การสลายและจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุม

2 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3187 ครั้ง


1. การสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุม

                การสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องหรือ “แนวเจรจาขั้นสุดท้าย” ที่จะไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมผ่าน ควรจะต้องใช้หลักการ “การป้องกันพอสมควรแก่เหตุ” จากภยันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสาธารณชนที่เกิดจากการกระทำ ความผิดกฎหมายโดยกลุ่มผู้ชุมนุม ในการจะก่อเหตุความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมาตรา 215 หรือการก่อภยันตรายโดยการไปละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่นในการเข้า – ออก สถานที่ที่มีการชุมนุมปิดล้อม อันเป็นการป้องกันตามหลักการที่บัญญัติไว้ใน ป.อาญา มาตรา 68 ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจตามกฎหมายโดยชอบธรรมในการป้องกันตนเองจากภยันตรายที่เกิดจากการละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ แต่ทั้งนี้ควรจะต้องมีการพิจารณาถึง “เจตนาพิเศษ” ของกลุ่ม ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้มีเจตนาธรรมดาที่จะกีดขวางการจราจร แต่มีพยานหลักฐานที่แสดงถึง “เจตนาพิเศษ” ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะไปทำความผิดกฎหมายที่มีความรุนแรงกว่า พ.ร.บ.การจราจรทางบก เช่น มีการเดินทางไปปิดล้อมที่ทำงานของทางราชการ ซึ่งมีโทษหนักกว่าการทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องกระทำอย่างสุภาพและเหมาะสมกับภยันตรายที่คาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะก่อให้เกิดขึ้นโดยควรจะต้องกำหนดจุดหรือแนวเจรจาขั้นสุดท้าย และมีการจัดรูปขบวนกองร้อยควบคุมฝูงชนแบบแถวหน้ากระดานและมีเครื่องกีดขวางปิดกั้นไว้ มีระยะปลอดภัย หรือระยะห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมมายังแถวหน้ากระดานรูปขบวนควบคุมฝูงชนของตำรวจอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 25 เมตร หรือตามระยะการยิงที่ปลอดภัยจากอุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา การใช้สิ่งกีดขวางอย่างอื่น เช่น รถยนต์ แนวลวดหนาม หรือแท่งคอนกรีตกั้นถนนอาจจะนำมาใช้เพื่อสกัดกั้น หรือกำหนดช่องทางการเดินของกลุ่มผู้ชุมนุม หรือเป็นเครื่องหมายแสดงถึงเจตนาพิเศษของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะบุกรุกแนวป้องกันสถานที่ราชการของหน่วยตำรวจ ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกก็ถือได้ว่าเป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงเจตนาพิเศษที่จะล่วงล้ำแนวเข้ามาปิดล้อมหรือยึดสถานที่ราชการ อันเป็นความผิดทางอาญา โดยมีการถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐานประกอบหากมีการดำเนินคดี

2.แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการพกพา การใช้อาวุธสำหรับการรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ / ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่

                2.1 ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธและประเภทของอาวุธ

                                2.1.1 กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในงานป้องกันและปราบปราม สืบสวน และจราจร เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อำนวยความสะดวกด้านการจราจรที่เป็นภารกิจหลักของ ตร.

                                2.1.2 กำลังพลที่ ตร. จัดให้มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในกรณีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่ม นปช. ซึ่งประกอบกำลังเป็นกองร้อยควบคุมฝูงชน ให้มีผู้ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธได้ประกอบด้วย

                                1) ผบ.ร้อย 1 นาย*

                                2) รอง ผบ.ร้อย 1 นาย*

                                3) ผบ.หมวด 3 นาย*

                                4) รอง ผบ.หมวด 3 นาย*

                                5) ผบ.หมู่ 12 นาย*

(*ตามอัตราการจัด กองร้อยควบคุมฝูงชน)

                                2.1.3 อาวุธที่อนุญาตให้พกพา อนุญาตเฉพาะปืนพกประจำกายเท่านั้น สำหรับอาวุธหรือวัตถุระเบิด ชนิดอื่นๆ นั้น ตร. จะพิจารณาสั่งการเป็นกรณีไป

                2.2 แนวทางการปฏิบัติ

                                2.2.1 แนวทางการปฏิบัตินี้ ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการ รปภ.ที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดตรวจ/ด่่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่ ซึ่งอนุญาตให้กำลังพลสามารถใช้อาวุธปืนพกได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์

                                2.2.2 ในการจัดวางกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจ ของกำลังตามข้อ 1.2 จะต้องแยกระหว่างกำลังที่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธกับกำลังพลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธให้ชัดเจน โดยกำลังที่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธ จะต้องอยู่ด้านหลังในลักษณะระวังป้องกันให้กับกำลังพลที่ไม่ได้พกพาอาวุธ

                                2.2.3 การใช้อาวุธในการป้องกันตนเอง และรักษาความปลอดภัยฯ ต้องเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

                การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 มีองค์ประกอบดังนี้

                1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย หมายความว่าผู้ก่อภยันตรายไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้

                2) ภยันตรายนั้นต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

                3) ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายนั้น

                4) การกระทำนั้นจะต้องกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ

                กรณีได้กระทำการป้องกันตามองค์ประกอบทั้งสี่ข้อข้างต้น ผู้กระทำไม่มีความผิด

                ดังนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน จึงต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุต่างๆจากผู้ชุมนุมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยขาดสติหรือด้วยโทสะ เพราะหากการใช้กำลังหรืออาวุธในการระงับเหตุหรือสลายการชุมนุมกระทำด้วยความโกรธหรือบันดาลโทสะก็ย่อมไม่อาจอ้างเหตุการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้

                ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ควบคุมฝูงชน จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและควรเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ในแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/52) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผนวก ค อนุผนวก 2 เรื่องกฎการใช้กำลัง ซึ่งได้วางขั้นตอนและวิธีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมหรือป้องกันตนเอง จากเบาไปหาหนักตามหลักสากล ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางตาม คดีหมายเลขดำ ที่ 1605/2551 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 คดีระหว่าง นายดนัย ดั่งคุณธรรม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 6 คน กับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กับพวก เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งที่ว่า “...การกระทำของ เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสลายการชุมนุมจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน ...” การดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ จึงควรเป็นไปตามลำดับดังนี้

                1. การแสดงกำลังของตำรวจ

                2. การใช้คำสั่งเตือน

                3. การใช้มือเปล่าจับกุม

                4. การใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ

                5. การใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย

                6. การใช้คลื่นเสียง

                7. การใช้น้ำฉีด

                8. อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย

                9. กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี

                10. อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงตายอื่นๆ เช่น กระสุนยาง อุปกรณ์ช๊อตไฟฟ้า

                เมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนตั้งแต่ 1 – 10 แล้ว ยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้ยุติลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว ศปก.สน.ของหน่วยปฏิบัติที่รับผิดชอบตามลำดับพิจารณาและมีความเห็นเสนอ สตช. ผ่าน ศปก.ตร. เพื่อเสนอรัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้ารับผิดชอบ หรือพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเฉพาะพื้นที่ เพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในการใช้กลไกของกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปราบปราม ระงับ ยับยั้งสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงนั้น หรืออาจจะประกาศกฎอัยการศึกเพื่อใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารในการเข้าปราบปรามในขั้นเด็ดขาด ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความร้ายแรงของเหตุการณ์เป็นสำคัญ

3. การจับแกนนำ และการจับกุมขนาดใหญ่

                เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มจะกระทำความผิดจะต้องมีการประกาศสถานการณ์เป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้

                ขั้นที่ 1 กรณีการชุมนุมปกติไม่มีเหตุรุนแรง แจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมตามกฎหมายไม่ให้ใช้ความรุนแรงหรือก่อความวุ่นวายขึ้น โดยใช้เครื่องขยายเสียงและประกาศเตือนให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดฐานใด มีโทษอย่างไร

                ขั้นที่ 2 กรณีผู้ชุมนุมเริ่มก่อความรุนแรง กดดันและกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรมีการประกาศเตือนว่าหากมีการกระทำผิดกฎหมายจะมีการจับกุมดำเนินคดี แต่ทั้งนี้ควรย้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ใช้ความอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุด ไม่ใช้กำลังหรือทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมอันจะทำให้สถานการณ์รุนแรงหรือบานปลายจนถึงขั้นจลาจล ไม่อาจยับยั้งได้

                ขั้นที่ 3 กรณีเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น มีการใช้กำลังผลักดันขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกาศเตือนว่าจะจับกุมหากมีการกระทำผิด โดยย้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ถือปฏิบัติตามแนวขั้นตอนที่ 2 ให้ถึงที่สุด

                ขั้นที่ 4 ประกาศเตือนให้เลิกการชุมนุมตามเวลา และควรชี้แจงว่าการที่เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้วไม่เลิกจะเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 216 จะสลายการชุมนุมและเข้าจับกุม

                ขั้นที่ 5 กรณีเกิดความรุนแรงมีการบุกรุกเข้ายึดเขตพื้นที่หวงห้าม หรือฝ่าแนวเจรจาขั้นสุดท้ายเข้ามาแล้วและต้องทำการสลายการชุมนุม ประกาศเตือนให้เลิกการชุมนุมตามเวลาจะสลายการชุมนุมและจับกุมอย่างเด็ดขาด

                การแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบและควรมีเวลาในการเตรียมการ และปฏิบัติตามคำสั่งของ เจ้าพนักงานที่อาจใช้อำนาจสั่งให้เลิกการชุมนุมในกรณีที่มีการก่อความวุ่นวายตาม ป.อาญา มาตรา 215 โดยเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการชุมนุมตามมาตรา 216 โดยจะมีการจับกุมแกนนำ หรือการจับกุมผู้ที่ชุมนุมกีดขวางเส้นทางเข้า – ออก สถานที่สำคัญ โดยต้องเป็นคำสั่งหรือการแสวงข้อตกลงใจในการใช้ยุทธวิธี โดยระดับผู้บัญชาการเหตุการณ์ขึ้นไป ไม่พึงกระทำโดยพลการในการจับกุมเว้นแต่เป็นความผิดซึ่งหน้าที่มีลักษณะจะเป็นภยันตรายต่อชีวิตในทันทีทันใดนั้น เช่น การ์ดของผู้ชุมนุมจะใช้คันธงที่มีปลายแหลมแทงตำรวจ ถ้าไม่จับกุมในทันทีก็จะถูกแทงถึงแก่ชีวิตได้ หรืออาจได้รับอันตรายสาหัส

                การจับกุมขนาดใหญ่จะต้องดำเนินการโดยใช้ชุดจับกุมที่ได้รับการฝึกมาเฉพาะมิใช่การจับกุมโดยตำรวจแต่ละคน หรือต่างคนต่างจับโดยไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ อาจทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน โดยจะต้องพึงระลึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้เข้าจับกุมจะต้องไปเบิกความต่อศาล ดังนั้นในการเข้าจับกุมจะต้องมีการบันทึกภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของผู้ถูกจับ การต่อสู้ขัดขวางหรือการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี โดยสามารถชี้ยืนยันว่าชุดจับกุมใดจับกุมผู้ใดบ้าง จะต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจแบ่งเป็นชุดว่าจะจับผู้ใดบ้าง และจะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจดจำผู้ต้องหาที่ตนเองเข้าจับกุม เมื่อไปเบิกความในศาลจะได้สามารถยืนยันต่อศาลได้ว่าตนเป็นผู้จับกุมผู้ต้องหาคนใด ในขณะนั้นผู้ต้องหาดังกล่าวกระทำอะไร อย่างไร เพื่อผลในการพิจารณาคดีในชั้นศาล สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมควรแบ่งกันจับกุมใคร กี่คน จับอย่างไร ควรมีการซักซ้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติให้มีความเข้าใจในยุทธวิธีในการเข้าจับกุมด้วย มิใช่ปล่อยเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างคนต่างจับจนเกิดความโกลาหลวุ่นวายหรือชุลมุนกันขึ้นและควรจะมีตำรวจอีกชุดที่คอยระวังป้องกันอาวุธต่างๆ จากผู้ที่ถูกจับกุม จะต้องมีกุญแจมือไว้ให้ พอเพียงเพื่อควบคุม และต้องคอยระวังป้องกันการต่อสู้ขัดขวางหรือขัดขืนและยอมให้จับแต่โดยดี นอกจากนี้จะต้องคิดถึงแนวทางในการนำตัวผู้ที่ถูกจับได้แล้วรีบนำขึ้นรถยนต์ควบคุมผู้ต้องหาทันที โดยมีรถยนต์สายตรวจหรือของ บก.ตปพ., หรือกองปราบปราม คอยนำขบวนและปิดท้ายขบวนแล้วรีบเคลื่อนตัวนำผู้ถูกจับกุมออกจากสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแย่งชิงตัวผู้ต้องหาหรือการทุบรถยนต์ควบคุมผู้ต้องหา ทั้งนี้จะต้องมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนอีกส่วนหนึ่งคอยระวังป้องกันมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้รถยนต์ควบคุมผู้ต้องหาเพื่อแย่งชิงตัวผู้ถูกจับกุมด้วย

                ในการจับกุมขนาดใหญ่หากเป็นไปได้ในกรณีที่มีการนั่งหรือนอนขวางเส้นทางให้ดำเนินการจับกุมอย่างนิ่มนวล ต้องไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงหรือทำให้ผู้ถูกจับได้รับบาดเจ็บ ไม่ควรรีบเร่ง เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ถูกจับกุมขัดขืนเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้วิธีการเท่าที่จำเป็นตามยุทธวิธีในการจับกุม จะต้องมีการบันทึกรายชื่อผู้ถูกจับทั้งหมด แจ้งสิทธิและเตรียมการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวน ที่คุมขังมีเพียงพอหรือไม่ ห้องน้ำ การพบทนายความ และการเยี่ยมญาติจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.วิ อาญา มาตรา 7/1 และจะต้องรีบระดมพนักงานสืบสวนสอบสวนตามที่มีคำสั่งแต่งตั้งไว้รีบมาทำการสอบสวน จัดเจ้าหน้าที่พิมพ์มือผู้ต้องหา และจะกำหนดสถานที่ควบคุมของสถานีตำรวจแต่ละแห่งไว้ให้พร้อมเพื่อให้พอเพียงกับจำนวนผู้ถูกจับกุมด้วย

4. การจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา

                ในการร่วมชุมนุมปราศรัยหรือประท้วงในเหตุการณ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้กระทำผิดบางคนมีฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมอยู่ด้วย ดังนั้นการจะดำเนินการในเรื่องการจับ คุมขัง หรือเรียกตัวบุคคลดังกล่าวย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 131 ที่บัญญัติไว้ ดังนี้

                4.1 ในระหว่างสมัยประชุมห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ (1) ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา (2) ในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด (ความผิดซึ่งหน้า)

                กรณีการจับกุมในขณะกระทำความผิด ให้หัวหน้าหน่วยงานชั้นต้นของผู้ที่จับ รายงานไปยังประธานสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และ ผบ.ตร.โดยพลัน ถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับให้จัดการปล่อยผู้ถูกจับโดยพลันแล้วรายงานให้ ผบ.ตร. ทราบ

                4.2 นอกสมัยประชุม การจับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

                (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 131 ประกอบระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 3 บทที่ 7 ข้อ 43 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยระเบียบ ตร.ว่าด้วย การจับกุม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ลงวันที่ 22 เม.ย. 2545)

********************************

ที่มา

คู่มือแนวทางปฎิบัติและบังคับใช้กฎหมายกับการชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย สำหรับในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ.2553.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: