แนะ‘เลือกตั้ง’ผ่าทางตันวิกฤติการเมือง เชื่อแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1575 ครั้ง

ยังคงเป็นความพยายามในการร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทย หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ  ล่าสุดสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมกันจัดเสวนา เรื่อง “ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตย” ซึ่งถือเป็นอีกเวทีหนึ่งในการร่วมกันแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอให้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผ่าทางตันทางการเมืองที่ยังคงไม่มีข้อยุติในขณะนี้

สำหรับการเสวนาดังกล่าวมีนักวิชาการร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ ดร. เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) รศ.จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ร่วมเสวนา

จี้แก้รัฐธรรมนูญในสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ในการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แนวทางที่ดีที่สุดคือ “การแก้รัฐธรรมนูญ” โดยยึดเอาแนวทางประชาธิปไตย จากการเลือกตั้งเป็นสำคัญ และเสนอให้พรรคการเมืองที่กำลังจะหาเสียงเพื่อรับการเลือกตั้ง เสนอแนวทางของตนเอง และชี้ให้เห็นว่าจะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่พึงพอใจของทุกฝ่าย โดยที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะต้องยึดโยงกับเสียงของประชาชนตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา พร้อมกันนี้ในการผ่านรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข หรือกฎหมายใหญ่ๆ ในสภาฯ จะต้องยอมรับฟังเสียงข้างน้อยในสัดส่วนที่พอเหมาะพอดีและมีน้ำหนักพอที่จะยอมรับได้ ขณะเดียวกันต้องมีวิธีการในการทัดทาน เพื่อไม่ให้เสียงข้างน้อยมีโอกาสชี้นำเสียงข้างมากด้วย

เหตุปัญหาจากเหลือง-แดง กลัวไม่มีอำนาจต่อรองของตัวเอง

ด้าน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง แสดงความคิดเห็นถึงต้นเหตุของปัญหา โดยเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเปราะบางของกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างขั้ว ทั้งกลุ่มเสื้อแดง กลุ่มเสื้อเหลือง หรือม็อบนกหวีด โดยปัญหาใหญ่เกิดจากความรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในอนาคต ที่คิดว่าจะไม่สามารถควบคุมได้ กล่าวคือ ในกลุ่มของฟากเหลือง กลุ่มหลากสี หรือกลุ่มคุณธรรมต่าง ๆ มีความไม่มั่นใจ ไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่าจะเข้ามาบริหารประเทศแบบคอร์รัปชั่น ทำเพื่อพวกพ้อง หรือผลาญเงินภาษี ทุจริตต่าง ๆ  ซึ่งตนเคยคุยกับกลุ่มทุนของทางฟากฝั่งสีเหลือง ก็ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุผลทางธุรกิจ เพราะทักษิณกินรวบทั้งหมด ทำให้อยู่กันไม่ได้

ในขณะเดียวกันหากมองไปที่ฟากแดง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ก่อนหน้านี้จะรู้สึกตัวเองว่า ไม่ได้รับสิทธิหรือเสียงใด ๆ ไม่มีอำนาจให้การควบคุมได้เหมือนกับกลุ่มเหลือง กระทั่งมีฝ่ายการเมืองเข้ามายกอำนาจนี้ให้อยู่ในมือ ก็รู้สึกได้ถึงความรู้สึกในสิทธิ์ในเสียงนั้น แต่อยู่วันหนึ่งก็มีคนมายึดเอากลับคืนไปอีก ดังนั้นความไม่มั่นใจจึงเกิดขึ้นว่า หากมีการรัฐประหารขึ้นอำนาจและสิทธิ์เสียงต่าง ๆ ก็จะถูกนำกลับไปอีก ขณะเดียวกันก็ไม่ไว้วางใจในองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่ถูกตั้งขึ้น เพราะเชื่อว่ามีอิทธิพลของกลุ่มทหารเข้ามาครอบงำ และอาจจะทำให้สูญเสีย

            “ผมไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นยาแก้ปัญหา เพราะปัญหาจริง ๆ เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญปัญหาเดิม ๆ ก็จะกลับมาอีก” ดร.วิโรจน์กล่าว

เสนอโมเดล แก้รัฐธรรมนูญในสภาฯ

ดร.วิโรจน์ยังลงรายละเอียดในข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุว่า ในการหาเสียงของพรรคการเมืองที่จะเข้ารับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะถึงนี้ ควรจะบอกประชาชนด้วยว่า เข้าไปแล้วจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีบางส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ โดยในส่วนของสสร.ที่จะเข้ามาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนที่เข้ามาจะต้องมีสัดส่วนสอดคล้องกับ ส.ส.ปาตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะนั่นคือเสียงของประชาชน ส่วนปัญหาที่เป็นห่วงกันว่า จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบนั้น ก็ควรจะระบุว่า ในส่วนของพรรคใหญ่ จะมี สสร.ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ส่วนพรรคที่เหลือต่าง ๆ ก็ไปจัดแบ่งจากสัดส่วนร้อยละ 40 ที่เหลือ

            “ประเด็นที่ผมเสนอต่อ และหลายฝ่ายช่วยกันคิดก็คือการเพิ่มน้ำหนักให้เสียงข้างน้อย เช่น หากรัฐธรรมนูญจะผ่านสภาพได้ จะต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ก่อนที่จะไปทำประชาพิจารณ์ ก็เป็นการใช้เสียงข้างมากไปตามปกติ ขณะเดียวกันก็ต้องมาหาวิถีทาง ที่จะทำอย่างไรไม่ให้เสียงข้างน้อยมาชี้นำเสียงข้างมาก” ดร.วิโรจน์กล่าว

อยากให้มีช่องกาเลือกพรรคแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ

ด้าน ดร.สมชัย  จิตสุชน นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวไปในทิศทางเดียวกัน แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า คิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นการแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้สำคัญคือจะแก้โจทย์เรื่องของความไม่ไว้วางใจในความรุนแรงที่จะสูญเสียอำนาจต่อรองของทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร โดยเฉพาะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมืองก็จะต้องหาเสียงว่า จะเข้ามาทำอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องแยกเป็นพรรคการที่ประชาชนต้องการเลือกเข้ามาในเรื่องการบริหารบ้านเมือง เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ แต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่อาจจะมีช่องให้เลือกอีกหนึ่งช่องที่ระบุให้ประชาชนเลือกว่า จะเลือกพรรคการเมืองไหนที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง แบบนี้ตนก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ แต่ก็เป็นข้อเสนอหนึ่งที่อยากจะฝากไว้

ติงอย่าใช้วาทกรรม “ความดี” เป็นเครื่องมือการเมือง

ขณะที่ นายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองไปที่ปัญหาที่ปัจจุบันมีการนำเรื่องของ “ความดี” มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาก ทำให้ลดคุณค่าของความดีลง เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องของ ความดีไม่ใช่คุณธรรมที่จะนำมาใช้ในการเมือง แต่ “ความดี” ในทางการเมืองหมายความถึงเรื่องของการแสดงความคิด ดังนั้นในขณะนี้จะเห็นได้ว่า “ความดี” ซึ่งปัจจุบันเรื่องของคุณธรรมกลายมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองไปแล้ว

            “การเมือง คือเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่การนำความดี และคุณธรรม มาโยงกับการเมืองทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นจึงอยากให้เลิกใช้เรื่องของความดีมาพูดในการเมือง แต่ควรจะใช้วิธีการตรวจสอบมากกว่า คนดีไม่ใช่คำตอบในสังคมการเมือง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาไปถึงเรื่องของทุนนิยมผูกขาด ที่แน่นอนย่อมผูกโยงกับประชาธิปไตยในขณะนี้ แต่กลับไม่มีการจัดการกับเรื่องทุนนิยม ดังนั้นจึงจะต้องไม่ให้การผูกขาดเข้าไปมีอิทธิพลทางเรื่องการเมืองหรือเรื่องสังคมอื่น ๆ”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: