แนะสื่อไทยรู้จัก‘อาเซียน’ จี้สังกัดหนุนทำข่าวตปท.

ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 12 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1439 ครั้ง

 

ปัจจุบันการรวมตัวของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง สื่อมวลชนมีหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการให้ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงแก่ประชาชน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องของอาเซียนมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เพื่อนำข้อมูล ข่าวสาร ในเรื่องดังกล่าวให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องและชัดเจน

 

Media Inside Out เล็งเห็นความสำคัญของการเป็นสื่อมวลชนอาเซียน จึงจัดสื่อสนทนาขึ้น หัวข้อ “สื่อไทยรู้จักอาเซียนแค่ไหน?” นำโดย สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวอาเซียนเป็นเวลานานกว่าสามทศวรรษ, ปิยะภรณ์ วงศ์เรือง ผู้สื่อข่าว Bangkok Post และประธานชมรมนักข่าวอาเซียน, สุลักษณ์ หลำอุบล ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายงาน ASEAN Weekly เว็ปไซด์ข่าวประชาไท และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ The Nation เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

การสนทนาสื่อครั้งนี้ ผู้ร่วมสนทนาร่วมกันเสนอข้อท้าทายและขีดจำกัดของการทำข่าวอาเซียนในฐานะสื่อมวลชนไทยไว้หลายประเด็นด้วยกัน และยังตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ เรื่องทิศทางในอนาคตของการทำข่าวอาเซียน อีกทั้งอธิบายถึงความแตกต่างของการทำข่าวอาเซียนในอดีตและปัจจุบัน และการจัดตั้งชมรมนักข่าวอาเซียน

 

ปัจจุบัน อาเซียนเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ซึ่งข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน ประชาชนทุกคนสามารถค้นคว้าได้ง่ายดายมากขึ้น รวมทั้งสื่อมวลชนเองสามารถเข้าถึงข่าวสารเหล่านี้ได้ง่าย สิ่งที่จำเป็นต่อนักข่าวอาเซียน คือ นักข่าวจะต้องทราบถึงเรื่องราว ความเป็นมาของอาเซียนในเชิงลึกและสามารถเชื่อมโยงประเด็นหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องและชัดเจน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จัดตั้งชมรมนักข่าวอาเซียนขึ้น

 

ปิยะภรณ์ วงศ์เรือง ผู้สื่อข่าว Bangkok Post และประธานชมรมนักข่าวอาเซียน กล่าวว่า ชมรมนักข่าวอาเซียนเป็นการรวมตัวของกลุ่มสื่อมวลชนในภูมิภาค โดยชมรมจะสนับสนุนองค์ความรู้ด้านอาเซียนในเชิงลึก เพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้และความเข้าใจในอาเซียนอย่างแท้จริง และสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มนักข่าวอาเซียนได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งชมรมยังเปิดกว้างรับสื่อและนักข่าวทุกคนที่สนใจข่าวอาเซียนเข้าเป็นสมาชิกทุกคนอีกด้วย

 

ปิยะภรณ์กล่าวต่อว่า ข่าวอาเซียนถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสื่อไทย และสร้างความท้าทายต่อสื่อมวลชนไทยเป็นอย่างมาก เพราะอาเซียนเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีความหลากหลาย มีวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจที่แตกต่างกัน สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงความหลากหลายเหล่านี้ สื่อออกมาให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นความท้าทายหลักของนักข่าวอาเซียนรุ่นใหม่ ชมรมนักข่าวอาเซียนจึงเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยให้สื่อมวลชนมีความรู้ ความเข้าใจในอาเซียนมากขึ้น

 

ด้าน สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวอาเซียน ชี้ให้เห็นถึงการทำข่าวอาเซียนในอดีตว่า ในอดีตการทำข่าวอาเซียนเป็นเรื่องของการประชุม เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นความลับไม่สามารถเปิดเผยได้ เป็นเรื่องขององค์กรระหว่างประเทศ และยังไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก นอกเสียจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น การทำข่าวจึงเป็นเรื่องที่ยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงและสนใจเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันอาเซียนมีความหมายที่กว้างขึ้น การทำข่าวและการเข้าถึงข่าวก็มีความง่ายมากขึ้น รวมทั้งตัวสื่อมวลชนเองที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น จากสื่อกลางในโลกโซเชียลเน็ทเวิร์ค

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันภาครัฐให้ความสนใจกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากจนเกินไป จนอาจลืมไปแล้วว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนนั้น อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการด้วยกัน คือ ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

 

ในความคิดเห็นของสงวนเห็นว่า จริง ๆ แล้ว สื่อมวลชนควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือทั้ง 3 ประการไปพร้อม ๆ กัน และสื่อควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นพิเศษ เพราะสังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำข่าวอาเซียนในปัจจุบัน เนื่องจากจะทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงและยังสามารถเข้าใจจิตใจของในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น

 

น่าแปลกใจ ปัจจุบันมีสื่อมวลชนอาเซียนจำนวนหนึ่ง เข้ามาทำข่าวอาเซียนในประเทศไทย และประจำอยู่ในประเทศไทย เช่น ผู้สื่อข่าวชาวเวียดนามและสิงคโปร์ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และสำนักข่าวให้มาประจำอยู่ในประเทศไทย เพื่อเขียนข่าวส่งกลับไปยังประเทศของตน ในขณะที่สื่อมวลชนไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และสำนักข่าวให้เดินทางไปประจำอยู่ในอาเซียนเลย เป็นเพราะเหตุใด ?

 

สงวนได้วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ว่า องค์กรข่าวควรลงทุนให้สื่อมวลชนของตนเอง เดินทางไปประจำอยู่ในประเทศกลุ่มอาเซียนได้แล้ว ปัจจุบันมีสื่อมวลชนญี่ปุ่นเข้ามาประจำอยู่ที่ประเทศในอาเซียนจำนวนมาก รัฐบาลและสำนักข่าวญี่ปุ่นได้ให้เงินสนับสนุนสื่อมวลชน ไปประจำตามกลุ่มประเทศอาเซียน ได้อย่างเต็มที่ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมหาศาล จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

 

ขณะที่ สุลักษณ์ หลำอุบล ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายงาน  ASEAN Weekly เว็บไซต์ข่าวประชาไท เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว อีกทั้งยังกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของข้อจำกัดในการทำข่าวอาเซียน นักข่าวส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงไปสัมผัสในพื้นที่จริง ทำให้การเข้าถึงแหล่งข่าวท้องถิ่นยังเป็นไปได้ยาก ซึ่งในปัจจุบันการเดินทางไปยังประเทศในอาเซียนสามารถทำได้ง่าย แต่ไม่มีงบประมาณในการเดินทางไปยังพื้นที่จริง จึงทำให้พลาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข่าวท้องถิ่น

 

สุลักษณ์ในฐานะผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ ที่สนใจข่าวอาเซียนเป็นพิเศษ ได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของสื่อในการทำข่าวอาเซียนว่า เรื่องราวของอาเซียนมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และมีหลายมิติด้วยกัน ในฐานะที่เป็นสื่ออย่างสำนักข่าวประชาไท จำเป็นต้องนำเสนอข่าวออกมาในประเด็นที่สาธารณชนสนใจ และเป็นประเด็นที่อยู่ในความละเลยของภาครัฐ และสำนักข่าวกระแสหลัก อีกทั้งยังจำเป็นที่จะต้องสามารถเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ออกมาให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน

 

นอกจากนี้ สงวนได้ให้ข้อแนะนำในฐานะที่เป็นนักข่าวอาเซียนรุ่นพี่กับนักข่าวอาเซียนรุ่นใหม่ไว้ว่า การทำข่าวอาเซียน นักข่าวจำเป็นต้องรู้ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแต่ละประเทศ เราไม่ควรนำอคติที่ถูกสั่งสมมานานจากการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย มาใช้ในการเขียนข่าว แต่ควรเข้าใจจิตใจของคนท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ มากกว่าการใส่ทัศนคติที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านลงไปในข่าว เช่น ข่าวเรื่องคนงานพม่าฆ่านายจ้างตาย เป็นต้น แต่นักข่าวอาเซียนควรมีความเข้าใจในปรากฎการณ์และประเด็นที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ อีกทั้งนักข่าวอาเซียนควรมองปรากฎการณ์และประเด็นที่เกิดขึ้นในมุมกว้างด้วยความเข้าใจอีกด้วย

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: