ขวางสหรัฐฯบีบไทยเป็นสมาชิก'ยูพอฟ' แฉจ้องฮุบเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองเหมือนลาว

ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 4071 ครั้ง

 

ความพยายามแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของเกษตรกร ในการเก็บ แลกเปลี่ยน หรือขยายพันธุ์ คุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งคุ้มครองสิทธิเกษตร ในการดูแลพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น โดยปรับเนื้อหาในการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.... สู่ความพยายามปรับปรุงกฎหมายไทยให้ได้มาตรฐานระหว่างประเทศ โดยการนำเนื้อหาจากอนุสัญญายูพอฟ 1991 (อนุสัญญายูพอฟ (UPOV) เป็นองค์กรภาครัฐระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดย The International Convention for the Protection of New Varieties of Plants มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในการคุ้มครองพันธุ์พืช

 

โดยที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าเจรจาการค้ากับประเทศตน จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญายูพอฟ 1991) มากำหนดคำนิยามพันธุ์พื้นเมืองขึ้นใหม่ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงตลอดมา โดยเฉพาะในภาคสังคม ที่เห็นว่าการปรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่เพียงที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรายย่อยแล้ว ยังถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์พืชข้ามชาติอย่างชัดเจนอีกด้วย

 

 

ล่าสุดประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) กับสหรัฐอเมริกา ส่งผลทำให้ลาว ต้องเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญายูพอฟ 1991 การเข้าร่วมครั้งนี้ทำให้สปป.ลาวต้องแก้กฎหมายถึง 91 ฉบับ เพื่อให้เป็นไปตามที่สหรัฐอเมริกากำหนด โดยที่ประชาชนลาวยังไม่ทราบว่า กฎหมายที่กำลังจะแก้ไขมีผลอย่างไรกับพันธุ์พืชของตน  และมีความเป็นไปได้ว่า สรัฐอเมริกาจะเรียกร้องให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญายูพอฟ 1991 เช่นเดียวกับสปป.ลาว จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในประเทศแถบยุโรปอย่าง อิตาลี โปรตุเกส นอร์เวย์ ไม่ยอมรับอนุสัญญายูพอฟ 1991ซึ่งตามข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา หากประเทศไทยเข้าร่วมภาคีจะทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการคุ้มครองพันธุ์พืชของตนได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรจำนวนมากด้วย

 

รศ.ดร.กรกฤษณ์ ควรพจน์ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึงต่อประเด็นที่กำลังเป็นที่กังวลนี้ โดยเห็นว่า อนุสัญญายูพอฟ 1991 ได้เปลี่ยนแปลงหลักการพื้นฐานด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชหลายประการ เนื้อหาส่วนใหญ่ให้ประโยชน์กับการคุ้มครองและตอบสนองความต้องการของบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์พืชข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ จำกัดสิทธิเกษตรกร ในการเก็บ รักษาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ โดยประเทศสมาชิกอาจไม่ให้การรับรองสิทธิพิเศษของเกษตรกรได้ขยายขอบเขตของสิทธิให้กว้างขึ้น โดยให้ผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช มีสิทธิผูกขาดในการกีดกันไม่ให้ผู้อื่นนำส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืชไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์ และในการเพาะปลูก รวมทั้งให้มีสิทธิผูกขาดในการส่งออก นำเข้า หรือเก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช เพื่อการจำหน่ายหรือการเพาะปลูก การคุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดโดยไม่ต้องประกาศคุ้มครองก่อน อนุญาตให้มีการคุ้มครองซ้อนด้วยกฎหมายเฉพาะ และระบบสิทธิบัตรควบคู่กัน การขยายระยะเวลาในการคุ้มครองจากเดิม 15 ปี เป็น 20 ปีสำหรับพืชทั่วไปและขยายระยะเวลาเป็น 25 ปี สำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น

 

 

ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ว่า สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (ซีพี มอนซานโต้ ดูปองท์ ฯลฯ) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ขึ้น โดยมีเนื้อหาสาระตามอนุสัญญายูพอฟ1991 ดำเนินการดังนี้

 

1.ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช  พ.ศ.2542 ทั้งฉบับ

2.เปลี่ยนแปลงเนื้อหากฎหมายเดิมซึ่งส่วนใหญ่คล้ายกับอนุสัญญายูพอฟ 1987 เป็นอนุสัญญายูพอฟ 1991 ทั้งหมด

3.พันธุ์พืชจีเอ็มโอที่ขอรับการคุ้มครองไม่ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยก่อน

4.ยกเลิกการได้มาของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งในส่วนขององค์กรสาธารณะประโยชน์ ตัวแทนเกษตรกร และนักวิชาการ มาจากการแต่งตั้ง

5.แก้ไขนิยามของพันธุ์พืชเมือง/ป่า/ชุมชน จนไม่มีความเป็นไปได้ว่าพันธุ์พืชประเภทดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง

6.ยกเลิกเอกสารการขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่ต้องแสดงที่มา และการแบ่งปันผลประโยชน์

7.ให้ประกาศอยู่ภายใต้กฎกระทรวงแทน

 

            “การเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญายูพอฟ 1991 แน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง เพราะการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของเกษตรกรรมรายย่อยที่จะต้องมีการเก็บรักษาและแบ่งปันพันธุ์พืชของตนเอง อีกทั้งยังกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่นและส่งผลต่อประเทศในระยะยาว ซึ่งเมื่อเกษตรกรอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ ยิ่งเป็นการขยายสิทธิของบริษัทเมล็ดพันธุ์จะส่งผลทำให้เมล็ดพันธุ์พืชใหม่มีราคาแพงสูงขึ้นถึง 3-4 เท่าตัว อีกทั้งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ยังไม่สามารถนำไปปลูกต่อได้อีกด้วย” นายวิฑูรย์กล่าว

 

 

ปัจจุบันตลาดเมล็ดพันธุ์กลายเป็นตลาดผูกขาด จากตัวเลขของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัทเมล็ดพันธุ์ 3-4 บริษัท ครอบงำตลาดเมล็ดพันธุ์เกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะพืชไร่และพืชผัก โดยรวมถึงผลิตผลส่วนที่เก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งยังครอบคลุมขยายไปถึงผลิตภัณฑ์ หรือนำผลผลิตนั้น ๆ ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ไวน์ ซึ่งเชื่อมโยงกับส่วนขยายพันธุ์ ไปจนถึงตัวผลิตภัณฑ์ด้วย โดยปกติแล้วตลาดเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นตลาดผูกขาดอยู่แล้ว และการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ... นี้ ยังจะไปขยายตลาดการผูกขาดเพิ่มขึ้นไปอีก

 

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า การเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญายูพอฟ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยจากการผูกขาดของบริษัทข้ามชาติ และการคุ้มครองพืชพื้นเมืองจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถอ้างสิทธิเหนือพืชเศรษฐกิจของไทยได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ทุเรียนหมอนทอง หรือเงาะโรงเรียน เป็นความเสี่ยงต่อการทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

 

นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา มีการเรียกร้องในเรื่องของกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา โดยการละเมิดสิทธิบัตร จะทำให้เกษตรกรถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายเวอร์นอน โบว์แมน (Vernon Bowman) เกษตรกรจากเมืองแซนด์บอร์น รัฐอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ถูกฟ้องโดยบริษัทมอนซานโต้ ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร จากการซื้อถั่วเหลืองจากร้านค้าทั่วไป เพื่อนำไปปลูกในไร่ของตน ทั้งนี้ศาลสูงของสหรัฐฯ มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ให้นายโบว์แมนมีความผิด ต้องจ่ายค่าเสียหาย 84,456 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท แก่มอนซานโต้ โดยศาลสูงสหรัฐฯ วินิจฉัยว่า การซื้อถั่วเหลืองจากผู้รวบรวม เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร เช่นเดียวกับการเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งไม่ว่าจะนำไปใช้ปลูกต่ออีกกี่รุ่นก็ตาม ถือว่ามีความผิดจนกว่าจะหมดอายุสิทธิบัตร (20 ปี)

 

จากกรณีดังกล่าว นำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรชาวอเมริกัน รวมทั้งชาวอเมริกันจำนวนมาก เกิดการเดินขบวนต่อต้านบริษัทเมล็ดพันธุ์อย่างมอนซานโต้ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา บริษัทมอนซานโต้เข้าไปร่างกฎหมาย โดยให้ GMOs ไม่ต้องผ่าน แม้ศาลมีคำตัดสินก็สามารถปลูกต่อได้ เรียกกฎหมายนั้นว่า “มอนซานโต้แอด” หรือ “กฎหมายมอนซานโต้”

 

เกษตรกรไม่ยอมรับหากมีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช

 

ด้านนายบุญส่ง มาตรขาว เครือข่ายพันธุกรรมพื้นบ้านอีสาน  กล่าวว่า เกษตรกรไม่มีโอกาสเข้าถึงการแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชได้จริง บริษัทค้าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ต้องการใช้เกษตรกรเป็นเครื่องมือในการผูกขาดธุรกิจข้ามชาติ อีกทั้งประเทศไทยได้พันธุ์ข้าวปีละกว่า ล้านตัน หากบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์สามารถผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ได้ จะทำกำไรในระยะยาวได้อย่างมหาศาล ยังโชคดีที่ตอนนี้พันธุ์ข้าวส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของเกษตรกร เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีภูมิปัญญาในการรักษาพันธุ์พืช เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวน เพราะมีชาวบ้านหลายกลุ่มที่คิดจะอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น กลุ่มอนุรักษ์ยโสธร พยายามเก็บรวบรวมพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง 100 กว่าสายพันธุ์

 

 

          “ถ้าหากบริษัทเหล่านี้นำเอาเมล็ดพันธุ์ของเราไปดัดแปลงให้กลายพันธุ์ไปนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วนำไปจดสิทธิบัตรเป็นของเขา ทำให้เราสูญเสียโอกาสในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่พัฒนามาเป็นชั่วอายุคน ผมว่าเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักว่า เราจะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างไร” นายบุญส่งกล่าว

 

นอกจากนี้นายบุญส่งยังได้ให้ข้อเสนอไว้ว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทในการศึกษา วิจัย พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชให้ดีขึ้น อีกทั้งยังไม่ควรเปิดโอกาสให้บริษัทธุรกิจข้ามชาติ เข้ามาผูกขาดในเรื่องนี้ รัฐควรจะพัฒนาให้ได้มากกว่าบริษัทเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างจริงจังในการรักษาและปกป้องสิทธิเกษตรกร ทั้งนี้เหล่าเกษตรกรจะต้องลุกขึ้นมารักษาสิทธิของเรา ก่อนที่มันกำลังจะสูญหายไป

 

            “การแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เป็นเรื่องที่เกษตรกรยอมไม่ได้ เราจะกลายเป็นทาสของธุรกิจการเกษตรข้ามชาติ ถ้าเราไม่สามารถถือครองเมล็ดพันธุ์ได้ มันเท่ากับว่าเกษตรกรจะไม่เหลืออะไรเลย เมล็ดพันธุ์ คือ สมบัติสุดท้ายที่บรรพบุรุษเหลือไว้ให้เรา โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทย เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ต่อไป” นายบุญส่ง กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก BIOTHAI และ Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: