีปริมาณไข่ไก่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอัตราร้อยละ 3.61 ต่อปี เนื่องจากเกษตรกรมีการเลี้ยงไก่ไข่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ไก่ไข่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 พบว่า มีไข่ไก่เข้าสู่ท้องตลาดได้ 11,022  ล้านฟอง เพิ่มขึ้นจาก 10,024 ล้านฟอง ของปี 2554 หรือ 9.96 เปอร์เซนต์ เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพันธุ์สัตว์มีราคาลดลง

 

ในขณะที่ความต้องการบริโภคก็ขยายตัวเช่นกัน โดยพบว่า ในตลอด 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551เป็นต้นมา มีความต้องการบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศ เฉลี่ยทั้งประเทศขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.65 ต่อปี มีปริมาณการบริโภคไข่ไก่เฉลี่ย 10,923.87 ล้านฟอง โดยเหตุผลที่ความต้องการบริโภคไข่ไก่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับนั้น ข้อมูลระบุว่า เป็นเพราะไข่ไก่มีราคาถูก เมื่อเทียบกับอาหารโปรตีนจากชนิดอื่น และสามารถปรุงอาหารได้ง่ายและหลากหลาย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐมีการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภค โดยได้กำหนดให้ปี 2555 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคไข่ไก่มากขึ้น เพื่อช่วยระบายไข่ไก่ที่ก่อนหน้านี้มีราคาตกต่ำ แต่ช่วงระยะเพียงไม่กี่เดือนราคาไข่ไก่ ที่ขยับตัวสูงขึ้นก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมา

 

 

ปัญหาสำคัญอยู่ที่การนำเข้าไก่ไข่เสรี

 

 

ด้านนายโอภาส ทองยงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หากพิจารณาแล้ว การแก้ปัญหาไข่ไก่ ทั้งราคาแพง และราคาตก ควรอยู่ที่การจำกัดการเลี้ยง ซึ่งจำนวนไก่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงคืออยู่ที่ 405,721 ล้านตัว และถ้าหากจำกัดให้อยู่ในปริมาณนี้จะถือว่าเป็นการปิดประตูขาดทุน เพราะจะทำให้ปริมาณไข่ไก่ถูกผลิตออกมาได้เหมาะสมกับตลาด แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การเปิดให้มีการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่เสรีเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2553 กลายเป็นปัญหา ทำให้มีปริมาณพันธุ์ไก่ไข่อยู่ในระบบอยู่มาก จะเห็นได้จากราคาไข่ไก่ที่ลดลงในปี 2554 เมื่อมาถึงปี 2555 ราคาไข่ไก่ก็ตกต่ำมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงการส่งออกไข่ไก่ แต่ในความเป็นจริงแล้วไข่ไก่แตกต่างกับสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ เพราะไข่ไก่ ยิ่งส่งออกจะยิ่งขาดทุน เป็นเหมือนกันทั่วโลก ในกลุ่มประเทศยุโรปใช้วิธีแก้ปัญหาราคาไข่ โดยมีการตั้งสภาไข่ไก่ ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ยุทธศาสตร์การบริหารไข่ไก่มีอยู่ด้วยกัน 4 วิธีคือ

1.การควบคุมดีมานด์ ซัพพลาย

2.การแปรรูปไข่ ให้เป็นไข่เหลว หรือไข่ผง

3.รณรงค์ให้มีการบริโภคไข่ไก่

 

 

            “ประเด็นสำคัญ คือการควบคุมปริมาณไข่ไก่ที่จะออกสู่ท้องตลาด แต่ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ทั้งไข่ไก่ราคาตก หรือไข่ไก่ราคาแพง แต่ก็ติดอยู่ที่ว่าคณะกรรมการเอง อาจจะถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากการร้องขอ อย่างไรก็ตามปัญหาราคาไข่แพง ในอนาคตมองว่าจะทุเลาลง เพราะหากพิจารณาจะเห็นว่า ในช่วงหน้าร้อนราคาไข่ไก่จะแพงขึ้น ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม มีการบริโภคไข่มากขึ้น ราคาไข่จึงแพงขึ้น แต่ในอนาคตน่าจะปรับตัวลง” นายโอภาสกล่าว

 

 

 

เชื่อราคาแพงช่วงสั้น ก่อนตกต่ำ และสูงอีกปลายปี

 

 

จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์สารสนเทศการเกษตร ที่คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ไข่ไก่ในปี 2556 นี้ระบุว่า ในปีนี้จะมีปริมาณไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.07เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่อย่างเสรีในปี 2553 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อผลผลิตและราคาไข่ไก่อย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้น และมีเกษตรกรรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2555 ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ จะมีมาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งเกษตรกรได้มีการปลดแม่ไก่ไข่เร็วขึ้น แต่ระดับราคาสูงขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น จากการที่ราคาไข่ไก่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้นำเข้าไก่ไข่พันธุ์ได้ชะลอการนำเข้า โดยนำเข้าลดลงจากแผนเดิมที่วางไว้ อย่างไรก็ตามผลของการชะลอการนำเข้าพันธุ์สัตว์น่าจะส่งผลในช่วงปลายปี 2556-2557 เนื่องจากไก่ไข่พันธ์ที่นำเข้าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตประมาณ 2-3 ปี

 

ดังนั้นหากพิจารณาจากข้อมูลและการวิเคราะห์ของ สศก. การที่ราคาไข่ไก่สูงขึ้นในช่วงนี้ จึงถือว่าเป็นการปรับตัวของราคาในระยะสั้น ๆ แต่หลังจากนี้ราคาอาจจะปรับลดลงเป็นปกติ ก่อนที่อาจจะสูงขึ้นอีกในช่วงปลายปี

 

 

พาณิชย์จี้ร่างกฎหมายให้อำนาจ Egg board แก้ปัญหาราคาไข่

 

 

ขณะที่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ โดยนายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จากที่ลงพื้นที่สำรวจตลาดเห็นว่าราคาไข่ที่ขายอยู่ในขณะนี้ถือว่าเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ คืออยู่ในราคาราคา 3.30 บาท หากไม่นับรวมกับราคาไข่เบอร์ใหญ่ ๆ ต่าง ดังนั้นจึงรู้สึกแปลกใจว่าราคา 5-7 บาทนั้น เป็นราคาที่เอามาจากไหน แต่หากพิจารณาว่าราคานี้มาจากกลุ่มขายปลีกย่อย ๆ เช่น ในร้านชำ หรือรถเร่ ก็น่าจะเป็นไปได้ที่ราคาไข่ขึ้นไปที่ประมาณนั้น ถือเป็นการแยกย่อยตลาด ที่จะต้องมีการขนส่งบวกเข้าไปด้วย

 

 

 

อย่างไรก็ตามราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น ถือว่ามีปัจจัยเชื่อมโยงหลายอย่าง ทั้งอัตราเงินเฟ้อ หรืออากาศที่ส่งผลให้ ราคาอาหารไก่ปรับตัวสูงขั้น ต้นทุนก็สูงขึ้นไปตามลำดับ โดยในส่วนของสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรเอง ดูแลเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยดูทั้งในส่วนของผู้บริโภค และส่วนของเกษตรกรเอง ประเด็นสำคัญที่เห็นว่าส่งผลต่อปัจจัยของราคาไข่ คือ ปัญหาปริมาณไก่ไข่ที่ไม่สมดุลกับตลาด ดังนั้นจึงอยู่ที่การจำกัดปริมาณไก่ไข่ แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณพ์ หรือเอ้ก บอร์ด (Egg board) ไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ หรือให้อำนาจในการดำเนินการ ดังนั้นหากต้องการให้การแก้ปัญหาเรื่องราคาไข่อย่างยั่งยืนแล้วก็ควรจะมีการเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อรับรองหรือให้อำนาจกับเอ้ก บอร์ด ให้สามารถทำงานได้มากกว่านี้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: