‘ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ’แนะรัฐบาล คิดนอกกรอบแก้วิกฤตค่าเงินผันผวน

รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล 13 ก.พ. 2556


เมื่อยังไม่พบบทสรุปในการจัดการกับเงินทุนที่ไหลทะลักเข้ามา ศูนย์ข่าว TCIJ จึงสัมภาษณ์ รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่แม้ไม่ใช่บุคคลในแวดวงการเงิน ทว่าก็มีมุมมองและข้อเสนอน่าสนใจยิ่ง เพราะแม้นักวิชาการผู้นี้จะเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่มักถูกค่อนขอดจากผู้นิยมแนวคิดเปิดเสรีการเงินว่า “พวกนอกกรอบ-ขัดขวางโลกาภิวัฒน์” กระนั้น เขาก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่มองเห็นเค้าลางแห่งความหายนะของวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งดร.ณรงค์ เคยยื่นข้อเสนอถึงวิธีคลี่คลายปัญหาการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์นับแต่เนิ่น ๆ ทว่าไม่มีใครสนใจ ต่อข้อเสนอดังกล่าว ต่อเมื่อจะนำกลับมาใช้ เมื่อเกิดวิกฤติก็สายเกินไปเสียแล้ว

 

เมื่อเป็นผู้ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การเงินทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ทั้งคอยตรวจสอบนโยบายของรัฐในทุกยุคทุกสมัยมาอย่างต่อเนื่อง การสนทนากับดร.ณรงค์ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงช่วยไขความลับนับแต่ต้นธารของการอัดฉีดเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หากยังเสนอแนวทางในการรับมือกับเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศมาอย่างมหาศาล โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีลดอัตราดอกเบี้ย ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นการแก้ปัญหาที่เชื่อมโยงไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันเท่าเทียมในโลกธุรกิจ ทั้งเสนอแนวทางใหม่ ๆ ในการคลี่คลายปัญหาที่มิจำเป็นต้องสยบยอมต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว

 

 

 

อาจารย์มองว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ เงินทุนที่ไหลเข้ามามากมายเป็นเงินร้อนหรือไม่

 

ดร.ณรงค์ : เรื่องของเงินจะมาดูฉพาะตัวเงินไม่ได้ เพราะทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีต้นเหตุคือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากทุนการเงิน คือทุนการเงินที่หากินกับเรื่องตราสารหนี้จนเกินตัว และเสรีจนเกินขอบเขต จนไม่มีใครกล้ากำหนดกฎเกณฑ์อะไร เพราะฉะนั้น ความเสรีที่อยู่ภายใต้ความโลภของคนก็กลายเป็นความ ‘เกินไป’ เสมอ เมื่อเกินไป ความพอดีมันก็ไม่มี ก็นำไปสู่วิกฤติที่ว่า

 

            “เมื่อเกิดวิกฤติแล้วเงินก็ต้องหายไปจากตลาด ที่หายไปจากตลาด ก็เพราะคนไม่กล้าลงทุน แล้วตัวธุรกิจต่าง ๆ ที่เคยลงทุนอยู่แล้ว ก็เกิดปัญหาหลาย ๆ อย่างตามมา คือผลิตเพิ่มไม่ได้ เพราะธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเหตุผลที่ธนาคารไม่ยอมปล่อยเงินกู้เพราะกลัวไม่ได้คืน เพราะฉะนั้น เงินก็หดไปหมด เมื่อเงินหดก็ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องปั๊มเงินออกมาเพิ่ม เพื่อพยุงธุรกิจเหล่านั้น โดยในช่วงแรก ๆ แค่เอาเงินงบประมาณธรรมดาไปอุ้มธุรกิจที่มันเจ๊ง แต่เมื่ออุ้มแล้วยังสลบไสลไม่ฟื้น ก็ยิ่งต้องอัดเงินเข้าไปอีกก็ยังทรง ๆ ทรุด ๆ อยู่ แล้วถามว่าเงินที่อเมริกาอัดเข้าไปนั้นคือเงินอะไร ก็คือกระดาษธรรมดา ๆ ที่เอามาพิมพ์เป็นเงินเท่านั้นเอง ไม่มีความหมายอะไร เพราะดอลลาร์จะมีค่าก็ต่อเมื่อคนยังอยากได้ดอลลาร์อยู่ แต่ในความเป็นจริง เงินดอลลาร์ที่พิมพ์ออกมาทุกวันนี้ มีอะไรรับรองค่าบ้างไหม คำตอบก็คือเงินดอลลาร์ที่พิมพ์ออกมาในปัจจุบันนี้มันไม่มีอะไรรับรองค่าเลย”

 

ดร.ณรงค์กล่าวว่า สมัยก่อนจะมีประกาศไว้ชัดเจนว่า ทุก ๆ 35 ดอลลาร์ สามารถไปแลกเป็นทองคำได้ 1ออนซ์ (ข้อตกลง ณ เมืองเบรตตันวูดที่สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1935)  นั่นแสดงให้เห็นว่า ทุกดอลลาร์มีค่าเป็นทองคำ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ ดอลล่าร์เป็นเพียงกระดาษ แต่คนยังต้องการดอลลาร์เพราะยังนับถืออเมริกา ก็แค่นั้นเอง และเพราะเป็นเช่นนี้จึงทำให้ดอลลาร์ยังอยู่ในมือของคนทั่วโลก ตรงนี้ก็เป็นเหตุสำคัญ เมื่อคนยังจับดอลลาร์ ยังต้องการดอลลาร์อยู่ อเมริกาจึงต้องการจะฟื้นเศรษฐกิจโดยการปั๊มเงินเข้าไป โดยหวังว่าเงินที่ปั๊มเข้าไปจะทำให้เศรษฐกิจฟื้น

 

            “ความจริงแล้ว การที่รัฐบาลนำเงินเข้าไปในระบบ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจตามทฤษฎีของเคนนั้น เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมาได้ก็ต้องดูจากภาวะการจ้างงาน ถ้าเราอัดเงินเข้าไปแล้ว ภาวะการจ้างงานมันเติบโตขึ้น เศรษฐกิจก็มีโอกาสหายจากวิกฤติได้ การจ้างงานเต็มที่เป็นความปรารถนาของแนวคิดนี้ เพราะการจ้างงานนั้นหมายความว่า ทุกคนมีงานทำ โรงงานทุกโรงงานเปิดดำเนินการผลิต ทรัพยากรทุกชิ้น ปัจจัยการผลิตทุกชิ้นล้วนถูกใช้สอยอย่างเต็มที่ มีการจ้างคนมาทำงานมากขึ้น ทุกคนมีงานทำ ภาวะการจ้างงานเต็มที่ก็จะเกิดขึ้น หมายความว่าสินค้าจะออกมามาก แล้วสินค้านั้นก็ถูกซื้อขายออกไป เพราะเมื่อทุกคนมีงานทำก็มีเงินเดือน สามารถนำเงินเดือนไปซื้อสินค้าทุกชนิดที่ผลิตออกมา เศรษฐกิจก็จะหมุนไปเรื่อย ๆ นั่นคือ แนวคิดสำคัญในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจโดยผ่านการใช้จ่ายโดยรัฐบาล” ดร.ณรงค์กล่าว

 

ถาม :  แต่เงินที่ถูกอัดฉีดเข้ามาไม่ได้ผ่านระบบที่แท้จริงอย่างที่อาจารย์บอก

 

ดร.ณรงค์ : ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ทุนนิยมการเงินครอบงำทุกอย่าง การหากำไรของธุรกิจปัจจุบัน จึงแสวงหากำไรจากธุรกิจการเงินมากกว่ากำไรการผลิต ใน 100 ดอลลาร์ปัจจุบัน ถูกนำไปแสวงหากำไรจากการค้าขายเงิน 95 ดอลลาร์ มีเพียง 5 ดอลลาร์เท่านั้น ที่เป็นการค้าขายสินค้าตัวจริง ด้วยคุณภาพการผลิตแท้จริง หากเป็นเช่นนี้เมื่อมีการอัดเงินเข้าไปในระบบ เราก็อาจประมาณได้ว่า 95 ดอลลาร์ จะไหลเข้าไปอยู่ในทุนภาคการเงิน คือ ตลาดหุ้น ตลาดค้าเงิน ตลาดตราสาร ตลาดพันธบัตร แล้วถ้าตลาดหุ้น ตลาดตราสาร ตลาดพันธบัตรในอเมริกาทำกำไรน้อย มันก็ออกไปหากำไรในตลาดหุ้น ตลาดทุนของต่างประเทศ เงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบอเมริกัน ก็ไม่อยู่ในอเมริกันเต็มร้อย ซึ่งทฤษฎีการอัดเงินจากภาครัฐลงไปในระบบเศรษฐกิจ จะได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต่อเมื่อไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

 

 

 

            “เมื่อทุนการเงินในปัจจุบันหากำไรการเงินจากในประเทศตัวเองได้อย่างจำกัด ก็วิ่งออกนอกประเทศ ดังนั้นเงินของอเมริกาที่อัดเข้าไปในระบบ จึงทะลักออกไปทั่วโลก นั่นหมายความว่า เงินที่อัดเข้าไปไม่ได้หมุนอยู่ในสหรัฐอเมริกาเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อไม่หมุนอยู่ในระบบการผลิตและการจ้างงานในอเมริกาเต็มเม็ดเต็มหน่วย เงินเหล่านั้นก็ไม่ได้ผ่านระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง เมื่อไม่ได้ผ่านระบบเศรษฐกิจแท้จริง การจ้างงานก็ต่ำ ธุรกิจไม่ฟื้น เงินที่วิ่งออกมาจากอเมริกา ก็ต้องวิ่งไปในแหล่งที่คิดว่าจะได้กำไรจากการค้าเงิน ได้กำไรจากการค้าหุ้น วิ่งไปหาแหล่งที่คาดว่าจะได้กำไร จากการค้าตราสารหนี้ ซึ่งเมืองไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง”

 

ถาม : แล้วควรจัดการกับเงินดอลลาร์ที่ไหลเข้ามาอย่างไร

 

ดร.ณรงค์ : เรื่องนี้เมื่อครั้งที่เกิดในปี 2539-2540 กระทั่งไทยวิกฤติ ในสายของพวกผมที่คนเขามักเรียกพวกนอกกรอบ แต่เวลาเรามอง เรามองยาว ๆ มองไปถึงระดับโครงสร้าง มองถึงความเป็นมาความเป็นไปในระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเรามองว่ารากลึกมาจากทุนการเงินที่มีดอลลาร์เป็นตัวนำ แล้วดอลลาร์เราก็มองว่าเป็นเพียงกระดาษที่ไม่ควรจะไปหลงใหลได้ปลื้มมากเกินไป เราควรจะลดบทบาทของมันลง นี่คือความคิดของพวกเรา

 

             “แล้วการลดบทบาทของมันทำอย่างไร ในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น ข้อเสนอของพวกเราคือ ประการแรก จับมันขังซะ ถ้าคุณปล่อยบินไปบินมาเหมือนนกเสรี มันก็บินสะเปะสะปะ เพราะฉะนั้น เราก็จับมันขังเสียสิ ซึ่งการจับเงินดอลลาร์มาขังไว้เคยมีต้นแบบเกิดขึ้นแล้วในปี ค.ศ.1978 ที่ประเทศชิลี ซึ่งประสบปัญหาดอลลาร์บินเข้าบินออกจนชิลีเจ๊ง เพราะฉะนั้นก็มีคนเสนอว่า ให้จับขังไว้ เช่น ถ้าเข้ามา 1 ดอลลาร์ ก็จับขังไว้ 50 เซ็นต์ อย่างน้อย 1 ปี ห้ามถอน อีก 50 เซ็นต์จะบินก็บินไป แล้วเมื่อเรานำเสนอแนวความคิดนี้ ตอนช่วงปี 2540 เราก็ถูกมองว่าเป็นพวกขัดขวางโลกาภิวัตน์ ขัดขวางการค้าเสรี แล้วจะเจ๊ง แต่ปรากฏว่า ประเทศมาเลเซียทำ มาเลเซียเขาบอกว่า เงินจะไหลเท่าไหร่ก็เข้ามา แต่ไม่ให้ออกนะ ควบคุมด้วยการจับขังไว้ ทำไปทำมามาเลเซียรอด ประเทศไทยเจ๊ง” ดร.ณรงค์กล่าว

 

ดร.ณรงค์กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงความคิดนี้เคยรับมาใช้ในรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ไม่ว่าเงินเข้ามาเท่าไหร่ ก็เก็บไว้ 30 เปอร์เซนต์ นาน 6 เดือน คราวนี้เราต้องเพิ่มเข้าไปเลยว่า เงินดอลลาร์จะเข้ามาเท่าไหร่ก็ตามต้องเก็บไว้เลยครึ่งหนึ่ง นาน 1 ปี เช่นเข้ามา 1 ล้าน ดอลลาร์ คุณสามารถเบิกไปทำอะไรก็ได้ 500,000 ดอลลาร์ แต่อีก 500,000 ดอลลาร์ ต้องเก็บไว้เป็นเงินฝากประจำเลย 1 ปี ถึงจะถอนออกได้ เพราะสำหรับธนาคารนั้น เงินฝากประจำมีผลต่อสินเชื่อธนาคารมาก

 

ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์มีผลต่อสินเชื่อธนาคารน้อย เพราะว่าเราฝากออมทรัพย์หมื่นบาท อีก 2 วันก็มาถอนออกไปได้ หรืออีกเดือนหนึ่งมาถอนออกไป ทำให้ธนาคารคำนวณลำบากว่า จะหมุนเงินอย่างไร ขณะที่ถ้าเป็นเงินฝากประจำ 1 ปี สามารถคำนวณได้ว่า เงินก้อนนี้จะปล่อยสินเชื่อออกไปเท่าไหร่ และภายใน 1 ปี จะเก็บดอกเบี้ยและเก็บเงินต้นคืนมาได้เพื่อให้เขาถอนได้ แต่ถ้าเป็นออมทรัพย์ ฝากวันนี้ ถอนพรุ่งนี้ มันเร็วเกินไปจัดการไม่ได้ แต่ถ้าขังไว้ 1 ปี ธนาคารจะจัดการได้ สามารถนำเงินตรงนี้ไปปล่อยกู้ต่อได้ เพราะฉะนั้นต้องเน้นปล่อยกู้รายย่อย เพราะถ้าปล่อยกู้มากเกินไปจะเป็นเงินเฟ้อ และต้องมีข้อกำหนดว่ารายย่อยที่ธนาคารปล่อยกู้ไป ต้องทำการผลิต ไม่ใช่เป็นการบริโภค ถ้าปล่อยกู้เพื่อหวังแต่จะคิดดอกเบี้ย แบบนั้นไม่เอา ต้องเน้นที่หลักการปฏิบัติ เช่น ต้องควบคุมว่า คุณทำโครงการอะไร ผลิตสินค้าเท่าไหร่ เงิน 100 ล้าน ให้คุณกู้ 5 งวด  แล้วทุก ๆ งวดต้องตามไปดูว่า ทำการผลิตจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าทำแบบนี้ก็จะเพิ่มปริมาณสินค้าขึ้นมา และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีสินค้าออกสู่ตลาดมาก และราคาสินค้าก็จะลดลง วิธีการนี้ นอกจากลดเงินเฟ้อแล้วยังเป็นการคุมเงินเฟ้ออีกด้วย เรียกว่าแปรทุนการเงินเป็นทุนการผลิต การจ้างงานเราก็จะเข้มข้นขึ้น SMEs เราก็มีสภาพคล่องมากขึ้น ใช้ทุนที่ไหลเข้ามาเพิ่มความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ให้ผู้ประกอบการรายย่อยเขาสู้รายใหญ่ได้ นี่คือหลักเศรษฐศาสตร์การเมือง

 

 

           “ประการที่ 2 ที่เราเสนอคือ เมื่อดอลลาร์มันซ่าส์นักก็อย่าไปพึ่งมันมาก ตอนนั้นผมก็เสนอว่า เราค้าขายโดยไม่ใช้ดอลลาร์ คนก็หาว่าบ้าอีก ทั่วโลกเขาก็ใช้ดอลลาร์ ถ้าเราไม่ใช้ดอลลาร์แล้วจะค้าได้ยังไง ผมก็เสนอว่า ถ้าเราซื้อของมาเลย์ ก็ขอให้มาเลย์รับเงินบาท ถ้ามาเลย์ซื้อของเรา เราก็รับเงินของเขา สวอปเงินแบบนี้ เมื่อเราเสนอแบบนี้ก็ถูกหาว่าบ้าอีก แล้วตอนนี้ จีนทำแบบนี้กับ 30 ประเทศ”

 

ถาม : มีแนวทางใดอีกบ้าง ที่ควรนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าและเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามา

 

ดร.ณรงค์ : ณ วันนี้ เราไม่สามารถอยู่ในกรอบได้แล้ว ต้องคิดนอกกรอบ ตอนนี้วิกฤติยังไม่จบ และไม่รู้จะเกิดการซ้ำเติมในรูปแบบใดอีก ยุโรปก็ยังอาการร่อแร่อยู่  แล้วเมืองไทยของเรามีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ หรือยังในการรับมือ เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งแรกที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน และทำนับจากนี้ไปอีก 5 ปี 10 ปี ก็คือ การพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด เราต้องสร้างหลังอิงที่พิงได้ พึ่งตนเองได้ ดังข้อคิดสำคัญประการหนึ่งที่สังคมได้เห็นจากสถานการณ์ค่าเงินบาทในตอนนี้ก็คือ วิกฤติที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจการส่งออก ซึ่งเป็นแนวทางที่ผิดพลาดเสมอมา เพราะการที่รัฐบาลคิดแต่จะผลักดันเรื่องการส่งออกนั้น ไม่ต่างจากการที่คิดแต่จะส่งทหารไปออกรบ ซึ่งในการออกรบแต่ละครั้งย่อมต้องมีคนบาดเจ็บกลับมา เมื่อบาดเจ็บแล้วคุณต้องมีที่พึ่งพิงได้ ดังนั้นหลังอิงที่พิงได้ของสงครามส่งออกคืออะไร คำตอบก็คือ การมี “ตลาดภายในประเทศที่เข้มแข็ง” ซึ่งผมเคยเสนอไปตั้งแต่ปี 2540 แล้ว

 

 

         “เรื่องค่าเงินแข็ง-ค่าเงินอ่อน มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์โดยเฉพาะ ดังนั้นตัดตรงนี้ออกได้ไหม เช่น ถ้าจะค้าขายกับจีน คุณก็ยอมรับเงินหยวนสิ คิดนอกกรอบได้ไหม ตัดมันออกไปเลยเงินดอลลาร์ ถ้าคุณค้าขายกับจีน ก็ขอให้จีนรับเงินบาทไป มันก็ตัดวงจรดอลลาร์ไปได้ สถานการณ์บาทแข็ง ดอลลาร์อ่อนก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องของหยวนกับบาทแล้ว จะค้าขายกับมาเลเซียก็ทำแบบนี้ได้ไหม ข้อเสนอแบบนี้ ผมเสนอตั้งแต่ปี 2540 แต่ไม่มีใครเชื่อ ทั้งที่ข้อดีของการแลกสกุลเงินระหว่างกันโดยตรงเลยก็คือ เราไม่ต้องกลัวความผันผวนของดอลลาร์กับบาท เพราะความผันผวนระหว่างบาทกับสกุลเงินในเอเชียหรืออาเซียนนั้นต่ำมาก สกุลเงินในภูมิภาค แม้จะผันผนวนอยู่บ้างแต่ก็เป็นไปอย่างเสถียร ไม่ว่าบาทกับกีบหรือแม้แต่บาทกับจ๊าตของพม่า และเมื่อจีนยังใช้วิธีแลกสกุลเงินกันโดยตรงกับคู่ค้าอีกหลายสิบประเทศ แล้วทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้

 

ลองทำเฉพาะใน 3-4 ประเทศก็ได้ อย่างน้อยเศรษฐกิจมาเลเซีย, สิงคโปร์ ก็เสถียร เหล่านี้คือการพึ่งตนเองในประเทศ และเป็นการพึ่งตนเองในกลุ่มชาติอาเซียนของเรา เชื่อว่าปัญหาเรื่องค่าเงินบาทนี่แก้ได้ ถ้าเรารู้จักคิดอะไรใหม่ ๆ รู้จักคิดนอกกรอบ

 

 

ขอบคุณภาพจาก Google.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: